Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เกวียนในงานวรรณกรรม

Posted By Plookpedia | 20 ก.พ. 60
2,448 Views

  Favorite

เกวียนในงานวรรณกรรม

      มีการกล่าวถึงเกวียนในวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์อักษรจำนวนไม่น้อยทั้งที่เป็นเรื่องเล่าแบบนิทาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ หรือในรูปของผญาภาษิต คำพังเพย และการละเล่นของเด็กซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตรกรรมที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเกวียน  นิทานเรื่องเล่าของแบบเรียนชั้นประถมศึกษาที่รู้จักกันดีในอดีตคือเรื่อง “เทวดากับคนขับเกวียน” เป็นคติคำสอนให้คนมีความมุมานะอดทนซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเรื่อง “โคนันทวิศาล” ที่สอนให้พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะและเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระร่วงที่ใช้ชะลอมใส่น้ำแทนโอ่งดินเผาแล้วบรรทุกเกวียนนำไปส่งส่วยให้แก่ขอม
      ในหนังสืออุรังคนิทานมีเรื่อง “ตำนานอุรังคธาตุ” ซึ่งเป็นตำนานที่สำคัญของคนที่อาศัยอยู่ ๒ ฝั่งลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวถึงเกวียนอยู่ในบางตอนด้วย คือ ตอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่ทรงปรารภบุพกรรมของพระองค์ซึ่งมีใจความว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเสด็จปรินิพพานในระหว่างเดินทางทรงอาเจียนเป็นพระโลหิตพระอานนท์จึงไปจัดหาน้ำมาถวายแต่ทุกแห่งกลับมีแต่น้ำขุ่นเป็นตมอาจเป็นเพราะกรรมเก่าตามมาสนองจึงทรงปรารภบุพกรรมของพระองค์ว่า “ดูราอานนท์เอยเมื่อชาติก่อนตถาคตได้เป็นพ่อค้าเกวียนเดินทางมา วัวเกวียนอยากกินน้ำใสมีอยู่ในที่ไกลน้ำขุ่นมีอยู่ในที่ใกล้ ความเกียจคร้านกับความรีบร้อนจะเดินทางไปข้างหน้ามีอยู่เฮาจึงนำวัวไปกินน้ำขุ่นในที่ใกล้เวรอันนั้นยังเศษเหลือไป่สิ้นจึงตามมาสนองแก่เฮาในบัดนี้...”   อีกเหตุการณ์หนึ่งในตำนานเดียวกันคือมีเนื้อหาเกี่ยวกับตอนสละคนเป็นข้าโอกาสและตั้งบ้านธาตุพนมเป็นเรื่องราว เมื่อพระยาสุมิตตธรรมได้ทำการบูรณะพระธาตุพนมแล้วจึงตรัสสั่งให้คนทั้งหลายที่พึงพอใจในพระราชศรัทธาสมัครใจอาสาเป็น “ข้าอุปัฏฐากพระมหาธาตุเจ้า” โดยมีเงื่อนไขจะอภัยโทษยกเว้นจากราชการบ้านเมืองและทั้งยังให้ที่ดินไร่นาทำกินด้วยซึ่งมีคนอาสาเป็น “ข้าโอกาส” ด้วยการอาสาทำงานต่าง ๆ ...ทุกครอบครัวที่อาสาเป็นข้าอุปัฏฐากพระมหาธาตุเจ้าได้รับพระราชทานเงิน ทองคำ อุปกรณ์เครื่องมือในการทำงานครบครัน คือ มีด พร้า จก (จอบ) เสียม ขวาน สิ่ว ...รวมทั้งเครื่องใช้ที่สำคัญ คือ เรือ ๑ ลำ ควาย ๑ คู่ และเกวียน ๑ เล่ม...ทั้งหมดนี้ทุกครอบครัวได้รับพระราชทานเสมอกันและยังให้หาลูกเมีย ญาติพี่น้องวงศ์วาน เข้าไปตั้งบ้านสร้างเมืองอยู่ในที่นั้นเป็น “บ้านธาตุพนม”      ส่วนวรรณกรรมนิทานพื้นบ้านอีสานที่กล่าวถึงเกวียนอย่างชัดเจน คือ เรื่อง “คันธนามโพธิสัตว์ชาดก” หรือ “ท้าวคันธนาม” ที่มีพ่อเป็นช้างและด้วยเหตุที่แม่ได้ดื่มน้ำในรอยเท้าช้าง เมื่อท้าวคันธนามโตขึ้นจึงมีพลังประดุจช้างสาร ต่อมาได้ขออนุญาตแม่ออกเดินทางตามหาพ่อจนไปถึงเมืองเมืองหนึ่งชื่อว่า อินทะปัตถานคร ก็ได้พบกับชายคนหนึ่งที่มีพละกำลังมาก ผู้คนขนานนามว่า “ชายไม้ร้อยกอ” เพราะสามารถลากไม้ไผ่ ๑๐๐ กอให้เคลื่อนไปได้ เมื่อได้ประลองกำลังกันแล้วชายไม้ร้อยกอจึงยอมเป็นข้ารับใช้ท้าวคันธนามและเดินทางร่วมกันต่อไปประมาณ ๒-๓ วันต่อมาก็พบชายอีกคนหนึ่งที่คนขนานนามว่า “ชายเกวียนร้อยเล่ม” กำลังลากเกวียนที่บรรทุกข้าวเต็มและเกวียนผูกติดกันทั้ง ๑๐๐ เล่ม จึงเข้าประลองกำลังด้วยวิธีการดึงเกวียนให้หยุดจนเชือกผูกเกวียนขาดทำให้ชายเกวียนร้อยเล่มกระเด็นไป ๑๐๐ วา และเมื่อต่อสู้กันก็พ่ายแพ้ท้าวคันธนามจึงยอมเป็นข้ารับใช้อีกคนหนึ่ง  ทั้ง ๓ คน ก็เดินทางร่วมกันต่อไปจนกระทั่งท้าวคันธนามได้เป็นเจ้าครองเมืองขวางขันธะบุรีก็แต่งตั้งชายไม้ร้อยกอเป็นอุปราชและแต่งตั้งชายเกวียนร้อยเล่มเป็นเจ้าแสนเมือง  เมื่อครองเมืองอยู่ได้ ๑ เดือนก็ยกเมืองให้ชายไม้ร้อยกอแล้วเดินทางร่วมกับชายเกวียนร้อยเล่มต่อไปและด้วยพละกำลังมหาศาลประดุจช้างสารท้าวคันธนามจึงได้ครองเมืองทะวาราวะดีโดยครองเมืองนี้ได้ ๓ เดือน ก็ยกเมืองให้ชายเกวียนร้อยเล่มส่วนตนเองก็เดินทางตามหาพ่อต่อไป  ในเรื่อง “คันธนามโพธิสัตว์ชาดก” มีส่วนขมวดท้ายเรื่องหรือ “ม้วนชาติ” ที่เกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้าซึ่งกล่าวว่าชายไม้ร้อยกอคือ พระสารีบุตร พระอัครสาวกฝ่ายขวาผู้ทรงปัญญา ชายเกวียนร้อยเล่มก็คือพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ซึ่งมีเรื่องเล่าในรูปแบบความเชื่อที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่ง  นอกจากนี้ยังพบบันทึกหลักฐานที่แสดงถึงการใช้เกวียนเป็นพาหนะเดินทางหรือใช้ในลักษณะการเปรียบเทียบอีกหลายแห่ง เช่น
      ใน พงศาวดารโยนก เรื่อง “พระยามังรายตั้งเมืองเชียงใหม่” ที่ว่า “...แล้วพระยามังรายจึงชวนพระยาทั้งสองไปสู่ที่ชัยภูมิเพื่อจะแรกตั้งราชมณเฑียร ขณะนั้นมีหนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียนมีบริวาร ๔ ตัว แล่นออกจากที่ชัยภูมินั้นไปหนบูรพ์แล้วไปหนอาคเนย์ไปลงรูแห่งหนึ่งภายใต้ต้นไม้ผกเรือก คือ ไม้นิโครธ...”  
      ใน บันทึกการเดินทางในลาวของแอมอนิเย สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ช่วง พ.ศ. ๒๔๓๘ ก็ได้ให้ความรู้เรื่องเกวียนที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ดังบางตอนว่า “...พวกเราเดินตามเส้นทางลา (La) ซึ่งเป็นชื่อเกวียนเล็กใช้ในแถบริมแม่น้ำในลาว เกวียนเล็ก ๒ เล่ม เทียมด้วยควายตัวเดียวใช้บรรทุกข้าว ล้อเกวียนโดยมากแกะจากท่อนไม้ ไม้ดอกหอม (La vande) ซึ่งพวกเขมรเรียก มะอาม (Ma Am) ส่งกลิ่นหอมปกคลุมทั่วทั้งบริเวณ...”และ “...พากันออกเดินทางจากหมู่บ้านนาฮีโดยเดินตามทางล้อหรือเกวียนของพวกคนลาว...”  
      สันนิษฐานได้ว่าสังคมเกษตรกรรมในอดีตมีการใช้เกวียนกันเป็นประจำจนเกิดความคุ้นเคยจึงได้นำประสบการณ์ที่พบเห็นและใช้สอยเกวียน ไปกล่าวถึงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ในผญาภาษิตหรือคำพังเพยต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเกวียนโดยใช้ภาษากวีที่มีความไพเราะและมีนัยความหมายที่กินใจซึ่งภาษิตคำสอนที่รู้จักคุ้นเคยกันดีเรื่องกฎแห่งกรรมในคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ "กงเกวียน กำเกวียน"  ส่วนคำสอนทางโลกเกี่ยวกับผู้หญิงที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ “มารยาหญิงมี ๑๐๐ เล่มเกวียน” เป็นคำกล่าวที่ไปสอดคล้องกับตำนานพระธาตุพนมซึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนฝ่ายหญิงและฝ่ายชายแข่งขันกันสร้างพระธาตุโดยฝ่ายหญิงมีพระนางเจงเวงเป็นผู้นำในการสร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง  ในระหว่างการสร้างฝ่ายหญิงมีการใช้กลอุบายทำให้สร้างพระธาตุได้สำเร็จก่อนตามข้อตกลงในที่สุดฝ่ายหญิงจึงชนะฝ่ายชายที่สร้างพระธาตุภูเพ็ก
ทางภาคเหนือของไทยมีคำผญาภาษิตที่เกี่ยวกับเกวียนอยู่ด้วย  คือ


"อย่าไพเทิกทางล้อ   อย่าไพป้อทางเกวียน
ล้อเพิ่นจักเวียน  เกวียนเพิ่นจักหล้ม"


      มีความหมายสอนว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยว อย่าไปขวางทางเกวียนของคนอื่นจะทำให้กิจการของคนอื่นล้มเหลวประดุจเกวียนล่มเดินทางต่อไปไม่ได้  แต่คำภาษิตก็มักมีความหมายทางสังคมแฝงอยู่ด้วย จึงมีนัยที่สอนว่าอย่าไปขวางทางรักหรือชีวิตรักของคนอื่นจนทำให้ความรักของเขามีอุปสรรคเป็นการนำเกวียนมาเปรียบเทียบกับความรัก
      ส่วนทางภาคอีสานก็พบว่ามีผญาภาษิตและกลอนคำสอนอยู่หลายแง่มุม เช่น ภาษิตที่สอนให้ระมัดระวังดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของตนเองว่า “เกวียนหล้มเพราะเพลาหลม”  และ “เกวียนบ่มีไม้ค้ำหัวซิง้ำใส่ดิน” เป็นการนำเอาประสบการณ์ของการใช้เกวียนบรรทุกในการเดินทาง เจ้าของจะต้องหมั่นดูแลรักษาเพราะส่วนสำคัญของเกวียน คือ เพลาที่ต้องรับน้ำหนักและมีแรงเสียดสีมากถ้าเพลาหลวมจะสึกกร่อนและหักง่ายทำให้เกวียนอาจล่มได้ในระหว่างการเดินทางเจ้าของจึงต้องหมั่นดูแลด้วยการตอกอั่วก่อนเดินทางและเมื่อจอดเกวียนทุกครั้งต้องใช้ไม้ค้ำหัวเกวียนคือ ส่วนของหัวทวกเกวียนซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่รับน้ำหนักตัวเกวียนทั้งหมดถ้าปล่อยลงโดยไม่ใช้ไม้ค้ำไว้ หัวเกวียนจะคว่ำ น้ำหนักจะกดลง ทำให้ทวกเกวียนเสียหายเร็วขึ้น จนดูเหมือนเกวียนที่ชำรุดและใช้ประโยชน์ไม่ได้  บางครั้งเป็นคำสอนที่ใช้สอนคนให้ต้องคิดตระหนักว่า การทำงานต่าง ๆ และการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นจะต้องคำนึงถึงเรื่องความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน มิฉะนั้นผลที่ได้ก็จะไม่สมบูรณ์แบบจนอาจเกิดปัญหาให้ต้องแก้ไขในภายหลัง ดังภาษิตที่ว่า


"นาบ่สมข้าว  เสาเฮือนบ่สมขื่อ
ผือบ่สมสาดเสี้ยน  งัวเกวียนบ่สมแอก
ตาแฮกบ่สมไก่ต้ม  งมเลี้ยงกะบ่กิน"


      คำกลอนบทหนึ่งที่สอนให้คิดตระหนักเรื่องการอยู่ร่วมกันว่าต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน ทุกคนย่อมมีจุดดีและจุดด้อยแตกต่างกันได้จึงไม่ควรมองข้ามหยามหมิ่นกันเพราะในชีวิตจริงมักต้องเผชิญกับปัญหาซึ่งบางครั้งอาจต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือหากมีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็อย่าลังเลที่จะช่วยโดยการนำเกวียนซึ่งเป็นพาหนะทางบกมาเป็นสื่อในการสอนเปรียบเทียบร่วมกับเรือซึ่งเป็นพาหนะทางน้ำดังคำกลอนในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ย่าสอนหลาน” คือ


"เฮือคาแก้ง  เกวียนเห็นให้เกวียนแก่
บาดห่าฮอดแม่น้ำ  เฮือซิได้แก่เกวียน"


      นอกจากนี้ยังพบว่ามีกิจกรรมบางอย่างที่บ่งบอกว่าสังคมในอดีตมีความสัมพันธ์กับเกวียนอยู่ด้วย เช่น การละเล่นของเด็กในภาคอีสานที่เรียกว่า “โค้งตีนเกวียน” เป็นการละเล่นในเวลามีงานเทศกาลบุญข้าวสาก ตรุษสงกรานต์ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า ระวงตีนเกวียน ที่เมื่อเล่นร่วมกันแล้วจะมีลักษณะคล้ายตีนเกวียน (ล้อเกวียน) กำเกวียน (ซี่ล้อเกวียน) และดุมเกวียน (เท้าคนที่เล่นจะไปยันรวมกันตรงกลางวงดูคล้ายดุมเกวียน) นอกจากการละเล่นที่มีความสัมพันธ์กับเกวียนแล้วในอดีตยังมีการทำเข้าหนม (ขนม) บางชนิดที่มีลักษณะคล้ายกงเกวียนและตีนเกวียนเรียกชื่อขนมว่า ขนมสาระวงและขนมกง เป็นต้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow