Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบผิวหนัง

Posted By Plookpedia | 05 ต.ค. 60
4,383 Views

  Favorite

ระบบผิวหนัง

 

ผิวหนังปกคลุมห่อหุ้มร่างกายทั้งหมดซึ่งภายในมีปลายประสาทรับความรู้สึกมากมายเพื่อรับรู้การสัมผัส การกด ความเจ็บและอุณหภูมิร้อนเย็นระบบผิวหนังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและยังมีหน้าที่เป็นอวัยวะขับเหงื่อ และไขมันด้วย

ผิวหนังยืดหยุ่นได้มากบนผิวของหนังมีรูเล็ก ๆ อยู่ทั่วไปรูเล็ก ๆ นี้เป็นรูเปิดของขุมขนท่อของต่อมไขมันและต่อมเหงื่อผิวหนังที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีรอยนูนเป็นสันจำนวนมากโดยเฉพาะที่ปลายนิ้วมือทั้งห้ามีสันนูนเรียงกันเป็นร้อยหวายหรือก้นหอยจึงใช้รอยพิมพ์ปลายนิ้วมือเป็นประโยชน์ในการแยกหรือทำนายบุคคลได้โดยการพิมพ์ลายนิ้วมือเนื่องจาก รายละเอียดในการเรียงตัวของรอยนูนนี้แตกต่างกันในแต่ละบุคคล

บริเวณผิวหนังที่มีกล้ามเนื้อเกาะอยู่ผิวหนังจะเกิดเป็นรอยย่นได้เมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัวตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือบริเวณใบหน้ามีกล้ามเนื้อมายึดติดที่หนังมากจึงทำให้เกิดรอยย่น ซึ่งแสดงอารมณ์โกรธ กลัว ยิ้มแย้มแจ่มใสหรือเศร้าหมองได้

 

ส่วนใหญ่ของร่างกายผิวหนังจะเลื่อนไปเลื่อนมาได้แต่บางแห่งก็ติดแน่นกับอวัยวะภายใต้ เช่น หนังศีรษะด้านนอกของใบหู ฝ่ามือและฝ่าเท้าและตามรอยพับของข้อต่อต่าง ๆ

ผิวหนังประกอบด้วย ๒ ส่วน

๑. ชื้นตื้น เรียกว่า หนังกำพร้า (epidermis) 
๒. ชั้นลึก เรียกว่า หนังแท้ (dermis)


หนังกำพร้า 


คลุมอยู่บนหนังแท้ความหนาของหนังกำพร้าแตกต่างกันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหนาตั้งแต่ 0.3 ถึง 1 มิลลิเมตร หนังกำพร้าที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าหนาที่สุดและบางที่สุดที่หนังตาชั้นนี้ไม่มีหลอดเลือดเลยและประกอบด้วยเซลล์รูปร่างต่าง ๆ กันหลายชั้น ชั้นตื้นที่สุดผิวเป็นเซลล์แบน ๆ และตายแล้วจะลอกหลุดออกไปเป็นขี้ไคล


หนังแท้ 


ประกอบด้วยเส้นใยพังผืดเป็นส่วนใหญ่ประสานไขว้กันไปมาส่วนตื้นของชั้นนี้ยื่นเป็นปุ่มนูนขึ้นมาสวมกับช่องทางด้านลึกของหนังกำพร้าในปุ่มนูนนี้มีหลอดเลือดและปลายประสาทรับความรู้สึกส่วนลึกของหนังแท้จะมีแต่เส้นใยพังผืดประสานกันค่อนข้างแน่นความยืดหยุ่นของผิวหนังที่อยู่เส้นใยพังผืดและเนื้อเยื่อใต้หนังในคนชราเส้นใยพังผึดยึดหยุ่นลดน้อยลงจึงเกิดเป็นรอยย่นหย่อนยาน 

หนังสัตว์ที่นำมาทำเป็นรองเท้า กระเป๋านั้น ก็คือส่วนของหนังแท้นั่นเองซึ่งเหนียว หนาและทนทาน ขนหรือผมเจริญมาจากหนังกำพร้าชั้นลึก 

สีของผิวหนังเกิดจากจำนวนเม็ดสีเมลานิน (melanin) ซึ่งอยู่ในเซลล์ชั้นลึกของหนังกำพร้าถ้าเม็ดสีเมลานินมีมากก็มีผิวดำ ถ้าเม็ดสีเมลานินมีน้อยก็มีผิวขาว ในที่บางแห่งผิวหนังมีสีจัดขึ้น เช่น ที่บริเวณหัวนม ลานหัวนม รอบ ๆ ทวารหนักและผิวหนังที่ถูกแสงแดดอยู่เสมอสีของผิวหนังจึงอาจใช้แบ่งแยกเชื้อชาติได้ เช่น พวกนิโกร มีเม็ดสีเมลานินมากตลอดความหนาของหนังกำพร้าผิวจึงดำมากพวกยุโรปมีเม็ดสีเมลานินน้อยผิวจึงขาวและพวกเอเชียมีเม็ดสีเมลานินปานกลางผิวจึงเหลืองโดยเฉพาะพวกสืบเชื้อสายชาวมองโกเลียผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนักจะมีสีดำหรือเขียวมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

 

สีของผิวหนังนอกจากจะเกิดจากเม็ดสีเมลานินแล้วยังเกิดจากสีของเลือดในหนังแท้ด้วยซึ่งทำให้ผิวมีสีชมพูจัดในคนที่มีเลือดสมบูรณ์ดีและทำให้ผิวซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจางนอกจากนั้นยังขึ้นกับความหนาของผิวหนังด้วยจะเห็นได้ในเด็กทารกมีผิวหนังบางจึงมีผิวสีชมพู

นิ้วมือผ่าตามยาวแสดงให้เห็นเล็บและรากเล็บ

 

 

หน้าที่ของผิวหนัง 


ในการที่ผิวหนังห่อหุ้มร่างกายไว้ทั้งหมดจึงมีหน้าที่ 

๑. ช่วยป้องกันอวัยวะที่อยู่ลึกทั่วไปจากอันตรายและการแทรกซึมของเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ 
๒. ป้องกันไม่ให้น้ำภายนอกซึมเข้าไปในร่างกายและป้องกันมิให้น้ำในร่างกายระเหยออกไป 
๓. ผิวหนังจะหนาตัวขึ้นเมื่อผิวหนังส่วนนั้นถูไถกับสิ่งอื่นบ่อย ๆ 

ขณะเดียวกันผิวหนังยังเป็นอวัยวะด้วยซึ่งมีหน้าที่ 

๑. รับความรู้สึกต่าง ๆ อย่างกว้างขวางโดยที่มีปลายประสาทรับความรู้สึกหลายชนิดและจำนวนมาก เช่น เจ็บ สัมผัส กดและร้อนเย็น 

๒. ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายโดยระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านทางผิวหนัง 

๓. ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายโดยต่อมเหงื่อขับเหงื่อจึงทำหน้าที่ช่วยไตขับถ่ายของเสียจากร่างกายซึ่งเห็นชัดในหน้าร้อนจะมีเหงื่อออกมาก 

๔. เป็นแหล่งสร้างวิตามินดีซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของแสงอัลตราไวโอเลตของแสงอาทิตย์ต่อสเตอรอล (sterol) ในผิวหน้าป้องกันโรคกระดูกอ่อน 

ผิวหนังทั้งหมดที่ห่อหุ้มร่างกายผู้ใหญ่มีเนื้อที่ ประมาณ ๑.๗ ตารางเมตร 

การเจริญเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเพื่อเป็นอวัยวะป้องกันอันตรายนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้มากมายในสัตว์ต่าง ๆ เช่น ในจระเข้ ผิวหนังเปลี่ยนเป็นแผ่นหนาในคางคก เจริญเป็นต่อมพิษในปลาเปลี่ยนเป็นเกล็ดและต่อมเมือก


สิ่งที่เจริญเปลี่ยนแปลงไปจากผิวหนัง

 

• เล็บ


เจริญมาจากหนังกำพร้าเป็นแผ่นแข็งยืดหยุ่นได้อยู่ทางด้านหลังของปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าปล้องสุดท้าย 

เล็บมีลักษณะโปร่งแสงมีส่วนที่ยื่นพ้นปลายนิ้วซึ่งไม่มีหลอดเลือดและประสาทมาเลี้ยงซึ่งเป็นส่วนที่เราตัดออกและตกแต่งให้สวยงามได้ 

ส่วนของเล็บที่ฝังอยู่ในหนังเรียกว่ารากเล็บและสองข้างของเล็บมีผิวหนังยื่นมาคลุมเล็กน้อย

ทางด้านลึกของเล็บมีปลายประสาทรับความรู้สึกมากมายดังนั้นเมื่อเป็นฝีมีดบาดหรือหนามตำใต้เล็บจึงเจ็บปวดมากและมีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากสีของเลือดจึงสะท้อนผ่านเล็บทำให้เล็บมีสีชมพูในคนปกติในขณะเป็นโรคโลหิตจางจะมีสีซีดขาว

การงอกของเล็บเฉลี่ยประมาณ ๑ มิลลิเมตร ใน ๑ สัปดาห์ หรือ ๓ มิลลิเมตร ใน ๑ เดือน เล็บเท้างอกช้ากว่าเล็บมือเมื่อเล็บถูกดึงหลุดไปจะมีเล็บใหม่งอกขึ้นมาได้

• ขนหรือผม

ขนหรือผมเจริญมาจากหนังกำพร้าชั้นลึก

ขนเจริญเกือบทั่วทั้งร่างกายยกเว้นในบางแห่งเท่านั้น เช่น หัวนม สะดือ ขอบปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้าและด้านหลังของนิ้วปล้องสุดท้าย 

ขนมีความยาว ความหยาบ ความหนาแน่น รูปร่างและสีแตกต่างกันในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายลักษณะของขนเหล่านี้แตกต่างกันตามอายุ เพศและเชื้อชาติด้วย เช่น เชื้อชาติมองโกเลียนมีเส้นผมกลมและตรงเชื้อชาตินิโกรมีเส้นผมแบนและหยิกและเชื้อชาติคนผิวขาวมีเส้นผมรูปรีและหยักศก

 

ขนหรือผมประกอบด้วยสารที่ไม่นำความร้อนดังนั้นจึงช่วยป้องกันความร้อนได้ เช่น นำขนสัตว์มาทำเสื้อกันหนาวขนในที่บางแห่งหนาแน่นก็ป้องกันการเสียดสีกระทบกระเทือนได้สัตว์บางชนิดใช้ขนเป็นอวัยวะรับความรู้สึก เช่น แมวหากินกลางคืนก็อาศัยหนวดคลำทาง

ผิวหนังตัดตามยาวแสดงให้เห็นขนหรือผม

 

 

ขนทุกเส้นประกอบด้วยเส้นขน รากขนและขุมขน

เส้นขนเป็นส่วนของขนที่โผล่พ้นผิวหนังขึ้นมา

รากขน เป็นส่วนที่ฝังอยู่ในรูผิวหนังเฉียง ๆ ดังนั้นเส้นขนจึงเอียง เฉียง ๆ ด้วย ส่วนลึกของรากขนโป่งเป็นกระเปาะและมีส่วนของหนังแท้ยื่นเข้าไปภายในกระเปาะนี้ 

ขุมขน เป็นส่วนของหนังกำพร้าและหนังแท้ยื่นลึกเข้าไปถึงเยื่อใต้หนังมาประกอบเป็นท่อล้อมรอบรากขนมีท่อของต่อมไขมันมาเปิดสู่ชุมชน 

 

การเจริญของขน 


ขนงอกยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนยาวเต็มที่ตามชนิดและตำแหน่งที่อยู่ของขนนั้นแล้วก็หยุดงอกไประยะเวลาหนึ่งหลังจากนั้นก็จะร่วงหลุดไปอายุของขนรวมถึงระยะหยุดงอกก่อนจะหลุดนั้นแตกต่างกันตามชนิดและตำแหน่งของขน เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ มีอายุประมาณ ๓-๔ เดือน ขนอ่อนตามร่างกายอายุประมาณ ๔ เดือนครึ่ง ผมอายุ ๔ ปี

ในคนจะเริ่มมีขนตั้งแต่เดือนที่ ๕ ของทารกในครรภ์ ขนจะล่วงหลุดไปและงอกขึ้นใหม่เสมอขนชุดแรกมีลักษณะละเอียดอ่อนไม่มีสีเรียกว่าขนละเอียดต่อไปมีขนชุดที่สองเกิดขึ้นแทนที่ขนชุดแรก เรียกว่า ขนอ่อน เมื่อเข้าวัยรุ่นมีขนหยาบกว่า ยาวกว่าและสีเข้มกว่านี้ขึ้นทดแทนขนชุดที่สองในที่บางแห่ง เรียกว่า ขนชุดสุดท้าย

ส่วนใหญ่ของร่างกายมีขนอ่อนอยู่ทั่วไปอาจมีขนอ่อนชนิดเดียวพบได้ที่หน้า คอและลำตัวของหญิงที่แขน ขาและศรีษะมีขนอ่อนและขนชุดสุดท้ายรวมกันขนชุดสุดท้ายอย่างเดียว ได้แก่ คิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนจมูกและขนหัวหน่าวที่ศีรษะส่วนใหญ่เป็นขนชุดสุดท้ายแต่อาจะมีขนอ่อนปะปนบ้าง

• กล้ามเนื้อขนลุก 

เป็นกล้ามเนื้อเรียบยึดเกาะหนังกำพร้าชั้นลึกไปถึงผนังชั้นนอกของขุมขนทางด้านมุมป้านเมื่อกล้ามเนื้อนี้หดตัวก็ทำให้รากขนและเส้นขนตั้งชันขึ้นในขณะเดียวกันก็บีบต่อมไขมันซึ่งอยู่ตรงมุมระหว่างขุมขนกับกล้ามเนื้อขับไขมันออกมา

• ต่อมไขมัน 

เป็นต่อมรูปกระเปาะเล็ก ๆ อยู่ในหนังแท้พบได้ในผิวหนังเกือบทั้งหมดที่มีขนมีมากที่หนังศีรษะ ใบหน้ารอบ ๆ รูเปิดต่าง ๆ คือ ทวารหนัก จมูก ปากและรูหู แต่บางแห่งก็ไม่มีต่อมไขมันเลย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

 

ส่วนก้นของต่อมกว้างออกเป็นรูปกระเปาะ ๑–๕ กระเปาะ แต่มีท่ออันเดียวไปเปิดสู่ขุมขนยกเว้นที่บริเวณลานหัวนมท่อเปิดสู่ผิวหนังโดยตรง

ผิวหนังแสดงให้เห็นต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ

 

 

ขนาดของต่อมไม่สัมพันธ์กับขนาดของคน เช่น ทารกในครรภ์และเด็กเกิดใหม่ขุมขนเล็กแต่ต่อมไขมันโตที่จมูกและใบหน้ามีต่อมไขมันมากจึงเป็นมันอยู่เสมอ 

ต่อมไขมันเกิดขึ้นในเดือนที่ ๕ ของทารกในครรภ์เจริญจากหนังกำพร้าที่เป็นผนังของขุมขน 

ต่อมที่รูหูดัดแปลงเป็นต่อมขี้หูสารที่หลั่งออกมาจะแข็งตัวเมื่อถูกอากาศเป็นขี้หู 

• ต่อมเหงื่อ 

พบได้ในผิวหนังเกือบทุกแห่งของร่างกายมีจำนวนมากมายที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าซึ่งมีท่อเปิดที่ยอดของสันผิวหนัง 

ต่อมมีลักษณะเป็นท่อยาวส่วนลึกของท่อขดไปมาจนเป็นก้อนกลมหรือก้อนรูปไข่ขนาด ๐.๑–๐.๕ มิลลิเมตร อยู่ในเยื่อใต้หนังหรือในส่วนลึกของหนังแท้ส่วนนี้ทำหน้าที่หลั่งเหงื่อส่วนตื้นของท่อผ่านหนังแท้และหนังกำพร้าเปิดสู่ผิวเป็นรู รูปกรวยเล็ก ๆ เรียกว่า รูเหงื่อ ซึ่งอาจเห็นได้เมื่อใช้แว่นขยายโดยเฉพาะที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

บางแห่งไม่มีต่อมเหงื่อ เช่น หัวนม ขอบริมฝีปาก แอ่ง ใบหูและส่วนลึกของรูหู 

ต่อมเหงื่อทั้งหมดมีประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ต่อม มีมากที่สุดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าและน้อยที่สุดที่หลังและขา 

ต่อมเหงื่อเจริญจากหนังกำพร้าชั้นลึกงอกลึกลงไปในหนังแท้และเยื่อใต้หนังเริ่มปรากฏที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในเดือนที่ ๔ ของทารกในครรภ์ ท่อต่อมเหงื่อจะเปิดสู่ผิวในเดือนที่ ๗ ของทารกในครรภ์ 

เหงื่อออกจากต่อมเหงื่อทั้งหมดประมาณ ๗๐๐-๙๐๐ กรัม ใน ๒๔ ชั่วโมง เมื่ออากาศร้อนขณะพักผ่อนเหงื่อออก ๒๐๐ กรัม ใน ๑ ชั่วโมง และขณะทำงานอาจออกถึง ๙๐๐ กรัมใน ๑ ชั่วโมง เหงื่อจะเริ่มออกเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติ ๐.๒–๐.๕ องศาเซลเซียส แต่ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าไม่มีปฏิกิริยาต่ออุณหภูมิเหงื่ออกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เท่ากันเหงื่อออกจากลำตัว ประมาณ ๕๐% จากศรีษะและแขนประมาณ ๒๕% และจากขาประมาณ ๒๕%

เหงื่อมีฤทธิ์เป็นกรดจากกรดแล็กติกและประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์เป็นส่วนใหญ่มียูเรีย (Urea) และแล็กเตต (lactate) เล็กน้อย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow