กรมศิลปากรได้พัฒนาและปรับปรุงละครชาตรีจนแตกต่างจากละครชาตรีแก้บนทั่ว ๆ ไป คือ เปลี่ยนรูปแบบเป็นละครชาตรีเครื่องใหญ่โดยองค์ประกอบที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่ เช่น บทละคร การรำ ยกตัวอย่างเรื่อง “มโนราห์” เป็นละครชาตรีที่แสดงบนเวทีโรงละครขนาดใหญ่มีการแบ่งบทเป็นองก์แต่ละองก์มีการเปิดและปิดม่านเพื่อเปลี่ยนฉากแบบสมจริงเรียงเป็นลำดับตามท้องเรื่อง ได้แก่
องก์ที่ ๑ เป็นการเปิดฉากที่อลังการตามแบบละครโรงใหญ่ คือ ฉากสระโบกขรณีเป็นฉากที่นางกินรีทั้งเจ็ดบินมาแล้วถอดปีกหางลงเล่นน้ำและพรานบุญจับนางมโนราห์ไว้ได้นำตัวไปถวายพระสุธน ผู้แสดงเป็นพรานบุญแสดงบทพูด บทร้อง และรำคล้ายบทพรานของการแสดงโนรา
องก์ที่ ๒ พระสุธนยกทัพไปปราบจลาจลที่ชายแดน ตามคำทำนายอย่างมีเลศนัยของปุโรหิต มีฉากตรวจพลและยกทัพ ซึ่งเป็นฉากที่คิดขึ้นใหม่
องก์ที่ ๓ พระสุธนไปลานางที่ตำหนัก
องก์ที่ ๔ ท้องพระโรง เมื่อปุโรหิตแจ้งข่าวว่าพระสุธนจะได้รับอันตรายและทูลขอให้ท้าวอาทิตยวงศ์พระบิดาพระสุธนบูชายัญนางมโนราห์
องก์ที่ ๕ หน้าวังนางมโนราห์ทูลขอปีกหางเพื่อรำบูชายัญถวายก่อนกระโดดเข้ากองไฟแต่แล้วนางก็บินหนีกลับไปยังเขาไกรลาศ การรำมโนราห์บูชายัญเป็นการประดิษฐ์ชุดรำใหม่ทั้งเพลงและท่ารำ
องก์ที่ ๖ พระสุธนเดินทางตามไปหานางมโนราห์และพบพระฤษีบอกทางให้
องก์ที่ ๗ ท้องพระโรงเขาไกรลาศ พระสุธนไปถึงเขาไกรลาสเข้าเฝ้าท้าวทุมราชซึ่งโปรดให้เลือกคู่จากพระธิดาทั้งเจ็ด พระสุธนจำแหวนที่นางมโนราห์สวมได้ทั้งสองจึงได้ครองคู่กันสืบไป
สำหรับการปรับปรุงเรื่องการรำ เช่น “การรำซัดชาตรีเลือกคู่” เป็นชุดการแสดงที่คิดขึ้นใหม่ซึ่งมีจังหวะลีลาท่ารำที่ระทึกใจและเป็นการจบละครที่งดงามตระการตาตามแบบละครโรงใหญ่แต่ไม่มีการทำพิธีกรรมแบบละครชาตรีแก้บน ในส่วนของวงดนตรีมีเครื่องดนตรีและการบรรเลงคล้ายคลึงกัน คือ มีการบรรจุเพลงร่ายชาตรีและเพลงชาตรีต่าง ๆ ตลอดการแสดงซึ่งมากกว่าละครชาตรีแก้บน นอกจากนี้ยังมีการออกแบบเครื่องแต่งกายพระ-นางใหม่ เช่น ตัวพระให้สวมเทริดที่ออกแบบรูปทรงให้เพรียวกว่าเทริดโนรา ตัวนางกินรีก็ออกแบบชุดใหม่ทั้งหมดโดยสวมปีกหางแต่ไม่ห่มสไบ และนุ่งผ้าหน้านางชักชายพกแผ่ออก ๒ ข้างคล้ายพัดรัดทับด้วยผ้าทิพย์หรือสุวรรณกระถอบอย่างโบราณ สวมเล็บ ๘ นิ้ว ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ สำหรับละครชาตรีฉบับกรมศิลปากรทั้ง ๒ เรื่องนี้ผู้แสดงจะรำตามคนร้องแต่เจรจาเองทั้งหมด
หลังจากประสบความสำเร็จจากการแสดงละครชาตรีเรื่อง “มโนราห์” แล้วกรมศิลปากรได้จัดแสดงละครชาตรีเรื่อง “รถเสน” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน ละครชาตรียังมีพัฒนาการต่อ ๆ มาโดยเห็นได้จากการที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการแสดงละครอิงพงศาวดารเรื่อง “ศรีธรรมาโศกราช” บทประพันธ์ของสมภพ จันทรประภา ในพ.ศ. ๒๕๑๓ และคณะละครอาสาสมัครในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้จัดการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ของภาคใต้เรื่อง “ตามพรลิงค์” ในพ.ศ. ๒๕๒๔ ณ โรงละครแห่งชาติโดยละครทั้ง ๒ เรื่องนี้จัดแสดงแบบละครชาตรีโรงใหญ่ แต่ผู้แสดงเป็นผู้ร้องและเจรจาเอง