Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กำเนิดของละครชาตรี

Posted By Plookpedia | 09 พ.ค. 60
2,896 Views

  Favorite

กำเนิดของละครชาตรี

      ในพ.ศ. ๒๓๗๕ รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ  บุนนาค) เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาพระคลังยกทัพลงไประงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ซึ่งในช่วงเวลานั้นได้เกิดฝนแล้ง ราษฎรอดอยากทำให้ชาวเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา พากันอพยพติดตามกองทัพเข้ามายังกรุงเทพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเหล่านั้นเป็นไพร่หลวงเกณฑ์บุญ คือ เป็นแรงงาน เมื่อราชการมีงานบุญและให้ตั้งบ้านเรือนซึ่งในปัจจุบันเป็นบริเวณถนนหลานหลวงและถนนดำรงรักษ์  นักแสดงโนราซึ่งติดตามมาด้วยก็ตั้งเป็นคณะละครรับจ้างแสดงแบบเหมาทั้งคณะ จนเป็นที่นิยมเนื่องจากเป็นสิ่งแปลกใหม่และยังมีการใช้คาถาอาคม ต่อมาคณะโนราได้ปรับรูปแบบการแสดงของตนให้เข้ากับรสนิยมของผู้ชมในกรุงเทพฯ โดยการนำธรรมเนียมการแสดงของละครนอกมาผสมผสาน เช่น ดนตรี ปี่พาทย์ ทำนองเพลง การร้อง การรำ การแต่งกาย ในระยะแรกที่มีการผสมผสานกับละครนอกนั้นนักแสดงโนราที่เป็นผู้ชายเปลี่ยนมานุ่งผ้าเหมือนอย่างละครนอกแต่ยังคงรักษาแบบแผนของโนราคือ สวมเทริด สวมกำไลมือข้างละหลายอัน และสวมเล็บ แต่ไม่สวมเสื้อ

 

ละครชาตรี
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงละครชาตรีประกอบด้วย ระนาดเอก ตะโพน กลองตุ๊ก โทนชาตรี ฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับไม้ไผ่

 

      ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถแสดงละครได้ทั่วไปไม่หวงห้ามไว้เฉพาะละครผู้หญิงของหลวงเหมือนอย่างแต่ก่อน นักแสดงละครชาตรีจึงเปลี่ยนจากผู้ชายเป็นผู้หญิงทำให้ต้องสวมเสื้อแบบละครนอกและเปลี่ยนเทริดเป็นชฎาเพราะรับกับใบหน้าของผู้หญิงทำให้ดูงดงามมากกว่ารวมทั้งนำเครื่องประดับของละครนอกมาใช้จนครบเครื่องของละครนอกในที่สุด ส่วนการสวมเล็บก็ค่อย ๆ หมดไป สำหรับการรำแบบโนราที่เป็นท่ารำของผู้ชายคือมีวงและเหลี่ยมเปิดกว้างสุดก็ปรับลดลงเพื่อให้เหมาะสำหรับผู้หญิงโดยยังคงท่าทางแอ่นอกตึง ก้นงอน และย่ำเท้าเข้าจังหวะไว้ไม่ใช้การกระทบจังหวะด้วยเข่าแบบละครนอก  ส่วนเครื่องดนตรีมีระนาดเอก ตะโพน กลองตุ๊ก โทนชาตรีคู่ ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับไม้ไผ่ แต่ยกเลิกปี่เพราะคนที่สามารถเป่าปี่ได้หายากขึ้น

 

ละครชาตรี
การแสดงละครชาตรีของคณะวันดีนาฏศิลป์ซึ่งเป็นบุตรหลานของนายพูน เรืองนนท์ แสดงประจำที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ

 

      เรื่องราวที่เป็นหลักฐานสำคัญที่อ้างถึงละครชาตรีมีอยู่ว่า พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราช พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ ได้กราบทูลขอพระราชานุญาตเสด็จกลับไปพยาบาลดูแลเจ้าจอมมารดานุ้ย (เล็ก) พระมารดาซึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์  ณ นคร) ทรงฝึกหัดละครผู้หญิงที่นครศรีธรรมราชขึ้นคณะหนึ่งโดยจัดแสดงเรื่อง “อิเหนา” เมื่อเจ้าจอมมารดาถึงแก่อนิจกรรมพระองค์ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ และทรงนำคณะละครผู้หญิงมาแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ปรับการแสดงเป็นแบบละครชาตรี ละครชาตรีของหลวงจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา

      ปัจจุบันมีละครแก้บนที่แสดงเป็นประจำทุกวันตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ศาลพระพรหมเอราวัณกรุงเทพฯ วัดโสธรวรารามวรวิหารจังหวัดฉะเชิงเทรา และวัดมหาธาตุวรวิหารจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนตามวัดสำคัญ ๆ ในจังหวัดภาคกลางตามแต่เจ้าภาพจะจัดหาไปแสดง การแสดงแบ่งเป็นรำชุด เช่น ระบำเทพบันเทิง กฤดาภินิหาร หรือแสดงเป็นละครซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกการแสดงแก้บนนี้ว่า “ละครชาตรี” แม้ว่าการแสดงละครชาตรีในปัจจุบันจะเหมือนละครนอกเกือบทั้งหมดแต่ยังคงมีการแสดงละครชาตรีแบบดั้งเดิมเหลืออยู่บ้าง เช่น คณะนายพูน เรืองนนท์ ที่ถนนหลานหลวงกรุงเทพฯ คณะละครชาตรีที่จังหวัดเพชรบุรีที่เรียกว่า ละครชาตรีเมืองเพชร  ละครชาตรีคณะนายพูน เรืองนนท์ สืบเชื้อสายมาจากโนราเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ โดยตั้งบ้านเรือนและคณะละครขึ้นที่ถนนหลานหลวงจนถึงปัจจุบัน  ต้นตระกูลเรืองนนท์คือพระศรีชุมพลเฉลิม (เรือง) ซึ่งรับราชการที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นครูสอนโนรามีคณะโนราชื่อ เรือเร่หรือเรือลอย นายนนท์บุตรของนายเรืองสืบทอดการแสดงต่อมาและฝึกสอนศิษย์จำนวนมากจนมาถึงนายพูน บุตรของนายนนท์ก็เป็นนักแสดงละครชาตรีที่มีชื่อเสียงรู้จักกันมาก เมื่อความนิยมละครชาตรีลดลงบุตรหลานของคณะนายพูน เรืองนนท์ ก็พยายามสืบทอดคณะละครให้คงอยู่ต่อไปโดยยังแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น คณะวันดีนาฏศิลป์เป็นคณะละครและระบำแก้บน ซึ่งแสดงประจำที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ คณะละม่อมทิพโยสถแสดงที่ศาลพระพรหมเอราวัณกรุงเทพฯ แต่แสดงเฉพาะรำชุดแก้บนเท่านั้น ส่วนรูปแบบการแสดงก็เป็นแบบละครนอกแทบทั้งสิ้น

 

ละครชาตรี
นายพูน  เรืองนนท์

 

      ละครชาตรีเมืองเพชรเริ่มมาตั้งแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี (ปัจจุบันคือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี) มีคณะละครจากกรุงเทพฯ ไปแสดงที่เพชรบุรีหลายคณะ เช่น คณะละครผู้หญิงของหลวง คณะละครของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส คณะละครของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งไปปฏิบัติราชการที่เพชรบุรีทำให้ชาวเพชรบุรีได้มีโอกาสชมละครและเกิดความตื่นตัวจัดตั้งเป็นคณะละครเอกชนขึ้นเป็นการแสดงละครนอกซึ่งเรียกว่า ละครไทยรับจ้าง มีอยู่ทั้งหมด ๕ คณะ คือ คณะหลวงอภัยพลรักษ์ คณะหลวงทิพย์อาชญา คณะตาไปล่ คณะยายปุ้ย และคณะบางแก้ว ในเวลาต่อมาผู้แสดงของคณะละครดังกล่าวได้ไปฝึกการแสดงละครชาตรีที่หลานหลวงแล้วจึงกลับไปถ่ายทอดต่อ ๆ กัน  สำหรับคณะบางแก้วยังได้รับอิทธิพลโนราของจังหวัดชุมพรทำให้ได้รับความนิยมมาก คณะละครเหล่านี้สามารถแสดงได้ทั้งละครชาตรีและละครนอก

 

ละครชาตรี
การแสดงละครชาตรีที่ยังคงรักษาแบบแผนการแสดงละครชาตรีไว้ได้เป็นอย่างดี

 

      จากการสำรวจในพ.ศ. ๒๕๓๘ พบว่าคณะละครชาตรี ๒๘ คณะที่รับงานแสดงและมีการแสดงอยู่เนือง ๆ ยังคงรักษาแบบแผนของการแสดงละครชาตรีไว้ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น คณะบุญยิ่ง (ศิษย์) ฉลองศรี คณะเทพพิมาน คณะพรหมสุวรรณ์ คณะยอดเยาวมาลย์ คณะละอองศรี คณะขวัญเมืองประดิษฐ์ศิลป์ คณะปทุมศิลป์ คณะชูศรีนาฏศิลป์ คณะประพร (ศิษย์) ฉลองศรี คณะมณีเทพ คณะขันนาคทัศนศิลป์ คณะสี่พี่น้อง ฯลฯ ในเวลานั้นนอกจากภาคเอกชนจะให้ความสนใจละครชาตรีแล้วภาครัฐก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญมีการอนุรักษ์และพัฒนาละครชาตรี เช่น กองการสังคีต กรมศิลปากร ได้จัดให้มีการแสดงละครชาตรีที่โรงละคอนศิลปากรซึ่งได้มีการปรับปรุงใหม่ มี ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “มโนราห์” จากสุธนชาดก ในพ.ศ. ๒๔๙๘ และเรื่อง “รถเสน” จากรถเสนชาดก ในพ.ศ. ๒๕๐๐ ละครชาตรีที่กรมศิลปากรจัดแสดงนี้มีความงดงามตระการตาอาจเรียกว่า ละครชาตรีเครื่องใหญ่ เนื่องจากมีครบเครื่องทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี เพลง การฟ้อนรำ และระบำต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีฉากการชักรอก แสงสี ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องมโนราห์ฉากนางกินรีบินลงมาเล่นน้ำ ณ สระโบกขรณี ฉากนางมโนราห์รำบูชายัญและรำซัดชาตรี และฉากพระสุธนเลือกคู่ ล้วนใช้ฉากประกอบที่งดงามเป็นอมตะ นำมาใช้แสดงในหลาย ๆ โอกาสจนถึงปัจจุบัน  ศิลปินชั้นครูของกองการสังคีตกรมศิลปากรได้ช่วยกันออกแบบงานศิลปะทุกแขนงเพื่อสร้าง สรรค์ละครชาตรีเครื่องใหญ่ให้มีความงดงามตระการตาจนเห็นถึงความแตกต่างจากละครชาตรีแก้บนทั่ว ๆ ไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow