Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ถั่วลิสง

Posted By Plookpedia | 09 ส.ค. 60
5,555 Views

  Favorite

ถั่วลิสง

      ในบางท้องถิ่น เรียกว่า ถั่วดิน ถั่วขุด หรือถั่วยี่สง นอกจากการใช้เมล็ดเป็นวัตถุดิบในการสกัดน้ำมันแล้วยังได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ถั่วลิสงต้ม คั่ว ทอด ทำขนมพวกขบเคี้ยว เช่น ถั่วตัด จันอับ ถั่วกระจก และเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด (แกงมัสมั่น น้ำจิ้มสะเต๊ะ น้ำพริกรับประทานกับขนมจีน) ใช้ทำแป้งและเนยถั่วลิสง ถั่วลิสงเป็นพืชตระกูลถั่วการปลูกถั่วลิสงจึงเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินเช่นเดียวกับถั่วเหลือง ต้นและใบถั่วลิสงหลังจากปลิดฝักออกแล้วนำไปใช้เลี้ยงสัตว์หรือทำปุ๋ยหมัก  ถั่วลิสงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนและกึ่งร้อนตอนกลางของทวีปอเมริกาใต้ หลักฐานทางโบราณคดีระบุไว้ว่าชาวพื้นเมืองบริโภคถั่วลิสงมานานกว่า ๔,๐๐๐ ปี ชาวยุโรปได้นำไปปลูกในทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ ปีก่อน ต่อมาจึงได้แพร่มายังทวีปเอเชียและกลายเป็นพืชน้ำมันที่สำคัญของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย  ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั่วโลกมีพื้นที่ปลูกถั่วลิสงประมาณ ๑๒๓ ล้านไร่ ได้ผลิตผล ๒.๒ ล้านตัน อินเดียและจีนผลิตได้มากที่สุด คือ ประเทศละ ๖ ล้านตัน ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกถั่วลิสง ๗๖๓,๐๐๐ ไร่ ได้ผลิตผล (ถั่วทั้งเปลือก) ๑๖๒,๐๐๐ ตัน ใช้บริโภคและทำพันธุ์เกือบทั้งหมด ส่งเข้าสกัดน้ำมันเพียง ๒๒,๐๐๐ ตัน การเพาะปลูกมีอยู่ทั่วประเทศแต่ปลูกมากที่สุดในภาคเหนือเป็นพื้นที่ถึง ๔๓๓,๐๐๐ ไร่ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๑๓,๐๐๐ ไร่ และภาคกลาง ๑๐๖,๐๐๐ ไร่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

      ถั่วลิสงจัดอยู่ในวงศ์ (Family) Legume- minosae เช่นเดียวกับถั่วเหลือง เป็นพืชล้มลุก (มีอายุเพียงฤดูเดียว) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Arachis hypogaea L.  ถั่วลิสงขยายพันธุ์โดยเมล็ด เมื่อเมล็ดได้รับน้ำเพียงพอต้นอ่อนในเมล็ดจะงอกโดยขยายตัวแทงรากลงไปในดิน รากแก้วอาจหยั่งลึกลงไปถึง ๒ เมตร รากแขนงจะแตกออกจากผิวของรากแก้ว เติบโตขยายไปทางแนวราบใต้ผิวดินแผ่ออกเป็นบริเวณกว้างและมีปมของจุลินทรีย์เกิดขึ้นเป็นกระจุกตามผิวราก ต้นอ่อนของถั่วลิสงเจริญเติบโตโผล่พ้นผิวดินมีกิ่งแตกออกจากลำต้นตรงมุมใบมีจำนวน ๓ - ๘ กิ่ง บางพันธุ์มีทรงต้น เป็นทรงพุ่มตั้งตรง บางพันธุ์แตกกิ่งเลื้อยไปตามแนวนอน ลำต้นอาจมีสีเขียวหรือม่วง สูงประมาณ ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร ใบถั่วลิสงเป็นใบรวมประกอบด้วยใบย่อย ๒ คู่ (๔ ใบ) ขอบใบเรียบ ปลายมน ก้านใบยาวสีเขียวหรือม่วง ดอกถั่วลิสงเกิดขึ้นบนช่อดอกซึ่งแทงออกมาจากมุมใบเริ่มจากโคนต้นไปสู่ยอด  ดอกบานในเวลาเช้า มีสีเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีอับเกสรตัวผู้และเรณู (รังไข่) อยู่ในดอกเดียวกัน หลังจากผสมเกสรแล้วกลีบดอกจะเหี่ยวและร่วงแต่ก้านของรังไข่ขยายตัวยาวออกไปเรียกว่า เข็ม ปลายเข็มขยายตัวตามแนวดิ่งแทงลงไปในดินแล้วจึงพัฒนาเป็นฝัก แต่ละฝักมีเมล็ด ๒ - ๔ เมล็ด เนื่องจากดอกออกไม่พร้อมกันทำให้ฝักแก่ไม่พร้อมกันด้วย การเก็บเกี่ยวจึงเลือกเวลาที่มีฝักแก่จำนวนมากที่สุด ถั่วลิสงต้นหนึ่งเมื่อถอนออกมามีฝักที่สมบูรณ์อยู่จำนวน ๘ - ๒๐ ฝัก และมีฝักอ่อนอีกจำนวนหนึ่งปนอยู่ซึ่งเป็นฝักที่เกิดจากดอกชุดหลังหรือจากยอดฝักแก่มีลายเส้นและจะงอยเห็นได้ชัด ฝักคอดกิ่วตามจำนวนเมล็ดในฝัก เมื่อตากให้แห้งแล้วเขย่าจะมีเสียง เยื่อหุ้มเมล็ดมีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง ม่วง และน้ำตาล เมล็ด ประกอบด้วยใบเลี้ยงขนาดใหญ่ ๒ ใบ ห่อหุ้ม ต้นอ่อนไว้ภายใน พันธุ์ถั่วลิสงที่แนะนำให้เกษตรกรปลูก ได้แก่ พันธุ์ลำปาง สุโขทัย 38 ไทนาน 9 ขอนแก่น 60-1 ขอนแก่น 60-2 และ ขอนแก่น 60-3

 

ถั่วลิสง
แปลงปลูกถั่วลิสง

 

ถั่วลิสง
ดอกถั่วลิสง


      เนื่องจากฝักถั่วลิสงเจริญเติบโตอยู่ใต้ดินควรเลือกปลูกในดินร่วนหรือร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดีมีปฏิกิริยาเป็นกลางและไม่ใช่ดินเค็ม  ไม่ควรปลูกในดินที่มีสีดำหรือแดงจัดเนื่องจากถ้าฝักถั่วลิสงเปื้อนติดสีดังกล่าวทำให้ขายได้ราคาต่ำ ประเทศไทยอาจปลูกถั่วลิสงได้ตลอดทั้งปีแต่เพื่อเหมาะสมกับระบบการปลูกพืชได้ผลิตผลสูงและเก็บเกี่ยวสะดวกจึงนิยมปลูกเพียงปีละสองครั้ง คือ ในฤดูฝน และฤดูแล้ง ในพื้นที่ที่มีการชลประทาน การเตรียมดินปลูกถั่วลิสงก็เหมือนกับพืชไร่ทั่วไป คือ ไถพรวนให้ดินมีความร่วนซุยและกำจัดวัชพืช ถ้าปลูกในเขตชลประทานควรมีการยกแปลงทำร่องส่งและระบายน้ำในระหว่างแต่ละแปลงนำเมล็ดที่กะเทาะเปลือกออกแล้วปลูกเป็นหลุม ๆ ละ ๒ - ๓ เมล็ด ลึกจากผิวดิน ๕ เซนติเมตร มีระยะระหว่างแถว ๓๐ - ๕๐ เซนติเมตร และระหว่างหลุม ๒๐ เซนติเมตร จะได้จำนวนถั่วลิสงประมาณ ๕๐,๐๐๐ - ๖๐,๐๐๐ ต้นต่อไร่  ซึ่งจะใช้เมล็ดที่กะเทาะเปลือกออกแล้วจำนวน ๑๒ - ๑๕ กิโลกรัมต่อไร่ หรือเมล็ดทั้งฝัก ๒๐ - ๓๐ กิโลกรัมต่อไร่ (แล้วแต่ขนาดของเมล็ดและความงอกและควรกะเทาะเมล็ดก่อนปลูกเพื่อให้ได้ต้นงอกที่สม่ำเสมอ)  เมล็ดเริ่มงอกภายใน ๕ วันหลังจากปลูก ทำการถอนหรือซ่อมให้มีจำนวนต้นต่อไร่ครบตามกำหนดภายในระยะเวลา ๗ - ๑๐ วัน และพรวนดินดายหญ้าเพื่อกำจัดวัชพืชภายใน ๓๐ วันหลังงอกและควรพรวนดินกลบโคนสูงประมาณ ๕ - ๗ เซนติเมตร เพื่อให้เข็มแทงลงดินได้ง่ายขึ้นและงดการพรวนดินเมื่อต้นถั่วลิสงมีอายุ ๔๐ วันไปแล้ว เนื่องจากจะไปรบกวนการแทงเข็มอันเป็นผลให้เมล็ดฝ่อ ในระยะเจริญเติบโตควรออกสำรวจแปลงซึ่งอาจจะมีโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดทำลายต้นถั่วลิสง ทำการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ถั่วลิสงมีอายุตั้งแต่ ๙๐ - ๑๒๐ วัน (ตามลักษณะของพันธุ์) เมื่อฝักสุกแก่สังเกตได้จากใบร่วงและลำต้นเหี่ยวสุ่มถอนต้นขึ้นมาแกะฝักออกจะเห็นว่าผนังด้านในของฝักได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลเก็บเกี่ยวโดยใช้มือถอนต้นและฝักขึ้นจากดินเลือกปลิดฝักแก่ออกนำไปตากแดดจนฝักแห้งสนิทแล้วจึงเก็บเพื่อรอการจำหน่าย 

 

ถั่วลิสง
การเก็บเกี่ยวถั่วลิสงโดยการถอนต้น 


      ในปัจจุบันปัญหาสำคัญของถั่วลิสงก็ คือ การเกิดสารพิษแอลฟลาท็อกซินซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งในตับ ดังนั้นจึงต้องตากเมล็ดให้แห้งสนิทโดยเร็ว (มีความชื้นในเมล็ดต่ำกว่าร้อยละ ๑๔) จะระงับการเจริญเติบโตของเชื้อราซึ่งผลิตสารพิษชนิดนี้  โดยทั่วไปเกษตรกรจะเก็บถั่วลิสงไว้ทั้งฝักเมื่อจะนำไปปลูกหรือใช้บริโภคจึงกะเทาะเปลือกออกโดยใช้มือหรือเครื่องกะเทาะเมล็ด เมล็ดถั่วลิสง ๑๐๐ เมล็ด มีน้ำหนัก ๓๐ - ๖๐ กรัม เมล็ดที่มีขนาดใหญ่นำไปปรุงแต่งเพื่อใช้บริโภคทั้งเมล็ด ส่วนเมล็ดขนาดเล็กหรือเมล็ดแตกนำไปบดเป็นถั่วป่นและสกัดน้ำมัน  เมล็ดถั่วลิสงมีโปรตีนร้อยละ ๒๕ - ๓๕ และน้ำมันร้อยละ ๔๔ - ๕๗ (ขึ้นอยู่กับพันธ ุ์) น้ำมันถั่วลิสงประกอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัวถึงร้อยละ ๘๐ ของน้ำมันทั้งหมดจึงเกิดกลิ่นเหม็นหืนได้ง่าย (จึงต้องเก็บรักษาไ ว้ทั้งฝัก) กากถั่วลิสงที่สกัดเอาน้ำมันออกแล้วนำไปอบให้แห้งใช้ประกอบเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้

 

ถั่วทอด
ถั่วทอด

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow