Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชนิดและลักษณะของเกวียน

Posted By Plookpedia | 19 ก.พ. 60
3,947 Views

  Favorite

ชนิดและลักษณะของเกวียน

      เกวียนโดยทั่วไปมีอยู่ ๒ ชนิด คือ เกวียนเทียมด้วยวัวและเกวียนเทียมด้วยควายซึ่งมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า เกวียนวัวและเกวียนควาย แต่จากหลักฐานเกี่ยวกับการใช้พาหนะบรรทุกลากของชาวบ้านพบว่ายังมีพาหนะที่มีลักษณะคล้ายเกวียนอยู่อีกชนิดหนึ่ง คือ สาลี่หรือสาลี

ก. เกวียนวัว

มักมีขนาดเล็กและเตี้ย ส่วนของความกว้างอาจกว้างกว่าเกวียนควายเล็กน้อย ช่วงความยาวของเกวียนวัวอาจแบ่งเป็น ๒ ส่วนหลัก เท่า ๆ กันโดยประมาณ  คือ
      ๑. ส่วนเทียมวัวอยู่ด้านหน้าของเกวียนตั้งแต่แอกเกวียนถึงคานหน้าที่รับเรือนเกวียน
      ๒. ส่วนเรือนเกวียน คือ แนวตัวเรือนเกวียนตั้งแต่คานหน้าถึงคานหลังของเรือนเกวียน
      เกวียนวัวทั้ง ๒ ส่วนมีช่วงความยาวส่วนละประมาณ ๗ คืบ รวมเป็น ๑๔ คืบ หรือ ๗ ศอก ซึ่งเป็นความยาวของเกวียนวัวตั้งแต่แอกเกวียนไปจนถึงคานหลังท้ายเรือนเกวียนประมาณ ๓.๕๐ เมตร ส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้าเรียกว่าหัวทวกและส่วนด้านหลังเรียกว่าหางทวกซึ่งจะยื่นยาวออกไปเท่าใดขึ้นอยู่กับช่างเกวียนแต่เกวียนทั่วไปจะมีความกว้างประมาณ ๑.๒๐ เมตร และมีความยาวประมาณ ๔.๒ เมตร

 

เกวียน
ส่วนเทียมวัว
เกวียน
ส่วนเรือนเกวียน

 

      เหตุที่เกวียนวัวมีขนาดเล็กและค่อนข้างเตี้ยเพราะวงล้อของเกวียนได้สร้างให้เล็กเหมาะสมกับกำลังของวัวที่มีกำลังน้อยกว่าควายและที่สำคัญยิ่งคือสร้างให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดอนสูง ป่าโคก ป่าดง และพื้นที่ทางราบที่ไม่เป็นหล่มโคลนเหมือนที่ราบลุ่มซึ่งช่วยให้การใช้เกวียนวัวมีความคล่องตัว เช่น พื้นที่ในภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน แต่ถ้าเป็นพื้นที่แถบภาคเหนือวงล้อเกวียนอาจสร้างให้ใหญ่และสูงขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อสะดวกในการใช้ในสภาพที่สูงของภูดอยหรือในพื้นที่ต่างระดับได้ดีขึ้น สำหรับพื้นที่แถบภาคกลางตอนบน เช่น จังหวัดลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ มีคำใช้เรียกเกวียนวัวอีกชื่อหนึ่งว่า ระแทะ (บางแห่งเพี้ยนเป็น รันแทะ หรือกระแท) หมายถึง เกวียนขนาดเล็ก ระแทะเป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาเขมรซึ่งเรียกเกวียนว่า รอเตะฮฺและเพี้ยนเป็นระแทะตามตัวอักษรที่เขียนว่า รเทะ

 

เกวียน
เกวียนวัว

 

ข. เกวียนควาย

      มีขนาดใหญ่ สูง และยาวกว่าเกวียนวัวเพราะควายมีขนาดใหญ่และมีกำลังลากมากกว่าวัว ดังนั้นขนาดของแอกเทียมจึงต้องกว้างและยาวนอกจากนี้ส่วนคอของควายก็ใหญ่กว่าวัวด้วยจึงต้องเว้นส่วนเทียมควายให้มีช่วงกว้าง-ยาวมากขึ้นทำให้ตัวเรือนเกวียนกว้างใหญ่ตามไปด้วยโดยเฉพาะล้อเกวียนควายที่ทำวงกว้างเป็นล้อขนาดใหญ่ทำให้เกวียนสูงใหญ่และมีน้ำหนักมากแต่กำลังของควายที่ใช้เทียมแม้มีเพียง ๒ ตัว ก็สามารถลากสิ่งของที่บรรทุกได้จึงเหมาะกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่มหรือมีหล่มโคลนซึ่งเกวียนมีโอกาสติดหล่มได้มาก เช่น พื้นที่แถบที่ราบภาคกลางตอนล่างรวมทั้งภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และปราจีนบุรี

 

เกวียน
เกวียนควาย

 

ค. สาลี่

      เป็นเครื่องบรรทุกที่มีลักษณะคล้ายเกวียนมีล้อ ๒ ล้อ ใช้บรรทุกหรือลากสิ่งที่มีขนาดใหญ่และหนักมาก ๆ เช่น ไม้ซุงทั้งต้น แต่ละส่วนของสาลี่ทำด้วยไม้แบบหยาบ ๆ ดูหนาเทอะทะเพราะต้อง การความคงทนแข็งแรงในการบรรทุกหรือลากสิ่งของหนักโดยเฉพาะ  ปัจจุบันมักไม่ค่อยพบเห็นสาลี่แล้วแต่เดิมในภาคอีสานเรียกว่า สาลี ภายหลังเรียกตามภาคกลางว่า สาลี่ ต่อมาบางแห่งเพิ่มล้อจาก ๒ ล้อ เป็น ๔ ล้อ ใช้บรรทุกโดยการลากจูง  สำหรับสาลี่ที่มีขนาดเล็กมีเฉพาะส่วนโครงสร้างสำคัญที่ใช้บรรทุกแล้วลากเคลื่อนที่ไปได้ บางแห่งจึงเรียกชื่อแตกต่างออกไป เช่น เรียกว่า ล้อเลื่อนหรือล้อควายเพราะใช้ควายลากหรือเรียกว่าล้อลากเพราะใช้คนลาก สาลี่ไม่จำเป็นต้องมีแปรกหรือแพดเพราะอาจเกี่ยวเอาสิ่งกีดขวางข้างทางได้ง่ายในขณะที่บรรทุกลากท่อนไม้ทั้งต้นออกมาจากป่า ส่วนล้อของสาลี่มีทั้งล้อที่เป็นแผ่นไม้ตันซึ่งได้จากการตัดฝานตอไม้และล้อที่เป็นซี่กำซึ่งมีขนาดซี่กำที่ใหญ่และแข็งแรงเมื่อบรรทุกไม้ซุงทั้งต้นจะวางไว้บนพื้นของสาลี่และมักใช้คนลากหลาย ๆ คน ถ้าลากในทางราบจะใช้เชือกหนังควาย ๓ เกลียว หรือเครือตาปลาผูกกับหัวของสาลี่หรือผูกไม้ที่ใช้จับลากโดยขันชะเนาะเป็นช่วง ๆ ช่วงละประมาณ ๗๐ เซนติเมตร เพื่อให้คนสามารถจับลากไปได้  ส่วนสาลี่ที่มีขนาดใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าเกวียนหรือระแทะทั่วไป คือ มีขนาดเท่า ๆ กับเกวียนขนาดกลางส่วนใหญ่ไม่มีแปรกหรือแพดเหมือนสาลี่ขนาดเล็ก มีวงล้อ ดุม และซี่กำ ซึ่งมีขนาดใหญ่และแข็งแรง อาจมีลูกกรงยกขอบข้างตัวเกวียนเพื่อใช้บรรทุกสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น กิ่งไม้ที่ได้จากการตัดโค่น ส่วนท่อนไม้ทั้งต้นจะลากโดยการยกห้อยแขวนไว้ใต้ท้องสาลี่หรืออาจบรรทุกไว้ด้านบนก็ได้

 

เกวียน
สาลี่หรือสาลี

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow