Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)

Posted By Plookpedia | 10 เม.ย. 60
4,292 Views

  Favorite

ไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)

      เป็นภาวะที่การทำลายเนื้อไตเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปีเป็นการทำลายไตอย่างถาวร  ไตไม่สามารถฟื้นกลับมาทำหน้าที่ปกติแบบไตวายเฉียบพลันส่วนใหญ่ไม่มีอาการใด ๆ จนกระทั่งไตเสียไปมากกว่าร้อยละ ๕๐ ผู้ป่วยจึงจะเริ่มแสดงอาการของไตเรื้อรังทีละน้อย ๆ จนเมื่อการทำงานของไตเสียเกือบทั้งหมดจะมีอาการรุนแรงมากทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทนได้ เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร คันตามตัว บวม เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสม โดยการซักประวัติเพื่อหาสาเหตุของอาการข้างต้นควบคู่ไปกับการตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ดูหน้าที่ไตและภาพรังสีซึ่งแสดงถึงไตที่ฝ่อและมีขนาดเล็กลงจากเดิมมาก การรักษาไตเรื้อรังจึงทำได้แต่เพียงประคับประคองไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจวาย อาการชัก หมดสติ หากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องใช้วิธีฟอกเลือดเอาของเสียออกจากร่างกายเพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพพอช่วยเหลือตนเองได้แต่ไตยังคงเป็นพังผืดเป็นรอยของการอักเสบเรื้อรังระยะเวลานานซึ่งไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาให้ฟื้นกลับมาทำงานเป็นปกติเช่นเดิมได้ ผู้ป่วยประเภทนี้จะต้องรักษาด้วยวิธีฟอกเลือดหรือล้างช่องท้องชนิดถาวรเพื่อนำเอาของเสียออกไปตลอดเวลาจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ซึ่งอาจเป็นไตที่ได้รับบริจาคหรือไตจากพ่อแม่ คู่สมรส ลูก หลานที่มีกลุ่มเลือดและเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้ ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้วก็จะฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงไตปกติเช่นเดิมโดยต้องรับประทานยารักษาไตใหม่ตลอดไปและอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน

 

โรคไต
ผู้ป่วยโรคไตจะมีอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ เท้า และลำตัว

 

การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ ข้อต่อไปนี้
      ๑. ผู้ป่วยที่มีภาวะไตผิดปกตินานติดต่อกันเกิน ๓ เดือน ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีอัตรากรองของไต (Glomerular Filtration Rate: GFR) ผิดปกติหรือไม่ก็ได้ ซึ่งภาวะไตผิดปกติหมายถึงการมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

๑.๑ ตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจปัสสาวะอย่างน้อย ๒ ครั้ง ระยะเวลา ๓ เดือน ดังนี้
ก) ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ (proteinuria)

  • ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและตรวจพบไมโครแอลบูมินในปัสสาวะ
  • ถ้าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคเบาหวานและตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า ๕๐๐ มิลลิกรัม/วัน หรือมากกว่า ๕๐๐ มิลลิกรัม/กรัมครีอะตินิน

ข) ตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ 
๑.๒ ตรวจพบความผิดปกติทางรังสีวิทยา
๑.๓ ตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้างหรือพยาธิสภาพ

 

โรคไต
ไตปกติ (ซ้าย) จะมีขนาดใหญ่ สีแดง ขอบเรียบ ส่วนไตเรื้อรัง (ขวา) จะฝ่อ มีขนาดเล็กลง สีซีด และขอบขรุขระ


      ๒. ผู้ป่วยที่มีอัตรากรองของไตน้อยกว่า ๖๐ มิลลิลิตร/นาที/๑.๗๓ ตารางเมตรของพื้นที่ผิวกายเป็นเวลาติดต่อกันเกิน ๓ เดือน โดยอาจตรวจพบหรือไม่พบว่ามีร่องรอยของไตผิดปกติก็ได้ การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอาจแบ่งระยะความรุนแรงของโรคได้เป็น ๕ ระยะ ดังนี้

 

โรคไต

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow