Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประเภทของมัสยิด

Posted By Plookpedia | 08 มี.ค. 60
2,545 Views

  Favorite

ประเภทของมัสยิด

หลักคำสอนของศาสนาอิสลามไม่ได้ระบุถึงกฎเกณฑ์ที่ตายตัวสำหรับรูปแบบของมัสยิดไว้ แต่การตีความคำสอนที่เกี่ยวข้อง ในคัมภีร์อัลกุรอาน และการยึดถือแนวทางคำสอน รวมทั้งแบบอย่างในการสร้างมัสยิดของท่านศาสดา มุฮัมมัด (ซ.ล.) ในนครมะดีนะฮ์ ได้ถูกนำมาเป็นแนวคิดหลักในการสร้างและการใช้งานมัสยิด เมื่อศาสนาอิสลามแผ่ขยายสู่ส่วนต่างๆ ของโลก รูปแบบของมัสยิดได้พัฒนาขึ้น เกิดเป็นมัสยิดรูปแบบต่างๆ ซึ่งลักษณะและขนาดของการใช้งานที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดมัสยิดประเภทต่างๆ ประกอบกับเมื่อได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่นๆ เช่น นโยบายการปกครองและการศาสนา ทำให้มัสยิดแต่ละแห่งมีรูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์

นอกเหนือจากมัสยิดสำคัญ ๓ แห่งที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานและบันทึกอัลหะดีษ ได้แก่ มัสยิดอัลฮะรอม มัสยิดอัลนะบะวีย์ และมัสยิดอัลอักซอ แล้ว มัสยิดทุกแห่งในโลกต่างมีฐานะหรือศักดิ์ที่เท่าเทียมกันในมุมมองของศาสนา โดยทั่วไป สามารถจำแนกมัสยิดออกเป็นประเภท เพื่อการศึกษา ได้ดังนี้

๑) มัสยิดที่ใช้ในเทศกาลสำคัญ (มุศ็อลลา)

มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งที่ใช้ละหมาดในโอกาสสำคัญที่มีผู้ละหมาดรวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น วันอีดิลฟิตริ์ วันอีดิลอัฎฮา ในวันดังกล่าวบรรดาญาติพี่น้องที่แยกย้ายไปอยู่ในที่ต่างๆ จะกลับมาทำพิธีร่วมกัน จึงต้องการพื้นที่ใช้งานมากกว่าปกติ ซึ่งมักเป็นพื้นที่โล่งที่มีแท่นมิมบัร หรือซุ้มมิห์รอบอยู่ทางด้านกิบละฮ์ เพื่อแสดงทิศทางในการละหมาด เมื่อเสร็จพิธี ก็จะแปรสภาพเป็นพื้นที่โล่ง สำหรับรองรับกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนได้   

 

 

มัสยิดกลางบัดชาฮี ประเทศอินเดีย (ที่มา : Grover, 2006: 129.)

 

๒) มัสยิดกลาง (ยะมีอะฮ์)

ในประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นจำนวนมาก เช่น ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ มักมีมัสยิดกลางสำหรับละหมาดร่วมกัน โดยเฉพาะในวันศุกร์ มุสลิมจากมัสยิดแต่ละชุมชนจะมาละหมาดรวมกัน และฟังคำอบรมสั่งสอนก่อนละหมาด (คุตบะฮ์) ที่มัสยิดกลาง มัสยิดกลางจึงมีแท่นมิมบัร สำหรับให้อิหม่ามหรือคอเต็บขึ้นไปกล่าวคุตบะฮ์ และเป็นโอกาสที่มุสลิม จะได้ร่วมพบปะสังสรรค์ หรือขัดเกลาจิตใจกันสัปดาห์ละครั้ง นอกเหนือไปจากการละหมาดประจำวันในมัสยิดชุมชน มัสยิดกลางจึงมักเป็นศูนย์กลางของเมือง ที่มีสถานที่สำคัญอื่นๆ  อยู่รายรอบ เช่น ศาลากลางจังหวัด อาคารรัฐสภา มหาวิทยาลัย อาคารร้านค้า ชุมชน

 

มัสยิดวาดีอัลฮูเซน จังหวัดนราธิวาส

 

๓) มัสยิดชุมชน (มัสยิด)

ในชุมชนมุสลิมแต่ละแห่งมักมีมัสยิดชุมชนเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติศาสนกิจและประกอบกิจกรรม  ซึ่งโดยปกติ จะต้องมีการละหมาดวันละ ๕ เวลาเป็นประจำทุกวัน แต่ในวันศุกร์ มัสยิดชุมชนหลายแห่งไม่มีการละหมาดรวมกัน โดยมักไปละหมาดรวมกันที่มัสยิดกลาง จึงไม่จำเป็นต้องมีแท่นมิมบัร สำหรับการกล่าวคุตบะฮ์เหมือนในมัสยิดกลาง

 

มัสยิดดารุ้ลอิห์ซาน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ

 

๔) มัสยิดส่วนบุคคล (บะลาซะฮ์)

ในชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลจากมัสยิด มักมีการสร้างอาคารขนาดเล็ก สำหรับละหมาดรวมกันในหมู่เครือญาติ ที่มีเพียงไม่กี่หลังคาเรือน สำหรับมัสยิดส่วนบุคคลมักสร้างเป็นอาคารลักษณะชั่วคราว ซึ่งอาจมีการขยายต่อเติม และสร้างเป็นอาคารมัสยิดถาวร เมื่อชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น

๕)  มัสยิดอื่นๆ

เป็นมัสยิดที่สร้างอยู่ร่วมกับอาคารอื่นๆ ในลักษณะต่างๆ เช่น มัสยิดที่อยู่ร่วมกับสุสาน มัสยิดในห้างสรรพสินค้า มัสยิดในสนามบิน มัสยิดในโรงพยาบาล มัสยิดในพระราชวัง มัสยิดในมหาวิทยาลัย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow