Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาการบ่งบอกของโรคไต

Posted By Plookpedia | 10 เม.ย. 60
6,723 Views

  Favorite

อาการบ่งบอกของโรคไต

      ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตมักไม่ค่อยปรากฏอาการให้เห็นเนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่มีความสามารถพิเศษในการปรับระบบการทำงานให้สมดุลแม้ว่าความสามารถในการทำงานของไตจะเหลือเพียงร้อยละ ๕๐ ของภาวะปกติแต่ถ้าการทำงานลดต่ำลงมาเหลือร้อยละ ๒๐ ก็จะเริ่มปรากฏอาการต่าง ๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ซีด คันตามตัว บวมตามใบหน้า แขนขา ถ่ายปัสสาวะมากในเวลากลางคืนซึ่งอาการเหล่านี้อาจคล้ายกับอาการของโรคหัวใจและโรคกระเพาะจึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อความแน่ชัดเช่นมีความดันโลหิตสูง มีอาการบวม และซีดหรือไม่ รวมทั้งตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดและภาพรังสีเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

 

โรคไต
ข้อบริเวณตาตุ่มบวมนูนอักเสบเป็นอาการของโรคเกาต์ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคไต

 

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต 

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจหาโรคไตแต่เนิ่น ๆ ได้แก่
      ๑) คนปกติที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี เพราะการทำงานของไตจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น
      ๒) ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง
      ๓) ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหลอดเลือดอื่น ๆ
      ๔) ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
      ๕) ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคไตอักเสบ โรคเอสแอลอี (SLE) โรคเกาต์ โรคไตอักเสบชนิดไม่ใช่ติดเชื้อโรค
      ๖) ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไตชนิดใดชนิดหนึ่ง
      ๗) ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นซ้ำ ๆ หลายครั้ง
      ๘) ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดโดยเฉพาะยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDs) หรือสัมผัสสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

วิธีการตรวจผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

      เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแม้การทำงานของไตจะลดลงครึ่งหนึ่งแล้วก็มักไม่มีอาการแสดงของโรคไตอย่างชัดเจนและการที่ “ไม่มีอาการแสดง” ก็ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรังดังนั้นประชากรกลุ่มเสี่ยงจึงควรได้รับการตรวจดังต่อไปนี้
      ๑) การตรวจปัสสาวะธรรมดา โดยการใช้แถบสีจุ่มปัสสาวะเพื่อตรวจหาโปรตีนหรือการที่มีเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะเพิ่มขึ้นถ้าพบว่าน่าจะมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะควรตรวจวัดปริมาณโปรตีนภายใน ๒๔ ชั่วโมงซ้ำอีกครั้งหากปริมาณโปรตีนภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมงมีมากกว่า ๒๐๐ มิลลิกรัม/วัน แสดงว่ามีโปรตีนรั่วในปัสสาวะสันนิษฐานได้ว่าไตทำงานผิดปกติแล้ว ในกรณีที่ไม่พบโปรตีนในปัสสาวะจากแถบสีแต่ผู้นั้นเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยง เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือมีความดันโลหิตสูงควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม คือ การวัดระดับไมโครแอลบูมินในปัสสาวะ (microalbuminuria) ซึ่งเป็นการตรวจปริมาณโปรตีนในระดับน้อย ๆ ที่รั่วออกมาในผู้ป่วยโรคไตระยะต้นหรือกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้ปัสสาวะของคนปกติจะมีปริมาณไมโครแอลบูมินในปัสสาวะภายใน ๒๔ ชั่วโมงไม่เกิน ๓๐ มิลลิกรัม แต่ถ้าปริมาณไมโครแอลบูมินในปัสสาวะภายใน ๒๔ ชั่วโมง อยู่ระหว่าง ๓๐-๓๐๐ มิลลิกรัม ถือว่าไตเริ่มผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ต่อไป

 

โรคไต
แถบสีที่ใช้จุ่มปัสสาวะเพื่อตรวจหาโปรตีน

 

      ๒) การตรวจระดับการทำงานของไต  โดยการเจาะเลือดวัดค่าครีอะตินินโดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมีค่าครีอะตินิน ๐.๘-๑.๒ ถือว่าการทำงานของไตปกติแต่ถ้ามีค่าครีอะตินินตั้งแต่ ๑.๒ ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องส่งต่อเพื่อตรวจเฉพาะทางต่อไป

 

โรคไต
วิธีตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะด้วยน้ำยาพิเศษ ปริมาณโปรตีนรั่วในปัสสาวะที่มากขึ้นตามลำดับแสดงว่าไตผิดปกติ

 

      ๓) การตรวจภาพรังสี เช่น การเอกซเรย์ดูไตอาจเห็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะซึ่งถ้าเป็นนิ่วที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมก็จะทึบแสงเห็นเป็นรอยโรคได้แต่ถ้าเป็นนิ่วชนิดยูริกจะไม่เห็นจากภาพรังสีธรรมดาจำเป็นต้องใช้การตรวจพิเศษ เช่น ฉีดสารเข้าหลอดเลือดดำแล้วถ่ายภาพรังสีก็สามารถเห็นรอยโรคในไตได้ชัดเจนขึ้น ปัจจุบันการตรวจทางรังสีนิยมใช้อัลตราซาวนด์ คือ การใช้คลื่นเสียงตรวจเนื้อไตแล้วแปลงเป็นภาพซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคไตบางชนิดได้แต่ถ้าเป็นเนื้องอกหรือหลอดเลือดตีบตันก็จะใช้การตรวจทางคอมพิวเตอร์ซึ่งจะบอกรายละเอียดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การแปลผลจากภาพรังสีเทคนิคต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในการอ่านอาจมีข้อผิดพลาดได้เช่นเดียวกันดังนั้นแพทย์จึงต้องซักประวัติอย่างละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือดจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำยิ่งขึ้น

 

โรคไต
เนื้อไตที่ขรุขระ แสดงว่าผิดปกติ


      ๔) การตรวจพิเศษบางอย่าง เช่น ใช้รังสีไอโซโทปเพื่อบอกถึงการทำงานของไตในด้านระบบไหลเวียนเลือดไปที่ไตที่เรียกว่า เรโนแกรม (renogram) ซึ่งจะแนะนำให้ตรวจเมื่อมีข้อบ่งชี้หรือสงสัยพยาธิสภาพที่หลอดเลือดของไต

      ๕) การตรวจชิ้นเนื้อไต เป็นการตรวจชิ้นเนื้อไตหลังการย้อมพิเศษโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ วิธีการย้อมสีเรืองแสงหรือย้อมกับสารต่อต้านของเซลล์นั้น ๆ เพื่อให้ทราบพยาธิสภาพที่แท้จริงก็มีผู้นิยมตรวจเช่นกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow
Thailand Web Stat
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราต้องการให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ เราจึงนำคุกกี้ที่บันทึกการเข้าชม และการใช้งานบนหน้าเว็บไซต์จากเครื่องของคุณมาวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ รวมทั้งนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจคุณยิ่งขึ้น
ยอมรับรายละเอียด
x