Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การแพทย์ในทวีปยุโรปที่ใกล้เคียงกับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

Posted By Plookpedia | 13 ก.ย. 60
730 Views

  Favorite

การแพทย์ในทวีปยุโรปที่ใกล้เคียงกับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


ระหว่างพุทธศักราช ๒๐๕๔ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีฝรั่งเข้ามาในสมัยอยุธยาและ พ.ศ.๒๒๓๑ ซึ่งเป็นปีที่ตรงกับปีสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเกือบตรงกับ พ.ศ.๒๐๔๓–๒๒๔๓ ซึ่งทางฝ่ายยุโรปถือเป็นระยะเวลาที่สำคัญ คือ เป็นระยะเวลาที่มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป (Renaissance) เช่น มีการประดิษฐ์การพิมพ์การพบทวีปอเมริกาและมีการเดินเรือติดต่อกับประเทศอินเดียทำให้ประชาชนรวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปมีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้เลิกล้มความเชื่อถือเก่า ๆ และพยายามศึกษาหาข้อเท็จจริงทำให้วิชาการหลายแขนงเจริญก้าวหน้ากว่าเดิมเป็นอันมากวิชาการแพทย์ของทวีปยุโรปก็รวมอยู่ในกลุ่มทางวิชาการที่ก้าวหน้านี้ด้วย เพราะมีพื้นฐานดีอยู่แล้วจากวิชาการแพทย์ที่เจริญอยู่ในประเทศใกล้เคียงและที่มีอิทธิพลมากก็คือความรู้ที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซ (Greece) วิชาการที่เห็นได้ชัดเจนคือความรู้ในเรื่องร่างกายของมนุษย์เป็นความรู้ที่ถูกต้องเพราะศึกษาจากของจริงโดยการชำแหละศพของคนแม้ความรู้เกี่ยวกับร่างกายจะมีอยู่บ้างแต่เดิมก็ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง เพราะศึกษาจากศพของสัตว์ เช่น งานของกาเลน (Galen, ค.ศ.๑๓๐-๒๐๐) ผู้ริเริ่มศึกษาหาความรู้ที่แท้จริงไม่ใช่เป็นแพทย์แต่เป็นศิลปินคนสำคัญของโลก คือ ลีโอนาร์ดา ดา วินซี (Leonardo da Vinci, ค.ศ.๑๔๕๒-๑๕๑๙) ท่านผู้นี้ไม่พอใจความรู้เกี่ยวกับร่างกายที่มีอยู่เพราะไม่อาจใช้ได้ถูกต้องในการปั้นและการเขียนภาพของคนท่านจึงลงมือศึกษาเองจากศพโดยวิธีชำแหละแต่การศึกษาของท่านก็เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น แขน ขาและลำตัวไม่ลึกซึ้งเข้าไปถึงอวัยวะภายในอันเป็นความรู้ที่จำเป็นต่อวิชาแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคและการรักษาความรู้ที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งเกี่ยวกับวิชาการแพทย์ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยอันเดรียสเวซาลิอุส (Andreas Vesalius, ค.ศ.๑๕๑๔-๑๕๖๔) นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเบลเยียมจนกระทั่งได้รับการยกย่องทั่วโลกว่าเป็นบิดาของวิชากายวิภาคศาสตร์พร้อมกับความก้าวหน้าในวิชาพื้นฐานซึ่งจะทำให้วิชาการแพทย์ที่เกี่ยวกับการผ่าตัดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ก้าวหน้าขึ้นก็เกิดมีอัจฉริยะบุคคลคือ อัมบรัวซ์ ปาเร (Ambroise Pare, ค.ศ.๑๕๑๐-๑๕๙๐) ชาวฝรั่งเศสคิดแก้ไขวิธีการผ่าตัดให้ปลอดภัยและมีอันตรายน้อยลง เช่น เดิมบาดแผลของแขนขาที่ถูกตัดเพื่อจะให้เลือดหยุดแพทย์จะใช้เหล็กเผาไฟจี้ให้เลือดหยุด (cautery) แต่วิธีนี้เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้นนอกจากจะทำให้แผลหายช้าแล้วยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดอย่างสาหัสปาเรได้แก้ไขโดยวิธีผูกหลอดเลือดแทน ฉะนั้น ปาเรจึงเป็นบุคคลแรกที่คิดทำคีมจับหลอดเลือดขึ้นในสมัยของปาเรบาดแผลที่ถูกกระสุนปืนใช้น้ำมันเดือดราดไปบนแผลอ้างว่ากันไม่ให้แผลเป็นพิษแต่ปาเรใช้น้ำมันที่สะอาดแต่งแผลแทนผู้ป่วยไม่มีความเจ็บปวดและแผลหายเร็วขึ้นวิธีของปาเรคงติดมาถึงเมืองไทยในสมัยนั้นด้วย เดอ ฟอร์แบงจึงนำมาใช้ในการรักษาทหารที่ถูกอันตรายที่หน้าท้องจนลำไส้และกระเพาะอาหารทะลักออกมาภายนอกปาเรเป็นคนคัดค้านไม่ยอมให้ใช้เนื้อมัมมี่และเขาของสัตว์เขาเดียว (Unicorn) ในการรักษากาฬโรค

 

ฝ่ายทางยาหรืออายุรศาสตร์ก็มี ปาราเซลซุส ('Paracel- sus, Phillippus Aureolus', Theophrastus Bombastus Von Hohenheim, ค.ศ. ๑๔๙๓-๑๕๔๑) เป็นผู้แนะนำให้กลับไปใช้วิธีการของฮิปโปคราเตส (Hippocrates, ๕๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช) โดยอาศัยธรรมชาติเป็นสำคัญทำให้การรักษาพยาบาลดีขึ้นตัวอย่างคำกล่าวสั้น ๆ แบบคำพังเพย (apjorisms) ของฮิปโปคราเตสได้แก่ผู้ใดชักสืบเนื่องจากบาดแผลบอกอาการตาย (บาดทะยัก) ผู้ที่มีลักษณะตามธรรมชาติเป็นคนอ้วนมักตายด้วยโรคปัจจุบันยิ่งกว่าคนผอม เมื่อผู้เพ้อหลับลงได้นับเป็นการดีชีวิตสั้นแต่ศิลปะวิทยาจะอยู่ต่อไปอีกนานการเปลี่ยนแปลงของโรคเป็นไปโดยรวดเร็วการทดลองย่อมต้องฝ่าอันตรายการตัดสินใจเป็นเรื่องยากคนชราจะเป็นโรคต่าง ๆ ได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาวแต่ถ้าคนชราเกิดเป็นโรคเรื้อรังขึ้นโรคนั้นก็มักติดตามไปถึงหลุมศพด้วยอย่าละเลยว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยไม่มีบาดแผลใดที่ศีรษะแม้เป็นบาดแผลเล็กน้อยที่อาจจะละเลยได้และก็ไม่มีบาดแผลใดที่ศีรษะแม้จะดูร้ายแรงเพียงไรจนคิดว่าจะทำให้ถึงแก่ชีวิตแล้วละเลยเสีย เป็นต้น (คำแปลคำพังเพยนี้ อาจจะยาวไปกว่าตัวจริงแต่เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจตามความหมายจึงได้ขยายขึ้นเล็กน้อย) คำพังเพยยังคงใช้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้นอกจากนั้นยังมีข้อความที่ผู้ที่จะดำเนินชีวิตในอาชีพแพทย์จะต้องกล่าวคำสาบาน (Hippocratic oath) ที่ใช้กันอยู่แพร่หลายในหลายแห่งของโลกทำให้แพทย์มีจรรยาบรรณในการปฏิบัติที่เหมาะสม

ปาราเซลซุส

 

 

ที่ประเทศอังกฤษได้ตั้งสมาคมแพทย์ขึ้นโดยทอมัส ลินักร์ (Thomas Linacre, ค.ศ. ๑๔๖๐-๑๕๑๔) ซึ่งเป็นผู้พบว่ามีผู้ที่ให้การรักษาผู้ป่วยเป็นหมอเถื่อนที่ขาดการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ต่อมาสมาคมนี้ได้กลายเป็นราชวิทยาลัยแพทย์แห่งกรุงลอนดอน (Royal College of Physicians of London) ดูแลให้กิจการแพทย์ของประเทศอังกฤษดำเนินไปตามหลักการของวิทยาศาสตร์และผู้ทำการรักษาพยาบาลจะต้องได้ใบประกอบโรคศิลป์

 

เกี่ยวกับประวัติการแพทย์เท่าที่ได้เอ่ยนามบุคคลต่าง ๆ มาแล้วไม่อาจจะนำรายละเอียดมาเสนอได้เพราะจะกลายเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งเป็นประวัติการแพทย์สากลไปแต่ต้องการจะให้ทราบแต่เพียงว่าการเจริญทางการแพทย์ของประเทศตะวันตกนั้นย่อมถูกชักนำเข้ามาพร้อมกับผู้มาแสวงโชคในทางการค้ากับคณะนักบวชคณะทหารและคณะทูตที่มาเจริญทางสัมพันธไมตรีพร้อมกับการแพทย์งานทางวิทยาศาสตร์ก็คงได้นำเข้ามาด้วยเพราะในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ คือจาก ค.ศ. ๑๖๐๐-๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๑๔๓-๒๒๔๓) ได้เกิดอัจฉริยบุคคลขึ้นหลายท่าน เช่น ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon,ค.ศ. ๑๕๖๑- ๑๖๒๖) ผู้เน้นความสำคัญในการทดลองทางวิทยาศาสตร์กาลิเลโอ (Galileo, ค.ศ. ๑๕๖๔-๑๖๔๒) ผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์ซึ่งเป็นแม่แบบของกล้องจุลทรรศน์ (Compound microscope) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในวิชาการแพทย์ต่อมาโดยบุคคลในตระกูลแจนเซน (Janzen, Z. & H.) โดยใช้เลนส์ที่มีความโค้งออกทั้งสองด้านใส่เข้าไปในท่อท่านผู้นี้ยังเป็นผู้สร้างให้เกิดความแน่นอนในการวัดทำให้การทดลองทางการแพทย์มีผลแน่นอนขึ้นโดยอาศัยแนวการปฏิบัติของกาลิเลโอทำให้แซงตอเรียม (Sanctorium, ค.ศ. ๑๕๖๑-๑๖๓๖) ประดิษฐ์ปรอทใช้วัดความร้อนและต่อมาได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดชีพจรขึ้น

 

 

รอเบิร์ต บอยล์ (Robert Bolye, ค.ศ. ๑๖๒๗-๑๖๙๑) เป็นคนแรกที่แสดงให้เห็นว่าอากาศเป็นวัตถุและมีปริมาตรที่วัดได้งานของบอยล์ทำให้ จอน เมยัวร์ (John Mayour, ค.ศ. ๑๖๔๕- ๑๖๗๗) กล่าวว่าอากาศมีส่วนประกอบสำคัญในการหายใจและเป็นผู้ทำออกซิเจนโดยเผาออกไซด์และเกือบเป็นผู้พบว่าออกซิเจนเป็นตัวเปลี่ยนเลือดจากหลอดเลือดดำให้เป็นสีแดงในศตวรรษเดียวกันนี้ก็ได้พบการไหลเวียนของเลือดโดยฮาร์วีย์มีการใช้เหล็กในการรักษาโรคโลหิตจางการใช้เปลือกต้นซิงโคนาจากประเทศเปรูในการรักษาไข้จับสั่นซึ่งได้นำเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาโดยคณะนักบวชตามที่ได้กล่าวแล้วรู้จักการใช้ปรอทในการรักษาโรคซิฟิลิสโดยโทมัส ซิดเดนแฮม (Thomas Sydenham, ค.ศ. ๑๖๒๔-๑๖๘๙) ผู้ซึ่งแนะแนวในการวินิจฉัยโรคและการรักษาตามแนวของฮิปโปคราเตสจนได้ฉายาว่า ฮิปโปคราเตส ชาวอังกฤษ (English Hippocrates) และมีชื่อสัมพันธ์อยู่กับโรคสันนิบาตลูกนกและการไอชนิดหนึ่งซึ่งเนื่องมาจากประสาท

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow