Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมจึงต้องมีการชลประทานในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 26 ส.ค. 60
706 Views

  Favorite

ทำไมจึงต้องมีการชลประทานในประเทศไทย


ในบรรดางานพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในกิจการด้านต่าง ๆ นั้นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการชลประทานจัดว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์มากด้านหนึ่งในการช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้ยังเป็นการช่วยให้เกษตรกรอันเป็นประชากรสวนใหญ่ของประเทศ ได้มีหลักประกันในเรื่องน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกอย่างไม่ขาดแคลน

 

ปัจจุบันยังมีพื้นที่เพาะปลูกอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องอาศัยน้ำฝนและน้ำจากแม่น้ำลำธารเป็นหลักเพราะยังไม่มีงานด้านชลประทานเข้าไปช่วยเหลือการเพาะปลูกซึ่งได้อาศัยน้ำธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวนั้นจะทำให้พืชไม่อาจได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอตามจำนวนที่พืชต้องการได้กล่าวคือในปีใดที่ฝนตกโดยเฉลี่ยดีตลอดฤดูกาลเพาะปลูกก็จะทำให้การเพาะปลูกในปีนั้นได้รับผลดีตามไปด้วยแต่ถ้าหากปีใดมีฝนตกน้อยหรือไม่มีฝนตกในเวลาที่พืชต้องการก็จะทำให้การเพาะปลูกในปีนั้นได้รับความเสียหายหรือไม่ได้รับผลผลิตดีเท่าที่ควรจึงเป็นเหตุให้เกษตรกรจำนวนมากที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในเขตโครงการชลประทานต้องได้รับความเดือนร้อนในเวลาไม่มีน้ำสำหรับทำนาและปลูกพืชไร่อยู่เสมอเกือบทุกปี

นาข้าว ในเขตโครงการชลประทาน

 

 

สภาพของฝนในประเทศไทยฝนที่ตกส่วนใหญ่จะมาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และจากพายุหมุนซึ่งเป็นพายุจรพัดมาทางทิศตะวันออก ได้แก่ พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชั่นโดยฝนจะตกในระหว่างเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคมเป็นระยะเวลาถึง ๖ เดือน นอกจากช่วงเวลาดังกล่าวนี้บางเดือนอาจมีฝนตกบ้างเล็กน้อยหรือไม่มีฝนตกเลยก็ได้เว้นแต่ทางภาคใต้จะมีฝนตกชุกในระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคม

นาข้าวที่อยู่นอกเขตโครงการชลประทาน
ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย

 

 

โดยปกติฝนที่มาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มตกประมาณเดือนพฤษภาคมและจะตกปกคลุมเกือบทั่วประเทศตามทิศทางที่ลมพัดผ่านจนถึงเดือนกันยายนจึงเริ่มน้อย ลงและหมดไปประมาณเดือนตุลาคมสำหรับฝนจากลมมรสุมที่ตกระหว่างเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายนเป็นฝนต้นฤดูกาลเพาะปลูกข้าวประจำปีซึ่งชาวนาจะเตรียมเพาะกล้าแล้วเริ่มปักดำในบางปีที่เป็นปีฝนแล้งอาจไม่มีฝนตกหรืออาจจะตกน้อยมากจึงเป็นเหตุให้การเพาะปลูกได้รับความเสียหายอยู่บ่อย ๆ ส่วนฝนที่เกิดจากพายุจรส่วนใหญ่มักมีปริมาณไม่ค่อยแน่นอนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแรงและจำนวนของพายุที่จะพัดผ่านเข้ามาบางปีอาจมีฝนจากพายุประเภทนี้น้อยแต่บางปีอาจมีมากเกินไปจนถึงกับเกิดอุทกภัยทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้

 

ฝนที่เกิดจากพายุจรมักเริ่มตกในภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณเดือนมิถุนายนครั้นถึงเดือนกรกฎาคมแนวทางของพายุจะเลื่อนไปอยู่ในแนวเหนือประเทศไทยดังนั้นในช่วงเดือนนี้จึงมักจะมีฝนตกน้อยหรืออาจไม่มีเลยก็ได้ทำให้เกิดสภาวะฝนแล้งในระหว่างฤดูฝนซึ่งฝนไม่ตกหรือตกทิ้งช่วงเป็นเวลานานเป็นประจำเกือบทุกปีโดยสภาพฝนแล้งหรือทิ้งช่วงดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นประมาณ ๒–๔ สัปดาห์ ทำให้พืชไร่และต้นข้าวเล็ก ๆ ในบางท้องที่ซึ่งอยู่นอกเขตโครงการชลประทานได้รับความเสียหาย 

ต้นข้าวนอกเขตโครงการชลประทาน
ได้รับความเสียหายเนื่องจากฝนแล้ง

 

 

ครั้นถึงเดือนสิงหาคมพายุจรจะมีแนวพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยอีกแล้วจะมีแนวร่นต่ำลงมาทางภาคกลางและภาคใต้ตามลำดับตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน สำหรับในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางจะมีฝนตกหนักมากเกินความต้องการจนเหลือน้ำไหลลงสู่ลำธารและแม่น้ำจนบางปีถึงกับเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงครั้นถึงเดือนตุลาคมฝนซึ่งเกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมจะหมดไปและแนวของพายุจรที่พัดผ่านประเทศไทยจึงจะร่นต่ำลงไปทางทิศใต้มากขึ้นทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีฝนตกอีกแต่ภาคกลางอาจจะยังมีฝนตกบ้างเล็กน้อยส่วนภาคกลางตอนล่างลงไปจะเริ่มมีฝนตกหนักขึ้นแล้วตกมากขึ้นร่นไปทางภาคใต้จนถึงเดือนมกราคมฝนทางแถบภาคใต้จึงเริ่มน้อยลง

จากสถิติน้ำฝนของแต่ละปีที่วัดได้ทั่วประเทศแสดงว่าเวลาและปริมาณฝนที่ตกในระหว่างฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลเพาะปลูกประจำปีของแต่ละท้องถิ่นนั้นมักจะมีความแตกต่างกันไปบางท้องที่อาจจะมีจำนวนฝนและเวลาที่ฝนตกพอเหมาะกับความต้องการของพืชเสมอก็ไม่จำเป็นต้องมีการชลประทานช่วยเหลือเช่นบางจังหวัดในภาคใต้และภาคตะวันออกของอ่าวไทยส่วนพื้นที่เพาะปลูกของภาคอื่นโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีปริมาณฝนรวมในช่วงฤดูฝนมากเช่นกันแต่จำนวนฝนที่ตกในแต่ละครั้งระยะเวลาของฝนที่ตก และการแพร่กระจายของฝนไปให้ทั่วบริเวณพื้นที่เพาะปลูกนั้นมักจะไม่ค่อยมีความเหมาะสมกับความต้องการของพืชที่ปลูกนัก เช่น อาจมีฝนครั้งหนึ่งแล้วเว้นระยะไม่ตกไปอีกนานหลังจากนั้นฝนอาจตกติดต่อกันหลายวันจนมีน้ำมากเกินกว่าพื้นที่เพาะปลูกต้องการทำให้เกิดความเสียหายเนื่องจากขาดแคลนน้ำในตอนแรกแล้วมีน้ำมากเกินไปติดตามมาด้วยในท้องที่เช่นนี้เมื่อมีการชลประทานแล้วก็จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้หมดไปได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow