Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การแพทย์แผนปัจจุบันในสมัยรัตนโกสินทร์

Posted By Plookpedia | 13 ก.ย. 60
1,119 Views

  Favorite

การแพทย์แผนปัจจุบันในสมัยรัตนโกสินทร์


หลังจากที่ประเทศไทยในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) ได้ขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกไปจากประเทศไทยแล้วการแพทย์แผนปัจจุบันที่นำมาโดยชาวฝรั่งเศสก็พลอยสูญไปด้วยกลับไปใช้การแพทย์แผนโบราณตามเดิมการแพทย์แผนปัจจุบันได้กลับมาอีกพร้อมกับการเข้ามาของนักสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) พ.ศ.๒๓๗๑ มีนักสอนคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ ๒ คน เข้ามาในประเทศไทยเป็นแพทย์ชาวเยอรมนีคนหนึ่งชื่อกุตซ์ลัฟฟ์ (Rev. Carl Augustus Gutzlaff) และหมอสอนศาสนาชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) นอกจากการสอนศาสนาแจกหนังสือภาษาจีน และแจกยาแล้วก็ไม่ได้ทำการทางการแพทย์แผนปัจจุบันไว้ให้เป็นหลักฐานประการใด

ต่อจากบุคคลทั้งสองแล้วก็มีนักสอนศาสนาเป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ติดตามเข้ามาอีกหลายคนแต่ผู้ที่นำการแพทย์แผนปัจจุบันและวิทยาศาสตร์เข้ามาเผยแผ่จนเป็นที่รู้จักกันดีมี ๒ ท่าน คนแรกเป็นแพทย์คือ ดร.บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เข้ามาใน พ.ศ. ๒๓๗๗ อีกผู้หนึ่งคือ ดร.เฮาส์ (Reynolds Samuel House) เป็นทั้งแพทย์และเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสาขาเคมีฟิสิกส์และสนใจทางชีววิทยาด้วย

ดร.บรัดเลย์ได้มาปฏิบัติงานทางแพทย์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ทั้งในหมู่ข้าราชการ และประชาชน ตลอดจนบุคคลชั้นสูงสุด ของประเทศ เป็นการนำการแพทย์แผนปัจจุบันมาสู่ประเทศไทย หลังจากที่การแพทย์แผนปัจจุบันได้มีการเจริญเปลี่ยนแปลง กิจการสำคัญๆ ที่ได้มีบันทึกไว้ชัดเจนมีดังต่อไปนี้

๑. เป็นคนแรกที่ทำการถ่ายเลือดเพื่อแก้ไขผู้ป่วยที่เสียเลือดไปเป็นจำนวนมากแม้การถ่ายเลือดจะไม่ได้ทำในประเทศไทยก็ตามก็ได้ทำกับบุคคลที่จะเข้ามาในประเทศไทย คือ คนที่รอเรืออยู่ที่เมืองสิงคโปร์ก่อนเข้ามากรุงเทพฯ เช่น ภรรยาของนักสอนศาสนาดีน (Rev. William Dean) ตกเลือดเนื่องจากการคลอดบุตร ดร.บรัดเลย์ได้ถ่ายเลือดจากสามีให้แม้ความรู้พื้นฐานของการถ่ายเลือดในสมัยนั้นจะรู้กันน้อยก็ตาม

๒. เป็นผู้ตั้งร้านจำหน่ายยา (dispensary) และเนื่องจากได้ให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคจึงมีลักษณะเป็นคลินิกซึ่งเป็นแบบอย่างของคลินิกต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คลินิกของดร.บรัดเลย์ไม่เก็บเงินการทำคลินิกแล้วเก็บค่าตรวจและค่ายาทำขึ้นตอนต่อมาโดย ดร.เฮยส์ (T. Hayward Hays)

๓. เป็นผู้นำวิธีป้องกันโรคฝีดาษซึ่งทำให้คนไทยเสียชีวิตไปปีละมาก ๆ แม้เดิมจะไม่ค่อยได้ผล คือ การใช้สะเก็ดจากแผลของผู้ป่วยเอามาปลูกต่อมาการปลูกฝีก็สำเร็จอย่างดี เมื่อ ดร.บรัดเลย์ได้สั่งพันธุ์หนองผีมาทางเรือจากเมืองบอสตันอันเป็นเหตุให้มีแพทย์ไทยออกไปฝึกการทำหนองฝีที่ประเทศฟิลิปปินส์จนนำมาใช้ได้เองในประเทศ

๔. ได้ร่วมมือกับนายแพทย์เฮาส์ไปทำการคลอดให้พระสนมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับ ดร.เฮาส์ที่ทำงานแทน ดร.บรัดเลย์ระหว่างการไปพักผ่อนในอเมริกาก็ได้ปฏิบัติการในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์เป็นที่สนใจของข้าราชการและประชาชนยิ่งขึ้นประกอบกับที่ รัชกาลที่ ๔ ทรงซาบซึ้งในทางภาษาอย่างดีโดยอาศัยบุคคลในคณะมิชชันนารีเป็นครูสอนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยศิลปวิทยาของชาวตะวันตกเพิ่มขึ้นทีละน้อยเตรียมประเทศและประชาชนไทยให้พร้อมที่จะรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งได้มีขึ้นอย่างมากมายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในทางการแพทย์ก็มีการจ้างแพทย์ชาวอังกฤษมาประจำในราชสำนัก แต่กิจการที่สำคัญที่ทำให้การแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาปักหลักมั่นคงในประเทศไทยก็คือพระราชดำริให้สร้างโรงศิริราชพยาบาลเป็นที่พักถาวรสำหรับราษฎรที่เกิดการป่วยไข้ขึ้นก่อนหน้านั้นถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้นก็อาศัยวังของเจ้านายและเคหสถานของขุนนางใหญ่ทำเป็นที่พักชั่วคราว

การสร้างโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นสภาบันการแพทย์แห่งแรกของประเทศไทยมีประวัติดังนี้

 

๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลรักษาคนป่วยไข้ให้เป็นทานแก่ประชาชนทั่วไปโดยมิเลือกหน้าเป็นครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๑

ขณะที่คอมมิตตีกำลังดำเนินงานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิดทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระดำรัสว่า "แม้ลูกเราจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีก็ยังได้รับการทุกข์ทรมานถึงเพียงนี้ลูกราษฎรที่ยากจนจะได้รับความทุกข์ทรมานสักเพียงใด"

๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑

ภายหลังที่คอมมิตตีได้จัดการถากถางที่รกร้างว่างเปล่าในบริเวณวังหลังแล้วได้สร้างเป็นเรือนไม้ขึ้นใช้สำหรับการรักษาพยาบาลสำเร็จจากไม้และวัสดุจากเมรุที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงจึงมีประกาศเปิดโรงพยาบาลรับรักษาโรคแก่ประชาชนทุกรูปทุกนามโดยมิคิดค่ารักษาและค่ายาจากคนไข้เลยและพระราชทานชื่อสถานพยาบาลนั้นว่า "โรงศิริราชพยาบาล" การรักษาใช้ทั้งยาไทยและทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

 

๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๑

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลและให้ตั้งกรมพยาบาลขึ้นและโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าศรีเสาวภางคเป็นอธิบดีกรมพยาบาลองค์แรก

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์

 

 

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๒

เนื่องจากทางการขาดแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นใหม่และแพทย์แผนโบราณของไทยก็ไม่นิยมมาทำงานร่วมกันทางการจึงเปิดโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรกมีการสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันขึ้นในโรงศิริราชพยาบาลโดยมีนายแพทย์เฮยส์แพทย์คณะมิชชันนารีเป็นอาจารย์สอนคนแรกภายหลังประกาศรับสมัครนักเรียนมีผู้มาสมัคร ๔๐ คน แต่ค่อย ๆ หายไปทีละคนสองคนที่สุดเหลือ ๑๕ คน นักเรียนแพทย์สมัยนั้นต้องทำสัญญากับกรมศึกษาธิการโดยมีข้อกำหนดว่า

(๑) กำหนดเวลาเรียน ๓ ปี
(๒) ขณะเรียนได้เงินเดือน ๆ ละ ๑๒ บาท และเบี้ยเลี้ยงอีกเดือนละ ๗ บาท
(๓) ต้องประจำอยู่ในโรงเรียนตลอดเวลาที่เรียน
(๔) เรียนครบ ๓ ปี แล้วจึงสอบถ้าสอบได้จะได้เป็นผู้ช่วยแพทย์ตามโรงพยาบาลได้เงินเดือน ๆ ละ ๒๕ บาท จนถึง ๔๐ บาท เป็นอย่างสูงถ้าสอบตกอนุญาตให้เรียนต่อไปอีก
(๕) ถ้าไม่เอาใจใส่ในการเรียนหรือละทิ้งการเรียนนับว่ากระทำผิดนักเรียนจะต้องคืนเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงต่อกระทรวงธรรมการทั้งสิ้น

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๓

มีทะเบียนนักเรียนแพทย์เป็นหลักฐานเป็นครั้งแรกนักเรียนแพทย์ในสมัยแรกนี้ได้เรียนทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ

มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๕

นายแพทย์ ยอร์ช แมคฟาแลนด์ (George McFarland) รับตำแหน่งเป็นนายแพทย์ใหญ่ของโรงศิริราชพยาบาลและสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันแก่นักเรียนด้วย

โรงศิริราชพยาบาล

 

 

ปลาย พ.ศ. ๒๔๓๕

ได้มีการสอบไล่วิชาแพทย์เป็นครั้งแรกมีผู้สอบไล่ได้ ๙ คน

๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

กรมพยาบาลประกาศเปิดและตั้งชื่อโรงเรียนแพทย์ว่า "โรงเรียนแพทยากร"

๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการฝึกหัดวิชาแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้นเพื่อเป็นการอนุเคราะห์ประชาชนทั้งหลายโดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และให้กรมพยาบาลเป็นผู้จัดการสอน อาศัยอยู่ในโรงศิริราชพยาบาล

๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙

ได้เริ่มการสอนวิชาแพทย์ผดุงครรภ์โดยโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงภาสกรวงศ์ (เปลี่ยน บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการให้พระยาบำบัดสรรพโรคเป็นผู้สอน มีหลักสูตรการเรียน ๓ ปี

พ.ศ. ๒๔๔๐

สมเด็จพระบรมราชินีนาถขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนแพทย์ให้มีทั้งที่อยู่ที่กินของนักเรียนให้เป็นหลักฐาน

๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนและพระราชทานนามว่า "โรงเรียนราชแพทยาลัย" ในปีนี้เองมีนักเรียนผดุงครรภ์สอบไล่ได้ครั้งแรก ๑๐ คน โรงเรียนแพทย์ผดุครรภ์ต้องโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นเสีย ๓ ปี ดังนั้นนางผดุงครรภ์ที่ออกในรุ่นนี้จึงไม่ได้มีการสอบไล่หรือให้ประกาศนียบัตร เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงทรงมีพระราชเสานีย์โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการ จัดการวางระเบียบใหม่โดยให้ติดต่อกับโรงศิริราชพยาบาล

โรงเรียนราชแพทยาลัย

 

 

พ.ศ. ๒๔๔๖

โอนโรงเรียนราชแพทยาลัยมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการรับนักเรียนถึง ๑๐๐ คน สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ขณะนั้นคือ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) เสด็จมาเป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัยทรงปรับปรุงการแพทย์โดยเพิ่มวิชาที่เรียนและรับนักเรียนที่มีวุฒิสูงขึ้นและทรงเสาะหาอาจารย์ผู้ช่วยสอนอีกด้วย

พ.ศ. ๒๔๔๘

ขยายหลักสูตรการศึกษาวิชาแพทย์จาก ๓ ปี เป็น ๔ ปี

พ.ศ. ๒๔๔๙

ได้ตั้งต้นฝึกหัดบุรุษพยาบาลขึ้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงหยุดรับนักเรียนประเภทนี้

พ.ศ. ๒๔๕๐

รวมวิชาแพทย์ไทยกับฝรั่งเข้าเป็นอันเดียวกันเลิกวิชาการแพทย์แผนโบราณคงให้มีแต่วิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๔๕๖

ขยายหลักสูตรวิชาแพทย์จาก ๔ ปี เป็น ๕ ปี

๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับทางด้านนักเรียนผดุงครรภ์ได้จัดวางระเบียบ และหลักสูตรใหม่ โดยมีการสอนวิชาพยาบาลโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย มีหลักสูตร ๓ ปี ครึ่ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงศิริราชพยาบาลเข้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งเป็นคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล 

พ.ศ. ๒๔๖๑ 

มหาวิทยาลัยได้ขยายหลักสูตร ๕ ปี เป็น ๖ ปี

 

มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ 

นายแพทย์ ไฮเซอร์ (Victor Heiser) ผู้ตรวจการของมูลนิธิร็อกกี เฟลเลอร์ เข้ามาตรวจการสาธารณสุขในประเทศพร้อมด้วยนายแพทย์บานส์ได้มาขอดูกิจการของมหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์โดยละเอียดได้พบปะกับเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการและมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีการทาบทามกันในการให้มูลนิธิช่วยเหลือการแพทย์ของประเทศไทย

นายแพทย์วิกเตอร์ ไฮเซอร์

 

 

๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ภายหลังที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญไปยังมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ได้มีหนังสือเชิญไปยังมูลนิธิ

 

๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ 

มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ส่งนายแพทย์เปียร์สเข้ามาดูกิจการแพทย์ในประเทศไทย 

นายจอห์น ดี ร็อกกี เฟลเลอร์

 

 

๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ 

นายแพทย์เปียร์สได้ส่งระเบียบการของมูลนิธิสำหรับจัดการศึกษาแพทยศาสตร์ในคณะแพทย์มายังรัฐบาลไทยเพื่อวินิจฉัยรับรองภายหลังเมื่อรัฐบาลไทยวินิจฉัยแล้วก็ตอบรับไปและได้ทูลเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระราชบิดา) ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ในยุโรปเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการติดต่อร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางฝ่ายมูลนิธินอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีกเป็นจำนวนมากเข้าช่วยเหลือในการนี้ตลอดมาด้วย เช่น การสร้างสถานศึกษาและมอบทุนการศึกษา

มเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระราชบิดา)

 

 

๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

นับเป็นวันเริ่มต้นแห่งการร่วมมือระหว่างมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์กับรัฐบาลไทย ทางมูลนิธิได้ส่งศาสตราจารย์ เอ.จี. เอลลิส
(A. G. Ellis) ซึ่งเข้ามาแล้วครั้งหนึ่งในฐานะศาสตราจารย์ทางพยาธิวิทยา เป็นผู้แทนมูลนิธิ และเป็นผู้อำนวยการสอน และดัดแปลงวิชาการแพทย์ ได้ปรับปรุงหลักสูตรในคณะแพทยศาสตร์ เพิ่มการสอนถึงระดับปริญญา

ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๗๗

เป็นระยะเวลา ๑๒ ปี ซึ่งการแพทย์ในประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ คือ

ก. ช่วยทุนในการสร้างตึกตามโครงการ ให้เหมาะสมเป็นสถานที่เล่าเรียนวิชาแพทย์ ตามมาตรฐานของต่างประเทศ
ข. ช่วยจัดหาศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศมาประจำแผนกวิชาชั่วคราว รวมทั้งออกเงินเดือน และค่าใช้จ่ายเพิ่ม เฉพาะตัวศาสตราจารย์
ค. ให้ทุนคนไทยอย่างน้อยแผนกละ ๒ คนออกไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับเข้ามาเป็นอาจารย์

นอกจากนั้นมูลนิธิยังได้ร่วมมือช่วยปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช และโรงเรียนพยาบาล และผดุงครรภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยส่งพยาบาลชาวต่างประเทศเข้ามาชั่วคราว ๕ คน และปรับปรุงทำนองเดียวกับโรงเรียนแพทย์

พ.ศ. ๒๔๗๘

เป็นปีที่การร่วมมือกับมูลนิธิสิ้นสุดลง คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลศิริราชก็ได้ดำเนินการตามรูปงานที่ได้วางไว้
และขยายกิจการบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตลอดจนได้ปรับปรุงทั้งฝ่ายวิชาการ และธุรการให้ก้าวหน้าตลอดมา เพิ่มจำนวนอาจารย์ แพทย์ และพยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้งสิ่งก่อสร้าง รากฐานที่วางไว้อย่างดี ทำให้สามารถดำเนินการรักษาพยาบาล และการสอนได้ตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง การช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหลังสงครามสงบ ก็ดำเนินไปด้วยดี บนรากฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว

 

พ.ศ. ๒๔๘๕

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกา
ตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้ดำเนินกิจการของตนโดยอิสระ 

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

พ.ศ. ๒๕๐๒ 

มีประกาศพระราชกฤษฎีกา โอนมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จากกระทรวงสาธารณสุข ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วต่อมา จึงเปลี่ยนมาสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดของทบวงมหาวิทยาลัย มีคณะแพทยศาสตร์ ๒ คณะคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และตั้งคณะวิทยาศาสตร์ทำการอบรมนักศึกษาในชั้นเตรียม ที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะต่าง ๆ ซึ่งเดิมสอนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสร้างโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลศิริราชเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้การแพทย์แผนโบราณของไทยเลิกล้มไป แม้ในระยะแรกโรงพยาบาลจะให้การรักษาพยาบาลทั้ง ๒ แบบ คือ แบบ แผนโบราณ และแผนปัจจุบัน พร้อมทั้งการสอนก็สอนทั้ง ๒ แบบ เช่นกัน แต่ต่อมาการสอนการแพทย์แผนโบราณของไทยไม่เป็นที่ นิยมในหมู่นักศึกษา (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐) วิธีรักษาพยาบาล ตามการแพทย์แผนโบราณ จึงมีอยู่เฉพาะในหมู่ประชาชนเท่านั้น 

จากการตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นเป็นผลสำเร็จ ทางการได้สร้างโรงพยาบาลเฉพาะเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลโรคจิต โรงพยาบาลโรคทรวงอก โรงพยาบาลโรคเรื้อน และสถานสงเคราะห์ผู้อนาถา เป็นต้น

เพื่อเป็นอนุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้น นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปแล้ว ยังเป็นที่ทำการของสภากาชาดด้วย และต่อมาก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๓ ขึ้น เป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

การแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอีกมาก เมื่อทางการได้ย้ายกรมสาธารณสุข ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย มาตั้งเป็นกระทรวงสาธารณสุข รวมการศึกษา แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช และสัตวแพทย์ เป็นกรมมหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นก็กระจายกิจการแพทย์แผนปัจจุบันไปสู่หัวเมือง และชนบท ทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด และมีโรงพยาบาลขนาดเล็กประจำอำเภอเกือบครบถ้วน 

ในการขยายกิจการแพทย์ออกไปมากขึ้น ความต้องการ แพทย์ก็มีมากขึ้นเป็นลำดับ ทางการจึงได้สร้างโรงเรียนแพทย์ ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และได้ขยายกิจการของ การแพทย์ของกองทัพเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นหลายแห่ง และก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเป็นแห่งที่ ๒ ในกองทัพบก (โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์) ต่อมาได้เลิกล้ม ขณะนี้กำลังดำเนินการให้โรงเรียนแพทย์ทหาร มีมาตรฐานเท่าเทียมกับคณะแพทย์ของฝ่ายพลเรือน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow