เป็นภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตอย่างรวดเร็วภายในเวลา ๒-๓ ชั่วโมง หรือ ๒-๓ วัน เกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่
๑) การสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง เช่น ท้องเดินจนความดันโลหิตต่ำอาจช็อกได้หากไม่ได้รับการรักษาโดยการให้สารน้ำทดแทนอย่างรวดเร็วทันเวลามีผลทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะน้อยกว่า ๔๐๐ ซีซีต่อวันจนถึงปัสสาวะไม่ออกเลยก็ได้
๒) การเสียเลือดในปริมาณมาก เช่น เสียเลือดจากการคลอดบุตรที่ผิดปกติเสียเลือดจากแผลในกระเพาะอาหารที่ไม่ได้รับการรักษา มีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือร่วมกับการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ถ้าไม่ได้รับเลือดทดแทนทันเวลาทำให้เกิดภาวะช็อกได้และมีผลทำให้ไตวายเฉียบพลันได้เช่นกันเนื่องจากไตขาดเลือดที่มาเลี้ยงอย่างเพียงพอ
๓) การได้รับสารที่มีพิษต่อไตอาจเป็นยาแก้ปวดบางชนิด ยาแก้อักเสบที่ใช้ฉีดในปริมาณมากติดต่อกันนานเกิน ๑ สัปดาห์ขึ้นไปหรือสารพาราควอตซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้า การติดเชื้อมาลาเรียและการถูกสัตว์มีพิษต่อย เช่น ฝูงต่อต่อย
๔) การติดเชื้อที่รุนแรงจนเกิดภาวะช็อกซึ่งถ้าไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาสาเหตุของการอักเสบติดเชื้อได้หรือรักษาช้าเกินไปจะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้เช่นกัน
การวินิจฉัยภาวะไตวายเฉียบพลันสามารถทำได้จากการซักประวัติ การสูญเสียสารน้ำปริมาณมากและรุนแรง การเสียเลือดมาก ได้รับสารพิษและมีการติดเชื้อในร่างกายรุนแรง การตรวจหาสาเหตุเพื่อแก้ไขและรักษาเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำควบคู่ไปกับการตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด และการตรวจภาพรังสีตามความเหมาะสม การที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่มีของเสียคั่งค้างในร่างกายมีเกลือแร่บางอย่างมากเกินกว่าที่ร่างกายสามารถขับออกได้ตามปกติ เช่น มีโพแทสเซียมสูงมากเกินระดับความปลอดภัยจนมีผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งหากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือด การทำไตเทียม (haemodialysis) หรือการล้างของเสียออกทางช่องท้อง (peritoneal dialysis) เป็นการชั่วคราวจนกว่าอาการไตวายเฉียบพลันจะได้รับการรักษาให้ดีขึ้นและไตเริ่มฟื้นตัวกลับมาทำงานตามปกติซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒-๔ สัปดาห์