หญิงมีครรภ์มีอัตราตายสูงกว่าผู้ที่ไม่ตั้งครรภ์และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย เช่น แท้ง คลอดก่อนกำหนด ส่วนทารกในครรภ์อาจตายขณะคลอดหรือน้ำหนักแรกคลอดน้อยซึ่งเกิดจากสาเหตุใหญ่ ๒ ประการ ประการแรกผู้ป่วยหญิงมีครรภ์มีภูมิต้านทานโรคมาลาเรียต่ำและอีกประการหนึ่งรกเป็นแหล่งที่เชื้อมาลาเรียเข้ามาสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก หญิงมีครรภ์ที่เป็นโรคมาลาเรียมักเกิดภาวะต่าง ๆ ดังนี้
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
พบบ่อยมากถึงแม้จะเป็นโรคมาลาเรียชนิดไม่รุนแรงก็ตาม คือ พบได้ถึงร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วย แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ มักเกิดภายใน ๑-๔ ชั่วโมงหลังจากได้รับยาควินินเนื่องจากตับอ่อนในหญิงมีครรภ์ถูกกระตุ้นจึงมีการหลั่งอินซูลินมากขึ้นซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและหญิงมีครรภ์อยู่ในภาวะใช้พลังงานสูง สาเหตุอื่นที่ร่วมด้วยคือการมีไข้สูงและมีเชื้อมาลาเรียที่สะสมในรกเป็นจำนวนมากซึ่งจะทำให้ใช้น้ำตาลมากขึ้น
ภาวะปอดบวมน้ำ
มักพบในช่วงใกล้คลอดที่มีสารน้ำเพิ่มมากขึ้นในการไหลเวียนของเลือดจากการให้สารน้ำและยังพบในช่วงหลังคลอด เนื่องจากการบีบรัดของหลอดเลือดทำให้เลือดภายในอุ้งเชิงกรานไหลกลับสู่วงจรไหลเวียนของเลือดมากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์
ทารกในครรภ์มักขาดอาหารและออกซิเจนเนื่องจากมีการอุดกั้นของหลอดเลือดในรกจากเชื้อมาลาเรียที่สะสมมากทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อย ตายขณะคลอดหรือคลอดก่อนกำหนด
โรคมาลาเรียแต่กำเนิด หมายถึง โรคมาลาเรียในเด็กที่ได้รับเชื้อจากแม่ทางรก ทารกในถิ่นมาลาเรียที่ตรวจพบเชื้อมาลาเรียภายใน ๗ วันหลังคลอด ถือเป็นโรคมาลาเรียแต่กำเนิดได้ สำหรับเด็กในถิ่นที่ไม่มีโรคมาลาเรียหากตรวจพบเชื้อมาลาเรียภายหลังคลอดเกิน ๗ วัน ก็ถือว่าเป็นโรคมาลาเรียแต่กำเนิดได้เช่นกันแสดงว่าทารกนั้นได้รับเชื้อจากแม่อย่างแน่นอน ทารกแรกคลอดที่เป็นโรคมาลาเรียจะมีไข้ ไม่ดูดนม กระสับกระส่าย งอแงหรือเซื่องซึม บางครั้งมีการอาเจียนและท้องเสียแต่ไม่ค่อยพบอาการไข้หนาวสั่น เหงื่อออก นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ได้แก่ ซีด เหลือง ตับโต ม้ามโต
เด็กที่เป็นโรคมาลาเรียมีอาการและอาการแสดงแตกต่างจากผู้ป่วยผู้ใหญ่ขึ้นอยู่กับอายุและระดับภูมิต้านทานต่อโรคมาลาเรียด้วยลักษณะที่แตกต่างกันดูได้จากตารางข้อแตกต่าง