Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เครื่องมือกะเทาะเมล็ด

Posted By Plookpedia | 01 พ.ค. 60
2,570 Views

  Favorite

เครื่องมือกะเทาะเมล็ด

      เครื่องมือที่ใช้ในการกะเทาะส่วนที่เป็นเปลือกแข็งสีน้ำตาลของเมล็ดมีอยู่หลายชนิดทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและสร้างขึ้นในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ เครื่องกะเทาะแบบใช้แรงคนและเครื่องกะเทาะแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า

เครื่องกะเทาะแบบใช้แรงคน

      บางเครื่องสั่งซื้อจากประเทศออสเตรเลียหรือจากรัฐฮาวายสหรัฐอเมริกา แต่ส่วนใหญ่ดัดแปลงจากเครื่องมือที่ใช้ในงานช่าง เช่น คีมล็อกหรือสร้างขึ้นแบบง่าย ๆ จากวัสดุที่หาได้ทั่วไปราคาไม่แพงและมีขั้นตอนการทำงานไม่ยุ่งยากซับซ้อนบางเครื่องสร้างขึ้นโดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เครื่องกะเทาะเมล็ดแบบใช้แรงคนจะสามารถกะเทาะได้เร็วหรือช้าและได้คุณ ภาพเนื้อในดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือของผู้ที่กะเทาะซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพราะทำให้ได้เนื้อในที่สมบูรณ์เครื่องกะเทาะที่นิยมใช้ในประเทศไทยมี ๔ แบบ คือ
      ๑.  เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อก
      ๒. เครื่องกะเทาะแบบแผ่นอัด
      ๓. เครื่องกะเทาะแบบร่องฟันกดอัด
      ๔. เครื่องกะเทาะแบบใบมีดกระแทก

 

มะคาเดเมีย
เครื่องกะเทาะเมล็ดแบบใช้แรงคน

 

๑. เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อก

      เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อกดัดแปลงมาจากคีมล็อกที่ใช้ในงานช่างโดยการเจียนปากจับด้านล่างให้เป็นคมมีดมีรัศมีโค้งเพื่อรับกับความโค้งกลมของเมล็ดมะคาเดเมีย วิธีการกะเทาะให้ใช้มือข้างหนึ่งจับเมล็ดให้อยู่ระหว่างปากล่างและปากบนของคีมล็อกพลิกรอยตะเข็บที่ผิวของกะลาให้ตรงกับส่วนคมของใบมีดปากล่างส่วนมืออีกข้างหนึ่งบีบที่ด้ามคีมล็อกให้ปากคีมกดอัดลงบนกะลาเมล็ดจะติดคาที่ปากคีม การออกแรงกะเทาะเปลือกให้แตกต้องใช้แรงทั้ง ๒ มือโดยมือข้างที่จับเมล็ดต้องช่วยบีบที่ด้ามคีมด้วยเมล็ดมะคาเดเมียจึงจะแตก เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อกมีใช้กันอยู่ทั่วไปตามแปลงปลูกของเอกชนและแปลงปลูกพืชทดลองของสถานีทดลองพืชสวนกรมวิชาการเกษตรเนื่องจากมีราคาถูกและยังสามารถดัดแปลงได้จากคีมล็อกที่ใช้งานได้ไม่ดีแล้วแต่การใช้งานก็มีความยุ่งยาก เนื่องจากมือข้างหนึ่งต้องคอยจับเมล็ดทุกเมล็ดให้รอยตะเข็บของกะลาตรงกับแนวใบมีดด้านล่าง การบีบต้องใช้แรงมากเพราะต้องคอยปรับระยะเกลียวเข้าออกเพื่อให้ระยะห่างของปากบีบพอดีกับเมล็ดซึ่งแต่ละเมล็ดมีเส้นผ่าศูนย์กลางแตกต่างกันความสามารถในการทำงาน ๒ กิโลกรัม/ชั่วโมง ได้เมล็ดเนื้อในเต็มเมล็ดประมาณร้อยละ ๔๐

 

มะคาเดเมีย
เครื่องกะเทาะแบบคีมล็อกดัดแปลงจากคีมล็อกที่ใช้ในงานช่าง

 

๒. เครื่องกะเทาะแบบแผ่นอัด

      ต้นแบบเครื่องกะเทาะเมล็ดแบบนี้สั่งซื้อจากประเทศออสเตรเลีย การกดอัดเมล็ดใช้หลักของการผ่อนแรงกดด้วยคานที่มีจุดหมุน ๓ จุด ขนาดกว้าง ๓ นิ้ว ยาว ๑๖ นิ้ว คานกดอัดสามารถต่อยาวออกไปได้อีกเพื่อช่วยผ่อนแรงในการกดแต่การใช้งานจริงไม่ค่อยสะดวกและไม่คล่องตัวเนื่องจากไม่มีแนวคมกดนำผ่าร่องที่กะลาเป็นเพียงการกดอัดด้วยแผ่นล่างบนผิวกะลาทำให้เมื่อกะลาหุ้มเมล็ดแตกออกมักกดเนื้อในให้แตกหรือฉีกไปด้วย กะลาและเศษเปลือกที่แตกก็จะค้างอยู่ในช่องกดซึ่งต้องเขี่ยออกให้หมดก่อนจึงจะใส่เมล็ดใหม่เข้าไปทำให้เสียเวลา เครื่องกะเทาะแบบแผ่นอัดนี้ปัจจุบันมีใช้อยู่ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ความสามารถในการทำงาน ๓ กิโลกรัม/ชั่วโมง ได้เมล็ดเนื้อในเต็มเมล็ดประมาณร้อยละ ๕๐-๖๐

 

มะคาเดเมีย
เครื่องกะเทาะแบบแผ่นอัด

 

๓. เครื่องกะเทาะแบบร่องฟันกดอัด

      เป็นเครื่องกะเทาะที่สั่งซื้อมาจากประเทศนิวซีแลนด์ มีส่วนประกอบสำคัญ คือ ชุดกดอัดที่มีใบมีดกดอัดเป็นแบบร่องฟันก้างปลาโค้ง มีระยะเกลียว ๒.๕ มิลลิเมตร รัศมีความโค้งของคม ๒๕ มิลลิเมตร กว้าง ๑๒ มิลลิเมตร และหนา ๒ มิลลิเมตร และชุดรองรับเมล็ดที่มีใบมีดอีกชุดยึดติดอยู่กับแขนบีบตัวล่างซึ่งใบมีดมีลักษณะเป็นร่องฟันตรงมีระยะเกลียว ๑.๕ มิลลิเมตร รัศมีความโค้ง ๙๑ มิลลิเมตร และมุมของคมประมาณ ๔๕ องศา นอกจากนี้ยังมีลวดสปริงช่วยดีดเปลือกเมื่อกะเทาะแล้ว วิธีการกะเทาะโดยการนำเมล็ดใส่เข้าไปในระหว่างใบมีดที่เป็นชุดกะเทาะแล้วจัดรอยตะเข็บของเมล็ดให้อยู่ตรงกับแนวใบมีดของชุดรองรับเมล็ดจากนั้นกดแขนบีบลงให้ใบมีดกดกะลากะเทาะเปลือก เครื่องกะเทาะแบบนี้มีแขนกดที่กว้างต้องใช้ทั้ง ๒ มือช่วยบีบ ความสามารถในการทำงานจึงไม่รวดเร็วนัก คือ ๓ กิโลกรัม/ชั่วโมง โดยได้เมล็ดเนื้อในเต็มเมล็ดประมาณร้อยละ ๔๐

 

มะคาเดเมีย
เครื่องกะเทาะแบบร่องฟันกดอัด

 

๔. เครื่องกะเทาะแบบใบมีดกระแทก

      เป็นเครื่องกะเทาะที่ออกแบบและพัฒนาโดยศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมกรมวิชาการเกษตรโดยมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ใบมีดกดกะลา ๒ ชุด ได้แก่ ใบมีดชุดบนที่ใช้กดอัดสำหรับกะเทาะกะลาให้แตกและใบมีดชุดล่างเป็นใบมีดอยู่กับที่เพื่อรองรับแรงกดอัดและกะเทาะกะลาให้แยกออกจากกัน ใบมีดทั้ง ๒ ชุดมีรัศมีความโค้งเหมาะกับเมล็ดมะคาเดเมียที่มีขนาดแตกต่างกันสิ่งที่สำคัญในการกะเทาะเพื่อให้ได้เนื้อในเต็มเมล็ดสูง คือ การเตรียมที่ดีโดยการนำเมล็ดมาอบด้วยอุณหภูมิ ๕๐-๕๕ องศาเซลเซียส จนเมล็ดในคลอนซึ่งใช้เวลาในการอบประมาณ ๔๘ ชั่วโมง กะเทาะได้เนื้อในเต็มเมล็ดถึงร้อยละ ๙๐ เครื่องกะเทาะแบบนี้มีความสามารถในการกะเทาะเมล็ดมะคาเดเมีย (กะลา) ๕ กิโลกรัม/ชั่วโมง เป็นเครื่องแบบใช้แรงคนที่ดีที่สุดในปัจจุบัน

 

มะคาเดเมีย
เครื่องกะเทาะแบบใบมีดกระแทก

 

เครื่องกะเทาะแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า   

      เครื่องกะเทาะแบบนี้มีการผลิตขึ้นในหลายประเทศที่มีการปลูกมะคาเดเมียเพื่อการค้า เช่น ประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเทคนิคหลายแห่งในรัฐฮาวายได้สร้างและพัฒนาเครื่องกะเทาะแบบนี้ขึ้นหลายแบบ  

      สำหรับประเทศไทยที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ เครื่องกะเทาะแบบใบมีดหมุนเหวี่ยงซึ่งสถาบันวิจัยพืชสวนกรมวิชาการเกษตรสั่งซื้อจากประเทศออสเตรเลียมีส่วนประกอบสำคัญ คือ ชุดใบมีด ๘ ใบ ซึ่งยึดติดกับแกนหมุนทรงกรวยที่มีมุมเอียง ๕๙ องศา ความสูงของกรวย ๑๑๐ มิลลิเมตร กรวยมีเส้นผ่าศูนย์กลางด้านล่าง ๑๗๒ มิลลิเมตร และด้านบน ๒๕.๔ มิลลิเมตร ร่องใบมีดกว้าง ๖ มิลลิเมตร แกนใบมีดหมุนเหวี่ยงรับแรงขับหมุนตรงจากมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด ๑/๓ แรงม้า ภายในกรอบทรงกรวยที่ครอบแกนหมุนใบมีดจะมีชุดใบมีดอีก ๒ ใบ ยึดติดอยู่กับตัวเสื้อชุดกะเทาะเพื่อเป็นตัวปะทะเมล็ดที่ถูกขับเหวี่ยงมากับใบมีดหมุนเหวี่ยงและยังมีแผ่นเหล็กโค้งอยู่ด้านในเพื่อกันไม่ให้เมล็ดที่ถูกกะเทาะแล้วหมุนกลับไปถูกกะเทาะซ้ำอีก เมื่อกะลาแตกก็จะตกลงทางช่องทางออกเมล็ดลงมาในภาชนะรองรับเมล็ด เครื่องกะเทาะเมล็ดแบบใบมีดหมุนเหวี่ยงสามารถกะเทาะเมล็ดได้อย่างรวดเร็วและครั้งละจำนวนมากได้หรืออาจกล่าวได้ว่าสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ได้เปิดสวิตช์ให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานหากเปรียบเทียบความเร็วในการกะเทาะกับเครื่องกะเทาะแบบใช้แรงคนทุกชนิดเครื่องกระเทาะแบบนี้สามารถกะเทาะได้เร็วกว่าแต่ก็มีข้อเสียคือถ้าเมล็ดมีขนาดที่แตกต่างกันมากเมื่อลำเลียงใส่ในช่องใบมีดหมุนเหวี่ยงถ้าเปลือกเมล็ดขนาดใหญ่แตกก็มักจะกดฉีกเนื้อในให้แตกหรือแหว่งไปด้วย ส่วนเมล็ดที่เล็กมักไม่ถูกกะเทาะจะหลุดออกมาทางช่องทางออกซึ่งต้องเสียเวลาในการคัดเมล็ดที่ไม่ถูกกะเทาะนำกลับมากะเทาะใหม่และเมล็ดบางส่วนถูกใบมีดเหวี่ยงกระแทกแตกแต่แตกเพียงบางส่วนโดยเนื้อในยังคงค้างอยู่ในเปลือกต้องใช้แรงคนในการคัดแยกเมล็ดและเปลือกรวมทั้งคัดแยกเมล็ดที่ยังไม่ถูกกะเทาะนำกลับมากะเทาะใหม่ซึ่งอาจได้เนื้อในไม่เต็มเมล็ดเพราะกดฉีกทั้งจากใบมีดหมุนเหวี่ยงในเครื่องและจากเปลือกกะลาที่แตกเนื้อในที่ได้ค่อนข้างเต็มเมล็ดประมาณร้อยละ ๕๐-๖๐ และความสามารถในการกะเทาะ ๕๐ กิโลกรัม/ชั่วโมง

 

มะคาเดเมีย
การกะเทาะโดยใช้เครื่องกะเทาะแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้า

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow