Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เขื่อนเก็บกักน้ำ

Posted By Plookpedia | 28 ส.ค. 60
1,492 Views

  Favorite

เขื่อนเก็บกักน้ำ 


เขื่อนที่สร้างปิดกั้นลำน้ำธรรมชาติระหว่างหุบเขาหรือเนินสูงเพื่อกักกั้นน้ำที่มีไหลมามากในฤดูฝนเก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อนทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ เรียกว่า "เขื่อนเก็บกักน้ำ" น้ำที่เก็บกักไว้นี้จะนำออกมาทางอาคารที่ตัวเขื่อนได้ทุกเวลาที่ต้องการโดยอาจระบายลงไปตามลำน้ำให้แก่เขื่อนทดน้ำที่สร้างอยู่ทางตอนล่างหรืออาจส่งเข้าคลองส่งน้ำสำหรับโครงการชลประทานที่มีคลองส่งน้ำรับน้ำจากเขื่อนเก็บกักนั้นโดยตรง

อ่างเก็บน้ำของเขื่อนเก็บกักน้ำศรีนครินทร์

 

 

เขื่อนเก็บกักน้ำจะต้องสร้างทางบริเวณด้านเหนือของโครงการชลประทานเสมอทำเลที่จะเหมาะสำหรับการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำมักจะมีเนินสูงหรือเนินเขาสองข้างลำน้ำอยู่ ใกล้กันมากที่สุดซึ่งขนาดความสูงของเขื่อนจะกำหนดตามปริมาตรของน้ำที่ต้องการจะเก็บกักไว้ โดยจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งปีที่ไหลลงมาตามลำน้ำรวมทั้งจำนวนน้ำที่พื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในเขตโครงการชลประทานนั้นจะต้องการใช้ในแต่ละปีด้วย

เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างกันโดยทั่วไปมีหลายประเภทหลายขนาดแตกต่างกันเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่บางแห่งอาจจะให้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น การผลิตไฟฟ้า การชลประทาน การคมนาคม การบรรเทาอุทกภัยและการเพาะเลี้ยงปลาในอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า "เขื่อนอเนกประสงค์" ได้แก่ เขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ที่จังหวัดอุตรดิตถ์และเขื่อนอุบลรัตน์ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก

 

 

สำหรับวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำนั้นสามารถสร้างได้ด้วยวัสดุประเภทต่าง ๆ เช่น คอนกรีตล้วน คอนกรีตเสริมเหล็กดินและหินถมอัดแน่น เป็นต้น เขื่อนเก็บกักน้ำทุกแห่งที่สร้างขึ้นจะกำหนดหรือเลือกให้เป็นเขื่อนประเภทใดนั้นส่วนใหญ่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพของฐานรากสภาพของภูมิประเทศที่เขื่อนนั้นตั้งอยู่ ตลอดจนชนิดและจำนวนของวัสดุที่จะมีให้ใช้ก่อสร้างได้โดยเขื่อนจะต้องมีทั้งความมั่นคงแข็งแรงและมีราคาถูกที่สุด


เขื่อนคอนกรีต


เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีต ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยคอนกรีตล้วนซึ่งแบ่งออกได้ ๒ประเภท ดัง ต่อไปนี้

ประเภทที่ ๑ เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเป็นแนวตรงหรือโค้งเล็กน้อยขวางลำน้ำระหว่างหุบเขามีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยมที่มีฐานของเขื่อนกว้างไปตามลำน้ำเขื่อนประเภทนี้จะต้องอาศัยน้ำหนักของตัวเขื่อนที่กดลงบนฐานรากในแนวดิ่งสำหรับต้านแรงดันที่เกิดจากน้ำซึ่งเก็บกักทางด้านเหนือเขื่อนไม่ให้เขื่อนล้มหรือเลื่อนถอยไป

 

ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ เขื่อนที่มีรูปโค้งเป็นส่วนของวงกลมสร้างขวางลำน้ำระหว่างหุบเขาโดยที่ปลายเขื่อนทั้งสองจะฝังแน่นไว้กับบริเวณลาดเขาทั้งสองข้างเขื่อนที่โค้งเป็นส่วนของวงกลมนี้จะสามารถรับแรงดันของน้ำที่กระทำกับตัวเขื่อนได้เป็นอย่างดีทั้งนี้เพราะคอนกรีตทุกส่วนของตัวเขื่อนสามารถรับแรงกดได้เต็มที่ตามแนวโค้งแล้วถ่ายแรงดันส่วนใหญ่ที่เกิดจากน้ำไปให้ลาดเขาที่ปลายเขื่อนสองข้างนั้นรับไว้อีกต่อหนึ่งเขื่อนประเภทนี้จึงไม่ต้องอาศัยน้ำหนักของเขื่อนเป็นหลักทำให้เขื่อนมีลักษณะบางและสร้างได้อย่างประหยัดสำหรับเขื่อนที่มีความสูงมาก

เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง

 

 

ทำเลที่จะสามารถสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตได้จำเป็นต้องมีฐานรากเป็นหินที่แข็งแรงทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของตัวเขื่อนและแรงดันของน้ำทั้งหมดไว้ได้โดยที่ฐานรากจะต้องไม่ยุบตัวจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ตัวเขื่อนและนอกจากนี้ทำเลซึ่งจะสร้างเป็นเขื่อนรูปโค้งได้นั้นที่บริเวณลาดเขาซึ่งรับปลายเขื่อนทั้งสองข้างจะต้องเป็นหินที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษด้วย

อนึ่งสำหรับที่จะเลือกเขื่อนเป็นประเภทใดนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์และพิจารณาอย่างละเอียดให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสภาพของฐานรากว่าเขื่อนลักษณะใดจะมีราคาถูกและสร้างได้มั่งคงแข็งแรงกว่ากันโดยทั่วไปแล้วสำหรับเขื่อนรูปโค้งแม้จะใช้คอนกรีตจำนวนน้อยกว่าแต่ก็มีความเหมาะสมที่จะสร้างในทำเลที่เป็นหุบเขาแคบและลึกเท่านั้นส่วนเขื่อนประเภทต้านแรงดันน้ำด้วยน้ำหนักจะสร้างได้ดีทั้งในภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาไม่ว่าจะแคบหรือกว้างตลอดจนทำเลที่สภาพฐานรากไม่มั่นคงแข็งแรงพอที่จะสร้างเขื่อนรูปโค้งอีกด้วย

ในการออกแบบส่วนใหญ่จะต้องคำนวณหาขนาดความหนาของเขื่อนที่แต่ละระดับความสูงว่าควรมีความหนาเท่าใดจึงจะสามารถรับแรงดันน้ำของแต่ละความลึกนั้นได้และสำหรับเขื่อนประเภทที่อาศัยน้ำหนักเมื่อคิดน้ำหนักรวมแล้วก็จะต้องหนักมากพอที่จะต้านแรงดันของน้ำไม่ให้ล้มหรือเลื่อนได้ส่วนในด้านการก่อสร้างก็จะต้องดำเนินการให้มีความประณีตที่สุดซึ่งตัวเขื่อนจะต้องฝังลึกลงไปในหินแกร่งให้มั่นคงทั้งที่ฐานและบริเวณลาดเขาปลายเขื่อนทั้งสองข้างนั้นส่วนคอนกรีตของตัวเขื่อนก็จะต้องมีส่วนผสมที่ดี และสร้างให้ได้คอนกรีตที่แข็งแรงสม่ำเสมอตลอดกันทั่วทั้งเขื่อน 

เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีตแบบต้านแรงดันของน้ำด้วยน้ำหนัก ได้แก่ เขื่อนกิ่วลมซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำวังที่จังหวัดลำปางเขื่อนเก็บกักน้ำรูปโค้งที่สร้างด้วยคอนกรีต ได้แก่เขื่อนภูมิพลซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่จังหวัดตาก เป็นต้น

เขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง
เป็นเขื่อนคอนกรีตแบบต้านแรงดันน้ำด้วยน้ำหนัก

 

 

นอกจากเขื่อนที่สร้างด้วยคอนกรีตล้วนดังกล่าวข้างต้นแล้ว บางแห่งอาจมีความเหมาะสมที่จะต้องสร้างเขื่อนด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเพราะมีราคาถูกกว่าเขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กนี้จะประกอบด้วยตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนฐานรากห่างกันเป็นระยะ ๆ ตลอดแนวเขื่อนลักษณะของตอม่อจะมีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยมที่มีความหนาไม่มากนักและมีลาดด้านอ่างเก็บน้ำเป็นมุมประมาณ ๔๕ องศากับแนวราบโดยมีแผ่นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางพาดระหว่างตอม่อตลอดแนวเขื่อน สำหรับทำหน้าที่กักกั้นน้ำพื้นเอียงดังกล่าวจะฝังลึกลงไปในฐานรากแข็งตลอดแนวเขื่อนและรับแรงดันของน้ำในแนวราบกับน้ำหนักของน้ำที่กดบนพื้นเอียงนั้นจึงต้องออกแบบให้พื้นมีความหนาพร้อมกับมีเหล็กเสริมสำหรับรับแรงดึงซึ่งเกิดในพื้นคอนกรีตนั้นอย่างเหมาะสมแรงที่กระทำกับพื้นเอียงทั้งหมดจะถูกรับไว้ด้วยตอม่อซึ่งจะกดลงบนฐานรากอีกต่อหนึ่งจึงทำให้เขื่อนตั้งอยู่ได้ โดยไม่เลื่อนหรือล้มเหมือนกับเขื่อนคอนกรีตล้วนที่อาศัยน้ำหนักตามที่ได้กล่าวมาแล้ว 

เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้แก่ เขื่อนตาดโตนที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จังหวัดสกลนคร 


เขื่อนดิน


เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นโดยการนำเอาดินมาบดอัดให้แน่นด้วยเครื่องจักรกลหรือแรงคนเขื่อนดินจะมีลักษณะทึบน้ำหรือน้ำซึมผ่านเขื่อนได้ยากและมีความมั่งคงแข็งแรงเช่นเดียวกับเขื่อนคอนกรีต

เขื่อนเก็บกักน้ำสร้างด้วยดินถมบดอัดแน่น
(เขื่อนยางชุม) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

 

เรานิยมสร้างเขื่อนดินเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำเพราะสามารถสร้างบนฐานรากได้เกือกทุกประเภทไม่ว่าฐานรากนั้นจะเป็นหิน เป็นกรวดทรายหรือเป็นดินที่ไม่เหมาะสำหรับเขื่อนคอนกรีตเขื่อนดินส่วนมากจะมีราคาถูกเพราะใช้วัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ในบริเวณที่สร้างเขื่อนและบริเวณใกล้เคียงเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงไม่ต้องขนส่งวัสดุก่อสร้างมาจากที่อื่นมากเหมือนกับการสร้างเขื่อนคอนกรีต

เขื่อนดินบางแห่งสร้างด้วยดินที่มีลักษณะค่อนข้างเหมือนกันทั้งเขื่อนโดยใช้ดินที่มีดินเหนียวผสมอยู่ด้วยเพื่อให้ตัวเขื่อนมีความทึบน้ำหรือน้ำซึมผ่านได้ยากแต่มีเขื่อนดินบางแห่งไม่ใช้ดินชนิดเดียวกันสร้างจะสร้างด้วยดินทึบน้ำที่มีดินเหนียวผสมไว้ตรงกลางแล้วหุ้มทับด้วยทราย กรวดและหินขนาดเล็กใหญ่ให้เป็นเปลือกหุ้มอยู่ด้านนอกทั้งสองด้าน เพื่อทำให้น้ำที่เพิ่มน้ำหนักให้กับเขื่อนและป้องกันดินส่วนตรงกลางไว้การจะเลือกสร้างเขื่อนด้วยดินและวัสดุประเภทใดนั้นต้องขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ในด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงตลอดจนปริมาณและชนิดของวัสดุที่จะมีให้ใช้บริเวณนั้นเป็นหลักสำคัญ

ในการวางโครงการและการออกแบบเขื่อนดินมีหลักเกณฑ์ทางด้านวิศวกรรมที่ใช้ยึดเป็นแนวปฏิบัติ คือ เขื่อนจะต้องมีความปลอดภัยจากการที่น้ำไม่สามารถล้นข้ามสันเขื่อนได้โดยการจัดสร้างอาคารระบายน้ำล้นไว้ที่เขื่อนหรือที่บริเวณใกล้เคียงให้มีความสามารถในการระบายน้ำได้มากเพียงพอสำหรับควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ให้สูงจนล้นข้ามสันเขื่อนตัวเขื่อนจะต้องมีความลาดเทของลาดเขื่อนทั้งสองด้านที่มั่นคงแข็งแรงโดยไม่เลื่อนลงทั้งในระยะที่เพิ่มสร้างเสร็จใหม่ ๆ ยังไม่ได้เก็บกักน้ำในระหว่างเก็บกักน้ำไว้สูงเต็มที่และในระหว่างที่น้ำในอ่างเก็บน้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็วด้วย

ส่วนในด้านที่เกี่ยวกับฐานรากของเขื่อนจะต้องไม่ให้ฐานรากของเขื่อนต้องรับน้ำหนักกดต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่มากเกินกว่าที่ฐานรากนั้นจะทนได้เพื่อป้องกันไม่ให้ฐานรากของเขื่อนยุบลงจนเป็นอันตรายต่อเขื่อนจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้น้ำที่ซึมผ่านฐานรากใต้เขื่อนมีแรงมากจนพัดพาเม็ดดินให้เคลื่อนตัวหรือลอยตามน้ำไปบริเวณที่น้ำซึมออกทางด้านท้ายเขื่อนและถ้าหากจะมีน้ำออกมาจากอ่างเก็บน้ำแล้วก็ต้องมีปริมาณไม่มากเกินกว่าที่จะทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำสูญหายไปจนไม่พอใช้อีกด้วยฐานรากของเขื่อนแต่ละแห่งมักจะแตกต่างกันไปบางแห่งอาจเป็นหินหรือดินด้านแข็งที่ทึบน้ำซึ่งเป็นฐานรากที่เหมาะแก่การสร้างเขื่อนฐานรากบางแห่งอาจเป็นทราย กรวดและดินตะกอนทรายผสมทับถมกันมีสภาพให้น้ำซึมผ่านได้ง่ายแต่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการทรุดตัวซึ่งอาจต้องออกแบบป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่านลอดใต้เขื่อนเพิ่มเติมเป็นพิเศษและนอกจากนี้ฐานรากบางแห่งอาจเป็นดินตะกอนทรายและดินเหนียวทับถมกันซึ่งโดยมากจะมีปัญหาเกี่ยวกับการทรุดตัวของฐานรากแต่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำซึมลอดผ่าน ดังนั้น อาจต้องพิจารณาออกแบบป้องกันไม่ให้ฐานรากมีการทรุดตัวมากด้วยเช่นกัน


อาคารประกอบของเขื่อนเก็บกักน้ำ


ที่เขื่อนเก็บกักน้ำทุกแห่งจะต้องสร้างอาคารประกอบไว้เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ให้สูงจนล้มข้ามสันเขื่อนเพื่อระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำที่เชื่อมกับตัวเขื่อนโดยตรงและนอกจากนี้บางแห่งอาจจะมีอาคารระบายน้ำลงสู่ลำน้ำอีกด้วยดังต่อไปนี้

ก. อาคารระบายน้ำล้นสำหรับควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ให้สูงจนล้นข้ามสันเขื่อนเมื่อน้ำในอ่างเก็บน้ำถูกเก็บน้ำไว้ถึงระดับที่ต้องการแล้วหากว่ายังมีฝนตกหรือมีน้ำไหลลงมาอีกก็จะถูกระบายทิ้งไปทางด้านท้ายเขื่อนผ่านอาคารระบายน้ำล้นนี้อาคารระบายน้ำล้นดังกล่าวจึงจำเป็นจะต้องสร้างควบคู่ไปกับเขื่อนเก็บน้ำทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นเขื่อนดินหรือเขื่อนคอนกรีต

อาคารระบายน้ำล้นสร้างไว้ที่ตัวเขื่อนโดยมีบานประตูบังคับน้ำ

 

 

อาคารระบายน้ำล้น โดยส่วนใหญ่จะสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กอาจสร้างอยู่ที่ตัวเขื่อนและเป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนที่น้ำสามารถไหลล้นข้ามได้ซึ่งเหมาะที่จะสร้างกับเขื่อนคอนกรีตประเภทต้านแรงดันน้ำด้วยน้ำหนักและเขื่อนดินอาคารระบายน้ำล้นอาจเป็นอาคารที่สร้างแยกไปต่างหากที่บริเวณปลายเขื่อนข้างใดข้างหนึ่งที่เหมาะสมซึ่งเหมาะที่จะสร้างกับเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งและเขื่อนดินทั่วไปหรืออาจสร้างเป็นอาคารแบบท่อลอดใต้ตัวเขื่อนโดยมีปล่องรับน้ำเข้าทางด้านอ่างเก็บน้ำซึ่งเหมาะสำหรับงานเขื่อนดินที่เก็บกักน้ำไว้ไม่สูงมากนัก

อาคารระบายน้ำล้นสร้างลอดใต้ตัวเขื่อน
แบบมีปล่องรับน้ำเข้าที่ด้านอ่างเก็บน้ำ

 

 

การจะเลือกสร้างอาคารระบายน้ำล้นที่บริเวณใดและในลักษณะใดนั้นต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของฐานรากและปริมาณน้ำที่ต้องระบายออกตลอดจนสภาพของลำน้ำซึ่งจะรับน้ำที่ล้นออกมานั้นโดยทั่วไปแล้วขนาดของอาคารระบายน้ำล้นจะต้องขึ้นอยู่กับอัตราของปริมาณน้ำที่คาดว่าจะไหลลงมายังอ่างเก็บน้ำมากที่สุดในขณะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำสูงถึงระดับที่ต้องการแล้วซึ่งจะต้องคำนวณหาขนาดของช่องเปิดที่จะให้น้ำล้นมีความยาวมากพอสำหรับการระบายน้ำจำนวนมากดังกล่าวไปได้โดยที่ความสูงของน้ำซึ่งขึ้นสูงกว่าสันอาคารระบายน้ำล้นนั้นจะต้องไม่มากเกินไปกว่าระดับที่กำหนดไว้ให้ต่ำกว่าระดับสันเขื่อนนั้นในกรณีนี้จะใช้สูตรสำหรับคำนวณเหมือนกับสูตรที่ใช้คำนวณหาขนาดความยาวของฝายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่อง "ฝาย"

ที่ช่องระบายน้ำของอาคารระบายน้ำล้นอาจจะสร้างเป็นแบบที่มีบานประตูเปิดและปิดสำหรับบังคับน้ำหรือเป็นแบบให้น้ำไหลล้นข้ามไปได้อย่างอิสระตามความเหมาะสม ส่วนที่ต่อจากช่องระบายน้ำจะสร้างเป็นทางน้ำเพื่อบังคับน้ำให้ไหลพุ่งลงไปยังอ่างรับน้ำที่อยู่เบื้องล่างน้ำที่ไหลลงมาอย่างรวดเร็วนั้นจะพุ่งเข้าชนแท่งคอนกรีตที่สร้างขวางไว้เป็นระยะ ๆ ในอ่างรับน้ำทำให้น้ำเกิดการกระจายตัวและกระทบกระแทกกันเองจนปั่นป่วนเป็นเหตุให้พลังงานที่มีมากเนื่องจากน้ำที่ไหลลงมาอย่างรวดเร็วนั้นสูญหายหมดไปในอ่างรับน้ำแล้วน้ำจึงไหลต่อไปตามทางน้ำที่ขุดขึ้นตามลำน้ำธรรมชาติโดยไม่เกิดการกัดเซาะ

 

ข. ท่อปากคลองส่งน้ำในกรณีที่ต้องส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเข้าคลองส่งน้ำโดยตรงจะต้องสร้างอาคารที่ตัวเขื่อนเพื่อนำน้ำผ่านเขื่อนไปยังคลองส่งน้ำลักษณะของอาคารจะเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็กหรือท่อเหล็กสร้างผ่านตัวเขื่อนโดยปลายท่อด้านหน้าเขื่อนซึ่งรับน้ำเข้าจะอยู่ที่ระดับน้ำต่ำสุดที่ต้องการระบายออกไปจากอ่างเก็บน้ำและที่บริเวณปากทางเข้านี้จะติดตั้งบานประตูสำหรับควบคุมน้ำไว้ส่วนปลายท่อด้านท้ายเขื่อนจะอยู่ในแนวต่ำกว่าปากทางน้ำเข้าด้านหน้าเขื่อนเล็กน้อยและเชื่อมกับอ่างรับน้ำสำหรับกำจัดพลังงานที่เกิดจากน้ำไหลให้หมดไปเสียก่อนแล้วจึงไหลเข้าคลองส่งน้ำซึ่งเชื่อมต่อกับอ่างรับน้ำนั้นสำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีความลึกมากและต้องสร้างท่อปากคลองส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่มักจะนิยมติดตั้งบานประตูบังคับน้ำแบบรับแรงดันน้ำสูงไว้ที่ปลายท่อโดยเปิดและปิดด้วยระบบไฮดรอลิกตามความเหมาะสม

ท่อปากคลองส่งน้ำ ที่เขื่อนเก็บกักน้ำ

 

 

ค. ท่อระบายน้ำลงลำน้ำท้ายเขื่อนและท่อระบายน้ำไปหมุนกังหันท่อระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนอกเหนือจากท่อปากคลองส่งน้ำจะสร้างไว้ที่เขื่อนเก็บกักน้ำซึ่งต้องการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเพื่อการชลประทานโดยเขื่อนทดน้ำที่สร้างอยู่ทางตอนล่างหรือเพื่อระบายน้ำไปหมุนกังหันเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า

ท่อระบายน้ำเข้าสู่โรงไฟฟ้าท้ายเขื่อน

 

 

อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำท้ายเขื่อนส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกับท่อปากคลองส่งน้ำเพียงแต่ปลายท่อจะพุ่งดิ่งลงไปในแนวต่ำจนเกือบถึงท้องลำน้ำเท่านั้น

ส่วนท่อระบายน้ำไปหมุนกังหันจะเป็นท่อระบายน้ำอีกแห่งหนึ่งโดยมีปากทางเข้าท่ออยู่ในระดับสูงแล้วอาจสร้างลอดใต้ตัวเขื่อนหรือสร้างเป็นท่อไว้ในบริเวณที่เหมาะสมตรง ไปยังโรงไฟฟ้าซึ่งติดตั้งกังหันน้ำที่อยู่ทางท้ายเขื่อนนั้น 


ระบบส่งน้ำ 


การที่จะนำน้ำจากต้นน้ำของโครงการชลประทานไปให้ถึงพื้นที่เพาะปลูกทุกแห่งในเขตโครงการได้ต้องอาศัยระบบส่งน้ำระบบส่งน้ำที่มีราคาถูกและนิยมก่อสร้างกัน ได้แก่ ระบบส่งน้ำซึ่งจะประกอบด้วยคลองส่งน้ำและอาคารของคลองส่งน้ำประเภทต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้นำน้ำควบคุมและบังคับน้ำจนสามารถส่งน้ำไปตามคลองซึ่งมีความลาดเทไปถึงพื้นที่เพาะปลูกทุกแห่งตามจำนวนที่ต้องการได้


คลองส่งน้ำ


เป็นทางน้ำสำหรับนำน้ำจากแหล่งน้ำซึ่งเป็นต้นน้ำของโครงการชลประทานไปยังพื้นที่เพาะปลูกน้ำจากแหล่งน้ำจะกระจายไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้ทั่วถึงด้วยคลองต่าง ๆ ที่มีในเขตโครงการชลประทานนั้นคลองส่งน้ำแต่ละสายจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กยาวหรือสั้นย่อมขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่เพาะปลูกที่คลองสายนั้น ๆ ควบคุมอยู่และจำนวนคลองส่งน้ำทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการนั้นด้วย

คลองส่งน้ำสายใหญ่

 

 

คลองส่งน้ำที่เริ่มต้นจากแหล่งน้ำที่ต้นน้ำของโครงการชลประทานเรียกว่าคลองส่งน้ำสายใหญ่คลองส่งน้ำสายใหญ่เป็นคลองสำหรับนำน้ำไปใช้ในเขตโครงการทั้งหมดจึงมีขนาดใหญ่กว่าคลองส่งน้ำสายอื่นโครงการชลประทานแห่งหนึ่ง ๆ อาจมีคลองส่งน้ำสายใหญ่ได้หลายสายทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ขนาดและขอบเขตของโครงการที่กำหนดไว้ ในกรณีที่จะส่งน้ำผ่านเขื่อนเก็บกักน้ำเข้าคลองส่งน้ำโดยตรงคลองส่งน้ำสายใหญ่จะสร้างต่อจากปลายท่อปากคลองส่งน้ำท้ายเขื่อนเก็บกักน้ำสำหรับโครงการเขื่อนทดน้ำจะสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ต่อจากบริเวณท้ายประตูหรือท่อปากคลองส่งน้ำซึ่งสร้างอยู่หน้าเขื่อนทดน้ำออกไป

 

คลองส่งน้ำที่สร้างแยกจากคลองส่งน้ำสายใหญ่จะมีขนาดเล็กลงมา เรียกว่า คลองซอยทำหน้าที่นำน้ำส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งของคลองนั้นคลองส่งน้ำสายใหญ่อาจมีคลองซอยแยกออกไปได้หลายสายตามความเหมาะสม

คลองซอย

 

 

คลองส่งน้ำที่สร้างแยกจากคลองซอยจะมีขนาดเล็กลงไปอีกเรียกว่าคลองแยกซอยการมีคลองแยกซอยเพิ่มขึ้นจะทำให้ส่งน้ำได้แพร่กระจายทั่วทั้งเขตโครงการดีขึ้นซึ่งคลองซอยสายหนึ่งอาจมีคลองแยกซอยได้หลายสายและที่คลองแยกซอยอาจมีคลองส่งน้ำขนาดเล็ก ๆ เป็นคลองแยกซอยแยกออกไปอีกก็ได้

 

คลองส่งน้ำทุกสายไม่ว่าจะเป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่คลองซอยหรือคลองแยกซอยจะมีแนวคลองไปตามพื้นที่สูงที่สุดของบริเวณที่จะส่งน้ำให้เสมอเพื่อที่ว่าเมื่อส่งน้ำออกจากคลองแล้วน้ำจะได้ไหลลงสู่ที่ต่ำได้สะดวกและทั่วถึงคลองส่งน้ำสายใหญ่เป็นคลองส่งน้ำสายประธานจึงมีแนวลัดเลาะไปตามชายเนินส่วนคลองซอยและคลองแยกซอยจะมีแนวไปตามสันเนินทำให้คลองซอยและคลองแยกซอยทุกสายสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ทั่วไปส่วนใหญ่ได้ซึ่งจำนวนพื้นที่ส่งน้ำทั้งหมดของโครงการชลประทานจะเป็นผลรวมของพื้นที่ส่งน้ำจากคลองซอยและคลองแยกซอยทั้งหมดกับพื้นที่ส่งน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่

คลองส่งน้ำดาดด้วยคอนกรีต

 

 

คลองส่งน้ำที่สร้างผ่านพื้นที่ดินซึ่งน้ำร่วนซึมได้น้อยจะสร้างเป็นคลองดินธรรมดาเพราะมีราคาถูกแต่ถ้าสร้างในภูมิประเทศที่มีดินเป็นดินปนทรายจะทำให้มีน้ำรั่วซึมสูญหายไปจากคลองมากจำเป็นต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้มีน้ำสูญหายไปจากคลอง เช่น ดาดคลองด้วยคอนกรีต เป็นต้น

สัดส่วนและขนาดของคลองส่งน้ำสามารถคำนวณได้จากสูตรการไหลของน้ำในทางน้ำเปิดโดยสูตรของแมนนิง (Man- ning Formula) คือ
 

Q = ๑/n R๒/๓S๑/๒A 


เมื่อ 

Q = ปริมาณน้ำที่ต้องการส่งไปตามคลองเป็นลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 
n = สัมประสิทธิ์ของความขรุขระของคลองมีค่าประมาณ ๐.๐๓๐-๐.๓๕ สำหรับคลองดินและมีค่าประมาณ ๐.๐๑๖ สำหรับคลองดาดด้วยคอนกรีต 
R = รัศมีทางชลศาสตร์ของคลองเป็นเมตร = A/P 
A = พื้นที่รูปตัดขวางของน้ำที่ไหลในคลองเป็นตารางเมตร 
P = ความยาวของลาดตลิ่งคลองส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำทั้งสองข้างบวกกับความกว้างของท้องคลองเป็นเมตร 
S = ลาดของผิวน้ำในคลองหรือเท่ากับค่าความลาดเทของท้องคลองไปตามแนวคลองโดยประมาณ

คลองส่งน้ำทุกสายจะต้องมีสัดส่วนและขนาดคือพื้นที่รูปตัดขวางของคลองโตพอที่จะส่งน้ำที่มีปริมาณตามต้องการไปได้และมีระดับน้ำในคลองสูงพอที่จะส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องการใช้น้ำนั้นด้วย


อาคารของคลองส่งน้ำ


นอกจากคลองส่งน้ำของโครงการชลประทานซึ่งได้แก่คลองส่งน้ำสายใหญ่คลองซอยและคลองแยกซอยแล้วตามคลองส่งน้ำทุกสายยังจะต้องสร้างอาคารประเภทต่าง ๆเป็นแห่ง ๆ แล้วแต่ความเหมาะสมเพื่อให้ระบบส่งน้ำสามารถส่งน้ำไปให้กับพื้นที่เพาะปลูกตลอดคลองในเขตโครงการชลประทานตามที่ต้องการได้ 

อาคารของคลองส่งน้ำมีหลายประเภทหลายลักษณะและมีหน้าที่แตกต่างกันซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะสำหรับอาคารที่สำคัญๆ เท่านั้น ดังต่อไปนี้

ก. ประตูหรือท่อปากคลองซอยและคลองแยกซอยที่ต้นคลองซอยซึ่งแยกออกจากคลองส่งน้ำสายใหญ่และคลองแยกซอยซึ่งแยกออกจากคลองซอยจะต้องสร้างอาคารไว้สำหรับควบคุมน้ำให้ไหลเข้าคลองส่งน้ำตามจำนวนที่ต้องการหากคลองซอยหรือคลองแยกซอยมีขนาดใหญ่และจะต้องส่งน้ำไปตามคลองจำนวนมากก็จะนิยมสร้างอาคารควบคุมน้ำไว้ที่ต้นคลองเป็นแบบประตูระบายน้ำซึ่งจะมีรูปร่างเหมือนกับประตูปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ถ้าหากคลองซอยหรือคลองแยกซอยมีขนาดเล็กและจะต้องส่งน้ำไปตามคลองจำนวนไม่มากนักก็จะนิยมสร้างอาคารที่ต้นคลองเหล่านั้นเป็นแบบท่อโดยที่ปากทางเข้าของท่อจะติดตั้งบานประตูไว้สำหรับควบคุมปริมาณน้ำที่จะให้ไหลผ่านท่อในจำนวนที่ต้องการได้เช่นเดียวกับท่อปากคลองส่งน้ำสายใหญ่

ท่อปากคลองซอย

 

 

ข. ท่อเชื่อมเป็นท่อที่สร้างเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำสำหรับนำน้ำจากคลองส่งน้ำที่อยู่ทางฝั่งหนึ่งของลำน้ำธรรมชาติหรือถนนให้ไหลไปในท่อที่ฝังลอดใต้ลำน้ำหรือถนนไปยังคลองส่งน้ำที่อยู่อีกทางฝั่งหนึ่งท่อเชื่อมส่วนใหญ่จะสร้างเป็นที่คอนกรีตเสริมเหล็กแต่จะมีรูปร่างกลมหรือสี่เหลี่ยมและจะสร้างเป็นแถวเดียวหรือหลายแถวนั้นก็ต้องให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่จะให้ไหลผ่านท่อตัวท่อที่ฝังอยู่ใต้ผิวดินจะต้องสร้างอย่างมั่นคงแข็งแรงให้สามารถรับแรงดันทั้งของดินและของน้ำภายในท่อได้น้ำจากคลองส่งน้ำ จะไหลเข้าท่อในสภาพที่มีน้ำเต็มท่อแล้วไหลไปออกที่คลองส่งน้ำอีกทางด้านหนึ่งด้วยแรงที่เกิดจากการที่ระดับน้ำในคลองบริเวณปากทางเข้าท่อสูงกว่าระดับน้ำในคลองด้านทางออกของท่อ

โดยทั่วไปท่อเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำจะสร้างไว้ในบริเวณที่คลองส่งน้ำตัดกับลำน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่และในลำน้ำธรรมชาติมีน้ำไหลมากกว่าน้ำที่ไหลในคลองส่งน้ำมาก 

ค. สะพานน้ำเป็นทางน้ำสำหรับนำน้ำจากคลองส่งน้ำที่อยู่ทางด้านหนึ่งของลำน้ำธรรมชาติที่ลุ่มหรือลาดเชิงเขาข้ามไปหาคลองส่งน้ำที่อยู่อีกทางด้านหนึ่งสะพานน้ำจะมีลักษณะเป็นรางน้ำเปิดธรรมดาหรือรางน้ำปิดแบบท่อโดยวางอยู่บนตอม่อหรือฐานรองรับทอดข้ามลำน้ำธรรมชาติที่ลุ่มหรือวางไปตามลาดเชิงเขาปากทางเข้าและปากทางออกของสะพานน้ำจะเชื่อมกับคลองส่งน้ำซึ่งเมื่อน้ำไหลออกจากสะพานน้ำแล้วก็จะไหลต่อไปในคลองส่งน้ำได้ตามปกติ

สะพานน้ำ

 

 

สะพานน้ำโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นรูปวงกลมครึ่งวงกลมหรือเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ประกอบด้วยพื้นและผนังอีก ๒ ด้าน สร้างตั้งฉากกับพื้นและจะสร้างได้ด้วยวัสดุต่าง ๆ กัน เช่น ไม้ แผ่นเหล็กและคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นต้น

น้ำที่ไหลในสะพานน้ำจะเหมือนกับการไหลของน้ำในคลองส่งน้ำการคำนวณหาขนาดพื้นที่หน้าตัดของน้ำที่ไหลในทางน้ำจึงใช้สูตรในการคำนวณแบบการคำนวณคลองส่งน้ำ 

ง. น้ำตกเนื่องด้วยคลองส่งน้ำบางสายอาจจะมีแนวไปตามสภาพภูมิประเทศซึ่งผิวดินตามธรรมชาติมีความลาดเทมากกว่าความลาดเทของคลองส่งน้ำที่กำหนดไว้จึงจำเป็นต้องลดระดับท้องคลองส่งน้ำให้ต่ำลงในแนวดิ่งบ้างเป็นแห่ง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่แนวคลองส่งน้ำผ่านในบริเวณที่คลองส่งน้ำเปลี่ยนระดับต่ำลงนี้จำเป็นต้องมีอาคารสำหรับบังคับน้ำที่ไหลมาตามคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวบนให้ไหลตกลงมาที่อาคารตอนล่างเสียก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้คลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวล่างต้องชำรุดเสียหาย เนื่องจากความแรงของน้ำที่ไหลตกลงมานั้น

อาคารดังกล่าวข้างต้นนี้ เรียกว่า "น้ำตก" แรงของน้ำที่ไหลตกลงมาจะสูญหายไปจนหมดภายในอ่างรับน้ำอันเป็นส่วนหนึ่งของอาคารซึ่งอยู่ด้านล่างจากนั้นน้ำจึงจะไหลเข้าคลองส่งน้ำที่ต่อจากปลายอ่างรับน้ำต่อไปตามปกติ 

อาคารน้ำตกที่นิยมสร้างกันโดยทั่วไปมีอยู่หลายชนิดแต่ละชนิดจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศตลอดจนขนาดของคลองส่งน้ำและปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอาคาร เช่น

 

๑. น้ำตกชนิดตั้งจะประกอบด้วยกำแพงที่สร้างปิดปลายคลองส่งน้ำที่อยู่แนวบนโดยมีช่องเปิดให้น้ำผ่านได้อยู่ตรงกลางตัวกำแพงจะสร้างไว้ในแนวดิ่งและตั้งตรงลงมาเชื่อมกับอ่างรับน้ำซึ่งมีพื้นอยู่ต่ำกว่าท้องคลองส่งน้ำที่อยู่แนวล่างเล็กน้อยน้ำในคลองส่งน้ำจะไหลผ่านช่องเปิดตกลงมายังอ่างรับน้ำเหมือนกับการไหลของน้ำข้ามสันฝายจากนั้นจึงไหลเข้าคลองส่งน้ำที่ต่อจากปลายอ่างน้ำไปตามปกติโดยทั่วไปแล้วน้ำตกชนิดตั้งจะสร้างกับคลองส่งน้ำที่มีขนาดไม่ใหญ่และกับคลองส่งน้ำที่ลดระดับต่ำลงไม่มากนัก

น้ำตกชนิดตั้ง

 

 

๒. น้ำตกชนิดรางเทโดยทั่วไปจะสร้างกับคลองส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่และกับคลองส่งน้ำที่ต้องลดระดับต่ำลงไปมากน้ำตกประเภทนี้จะประกอบด้วยรางน้ำที่สร้างให้มีความลาด เอียงเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวบนกับอ่างรับน้ำที่อยู่ในแนวล่างน้ำในคลองส่งน้ำจะไหลเข้าไปในรางน้ำด้วยความเร็วสูงพุ่งลงมายังอ่างรับน้ำก่อนจะไหลเข้าคลองส่งน้ำต่อไป

๓. น้ำตกชนิดท่อส่วนมากนิยมสร้างแทนน้ำตกชนิดรางเทโดยมีท่อวางให้มีความลาดเอียงแทนส่วนที่เป็นรางเทตอนบนของท่อจะเชื่อมต่อกับส่วนหนึ่งของอาคารเพื่อที่จะรับน้ำเข้าท่อและท่อตอนล่างจะเชื่อมต่อกับอ่างรับน้ำและคลองส่งน้ำตามลำดับส่วนบริเวณหลังท่อจะถมด้วยดินถมบดอัดแน่นเป็นคันดินขวางคลองส่งน้ำสำหรับใช้เป็นทางข้ามคลองส่งน้ำได้อีกด้วย 

อาคารน้ำตกทุกชนิดตามที่ได้กล่าวมานี้ส่วนมากจะสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กและทุกแห่งมักจะทำหน้าที่เป็นอาคารสำหรับทดอัดน้ำในคลองส่งน้ำควบคู่กันไปด้วยโดยจะติดตั้งบานประตูหรือจัดช่องเพื่อใส่แผ่นไม้สำหรับอัดน้ำไว้ที่บริเวณช่องน้ำผ่านหรือที่บริเวณปากทางเข้าท่อนั้น

 

จ. รางเทเป็นอาคารสำหรับนำน้ำจากคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวบนให้ลงมายังคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวล่างเหมือนกับน้ำตกแต่แตกต่างกันที่รางเทนั้นจะมีน้ำไหลมาตามรางหรือท่อซึ่งวางลาดเอียงไปตามสภาพของภูมิประเทศเป็นระยะทางไกลจึงจะถึงอ่างรับน้ำและคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวล่างนั้นรางเทจะประกอบด้วยส่วนที่เป็นรางน้ำหรือท่อนำน้ำตอนบนของรางเทหรือท่อจะเชื่อมต่อกับส่วนหนึ่งของอาคารเพื่อรับน้ำเข้ารางเทหรือจากปลายคลองส่งน้ำซึ่งอยู่ในแนวบนแล้วเชื่อมต่อกับอ่างรับน้ำและคลองส่งน้ำซึ่งอยู่ในแนวล่างตามลำดับน้ำที่ไหลลงมาตามรางเทหรือในท่อจะมีความเร็วสูงแต่ลักษณะการไหลของน้ำจะเหมือนกับน้ำที่ไหลในสะพานน้ำและในคลองส่งน้ำดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อาคารรางเทส่วนมากมักจะสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

รางเท

 

 

ฉ. อาคารอัดน้ำการส่งน้ำออกจากคลองส่งน้ำไปให้พื้นที่เพาะปลูกเป็นระยะ ๆ ตลอดแนวที่คลองส่งน้ำผ่านจะทำให้ปริมาณน้ำไหลในคลองเหลือน้อยลงและเป็นเหตุให้ระดับน้ำในคลองส่งน้ำต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ตามด้วยซึ่งอาจทำให้การส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกต่อไปไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมระดับน้ำในคลองส่งน้ำให้สูงอยู่เสมอด้วยอาคารอัดน้ำเพื่อทำหน้าที่ทดอัดน้ำในคลองให้สูงเป็นช่วง ๆ ไปโดยที่ไม่ว่าน้ำในคลองจะมีปริมาณมากหรือน้อยเพียงไรก็จะต้องถูกทดอัดให้มีระดับสูงจนสามารถส่งน้ำได้ดีทุกเวลาที่ต้องการ

 

อาคารอัดน้ำในคลองส่งน้ำจึงมีหน้าที่เหมือนกับอาคารทดน้ำจากแหล่งน้ำที่ต้นน้ำของโครงการชลประทานจะต่างกันที่อาคารอัดน้ำในคลองนั้นมักมีขนาดเล็กกว่าและจะสร้างให้มีขนาดที่สามารถระบายน้ำปริมาณสูงสุดของคลองส่งน้ำได้เท่านั้น

อาคารอัดน้ำขนาดใหญ่

 

 

อาคารอัดน้ำจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่แตกต่างกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับขนาดของคลองส่งน้ำและปริมาณน้ำสูงสุดของคลองสำหรับอาคารอัดน้ำของคลองส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่อาจจะสร้างเป็นอาคารแบบเดียวกับประตูปากคลองส่งน้ำโดยมีบานประตูสำหรับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านมากหรือน้อยได้ส่วนอาคารอัดน้ำของคลองที่มีขนาดเล็กอาจจะสร้างเป็นกำแพงตั้งติดกับพื้นวางขวางคลองส่งน้ำโดยที่กำแพงจะมีช่องเปิดช่องเดียวหรือหลายช่องก็ได้แต่จะต้องมีความลึกให้ถึงระดับพื้นด้านล่างและให้กว้างพอที่ปริมาณน้ำสูงสุดในคลองส่งน้ำจะผ่านไปได้อย่างสะดวกแต่ละช่องอาจจะทำร่องสำหรับให้ใส่แผ่นไม้ซึ่งไหลมาในคลองจะถูกทดอัดขึ้นจนสูงแล้วไหลข้ามแผ่นไม้ไปได้เหมือน กับน้ำที่ไหลข้ามไปบนสันฝายนั่นเองอาคารอัดน้ำส่วนมากมักจะสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก

อาคารอัดน้ำมีบานประตูบังคับน้ำ

 

 

นอกจากอาคารอัดน้ำซึ่งสร้างให้ทำหน้าที่ทดอัดน้ำโดยตรงดังกล่าวข้างต้นแล้วอาคารประเภทอื่น ได้แก่ ท่อเชื่อมสะพานน้ำ น้ำตกและรางเท ฯลฯ ยังสามารถดัดแปลงโดยติด-ตั้งบานประตูหรือจัดช่องสำหรับใส่แผ่นไม้ที่บริเวณด้านหน้าของอาคารเหล่านั้นเพื่อให้ทำหน้าที่ทดอัดน้ำในคลองให้มีระดับสูงตามที่ต้องการได้อีกด้วยเช่นกัน

ท่อลอดถนนทำหน้าที่เป็นอาคารอัดน้ำ

 

 

ช. ท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกเป็นอาคารซึ่งสร้างที่คลองส่งน้ำทำหน้าที่จ่ายและควบคุมน้ำที่จะส่งออกจากคลองส่งน้ำไปให้พื้นที่เพาะปลูกตลอดแนวคลองส่งน้ำจะมีท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกที่สร้างไว้เป็นระยะ ๆ ตามตำแหน่งซึ่งสามารถส่งน้ำออกไปได้สะดวกและทั่วถึงท่อส่งน้ำแต่ละแห่งจะสามารถส่งน้ำชลประทานให้กับพื้นที่เพาะปลูกได้จำนวนหนึ่งซึ่งพื้นที่เพาะปลูกที่ท่อส่งน้ำทุกแห่งส่งไปให้ได้จะเป็นพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดที่คลองส่งน้ำนั้น ๆ ควบคุมอยู่

 

ท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกส่วนมากจะสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กประกอบด้วยท่อฝังผ่านคันคลองส่งน้ำปากทางน้ำเข้าท่อที่ลาดด้านข้างของคลองส่งน้ำจะมีร่องน้ำขนาดเล็กสร้างไปเชื่อมกับท่อพร้อมกับติดตั้งบานประตูไว้ที่ปากทางเข้าท่อเพื่อทำหน้าที่ควบคุมน้ำที่จะไหลเข้าท่อให้มีจำนวนมากหรือน้อยตามที่ต้องการได้เสมอส่วนที่ปากทางออกของท่อก็จะสร้างรางน้ำขนาดเล็กไปต่อเชื่อมกับคูส่งน้ำซึ่งสร้างขึ้นเพื่อนำน้ำกระจายไปให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูกด้วย

ท่อส่งน้ำจากคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก

 

 

ซ. ท่อระบายน้ำลอดใต้คลองส่งน้ำในกรณีที่คลองส่งน้ำตัดผ่านร่องน้ำขนาดเล็กและบริเวณพื้นที่อื่น เช่น ที่ลุ่มซึ่งมีน้ำไหลมาตามธรรมชาติน้อยมักจะนิยมสร้างอาคารแบบท่อเพื่อระบายน้ำให้ลอดใต้ท้องคลองส่งน้ำไปโดยไม่สร้างท่อเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำลอดใต้ร่องน้ำหรือที่ลุ่มเนื่องจากมีราคาแพงกว่า

ท่อระบายน้ำลอดใต้คลองส่งน้ำอาจสร้างเป็นท่อกลมหรือท่อสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก

ฌ. อาคารระบายน้ำล้นเป็นอาคารสำหรับทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำที่ไหลมาในคลองส่งน้ำมีระดับสูงเกินกว่าระดับน้ำสูงสุดในคลองที่กำหนดไว้จนล้นข้างคลองและทำความเสียหายให้กับคลองส่งน้ำทั้งนี้เพราะในขณะทำการส่งน้ำมันระดับน้ำในคลองส่งน้ำจะถูกทดอัดให้สูงอยู่ตลอดเวลาและทางต้นคลองส่งน้ำก็จะเปิดประตูหรือท่อปากคลองส่งน้ำจนมีน้ำไหลเข้ามาในคลองเท่ากับจำนวนน้ำที่ส่งออกจากคลองผ่านท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกทุกแห่งซึ่งทำให้น้ำในคลองขณะส่งน้ำมีระดับคงที่หากเวลาใดที่ชาวนา ชาวไร่หรือเจ้าหน้าที่ทดอัดน้ำหลายแห่งอย่างบังเอิญหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยไม่ลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาทางต้นคลองส่งน้ำเสียก่อนจะทำให้น้ำในคลองมีระดับสูงขึ้น ๆ จนล้นคลองส่งน้ำได้จึงมักจะสร้างอาคารระบายน้ำล้นไว้ที่ข้างคลองส่งน้ำในบริเวณด้านหน้าอาคารอัดน้ำสะพาน น้ำท่อเชื่อมหรือน้ำตกเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

อาคารระบายน้ำล้นข้างคลองส่งน้ำ

 

 

อาคารระบายน้ำล้นอาจจะสร้างเป็นอาคารคล้ายกับฝายโดยการตัดคันคลองส่งน้ำด้านใดด้านหนึ่งลงไปจนถึงระดับน้ำสูงสุดในคลองที่กำหนดไว้แล้วดาดด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กให้มีความลาดเอียงลงไปจนถึงพื้นดินธรรมชาติทางด้านล่างของคันคลองส่งน้ำหรืออาจจะสร้างเป็นท่อฝังผ่านคันคลองส่งน้ำเชื่อมกับทางน้ำล้นเข้าที่อยู่ในบริเวณข้างคลองส่งน้ำโดยมีสันทางน้ำล้นเท่ากับระดับน้ำสูงสุดในคลองที่กำหนดไว้นั้นเช่นกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow