Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ถั่วเหลือง

Posted By Plookpedia | 08 ส.ค. 60
3,568 Views

  Favorite

ถั่วเหลือง

      ถั่วเหลืองเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้นานัปการ นอกเหนือไปจากการสกัดน้ำมันเมล็ดถั่วเหลืองใช้ประกอบอาหาร เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว ถั่วเน่า ซีอิ๊ว เส้นบะหมี่ น้ำนมถั่วเหลือง คุกกี้ โปรตีนแห้ง เนื้อเทียม ฟองเต้าหู้ และถั่วงอก เป็นต้น จีนใช้ถั่วเหลืองผิวดำปรุงยารักษาโรคหัวใจ ตับ ไต กระเพาะและลำไส้ และเป็นอาหารเสริมเพื่อบำรุงสุขภาพ ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคถั่วเหลืองฝักสด (เก็บเกี่ยวเมื่อฝักยังมีสีเขียวสด) เป็นอาหารว่างและนำเข้าประเทศในบริมาณมาก กากถั่วเหลืองใช้เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ นอกจากนี้การปลูกถั่วเหลืองยังเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินทั้งในด้านเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุไนโตรเจน ถั่วเหลืองมีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนที่ติดต่อกับแมนจูเรีย ชาวจีนคุ้นเคยในการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์จากถั่วเหลืองมาเป็นเวลากว่า ๕,๐๐๐ ปี ต่อจากนั้นก็ได้ขยายออกไปสู่ประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น และแพร่หลายไปถึงทวีปยุโรปและอเมริกาเมื่อประมาณร้อยกว่าปี  ปัจจุบันประเทศที่ปลูกถั่วเหลืองมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาได้แก่ บราซิล จีน และอาร์เจนตินาตามลำดับ ประเทศเหล่านี้อยู่ในเขตอบอุ่นมีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและให้ผลิตผลต่อไร่สูง  

 

ถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองเป็นพืชน้ำมันที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ 

 

      ไม่มีหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับการนำถั่วเหลืองเข้ามาปลูกในประเทศไทยแต่สันนิษฐานว่านำเข้ามาโดยพวกพ่อค้าและชาวเขาซึ่งเดินทางไปมาระหว่างจีนตอนใต้และภาคเหนือของประเทศไทยแต่สมัยโบราณ  ต่อมาจึงแพร่หลายไปในกลุ่มชาวไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ พระยาอนุบาลพายัพกิจ เทศาภิบาลมณฑลพายัพได้ส่งเสริมให้มีการปลูกถั่วเหลือในนาหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นการเพาะปลูกก็ขยายตัวออกไปสู่ภาคต่าง ๆ พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในระยะแรก  จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จึงขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากความต้องการกากถั่วเหลือง (หลังจากที่ได้นำเมล็ดไปสกัดเอาน้ำมันออกแล้ว) เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์  เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทั่วทั้งประเทศมีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองประมาณ ๒,๓๐๐,๐๐๐ ไร่ โดยปลูกในภาคเหนือ ๑,๗๐๐,๐๐๐ ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ภาคละ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ รวมผลิตผลทั่วประเทศได้ ๓๔๐,๐๐๐ ตัน คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรขายได้ ๒,๗๐๐ ล้านบาท แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์อีก ๒๓๐,๐๐๐ ตัน ในอนาคตคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกและผลิตผลถั่วเหลืองภายในประเทศจะเพิ่มมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผลิตถั่วเหลืองได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

      ถั่วเหลืองมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glycine max (L.) Merrill อยู่ในวงศ์ (Family) Legumeminosae เป็นพืชล้มลุก ทรงต้นเป็นพุ่ม มีความสูงระหว่าง ๕๐ เซนติเมตรถึงสองเมตร บางพันธุ์ก็เลื้อยเป็นเถา ระบบรากประกอบด้วยรากแก้วซึ่งอาจหยั่งลึกลงไปถึง ๒ เมตร ส่วนรากฝอยเกิดเป็นกระจุกประสานกันอยู่ใต้ ระดับผิวดินบริเวณผิวรากมีปมของบัคเตรีเกาะอยู่เห็นได้ชัดเจน ลำต้นแตกกิ่งจำนวน ๓ - ๘ กิ่ง มีขนสีขาวน้ำตาลหรือเทาคลุมอยู่ ใบถั่วเหลืองเกิดสลับกันเป็นใบรวมประกอบด้วย ใบย่อย ๓ ใบ รูปร่างกลมรี ช่อดอกเกิดจากมุมใบและปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือม่วง จำนวน ๓ - ๑๕ ดอกต่อหนึ่งช่อ ดอกสมบูรณ์เพศมีอับเกสรตัวผู้และรังไข่อยู่ในดอกเดียวกัน การผสมเกสรเกิดขึ้นก่อนดอกบาน รังไข่จะเจริญเติบโตเป็นฝักรูปยาวและโค้ง ภายในมีเมล็ด ๒ - ๓ เมล็ด เรียงตัวอยู่ตามแนวนอน เปลือกหุ้มเมล็ดมีทั้งสีเหลือง เขียว น้ำตาล และดำ ภายในเมล็ดมีใบเลี้ยงสีเหลืองหรือเขียวสองใบหุ้มต้นอ่อนอยู่ภายใน

 

ถั่วเหลือง
ลักษณะลำต้นและดอกถั่วเหลือง


      ในเขตอบอุ่นปลูกถั่วเหลืองได้ปีละครั้งในฤดูร้อนแต่ในเขตร้อน เช่น ประเทศไทยมีอุณหภูมิตลอดทั้งปีไม่แตกต่างกันมากนักสามารถปลูกถั่วเหลืองได้ปีละสามครั้ง คือ ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนและกลางฤดูฝนบนที่ดอนและครั้งที่สามในนาที่มีระบบชลประทานหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว ดังนั้นเกษตรกรนิยมปลูกถั่วเหลืองร่วมหรือสลับกับพืชไร่อื่น ๆ  พันธุ์ถั่วเหลืองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำให้ปลูก ได้แก่ พันธุ์ สจ.1 สจ.2 สจ.4 สจ.5 เชียงใหม่ 60 สุโขทัย 1 และนครสวรรค์ 1 รายละเอียดของพันธุ์และคำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกถั่วเหลืองหาได้จากหน่วยงานในกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ และตำบลในท้องถิ่น
      ถั่วเหลืองขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิดแต่ไม่ชอบดินที่มีปฏิกิริยาเป็นกรดหรือด่างจัด ดินเค็มและดินที่มีน้ำขังแฉะ การเตรียมดินปลูกถั่วเหลืองก็คล้ายกับการปลูกพืชไร่ทั่วไป มีการไถพรวนดินให้ร่วนซุยเพื่อกำจัดวัชพืชและให้รากหยั่งลงดินได้สะดวก ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยจุลินทรีย์ดินก่อนปลูกเพื่อให้มีการสร้างปมที่รากดีขึ้น เพื่อให้จุลินทรีย์ดินหรือบัคเตรีในปมรากช่วยจับไนโตรเจนจากอากาศมาสังเคราะห์เป็นปุ๋ยให้กับต้นถั่วเหลือง การปลูกมีหลายวิธี เช่น หว่านหรือโรยเมล็ดเป็นแถวหรือหยอดเป็นหลุม แต่วิธีที่แนะนำคือหยอดเมล็ดหลุมละ ๒ - ๓ เมล็ด โดยให้มีระยะระหว่างแถวกว้าง ๕๐ เซนติเมตร และระหว่างหลุม ๒๐ เซนติเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๗ - ๑๐ กิโลกรัมต่อไร่ ควรปลูกเมื่อดินได้รับความชุ่มชื้นหลังจากฝนตกหรือได้รับน้ำชลประทาน  เมล็ดถั่วเหลืองจะงอกภายในเวลา ๕ - ๗ วัน ควรพรวนดินดายหญ้าในระยะ ๓๐ วันหลังงอก เพื่อลดการแข่งขันจากวัชพืช ต้นถั่วเหลืองเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุได้ ๓๕ - ๔๐ วัน และฝักแก่เมื่อมีอายุได้ ๘๕ - ๑๒๐ วัน (ขึ้นอยู่กับพันธุ์และฤดูปลูก) เมื่อฝักเริ่มแก่จะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลืองเริ่มจากโคนต้นไปหาปลายยอด  เก็บเกี่ยวโดยตัดต้นถั่วเหลืองมากองหรือผูกรวมเป็นฟ่อนตากแดดให้แห้งสนิทแล้วจึงนวดโดยใช้ไม้ฟาดหรือใช้รถแทรกเตอร์เหยียบต้นถั่วเหลืองที่กองสุมกันอยู่ให้ฝักแตกหรือใช้เครื่องนวดข้าวติดเครื่องยนต์  นวดแยกเมล็ดออกจากเศษของลำต้นทำความสะอาดตากเมล็ดให้แห้งสนิทก่อนเก็บใส่กระสอบหรือภาชนะอื่น ๆ เพื่อจำหน่ายต่อไป ผลิตผลถั่วเหลืองของไทยอยู่ระหว่าง ๑๒๐ - ๓๕๐ กิโลกรัมต่อไร่แต่โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๒๑ กิโลกรัมต่อไร่  ในระยะที่ต้นถั่วเหลืองเจริญเติบโตในไร่อาจจะมีโรคหรือแมลงศัตรูพืชบางชนิดระบาดทำความเสียหาย  ควรป้องกันและกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
      เมล็ดถั่วเหลืองประกอบไปด้วย โปรตีนร้อยละ ๓๕ - ๕๐ น้ำมันร้อยละ ๑๒ - ๒๐ (มีส่วนประกอบของน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวร้อยละ ๘๕) เป็นน้ำมันคุณภาพดีสามารถละลายสารคอเลสเตอรอลที่เกาะผนังเส้นเลือดได้  นอกจากนี้มีวิตามินบี ซี อี และเลซิตินรวมอยู่ด้วยในเมล็ดถั่วเหลืองมีสารพิษบางชนิดที่ระงับการย่อยของโปรตีนซึ่งสามารถขจัดให้หมดได้ โดยการนำไปผ่านความร้อนก่อนนำไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์  น้ำมันถั่วเหลืองหลังจากทำให้บริสุทธิ์แล้วใช้แปรรูปเพื่อประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ทำน้ำมันสลัด เนยเทียม และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันผสมสี หล่อลื่น ยารักษาโรค กากถั่วเหลืองที่ได้ มีส่วนประกอบของโปรตีนสูงกว่าร้อยละ ๕๐ นำไปใช้เป็นอาหารและเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตอาหารสัตว์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow