ประเทศไทยมีการแพทย์สองอย่าง คือ ๑. การแพทย์พื้นบ้าน ชาวบ้านได้ใช้กันมาเป็นเวลานานขณะนี้ประชาชนจำนวนมากก็ยังใช้กันอยู่ปัจจุบันเรียกว่าการแพทย์แผนโบราณไม่ได้ใช้ว่า "การแพทย์เดิมหรือการแพทย์พื้นบ้านของไทย" ๒. การแพทย์แผนปัจจุบัน นำเข้ามาโดยชาวตะวันตกเรียกกันในขณะนี้ว่า "การแพทย์แผนปัจจุบัน" การแพทย์แผนโบราณอาจเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานขณะที่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันรู้จักอยู่กันเป็นหมู่เหล่ารู้จักเพราะปลูกและเลี้ยงสัตว์จากผลของการขุดค้นพบว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้และรวมกันเป็นหมู่เหล่านั้นจะปรากฏเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ร่องรอยที่เชื่อว่าอาจมีบุคคลที่ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นหมอหรือแพทย์ก็คือ การพบสัญลักษณ์ที่อาจสันนิษฐานได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการเจ็บป่วยคือในโครงที่ B.๑๐ หลุม BKI ที่ขุดโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ที่หมู่บ้านเก่าตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โครงนี้นอกจากจะมีเครื่องปั้นดินเผาขวานหินเปลือกหอยแล้วยังมีวัตถุอื่นที่แปลกออกไปจากโครงอื่น ๆ อีก ๒ อย่าง ชิ้นหนึ่งเป็นแผ่นหินรูปกลมมีรูเจาะตรงกลางขอบค่อนข้างคมมีรอยชำรุดเล็กน้อยและมีรอยกะเทาะค่อนข้างชัดเจน ๒ รอย ผิวขัดเล็กน้อยให้เรียบมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๕.๑ เซนติเมตร รูที่เจาะกว้าง ๗.๑ เซนติเมตร ขนาดของรูไม่โตพอที่จะสอดเข้าไปในแขนได้อีกชิ้นหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขากวางข้างหนึ่ง (Cervus ucicolor equinus) กิ่งแรกที่แยกออก (กิ่งรับหมา) ได้ถูกตัดออกไปที่รอยตัดถูกทำให้เป็นรูกลวงส่วนของเขาที่ต่อขึ้นไปถูกทำให้เกลี้ยงแล้วตัดที่ปลายกิ่งที่แยกออกไป ๒ กิ่ง ถัดเข้ามาเป็นรอยควั่น ขนานกับรอยตัดกิ่งทำให้เป็นรูเช่นเดียวกับกิ่งแรกขนาดยาว ๓๒.๕ เซนติเมตร ในรายงานสมบูรณ์ นายซอเนเซน (Mr. Sorensen) แจ้งว่าไม่ทราบว่าใช้สำหรับทำอะไรแต่ในรายงานย่อยสันนิษฐานว่าโครงที่พบกับเครื่องมือดังกล่าวอาจทำหน้าที่เป็นหมอและเขากวางใช้ในการพิธีรักษาต่อมาในการขุดค้นได้จากหมู่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดนครปฐม เป็นโครงของสมัยทวารวดีก็ได้พบอีกชั้นหนึ่งแต่ชำรุดชิ้นที่ ๓ ชาวบ้านขุดค้นได้จากหมู่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นของยุคสำริดเป็นเขาของกวางขนาดใหญ่มีขนาดยาวเพียง ๑๕ เซนติเมตร มีรอยตัดทั้งกิ่งรับเหมาะและกิ่งที่ต่อขึ้นไป แต่ไม่ยาวไปถึงส่วนที่จะแบ่ง เช่นที่พบที่หมู่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ชิ้นที่ ๔ พบที่ ตำบลโพธิ์หัก จังหวัดราชบุรี การพบนี้อาจจะมีคำโต้แย้ง เพราะโครงกระดูกทั้ง ๔ แห่งนี้ได้มีประเพณีนำส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์ไปทำเป็นเครื่องเซ่นสัตว์ที่พบมากก็คือหมูโดยมากใช้ส่วนหัวของหมูพบได้เป็นจำนวนมากกับโครงกระดูกที่ขุดพบแต่เขากวางเป็นของพบได้น้อยและส่วนที่เป็นเขาก็ไม่ได้ใช้เป็นอาหารการใช้เขากวางจึงเป็นเหมือนเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นเครื่องใช้สอยถูกนำไปวางไว้เป็นเครื่องเซ่นการใช้เขากวางเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับการแพทย์ได้พบเป็นรายงานอีกแห่งหนึ่ง คือ การเขียนรูปแพทย์ (medical man) หรือหมอผี (witch doctor) ที่ผนังของถ้ำในเทือกเขาพีรีนีส (Pyrenees) มีชื่อว่าถ้ำเลส์ ตรัวส์ แฟรร์ (Les Trois Freres) อยู่ในประเทศฝรั่งเศสภาพที่เขียนเป็นภาพคนคลุมด้วยหนังของสัตว์ชนิดหนึ่งมีส่วนขาและแขนเขียนลายเป็นแถบ ๆ แต่ที่หัวมีเขากวางติดอยู่ประมาณว่าเป็นภาพที่เขียนในสมัยโอริกเนเซียน (Aurignacian) ในตอนกลางของทวีปยุโรป
จากข้อความดังกล่าวประกอบกับคำอธิบายเป็นส่วนตัวจาก นายซอ เรนเซน สันนิษฐานว่าเขากวางที่พบในประเทศไทยนั้นอาจใช้แต่งประกอบกับศีรษะของหมอผีหรือรูปสลักเป็นรูปคนแล้วเอาเขากวางที่ตัดตกแต่งแล้วไปประดับไม่ใช่เขากวางทั้งชิ้นประดับเช่นในรูป
การพบนี้อาจมีความสำคัญเกี่ยวกับการสืบเนื่องถึงพิธีกรรมที่อาจทำสืบต่อกันมาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยหินใหม่ที่บ้านเก่าจังหวัดกาญจนบุรี (ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี ) ถึงสมัยทวารวดีที่ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม (๑,๒๐๐ปี)
หลักฐานประการที่ ๒ ที่แสดงว่าได้มีการรักษากันจริง ๆ ก็คือการเจาะกะโหลกให้เป็นรูทะลุซึ่งศัพท์แพทย์ใช้ว่า ทรีไฟนิง (trephining) หรือ ทรีแพนนิง(trepanning) พบที่บ้านธาตุใกล้บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเป็นโครงกระดูกสมัยเดียวกัน คือ สมัยสำริดหรือสมัยโลหะรูที่พบอยู่ทางด้านซ้ายของกะโหลกในบริเวณขมับซึ่งเป็นกระดูกเทมปอรัล (temporal bone) มีขนาด ๙ x ๑๐ มิลลิเมตร อยู่สูงจากรูหู ๔๐ มิลลิเมตร
การเจาะรูในกะโหลกในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้พบหลายแห่งของโลกมนุษย์สมัยหินใหม่ที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปก็ทำกันพบได้หลายแห่งพบมากในประเทศฝรั่งเศสพบได้บ้างในประเทศออสเตรีย โปแลนด์ รัสเซีย เยอรมนีและสเปน นอกจากทวีปยุโรปยังพบในบริเวณที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกพบในอเมริกาเหนือและใต้ในแอฟริกาและเอเชียเป็นการรักษาทีไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งจะทำการรักษาเมื่อมีหลอดโลหิตแตกในกะโหลกหรือเจาะแล้วเปิดกะโหลกให้กว้างเพื่อรักษาก้อนทูมหรือหลอดเลือดที่แตกลึกเข้าไปในเนื้อสมองแต่การกระทำในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อาจทำเพื่อปล่อยสิ่งที่บุคคลในสมัยนั้นเชื่อว่าทำให้เกิดการปวดศีรษะอย่างแรงหรือทำให้ผู้ป่วยเป็นลมบ้าหมู
หลักฐานเกี่ยวกับหมอผีและการรักษาซึ่งถือเป็นการแพทย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคงพบได้เพียง ๒ อย่างตามที่กล่าวแต่โรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยังมีอีกหลายโรคแต่การศึกษายังไม่กว้างขวางพอที่จะกล่าวในขณะนี้ได้
เนื่องจากสิ่งที่ขุดค้นได้เป็นหลักฐานมีแต่เพียงกระดูกเท่านั้นส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้เน่าเปื่อยไปหมดทำให้ไม่สามารถจะบอกได้ว่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จะมีโรคเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในของร่างกายมากน้อยเพียงไร เช่น โรควัณโรคที่เกิดกับปอดย่อมเน่าเปื่อยไปพร้อมกับอวัยวะไม่เหลือเป็นหลักฐานแต่ถ้าวัณโรคลามไปจนเกิดเป็นโรคขึ้นในกระดูก เช่น เกิดที่กระดูกสันหลังกระดูกที่ขุดค้นพบก็จะแสดงร่องรอยของการเป็นโรคนี้ได้
ในการขุดค้นที่หมู่บ้านเก่าตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ได้พบหลักฐานการเป็นโรค คือ ๑. มีกระดูกสันหลังส่วนเอวชิ้นที่ ๑ หัก พบหนึ่งโครง (B.K.I, B. I) มีผลทำให้ส่วนตัวของกระดูก (body) แฟบลงไปและทำให้ข้อต่อของกระดูกสันหลังติดกันเคลื่อนไหวไม่ได้ดี (spondylosis) ๒. มีฟันผุและมีรอยลึกในด้านเคี้ยวมากกว่าปกติ ๓. มีกระดูกกะโหลกหนาที่บริเวณกระดูกพาไรอีตัล (parietal bone) บางโครงหนาถึง ๑๑ มิลลิเมตร หนาเนื่องจากเนื้อฟองน้ำหนาขึ้นและชิ้นกระดูกฟองน้ำมีเนื้อหยาบเกิดจากโรคโลหิตจางชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่อาจยืนยันได้ว่าเกิดจากเป็นโรคเนื่องจากเสียเลือดหรือไม่ขณะนี้กำลังศึกษาและค้นคว้าต่อไปอีก พร้อมกับโครงกระดูกที่แสดงการรักษาด้วยวิธีเจาะกะโหลกได้พบโรคที่เกิดขึ้นกับข้อต่อตะโพกข้างซ้ายให้คำสันนิษฐานว่าเป็นโรคเปอร์ที (perthe's disease) อันเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนหัวและส่วนคอของกระดูกต้นขาข้างนั้นส่วนหัวหายไปหมดคงเหลือแต่ส่วนคอเพียงเล็กน้อยและมีผลทำให้หลุมที่รับหัวกระดูกต้นขา (acetabulum) เล็กและตื้น
จากแหล่งที่มีการขุดค้นเกี่ยวกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์อาจพบโรคอื่น ๆ ได้อีกแต่ยังไม่มีรายงานเป็นหลักฐานและอาจมีโรคอะคอนโดรเพลเซีย (Achondroplasia) ซึ่งเป็นโรคสืบต่อกันมาทางพันธุกรรมเป็นกับโครงหนึ่งในสมัยทวารวดีที่ตำบลภูขี้เบา จังหวัดขอนแก่น แต่ยังขาดหลักฐาน คือ กระดูกไม่ได้ถูกขุดขึ้นมาตรวจอย่างละเอียด
เนื่องจากหลักฐานที่มีอยู่ในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยจึงอาศัยรายงานจากต่างประเทศมาเสริมเพื่อให้เห็นว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยก็คงไม่แตกต่างกันมากไปจากมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งอื่น ๆ ของโลกจึงอาจจะมีโรคต่าง ๆ ได้ เช่นกัน ร่องรอยแรกที่แสดงการเป็นโรคในมนุษย์ซึ่งยอมรับกันทั่วไปก็คือกระดูกต้นขาของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกเมื่อประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งพบโดย ดร.ดูบัวส์ (Dr.D.Dubois) เมื่อ ๘๗ ปีมาแล้ว (ค.ศ. ๑๘๙๐) ที่ชวา ที่มีชื่อเดิมว่า ปิธีแคนโธรปุส อีเรคตุส (Pithecanthropus erectus) ขณะนี้เรียกว่า โฮโม อีเรคตุส (Homo erectus) เพราะยอมรับในการมีลักษณะของมนุษย์ซึ่งอยู่ในสกุล (genus) เดียวกับมนุษย์ในปัจจุบันซึ่งเป็นสกุลโฮโมกระดูกต้นขาที่พบมีบริเวณใกล้ปลายบนมีกระดูกงอกยื่นออกไปเป็นปุ่มป่ำ บางคนให้เป็นกระดูกงอกธรรมดาบางคนให้เป็นก้อนทูมของกระดูก (osseous tumour) ในมัมมี่ของชาวอียิปต์พบโรคกระดูกและข้ออักเสบ (osteoarthritis) และโครูมาติสม์เรื้อรัง (chronic rheumatism) โรคเกาต์ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในถุงน้ำดี วัณโรคของกระดูกสันหลังและพบร่องรอยของการอักเสบที่เป็นมาก่อนของไส้ติ่งแล้วมีเนื้อเยื่อพังผืดมายึดติดล้อมรอบ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๓,๐๐๐ ปี มนุษย์ที่อาศัยในดินแดนที่เป็นประเทศไทยเจริญขึ้นเปลี่ยนจากการใช้หินเป็นวัตถุทำเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับมาเป็นสำริด และเหล็กหลักฐานเกี่ยวกับการเจ็บป่วยหรือการแพทย์มีน้อยมากจากความรู้ปัจจุบันในการสะเดาะเคราะห์ผู้ป่วยหมอทางไสยศาสตร์มักทำพิธีเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปคน รูปสัตว์พร้อมทั้งทำกระทงมีของกินคาวหวาน ผลไม้ จุดธูปเทียนแล้วลอยไปตามน้ำพร้อมกับรูปปั้นแต่ในที่บางแห่งก็ใช้รูปปั้นวางไว้ตามทางสามแพร่งแล้วหักคนเสียเป็นพิธีที่เรียกว่า "พิธีเสียกบาล" แต่เท่าที่มีแสดงในภาพ เป็นหญิง ๒ คน คนหนึ่งที่กำลังอุ้มเด็กอยู่เป็นคนมีอายุมากกว่าอีกคนหนึ่งเพราะมีนมคล้อยไปมากอีกภาพหนึ่งส่วนที่กำลังอุ้มหักหายไปทำให้ไม่ทราบว่ากำลังอุ้มอะไรอยู่ลักษณะของเต้านมกำลังคัดแสดงว่าท้องใกล้คลอดหรือพึ่งคลอดใหม่ ๆ ตุ๊กตาทั้งสองตัวได้มาจากจังหวัดสุโขทัยไม่ทราบประวัติแต่ที่ต้องนำเรื่องเกี่ยวกับสุโขทัยมากล่าวก่อนก็เนื่องจากในการทำเหมืองแร่ดีบุกโดยวิธีฉีดน้ำเข้าไปทำลายดินที่มีดีบุกปะปนอยู่ (เหมืองฉีด) ที่จังหวัดราชบุรีใกล้เขตแดนประเทศพม่าได้พบตุ๊กตาทำด้วยดินเผาปั้นไม่มีหัวแต่ที่บริเวณคอทำกลวงลงไปคล้ายทำไว้สำหรับเสียบหัวพบชัดเจน ๓ ตัว ตัวหนึ่งทำคล้ายเป็นรูปคนนั่งพนมมืออีกตัวหนึ่งทำเป็นรูปคล้ายคนยืนแต่ส่วนขาหักไปที่มือคล้ายถืออะไรอยู่บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไรรูปที่ปั้นปั้นได้สวยงามมากก็คือรูปคนขี่ม้าไม่มีหัวมีคอกลวงเหมือน ๒ ตัวแรก แต่รูปม้าทำเป็น ๒ ซีกประกบกันของที่พบที่เหมืองแร่ใกล้พรมแดนพม่านี้แม้ขณะนี้จะยังไม่ทราบแน่ว่าอยู่ในสมัยที่ใช้วัตถุอะไรทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับแต่เนื่องจากได้พบเครื่องมือสมัยหินใหม่จำนวนมากและมีเครื่องสำริดบ้างเล็กน้อยทำให้สันนิษฐานว่าหลังจากการใช้สัญลักษณ์เป็นเขากวางแล้วการรักษาการป่วยไข้ในสมัยต่อมาได้มีรูปปั้นสะเดาะเคราะห์ผู้ป่วยใช้ด้วยและประเพณีนั้นได้สืบต่อมาจนถึงสมัยสุโขทัย (ประมาณพ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๐๐)
ถัดขึ้นไปจากสมัยสุโขทัยประเทศไทยอยู่ในสมัยใกล้ประวัติศาสตร์ (Protohistory) คือสมัยทวารวดี พ.ศ.๑๐๐๐ - ๑๕๐๐) หลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์คือการพบเขากวางที่ตำบลทัพหลวง จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีลักษณะเหมือนที่พบที่บ้านเก่าตามที่ได้กล่าวมาขณะนี้ยังไม่มีร่องรอยของหลักฐานอื่น ๆ ในระยะเวลานี้ประเทศไทยมีการติดต่อกับประเทศใกล้เคียง ประเทศที่ติดต่อกันมากควรจะเป็นประเทศอินเดียเพราะนอกจากการแพร่ของพุทธศาสนาเข้ามาสู้ประเทศไทยแล้วประเทศไทยอาจรับลัทธิฮินดูพร้อมกับศิลปวิทยาอื่น ๆ เข้ามาด้วยซึ่งอาจจะมีวิชาการแพทย์อยู่ด้วยจึงจ่าจะได้พิจารณาการแพทย์ของประเทศอินเดียในสมัยนั้นซึ่งอาจจะเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยเพราะประเทศไทยได้รู้จักบุคคลสำคัญในทางแพทย์ของประเทศอินเดียคือท่านชีวกโกมารภัจจ์ดีเท่ากับคนอินเดียส่วนมากนอกนั้นก็มีบันทึกเกี่ยวกับปรัชญาและวิชาการทางวิทยาศาสตร์บ้างเรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์ของอินเดียจะได้กล่าวต่อไป
NEXT
การแพทย์สมัยโบราณของประเทศอินเดียและจีน