Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเลี้ยงปลาในบ่อ

Posted By Plookpedia | 01 ส.ค. 60
13,986 Views

  Favorite

การเลี้ยงปลาในบ่อ


การเลี้ยงปลาส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในบ่อ ซึ่งมีการควบคุมการขยายพันธุ์ การให้อาหาร การเจริญเติบโต ขนาด และอัตราการปล่อย ตลอดจนให้การดูแลรักษา แทนที่จะปล่อยปละละเลยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

 

การเลี้ยงปลาในบ่อเป็นการพัฒนาการใช้ที่ดินให้เกิดผลผลิต เช่น ใช้ที่ดินซึ่งเป็นที่ลุ่มหรือที่ดินที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกมาดัดแปลงแก้ไขให้เกิดผลผลิตเป็นปลาซึ่งเป็นอาหารโปรตีนผลผลิตต่อหน่วยเนื้อที่ของบ่อสูงมากเมื่อเทียบกับผลผลิตจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

บ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่
สำหรับเลี้ยงปลาเพื่อการค้า

 

 

สิ่งที่ต้องพิจารณา สำหรับการเลี้ยงปลาในบ่อมีดังนี้

๑. การเลือกทำเล
การทำบ่อเลี้ยงปลาสิ่งที่จะต้องพิจารณาเบื้องแรก ได้แก่ การเลือกหาสถานที่หรือทำเลที่เหมาะแก่การดำเนินการเลี้ยงปลาข้อที่ควรจะนำมาพิจารณาก็คือ


๑.๑ ลักษณะภูมิประเทศลักษณะภูมิประเทศควรเป็นทำเลที่มีเชิดลาดกว้างเมื่อสร้างบ่อสามารถที่จะระบายน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำถ้าเป็นที่ราบลุ่มจำเป็นต้องยกคันรอบเพื่อเก็บกักน้ำและควรเป็นที่ที่น้ำไม่ท่วมในฤดูน้ำมากหรือฤดูฝน

๑.๒ ลักษณะดิน ดินควรจะเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทรายน้ำไม่ซึมหรือรั่วไม่ควรเลือกที่ที่เป็นดินทราย หินหรือกรวดการทดสอบดินว่าจะเก็บกักน้ำได้หรือไม่เพียงใดก็โดยวิธีนำดินมาผสมน้ำพอชื้นแล้วบีบเป็นปั้นหากจับกันเป็นก้อนแน่นแสดงว่าเก็บกักน้ำได้ดีหากร่วนซุยไม่จับกันเป็นก้อนแสดงว่าคุณภาพในการเก็บกักน้ำต่ำในกรณีที่จำเป็นจะต้องเลือกที่ที่มีดินเก็บกักน้ำไม่ดีควรจะปูพื้นก้นบ่อด้วยพลาสติกหรือดินเหนียวหรือสารอื่นที่มีคุณสมบัติที่จะจับเนื้อดินหรืออุดรูรั่ว เช่น ยางมะตอยหรือจะใช้ดินเหนียวบดอัดแน่นหลาย ๆ ชั้น

บ่อเลี้ยงปลาจะต้องเก็บกักน้ำได้ในระยะเวลานานการสูญหายของน้ำส่วนใหญ่จะเกิดจากการระเหยฉะนั้นหากเกิดการรั่วไหลเนื่องจากดินร่วนซุยจึงไม่เหมาะแก่การเลี้ยงปลาระยะยาวนานแต่อาจจะใช้เป็นบ่ออนุบาลเลี้ยงลูกปลาในระยะสั้นได้บ่อดังกล่าวเมื่อใช้ติดต่อกันไปอย่าให้แห้งก็จะเกิดโคลนตมซึ่งมีลักษณะพองตัว เมื่อถูกน้ำนานเข้าก็จะช่วยอุดรูรั่วต่าง ๆ ได้

๑.๓ ปริมาณน้ำน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาการสร้างบ่อเลี้ยงควรจะอยู่ในที่ซึ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์ เช่น ใกล้แม่น้ำลำคลองหนองบึงซึ่งมีน้ำตลอดปีหรืออยู่ใกล้คลองชลประทานซึ่งสะดวกต่อการทดน้ำระบายเข้าบ่อในบางกรณีที่จำเป็นจะใช้น้ำบาดาลหรือน้ำพุ

แหล่งน้ำที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงปลา ได้แก่ ลำธารหรือคลองซึ่งมี 

(๑) ปริมาณน้ำไหลพอเพียงสำหรับบ่อปลา 
(๒) มีระดับน้ำคงที่ตลอดปี 
(๓) ไม่เกิดน้ำมากจนท่วม  
(๔) มีน้ำใสสะอาดปราศจากตะกอน แม้ในฤดูฝนซึ่งมีฝนตกหนัก 


บ่อเลี้ยงปลาที่อาศัยน้ำฝนที่บ่าลงมาขนาดของแหล่งรับน้ำมีความสำคัญมากเพราะปริมาณของน้ำจะมีมากพอหรือไม่ขึ้นอยู่กับเนื้อที่แหล่งรับน้ำและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเนื้อที่แหล่งรับน้ำ ๔-๘ ไร่ จะรับน้ำได้พอสำหรับบ่อน้ำขนาดเนื้อที่ ๑ ไร่ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงลักษณะของแหล่งรับน้ำด้วยแหล่งรับน้ำที่เป็นป่ามีความสามารถในการป้องกันการไหลบ่าได้มากกว่าทุ่งหญ้าถึงร้อยละ ๕๐

๑.๔ ขนาดของพื้นที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หากทำการเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือนก็ใช้เนื้อที่เพียง 400 ตารางเมตรก็พอแต่ถ้าทำเป็นการค้าจะต้องมีบ่ออนุบาล บ่อเลี้ยง บ่อเพาะฟักก็จะต้องมีเนื้อที่มากการเลี้ยงปลาเป็นการค้าควรมีเนื้อที่ตั้งแต่ 30 ไร่ขึ้นไป

๑.๕ ความสะดวกการเลือกทำเลควรคำนึงถึงความสะดวกต่าง ๆ เช่น มีทางคมนาคมใกล้ถนนหนทางหรือแม่น้ำลำคลองเพื่อสะดวกในการขนส่งใกล้ชุมชนและอื่น ๆ


๒. การวางแผนและการก่อสร้าง

ก่อนลงมือก่อสร้างควรวางแผนผังและออกแบบบ่อคันดินท่อทางระบายน้ำอาคารและรายละเอียดเกี่ยวกับระดับพื้นที่ ดังนี้


๒.๑ การจัดพื้นก้นบ่อถากถางเอาพืชก้นบ่อออกแล้วขุดร่องน้ำตามก้นบ่อติดต่อกันเป็นรูปก้างปลาเพื่อให้สะดวกแก่การระบายน้ำร่องก้นบ่อควรมีขนาดความกว้างและ ลึก ๕๐ เซนติเมตร มีความลาดเทอย่างน้อย ๒-๓ ใน ๑,๐๐๐ ในระหว่างการสร้างบ่อควรกลบหลุมและแอ่งเพื่อให้การระบายน้ำก้นบ่อแห้งตลอดจะได้จับปลาได้สะดวกร่องน้ำตรงกลางจะขุดตรงไปยังทางระบายน้ำออกและขยายร่องให้กว้างและลึกก่อนถึงปากท่อระบายน้ำทิ้ง ๒-๓ เมตร เพื่อให้เป็นที่รวบรวมปลาเมื่อต้องการจับ 

๒.๒ คันบ่อเป็นส่วนสำคัญในการเก็บกักน้ำหากสร้างคันบ่อในพื้นที่เป็นกรวดหรือที่แฉะจะต้องขุดให้ถึงส่วนที่เป็นดินแข็งบริเวณที่จะตั้งคันต้องถากถางเอาหญ้า ต้นไม้ กิ่งไม้และเศษวัชพืชออกให้หมดหากดินบริเวณนั้นเก็บน้ำไม่ดีจะต้องขุดร่องทำแกนกลางด้วยดินเหนียวในที่ดินปนทรายความกว้างของคันดินจะต้องเป็น ๒ เท่า และมีแกนกลางที่เป็นดินเหนียวหนา ๔๐-๕๐ เซนติเมตร ดินที่ใช้ทำคันควรปราศจากเศษไม้ ก้อนหิน

แหล่งน้ำที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงปลา (การเลี้ยงหมูกับปลา)

 

 

คันบ่อควรจะถมเป็นชั้นหนาชั้นละ ๒๐ เซนติเมตร และอัดแน่นถ้าดินแห้งควรจะรดน้ำ บดและอัดถมให้มีความสูงตามความต้องการความกว้างของสันคันบ่อไม่ควรจะน้อยกว่า ๑ เมตร แต่ถ้าทำให้กว้างไว้จะสะดวกต่อการใช้ยานพาหนะขนถ่ายปลาอาหารและอุปกรณ์อื่น ๆ ความสูงของคันบ่อควรสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำ ๓๐ เซนติเมตร สำหรับบ่อขนาดเล็กและ ๕๐ เซนติเมตร สำหรับบ่อขนาดใหญ่และควรจะคำนวณถึงการยุบตัวของคันดินไว้เผื่ออีกร้อยละ ๑๐

บ่ออนุบาลลูกปลา

 

 

ความลาดเทของคันดินด้านนอกควรจะเป็น ๑ : ๑ และด้านใน ๑ : ๒ และถ้าหากบ่อมีขนาดใหญ่ที่รับคลื่นลมหรือเป็นดินร่วนควรจะมีความลาดเท ๑ : ๔ เมื่อทำคันเรียบร้อยแล้วควรปลูกหญ้าคลุมคันดินเพื่อป้องกันการพังทลายไม่ควรปลูกต้นไม้บนคันเพราะรากจะชอนไชทำให้น้ำรั่วได้ในระหว่างการสร้างส่วนที่จะทำท่อทางระบายน้ำควรจะทิ้งว่างไว้ก่อน

แผนผังบ่อเลี้ยงปลา

 

 

๒.๓ ท่อทางระบายน้ำออกระบบการระบายน้ำมีหลายแบบด้วยกันแบบธรรมดาสำหรับบ่อขนาดเล็กใช้ฝังท่อใต้คันดินในตำแหน่งที่ต่ำสุดเพื่อให้การระบายน้ำได้ถึงก้นบ่อเพื่อความรวดเร็วในการระบายน้ำขนาดของท่อควรมีความสัมพันธ์กับขนาดบ่อท่อระบายน้ำควรทำด้วยวัตถุที่ทนทาน เช่น ซีเมนต์ไฟเบอร์กลาสหรือเหล็กอบสังกะสี การวางท่อควรป้องกันน้ำไหลซึมข้าง ๆ ด้วยการหุ้มท่อด้วยคอนกรีตเป็นตอน ๆ ควรวางท่อต่ำกว่าก้นบ่อ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร

 

สำหรับบ่อขนาดใหญ่ควรทำเป็นประตูระบายน้ำทำด้วยคอนกรีตลักษณะของประตูน้ำประกอบด้วยส่วนที่สามารถควบคุมน้ำมีช่องสำหรับใส่ไม้อัดน้ำ ๒ ช่อง ระหว่างช่องทั้งสองอาจใส่ดินอัดแน่นก็ได้และมีช่องสำหรับใส่ตะแกรงป้องกันปลาหนีอีกหนึ่งช่องประตูน้ำดังกล่าวอาจจะทำด้วยไม้ซึ่งมีความหนาประมาณ ๒ นิ้วก็ได้ จะมีความคงทนนานถึง ๒๕ ปี

บ่อเลี้ยงปลาควรมีคันบ่อ
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเก็บกักน้ำ

 

 

ช่องสำหรับใส่ตะแกรงอาจจะทำตะแกรงเฉพาะส่วนล่างแต่ส่วนบนใช้ไม้อัดน้ำปิดไว้เป็นประโยชน์มากในการระบายน้ำส่วนล่างออกไปพร้อมกับก๊าซที่เป็นพิษหรือเศษเหลือตามก้นบ่อควรใช้ตะแกรงตาห่างเพื่อให้น้ำไหลสะดวก หรือจะคอยเปลี่ยนขนาดช่องตาของตะแกรงตามขนาดของปลาที่เลี้ยงก็ได้

๒.๔ ท่อทางระบายน้ำเข้าท่อทางน้ำเข้าควรจะวางให้ 

(๑) น้ำผ่านได้สม่ำเสมอและสามารถควบคุมการปล่อยน้ำได้ 
(๒) สามารถป้องกันไม่ให้ปลาหลบหลีกทวนน้ำออกไปได้ 
(๓) ป้องกันไม่ให้ปลาที่ไม่ต้องการหรือศัตรูปลาเข้ามากับน้ำ 


การวางท่อระบายน้ำควรระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับบ่ออนุบาลควรมีตะแกรงป้องกัน ๒ ชั้น ขนาดช่องตาของตะแกรงควรเปลี่ยนแปลงตามขนาดของปลาและต้องหมั่นทำความสะอาดเก็บเอาเศษตะกอนกิ่งไม้ ใบไม้ ที่เข้าไปอุดตันออกทิ้งเพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow