โรคความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรมเนื่องจากมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเมื่อร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือ มีโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติจะส่งผลให้มีของเหลวในกระแสเลือดปริมาณที่เพิ่มขึ้นซึ่งนำไปสู่ความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้การอักเสบของหลอดเลือดซึ่งเกิดจากโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ก็สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน
จากรายงานของสำนักโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กล่าวถึงการสำรวจสุขภาพของประชากรไทยใน พ.ศ. ๒๕๔๖ ว่า พบความชุกของโรคความดันโลหิตสูงประมาณร้อยละ ๑๖.๓ ในการศึกษาวิจัยอื่น ๆ ที่ผ่านมาพบว่ามีเพียง ๑ ใน ๔ เท่านั้นที่รู้ตัวว่าเป็นโรคและเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้เท่านั้นที่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม
ผู้ป่วยเมแทบอลิกซินโดรมซึ่งมีโรคความดันโลหิตสูงจะต้องลดความดันโลหิตให้น้อยกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท แต่ถ้าผู้ป่วยมีโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ด้วยจะต้องลดความดันโลหิตลงอีกให้เหลือน้อยกว่า ๑๓๐/๘๐ มิลลิเมตรปรอท หากสามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายก็จะดีอย่างยิ่งโดยถ้าน้ำหนักลดลงร้อยละ ๑๐ ของน้ำหนักเดิม พบว่าความดันซีสโตลิกซึ่งเป็นความดันโลหิตในขณะหัวใจบีบตัวจะลดลงประมาณ ๗ มิลลิเมตรปรอทและความดันไดแอสโตลิกซึ่งเป็นความดันโลหิตในขณะหัวใจคลายตัวจะลดได้ประมาณ ๓ มิลลิเมตรปรอท หากความดันโลหิตไม่ลดลงถึงแม้ว่าน้ำหนักจะลดลงมาแล้วควรพิจารณาใช้ยาลดความดันโลหิตด้วยเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่จะนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด การควบคุมอาหารก็มีวิธีปฏิบัติใกล้เคียงกับโรคอ้วน เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักจะมีโรคอ้วนอยู่ก่อนแล้วด้วย อย่างไรก็ดีอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงต้องลดเกลือและสารที่ให้ความเค็มทุก ๆ ชนิดด้วย ควรบริโภคเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ไม่เกินวันละ ๑ ช้อนชา
ผู้ป่วยควรมีเครื่องวัดความดันโลหิตประจำบ้านซึ่งในปัจจุบันหาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าทั่วไปราคาไม่แพงและใช้งานง่ายสามารถวัดได้ทั้งที่ต้นแขนและข้อมือซึ่งหากมีการวัดความดันโลหิตเป็นประจำก็จะทำให้สามารถเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตสูงได้ในระยะที่ยังไม่เป็นและยังช่วยติดตามผลการรักษาได้อย่างใกล้ชิดในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่ การควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินกว่าปกติก็จะทำให้ลดอัตราการเกิดอัมพาต การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมาก