Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การระบายน้ำ

Posted By Plookpedia | 28 ส.ค. 60
613 Views

  Favorite

การระบายน้ำ


หมายถึง กิจการที่จัดทำขึ้นเพื่อระบายน้ำซึ่งมีมากเกินความต้องการออกจากพื้นที่เพาะปลูกให้เหลือจำนวนที่พอเหมาะต่อการปลูกพืชเท่านั้นเพื่อพืชที่ปลูกจะได้เจริญงอกงาม และให้ผลผลิตสูง

 

พื้นที่ในภูมิภาคที่มีฝนตกชุกหรือพื้นที่ในเขตโครงการชลประทานที่ไม่มีระบายน้ำมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการมีน้ำมากแล้วไม่สามารถระบายออกไปได้ทันตามเวลาที่ต้องการจนเป็นเหตุให้น้ำฝนหรือน้ำชลประทานขังอยู่บนผิวดินหรือซึมลงไปในดินทำให้มีระดับน้ำใต้ผิวดินสูงใกล้ผิวดินหรือท่วมเข้าไปในเขตรากพืชรากของพืชไร่เมื่อต้องแช่น้ำอยู่นานจะเน่าและทำความเสียหายแก่พืชที่ปลูก

คลองระบายน้ำผิวดิน

 

 

งานระบายน้ำจะก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีน้ำมากเกินไปเพื่อทำหน้าที่ควบคุมน้ำในบริเวณพื้นที่ซึ่งใช้เพาะปลูกให้มีจำนวนที่พอเหมาะกับความต้องการของพืช เช่น พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการชลประทานซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต้องการระบบระบายน้ำควบคู่กันไปกับระบบส่งน้ำด้วยเนื่องจากพื้นที่เหล่านี้จะต้องได้รับน้ำชลประทานเพิ่มเติมนอกเหนือจากฝนอยู่เสมอจึงมักจะมีน้ำเหลือจากความต้องการของพืชขังอยู่บนผิวดินหรือซึมลงไปในดินจนทำให้ระดับน้ำใต้ผิวดินสูงขึ้นได้หรือพื้นที่บางแห่งซึ่งเป็นที่ลุ่มมีน้ำขังอยู่ตามธรรมชาติตลอดเวลาเมื่อได้สร้างระบบระบายน้ำแล้วก็จะช่วยให้พื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่มีน้ำขังและลดระดับน้ำใต้ผิวดินให้อยู่ในระดับต่ำจนสามารถใช้พื้นที่แห่งนั้นทำการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ได้

การระบายน้ำใต้ผิวดิน

 

 

การระบายน้ำนอกจากจะสามารถควบคุมปริมาณน้ำของพื้นที่เพาะปลูกไม่ให้มีมากเกินไปเพื่อประโยชน์ต่อการปลูกพืชแล้วยังจะช่วยปรับปรุงพื้นที่ซึ่งมีเกลือสะสมอยู่มากจนไม่สามารถปลูกพืชทั่วไปได้ให้มีสภาพดีขึ้นซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ พื้นที่แถบชายทะเลและพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยน้ำที่ระบายออกไปจากพื้นที่เพาะปลูกนั้นจะนำเกลือทั้งที่อยู่บนผิวดินและในดินออกไปจากพื้นที่เพาะปลูกด้วยนอกจากนี้เมื่อระบบระบายน้ำสามารถควบคุมระดับน้ำใต้ผิวดินให้อยู่ลึกลงไปจากผิวดินได้ตลอดเวลาแล้วยังป้องกันเกลือไม่ให้ถูกน้ำพาขึ้นมาสะสมอยู่ในเขตรากพืชอีกด้วยเช่นกัน 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
ขณะเสด็จฯทอดพระเนตรการสร้างเขื่อนของโครงการชลประทานร่วม
กับข้าราชการกรมชลประทาน ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

 

 

การระบายน้ำมีอยู่ ๒ ประเภท คือ การระบายน้ำบนผิวดินและการระบายน้ำใต้ผิวดิน

๑. การระบายน้ำบนผิวดิน 

หมายถึง การนำน้ำซึ่งขังอยู่บนผิวดินออกไปจากพื้นที่ด้วยคลองหรือคูระบายน้ำชาวนา ชาวไร่ทั่วไปรู้จักวิธีการระบายน้ำบนผิวดินและรู้วิธีการจัดทำเป็นอย่างดีโดยคิดค้นดัด แปลงและจัดทำขึ้นจากประสบการณ์ที่พบเห็นในพื้นที่เพาะปลูกของตนชาวนาชาวไร่ทราบดีว่าในการปลูกข้าวหรือพืชไร่นั้นช่วงเวลาใดที่ไม่ต้องการน้ำแต่ยังมีน้ำขังอยู่บนผิวดินแล้วควรจะหาทางระบายน้ำออกไปจากพื้นที่เพาะปลูกเสียมิฉะนั้นจะเป็นผลเสียหายต่อพืชที่ปลูกไว้

 

ความต้องการเกี่ยวกับการระบายน้ำบนผิวดินจะมีมากหรือน้อยเพียงไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ประกอบกัน เช่น ปริมาณและความเข้มของฝนปริมาณน้ำชลประทานที่ส่งให้พื้นที่เพาะปลูก (ถ้ามี) ความลาดเทของภูมิประเทศลักษณะของดินอัตราการซึมของน้ำในดินและประเภทของพืชที่ปลูก เป็นต้น แต่โดยทั่วไปแล้วการระบายน้ำบนผิวดินจะต้องการในพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในเขตฝนตกชุกแต่ถ้าพื้นที่เพาะปลูกมีดินเป็นดินเหนียวและมีลักษณะของพื้นที่แบนราบเป็นที่ลุ่มอีกด้วยแล้วงานระบายน้ำบนผิวดินก็จะมีความจำเป็นมากขึ้นตามไปด้วย

อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ลอง อ.ลี้ จ.ลำพูน

 

 

วิธีการระบายน้ำบนผิวดินมี ๒ วิธี คือ โดยวิธีการระบายน้ำด้วยร่องระบายน้ำคูระบายน้ำและคลองระบายน้ำเพื่อนำน้ำออกไปจากพื้นที่โดยตรงและโดยวิธีการป้องกันหรือดักน้ำบนผิวดินจากภายนอกไม่ให้ไหลเข้าไปยังพื้นที่เพาะปลูกด้วยคูระบายน้ำและคลองระบายน้ำสำหรับดักน้ำแล้วนำไปทิ้งเสียก่อนซึ่งนอกจากคูและคลองระบายน้ำแล้วบางแห่งอาจจำเป็นต้องสร้างคันกั้นน้ำเพิ่มอีกนอกจากนี้หากว่าพื้นที่เพาะปลูกแห่งใดมีระดับไม่สม่ำเสมอโดยมีหลุมหรือแอ่งให้น้ำขังได้ก็จำเป็นต้องปรับระดับพื้นที่เพิ่มเติมให้ราบเรียบและมีส่วนลาดเทที่เหมาะสมเพื่อให้น้ำไหลลงสู่คูและคลองระบายน้ำได้สะดวกขึ้นน้ำในดินซึ่งมีสภาพไม่อิ่มตัว คือ มีอากาศอยู่ในช่องว่างของดินด้วยถ้าคราวใดมีฝนตกมากหรือมีการให้น้ำชลประทานแก่พื้นที่เพาะปลูกมากเกินไปจะทำให้มีน้ำเหลืออยู่จำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถเกาะรอบเม็ดดินและอยู่ในช่องว่างของดินได้ก็จะไหลผ่านลงตามแนวดิ่งด้วยแรงดึงดูดของโลกลงสู่ระดับน้ำใต้ผิวดินที่อยู่เบื้องล่างเป็นเหตุให้ระดับน้ำใต้ผิวดินเพิ่มสูงขึ้นเมื่อระดับน้ำสูงท่วมรากพืชหรือใกล้ผิวดินรากพืชจะแช่น้ำและขาด อากาศในดินทำให้รากเน่าพืชจึงไม่เจริญงอกงามและออกดอกออกผลตามต้องการหรือพืชอาจตายในที่สุด

๒. การระบายน้ำใต้ผิวดิน 

หมายถึง การระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำใต้ผิวดินให้ต่ำกว่าผิวดินตามต้องการโดยที่ระดับน้ำใต้ผิวดินจะไม่สูงจนท่วมรากพืชและให้อยู่ต่ำกว่าผิวดินในระดับที่จะไม่สามารถชักนำเกลือที่อาจจะมีอยู่ในดินนั้นขึ้นมาสะสมไว้ในเขตรากพืชและในบริเวณใกล้ผิวดินอีกด้วย

 

ปกติรากของต้นไม้และพืชไร่ที่หยั่งลึกลงในดินจะต้องการน้ำในดินซึ่งมีสภาพไม่อิ่มตัว คือ มีอากาศอยู่ในช่องว่างของดินด้วยถ้าคราวใดมีฝนตกมากหรือมีการให้น้ำชลประทานแก่พื้นที่เพาะปลูกมากเกินไปจะทำให้มีน้ำเหลืออยู่จำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถเกาะรอบเม็ดดินและอยู่ในช่องว่างของดินได้ก็จะไหลผ่านลงตามแนวดิ่งด้วยแรงดึงดูดของโลกลงสู่ระดับน้ำใต้ผิวดินที่อยู่เบื้องล่างเป็นเหตุให้ระดับน้ำใต้ผิวดินเพิ่มสูงขึ้นเมื่อระดับน้ำสูงท่วมรากพืชหรือใกล้ผิวดินรากพืชจะแช่น้ำและขาดอากาศในดิน ทำให้ราก เน่า พืชจึงไม่เจริญงอกงามและออกดอกออกผลตามต้องการหรือพืชอาจตายในที่สุด

อ่างเก็บน้ำห้วยบงใหม่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

 

ปัญหาของการมีระดับน้ำใต้ผิวดินสูงใกล้ผิวดินนั้นมักจะเกิดขึ้นแก่พื้นที่เพาะปลูกได้เสมอโดยไม่จำกัดว่าพื้นที่นั้นจะมีดินเป็นดินทรายดินเหนียวปนทรายหรือดินเหนียวและไม่ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีลักษณะภูมิประเทศแบนราบหรือเอียงลาดเพียงใดถ้าหากว่าพื้นที่นั้น ๆ อยู่ในภูมิภาคที่มีฝนตกชุกหรืออยู่ในเขตโครงการชลประทานที่มีน้ำชลประทานอุดมสมบูรณ์แต่มีความสามารถในการระบายน้ำใต้ผิวดินได้เองตามธรรมชาติไม่เพียงพอหรือไม่สมดุลกับจำนวนน้ำที่เหลือเกินความต้องการ

 

งานระบายน้ำใต้ผิวดินที่นิยมสร้างกันทั่วไปมีอยู่ ๒ ประเภท คือ ประเภทหนึ่งจะสร้างด้วยคูหรือคลองระบายน้ำสำหรับนำน้ำทิ้งไปจากพื้นที่เพาะปลูกโดยน้ำที่ไหลในคลองระบายน้ำซึ่งมีระดับต่ำตลอดเวลาจะดึงน้ำในดินจากพื้นที่สองฟากของคลองให้ไหลลงมาแล้วรวบรวมทิ้งไประดับน้ำใต้ผิวดินก็จะลดต่ำลงได้ตามที่ต้องการอีกประเภทหนึ่ง จะสร้างด้วยท่อคอนกรีตท่อนสั้น ๆ วางชิดกันโดยไม่ปิดรอยต่อฝังอยู่ในดินที่ต่ำกว่าผิวดินซึ่งเมื่อน้ำในท่อถูกระบายทิ้งไปก็จะดึงระดับน้ำใต้ผิวดินทั่วทั้งบริเวณนั้นให้ต่ำลงมาได้เช่นกัน

อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ลอง อ.ลี้ จ.ลำพูน

 

 

วิธีการระบายน้ำเพื่อควบคุมน้ำใต้ผิวดินให้อยู่ในระดับต่ำตามที่ต้องการมีอยู่ ๒ วิธี เช่นเดียวกับการระบายน้ำบนผิวดินกล่าวคือสำหรับพื้นที่ซึ่งมีส่วนลาดเทลงไปยังพื้นที่ราบลุ่มมักจะมีระดับน้ำใต้ดินไหลเอียงไปตามความลาดเทของภูมิประเทศแล้วไหลออกสู่พื้นที่ราบลุ่มตอนล่างโดยมากจะสร้างคูหรือคลองระบายน้ำไปตามแนวเชิงลาดเพื่อดักน้ำที่ไหลลงมาทิ้งไปก่อนที่จะให้น้ำไหลลงไปขังแฉะในพื้นที่ทางตอนล่างนั้นทำให้ระดับน้ำใต้ผิวดินหลังแนวคูและคลองระบายน้ำลดต่ำลงส่วนพื้นที่ราบหรือค่อนข้างราบซึ่งมักจะมีน้ำใต้ผิวดินสูงขึ้นในแนวดิ่งจะนิยมสร้างคูและคลองระบายน้ำหรือท่อระบายน้ำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ห่างกันเป็นระยะ ๆ ทั่วพื้นที่เหล่านั้นคูและคลองระบายน้ำหรือท่อระบายน้ำจะรับน้ำในดินนำทิ้งไปจากพื้นที่เพาะปลูกทำให้ระดับน้ำใต้ผิวดินของพื้นที่บริเวณนั้นลดต่ำลงได้จากนั้นระดับน้ำใต้ผิวดินนี้ก็จะถูกควบคุมไว้ให้อยู่ในระดับต่ำจากผิวดินตามที่ต้องการได้ตลอดไปอีกด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow