Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โครงสร้างและส่วนประกอบของเกวียน

Posted By Plookpedia | 19 ก.พ. 60
4,055 Views

  Favorite

โครงสร้างและส่วนประกอบของเกวียน

เกวียนมีโครงสร้างและส่วนประกอบ คือ

      ทูบ คือ ไม้แม่แคร่ทั้งคู่ของเกวียน บางทีเรียกว่าแม่แคร่เกวียน มีลักษณะที่ยื่นยาวออกไปด้านหน้าเกวียนทำหน้าที่เป็นฐานรองรับตัวเกวียนทั้งหมดและตั้งรับแอกที่ใช้เทียมวัวหรือควาย ในภาคอีสานเรียกว่า ทวก ภาษาเขมรเรียกว่า ตูก (เขียนว่า ทูก)

 

เกวียน
ทูบ

 

      คาน ช่างเกวียนและคนที่ใช้เกวียนมักเรียกว่า ไม้ขวางทางหรือแปรกขวาง มี ๒ ชิ้น อยู่ด้านหน้าและด้านหลังเรียกว่าขวางทางหน้าและขวางทางหลัง เป็นตัวไม้โครงสร้างด้านสกัดของเกวียนทำหน้าที่รองรับทูบหรือทวกโดยมีไม้หัวเต่าหรือไม้ข่มเหงวางนาบทับอยู่บนคันทูบแล้วใช้เครือไม้หรือหวายผูกมัดบังคับไว้ให้แน่น

 

เกวียน
คาน

 

      ไม้หัวเต่า เรียกอีกชื่อว่า ไม้ข่มเหงวางบังคับด้านบนของคานคือขวางทางหน้าและขวางทางหลัง ทำหน้าที่ข่มบังคับทูบร่วมกับคานที่รองรับอยู่ด้านล่างเหตุที่เรียกว่า ไม้หัวเต่าก็เพราะตรงส่วนปลายทั้ง ๒ ข้าง ที่สลักควั่นตกแต่งมีลักษณะคล้ายหัวเต่า ส่วนคอเต่าจะเว้าคอดเพื่อมัดรัดทูบให้มั่นคง

      แปรก มีชื่อเรียกแตกต่างกัน คือ แพด ปะแหรก ปะแหลก บางทีเรียกว่า แปรกบัง เป็นชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่ขนาบบังคับล้อเกวียนทั้ง ๒ ข้างไม่ให้หลุดออกไป

      ดุมหรือดุมเกวียน คือ ส่วนกลางของวงล้อเกวียนซึ่งเจาะรูทะลุสำหรับสอดเพลาเกวียน 

      ฮูดังควาย คำเรียกนี้หมายถึง รูจมูกควายเป็นรูที่เจาะเป็นช่องรอบ ๆ ดุมเกวียนเพื่อเสียบกำเกวียนหรือซี่ล้อเกวียน

      กำหรือกำเกวียน คือ ซี่ล้อเกวียนปกติเกวียนที่ใช้งานทั่วไปมีกำ ๑๖ ซี่ แต่ถ้าเป็นเกวียนขนาดเล็กหรือเกวียนของที่ระลึกจะมีกำ ๑๔ ซี่

 

เกวียน
ไม้หัวเต่า
เกวียน
แปรก

 

เกวียน
ดุมเกวียน
เกวียน
ฮูดังควาย
เกวียน
กำ

 

      กง คือ ส่วนวงรอบนอกของล้อเกวียนบางทีเรียกว่ากงเกวียนซึ่งแต่ละชิ้นที่ประกอบต่อกันเป็นวงขอบมักถากไม้โค้ง ๔ ชิ้น ประกอบต่อกันเป็นวงขอบนอก บางทีเรียกว่าฝักมะขามเพราะมีลักษณะโค้งคล้ายฝักมะขาม

      หนาย บางครั้งเรียกว่าขนายเพราะมีขนาดสั้นคล้ายงาของช้างพัง ทำหน้าที่เป็นลิ่มตอกอัดตรงปลายด้านนอกของกำเกวียนที่เสียบติดอยู่กับกงเกวียนเพื่อให้ช่องระหว่างกำเกวียนแต่ละซี่ห่าง เท่า ๆ กัน

 

เกวียน
กง
เกวียน
หนาย

 

      ล้อ ใช้เรียกล้อเกวียนที่ประกอบสำเร็จแล้วทางภาคอีสานเรียกว่า ตีนเกวียน ทำหน้าที่หมุนเคลื่อนนำพาหนะไปตามแนวที่ขับเคลื่อนจนเห็นเป็นรอยทางเกวียนหรือคองตีนเกวียน ภายหลังใช้เหล็กแบนดัดโค้งครอบรัดวงล้อเกวียนเรียกว่า เหล็กตีนเกวียน ช่วยให้ล้อมีความมั่นคงแข็งแรงและช่วยป้องกันหรือชะลอการสึกกร่อนของล้อได้มาก นอกจากนี้ยังมีล้อเกวียนอีกชนิดหนึ่งทำจากไม้แผ่นกลมโดยการตัดต้นไม้ตามขวาง (ตัดฝานตอ) และเจาะรูกลางแผ่นล้อให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมเพื่อสอดปลายเพลาสี่เหลี่ยมทั้ง ๒ ข้าง ซึ่งจะช่วยขัดบิดล้อทำให้ล้อหมุนไปได้ดีและทนทานต่อการใช้งานได้นานกว่าปลายเพลากลม ทางล้านนาเรียกว่า ล้อตะลุมพุก

 

เกวียน
ล้อ

 

      เพลา คือ เพลาเกวียนในภาคอีสานเรียกว่าโค็ยเกวียน แต่เดิมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เค็ง ไม้พยุง ภายหลังใช้เหล็กกลมแทนไม้ซึ่งแม้จะแข็งแรงกว่าไม้แต่เหล็กเพลาจะเสียดสีกับรูดุมเกวียนจนทำให้รูดุมเกวียนหลวมเร็วกว่าและเมื่อเกวียนเคลื่อนตัวเกวียนจะกระเด้งสะเทือนกว่าใช้เพลาไม้

      อั่ว คือ ชิ้นไม้กลมมีความยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ที่อัดแทรกอยู่ในรูดุมเกวียนเพื่อหุ้มรองรับเพลาเกวียน ช่วยลดการสึกกร่อนของรูดุมเกวียนและเพลาเกวียนที่ต้องรับน้ำหนักมากและเสียด สีตลอดระยะการเดินทาง การใส่อั่วเข้าไปในรูดุมเกวียนจะต้องเตรียมอั่วไว้ล่วงหน้าโดยใช้ข้าวเหนียวที่ตำละเอียดทารอบอั่วแล้วพันผ้าฝ้ายโดยรอบทิ้งไว้ ๑ วัน ๑ คืน จึงค่อยตอกอั่วเข้าไปในรูดุมมิฉะนั้นอั่วจะแยกจากผ้าและดันแปรกจนหลุดทำให้มีเสียงดังบางแห่งใช้หนังสัตว์หุ้มรองรับเพลาแทนอั่วไม้ เรียกกันว่า จำปา

      ก้องเพลา อยู่ใต้ท้องเกวียนในแนวดุมเกวียนทำหน้าที่สอดเพลาเกวียนด้านในใต้ท้องเกวียนให้ยึดติดอยู่กับตัวทูบ

      เขียง คือ แผ่นไม้ที่วางประกบบนหัวทวกเกวียนทำหน้าที่เป็นเขียงรองรับเสาหลักแอกซึ่งจะถูกประกบรัดเข้ากันให้ตึงแน่นด้วยแผ่นไม้  ๔ แผ่น ที่เรียกว่า หนวก (หนวกเกวียน) จนมีลักษณะมัดแน่นเหมือนการมัดข้าวต้มโค่นจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ามัดข้าวต้มเมื่อประกอบกันแล้วเรียกว่า หัวโอบ

 

เกวียน
เพลา
เกวียน
อั่ว

 

เกวียน
ก้องเพลา
เกวียน
เขียง

 

      แอกและลูกแอก คือ คานไม้ที่วางพาดขวางโดยผูกมัดกับเสาหลักแอกด้วยเส้นหนังที่เรียกว่า หนังหัวเกวียน  ตรงส่วนปลายของแอกทั้ง ๒ ข้างจะเจาะรูสำหรับเสียบไม้ลูกแอกหรือลูกแซะสำหรับเป็นคานคล้องทามหรืออ้องเมื่อจะเทียมวัวหรือเทียมควาย

      บองเกวียน คือ เรือนเกวียน บางแห่งเรียกว่า ฮางรอง มีไม้เป็นขอบเสริมข้างเรือนเกวียนให้สูงขึ้นทั้ง ๔ ด้าน ตรงส่วนที่ปูพื้นเรือนเกวียน เรียกว่า กะโซ่เกวียนมีหน้าที่รองรับการบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ

      กำพอง คือ ตัวไม้ท่อนบนที่เป็นเสมือนราวลูกกรงทั้ง ๒ ข้างของเรือนเกวียน มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ แม่กำพอง กะพอง (กระพอง) ตะพอง (ตระพอง) ในภาคอีสานเรียกว่า ฟองเทิงหรือฟองบน ส่วนชิ้นไม้ที่เป็นลูกกรงข้างเรือนเกวียนนั้นบางทีเรียกว่า ลูกติ่งหรือลูกสีข้าง

 

เกวียน
แอกและลูกแอก
เกวียน
บองเกวียน
เกวียน
กำพอง

 

      แป้นชานและหัวโถน คือ แผ่นไม้ที่ปูวางอยู่ระหว่างทวกเกวียนต่อกับหน้าเรือนเกวียนใช้เป็นพื้นที่นั่งขับเกวียน  ในบางครั้งจึงเรียกว่าแป้นนั่ง ปกติจะไม่ตียึดติดกับทวกอย่างถาวรมักใช้วิธีปรับขนาดให้วางได้พอดีและถอดออกได้เมื่อต้องการใช้ประโยชน์อื่น เช่น พลิกด้านล่างขึ้นทำเป็นเขียงหรือใช้รองนั่ง ต่อจากแป้นชานจะมีไม้หัวโถนวางบังคับอยู่ข้างหน้าซึ่งมักถากขอบหน้าให้เป็นเส้นโค้งหรือโค้งแหลมเพื่อตกแต่งแป้นชานให้ดูสวยงามและช่วยเสริมทวกให้น่ามองและแน่นหนามากขึ้น

 

เกวียน
แป้นชาน

 

      คั่นยัน เป็นไม้ขนาดเล็กวางขวางยึดกับทวกเกวียนมีระยะห่างจากแป้นชานและหัวโถนพอประมาณในระยะที่คนนั่งขับเกวียนจะเหยียดขาไปยันได้ คั่นยันจะใช้มากที่สุดเมื่อบังคับให้วัวหรือควายหยุดและจะออกแรงมากที่สุดเมื่อวัวหรือควายพยศไม่ยอมหยุดตามคำสั่ง

      ประทุน บางครั้งเรียกว่า กระทุน เขมรเรียกว่า ปรอตล (เขียนว่า ปรท่ล) อีสานโบราณเรียกกันว่า พวงเกวียน เป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่มีขนาดกว้าง-ยาวเท่าเรือนเกวียนรูปโค้งสูงขนาดที่คนสามา รถเข้าไปนั่งได้มักทาด้วยยางรักสมุกสีดำ แต่เดิมผนังด้านในจะใช้ใบตาลรองกรุแล้วปิดขนาบด้วยฮางพวงเกวียนที่ทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นตารางแล้ววางไม้ทาบและผูกมัดให้แข็งแรงใช้วางครอบเกวียน เมื่อบรรทุกสิ่งของจำนวนมากหรือเดินทางไกลช่วยกันแดดให้ร่มเงาในฤดูร้อนส่วนในฤดูหนาวจะช่วยกันลมได้ดี

 

เกวียน
คั่นยัน
เกวียน
ประทุน

 

      ไม้ค้ำ มีหน้าที่ค้ำยันหัวเกวียนเมื่อหยุดพักจอดเกวียนนิยมใช้ไม้ไผ่ทำไม้ค้ำเพราะมีน้ำหนักเบาและเหนียวทนทาน

      มัดหัวเกวียน คือ เชือกมัดส่วนกลางของแอกที่พาดติดกับตอนบนของหลักเขียงแอกแต่เดิมนิยมใช้เปลือกยางเครือบิดเกลียวเพราะมีความเหนียวเนื้อเส้นไม่แห้งกรอบง่ายและที่สำคัญคือ สุนัขไม่ชอบกัดแทะ ต่อมาภายหลังใช้หนังควายดำที่มีอายุ ๓ ปีขึ้นไป แทนเปลือกยางเครือจนหลายท้องถิ่นเรียกว่า หนังหัวเกวียน

 

เกวียน
ไม้ค้ำ
เกวียน
มัดหัวเกวียน

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow