ผู้ป่วยเมแทบอลิกซินโดรมจะมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติโดยมีระดับ
คอเลสเตอรอล (cholesterol)
เป็นตัวกลางสำหรับผลิตฮอร์โมนหลายตัว เช่น เอสโทรเจน โพรเจสเทอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงและเทสทอสเทอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย นอกจากนั้นยังเป็นตัวกลางในการผลิตวิตามินดี และกรดน้ำดีสำหรับย่อยไขมัน ร่างกายคนเราสามารถผลิตคอเลสเตอรอลได้จากตับและลำไส้ในปริมาณมากกว่าที่ได้รับจากอาหาร ๓ - ๔ เท่า คอเลสเตอรอลไม่สามารถรวมตัวกับเลือดได้จึงต้องจับตัวกับโปรตีนเกิดเป็นสารที่เรียกว่า ไลโปโปรตีน (lipoprotein) เพื่อขนส่งคอเลสเตอรอลไปทั่วร่างกาย ไลโปโปรตีนชนิดที่มีความหนาแน่นต่ำเรียกว่าแอลดีแอลทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลถึงร้อยละ ๗๕ - ๘๐ ไปสะสมในเซลล์ ถือว่าเป็นไขมันชนิดร้ายซึ่งเมื่อมีระดับไขมันนี้สูงขึ้นในเลือดก็จะไปสะสมอยู่ใต้เยื่อบุผนังหลอดเลือดด้านในเกิดเป็นคราบไขมันทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบขึ้นส่งผลให้หลอดเลือดตีบลงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด
โปรตีนอีกชนิดหนึ่ง คือ ไลโปโปรตีนซึ่งมีความหนาแน่นสูงเรียกว่าเอชดีแอล ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลร้อยละ ๒๐ - ๒๕ โดยขนส่งไขมันจากเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไปกำจัดทิ้งที่ตับดังนั้นเอชดีแอลจึงถือว่าเป็นไขมันชนิดดีที่ทำให้คอเลสเตอรอลที่มีระดับสูงในเลือดถูกกำจัดไปมีผู้เปรียบเทียบว่าเอชดีแอลทำหน้าที่เหมือนรถขนขยะยิ่งมีระดับเอชดีแอลในเลือดมากไขมันที่ไปทำให้หลอดเลือดอุดตันจะน้อยลงโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดก็น้อยลงไปด้วย
ไตรกลีเซอไรด์
คือ ไขมันที่ร่างกายเก็บสะสมไว้ในเซลล์ไขมัน เมื่อเรากินอาหารประเภทไขมันในปริมาณเกินความต้องการของร่างกาย ไตรกลีเซอไรด์สามารถจับกับไลโปโปรตีนที่ขนส่งคอเลสเตอรอลไปทั่วร่าง กายถ้ามีปริมาณมากเกินไปสามารถเปลี่ยนเป็นแอลดีแอลที่ตับได้และอาจถูกย่อยกลายเป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ซึ่งทั้งแอลดีแอลและกรดไขมันอิสระเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ตามลำดับ ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ปกติไม่ควรเกิน ๑๕๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร สาเหตุโดยทั่วไปที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง ได้แก่ โรคอ้วน ออกกำลังกายน้อย ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ในผู้หญิงพบว่ามีไตรกลีเซอไรด์สูงได้หากอยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน อาจพบระดับไตรกลีเซอไรด์สูงร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไต โรคตับ และโรคเบาหวานประเภทที่ ๒ ได้เช่นกัน ภาวะในกลุ่มเมแทบอลิกซินโดรมซึ่งประกอบด้วยการมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงและระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำก็จะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดหากไม่ดูแลรักษาอย่างเหมาะสมก็จะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
จากรายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทยครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยกรมอนามัย พบความชุกของภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงและภาวะ HDL - C ต่ำ ดังตารางที่ ๖ และตารางที่ ๗
๑. ควบคุมอาหารโดยหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและอาหารเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ (ตัวอย่างรายการอาหารเช่นเดียวกับรายการอาหารลดน้ำหนัก ที่ได้กล่าวไว้แล้ว)
๒. การทำกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย
๓. การใช้ยา ปัจจุบันมีการพัฒนายาออกมาหลายชนิดเพื่อช่วยลดระดับไขมันในเลือดไม่ว่าจะเป็นระดับคอเลสเตอรอลหรือระดับไตรกลีเซอไรด์ เช่น ยาในกลุ่มสแตติน (statin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกายและยากลุ่มนี้ยังช่วยให้ร่างกายขจัดแอลดีแอลหรือไขมันชนิดร้ายออกจากกระแสเลือด อย่างไรก็ตามการใช้ยาในผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดผิดปกติต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เนื่องจากผู้ป่วยมักมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน