องค์ประกอบของมัสยิด
๑) โถงละหมาด
พื้นที่ในการทำละหมาดสำหรับ ๑ คนมีขนาดประมาณ ๐.๕๐-๐.๖๐ x ๑.๒๐ เมตร เมื่อทำละหมาดรวมกัน อิหม่ามจะยืนอยู่ด้านหน้าสุด เพื่อเป็นผู้นำละหมาด และให้ผู้ละหมาดตามที่ยืนเรียงแถวหน้ากระดานอยู่ด้านหลัง ละหมาดตามโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อผู้ละหมาดแถวแรกเต็ม จึงจะเริ่มแถวใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ทางด้านหลัง ผู้ที่มาละหมาดก่อนใน ๒ แถวแรกจะถือว่า มีความประเสริฐมากกว่าแถวหลัง ดังนั้นมัสยิดหลายแห่งจึงวางผังให้มีความกว้างมากกว่าความลึก เพื่อจะได้มีแถวละหมาดที่ยาว และมีโอกาสละหมาดใน ๒ แถวแรกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการทำพิธีในมัสยิด ด้วยความเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกตำแหน่งหรือฐานะ แต่จะแบ่งพื้นที่สำหรับชายและหญิงเป็นสัดเป็นส่วน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผังของห้องจึงมักเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือรูปทรงเรขาคณิตที่จุคนได้จำนวนมาก เช่น หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม
๒) มิห์รอบ |
๓) มิมบัร
มิมบัรเป็นองค์ประกอบสำคัญ สำหรับให้อิหม่ามหรือคอเต็บขึ้นกล่าวคุตบะฮ์ แจ้งข่าวสาร หรือปราศรัย ในโอกาสที่มีการละหมาดร่วมกันในวันศุกร์ ในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ยกพื้นที่สำหรับยืนให้สูงขึ้น เพื่อให้คนที่อยู่ไกลได้มองเห็น และได้ยินเสียงท่านอย่างทั่วถึง เวลาต่อมาจึงได้พัฒนารูปแบบเป็นแท่นยืน ที่มีที่นั่งพัก และมีบันไดทางขึ้น โดยอาจมีซุ้มโค้ง เพื่อเน้นทางขึ้นและมีหลังคาคลุมส่วนที่ยืน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิม เช่น บัลลังก์ของบาทหลวง ในอาณาจักรไบแซนไทน์ บัลลังก์ของแม่ทัพในอาณาจักรซัซซาเนียน โดยทั่วไป มิมบัรมักจะวางอยู่กลางหรืออยู่ด้านขวาของมิห์รอบ เมื่อเสร็จจากการกล่าวคุตบะฮ์แล้ว อิหม่ามหรือคอเต็บจะลงมาละหมาดร่วมกับทุกคนในระดับที่เท่าเทียมกัน
๔) มักซุรัท
ในยุคต้นๆ ของศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในสมัยอุมัยยะฮ์ (พ.ศ. ๑๒๐๔-๑๒๙๓) ภายในมัสยิดมักมี มักซุรัท ซึ่งเป็นฉากไม้ หรือโลหะ ที่ทำเป็นลวดลาย สำหรับใช้กั้นพื้นที่หน้าซุ้มมิห์รอบโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันอิหม่ามซึ่งมักเป็นผู้ปกครอง ให้ปลอดภัยจากการถูกลอบทำร้ายหรือลอบสังหาร พื้นที่บริเวณมักซุรัทจึงมักจะมีช่องทางพิเศษ ให้อิหม่ามสามารถเข้าสู่มัสยิดได้เป็นการส่วนตัว โดยทั่วไปวังของผู้นำในสมัยนั้นมักสร้างอยู่ติดกับมัสยิดทางด้านผนังกิบละฮ์ เช่น พระราชวังอุค็อยดิรฺ (Ukhaydir) ในประเทศอิรัก
๕) แท่นสำหรับผู้ขานสัญญาณ
เป็นสถานที่สำหรับให้ “มุบัลลิก” หรือผู้ขานสัญญาณส่งเสียงให้สัญญาณต่อจากอิหม่าม เพื่อให้คนที่อยู่ไกลสามารถได้ยินสัญญาณ และละหมาดพร้อมเพรียงกัน ในกรณีที่มีผู้มาละหมาดเป็นจำนวนมาก มักเป็นพื้นที่เล็กๆ สูงประมาณ ๑ ชั้น อาจอยู่บริเวณหน้าแท่นมิมบัร หรือกลางโถงละหมาด หรือกลางลานโล่งภายนอก ปัจจุบันแท่นนี้ลดความสำคัญลง เมื่อมีเครื่องขยายเสียง ที่ทำให้ได้ยินเสียงอิหม่ามกันทั่วทั้งมัสยิด
๖) ลานอเนกประสงค์ หรือโถงอเนกประสงค์ ลานอเนกประสงค์ หรือโถงอเนกประสงค์ ทำหน้าที่รองรับคนที่เข้าออกจากโถงละหมาด ทั้งในวันปกติและวันสำคัญ ที่มีคนมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังใช้จัดกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอีกด้วย | |
ในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศร้อนแห้ง เช่น นครมักกะฮ์ ในประเทศซาอุดีอาระเบีย พื้นที่ส่วนนี้มักเป็นลานโล่งตามแบบอย่าง ที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้สร้างไว้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนแห้ง มีแสงแดดแรง และมีฝุ่นมาก ภายในลานจึงเป็นพื้นที่ที่เป็นสัดเป็นส่วนแยกออกมาจากภายนอก ล้อมรอบด้วยเสา ทางเดิน โดยมีโถงละหมาดอยู่ด้านกิบละฮ์ กลางลานอาจมีสระน้ำหรือน้ำพุซึ่งอาจมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม สำหรับให้คนอาบน้ำละหมาดก่อนการทำละหมาด มัสยิดในประเทศที่มีอากาศหนาว เช่น ประเทศตุรกี พื้นที่ส่วนนี้อาจเป็นโถงอเนกประสงค์ที่มิดชิดกว่า ส่วนมัสยิดในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย โถงอเนกประสงค์อาจเปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทได้ดี มีชายคายื่นยาวกันแดดกันฝน และเชื่อมต่อกับสนามหรือลานของมัสยิด เพื่อใช้รองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ในวันเทศกาล ที่มีคนจำนวนมากด้วย และในกรณีที่ภายในโถงละหมาดไม่สามารถรองรับคนได้แล้ว อาจใช้พื้นที่ส่วนนี้เพิ่มเติม จึงจำต้องรักษาความสะอาดเช่นเดียวกับบริเวณโถงละหมาด และไม่ควรสวมรองเท้าเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว |
๗) ที่อาบน้ำละหมาด
ข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามกำหนดให้มีการอาบน้ำละหมาดก่อนการละหมาด ซึ่งเป็นการทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มือ ใบหน้า แขน เท้า โดยอาจอาบน้ำละหมาดมาจากสถานที่อื่นแล้วเดินทางมามัสยิด หรือจะมาทำที่มัสยิดก็ได้
ที่สำหรับอาบน้ำละหมาดมักอยู่ในพื้นที่อเนกประสงค์ ผู้ที่อาบน้ำละหมาดแล้ว จะเดินผ่านเขตของมัสยิดที่สะอาด เข้าสู่โถงละหมาดได้โดยตรง โดยไม่สวมรองเท้า พื้นที่ส่วนนี้มักเตรียมไว้สำหรับให้อาบน้ำละหมาดได้หลายๆ คนพร้อมกัน โดยอาจเป็นน้ำพุ บ่อน้ำ หรือก๊อกน้ำ ที่อาบน้ำละหมาดในมัสยิดบางแห่งประดับตกแต่งอย่างสวยงาม เช่น ทำเป็นศาลา อาคารหลังคาโดม หรืออาจอยู่กลางลาน เช่น มัสยิดสุลต่านหะซัน ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับลานที่มีน้ำพุ ในพระราชวังของอาหรับ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เย็นสดชื่น หรืออาจทำเป็นส่วนหนึ่งของสวนกลางมัสยิด เช่น มัสยิดในประเทศอินเดีย มัสยิดในประเทศอิหร่าน
๘) หออะซาน (หอคอยประกาศเรียกละหมาด) หออะซานเป็นสถานที่สำหรับให้ผู้ประกาศเวลาละหมาด หรือที่เรียกว่า มุอัซซิน ขึ้นไปอะซานให้ได้ยินไปไกลที่สุด การอะซานเป็นการเรียกให้มาละหมาด เมื่อถึงเวลาละหมาดประจำวัน วันละ ๕ เวลา เมื่อได้ยินเสียงอะซาน หรือการประกาศให้ทราบว่า เข้าสู่เวลาละหมาด ผู้ที่ได้ยินก็จะมาละหมาดร่วมกันที่มัสยิด พื้นที่ที่อยู่ในรัศมีเสียงอะซาน จึงมักเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ของชุมชน หออะซานมักสร้างเป็นหอสูงที่มีรูปทรงที่โดดเด่น และเป็นสัญลักษณ์ของมัสยิด ที่มองเห็นได้ในระยะไกล | |
ในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ยังไม่มีหออะซานในมัสยิด แต่จะให้มุอัซซินขึ้นไปอะซานบนบ้านที่สูงที่สุดในย่านนั้น ต่อมาเมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงสร้างหอคอยให้มีความสูงมากขึ้น เพื่อให้กระจายเสียงได้ไกลยิ่งขึ้น การสร้างหอคอยติดกับมัสยิดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย และแพร่หลายไปจนกลายเป็นองค์ประกอบสากล โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ในปัจจุบัน แม้หออะซานจะลดความสำคัญลง เนื่องจากมีเครื่องกระจายเสียง ที่ทำให้ได้ยินไปไกล แต่หออะซานยังคงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้มองเห็นตำแหน่งของมัสยิด และชุมชนมุสลิมได้จากระยะไกล |
๙) ซุ้มประตู
มัสยิดโดยทั่วไปมักมีการกำหนดขอบเขต สำหรับแยกพื้นที่ภายในที่สงบ ออกจากสิ่งรบกวนภายนอก โดยอาจสร้างกำแพง หรือคูน้ำ ล้อมรอบ เพื่อแยกเป็นสัดส่วน และมีซุ้มประตูเป็นตัวเชื่อมต่อที่บ่งบอกถึงการเข้ามาภายในมัสยิด ตลอดจนเป็นตัวเน้นมุมมองให้สัมพันธ์กับแกนกลางของมัสยิด ซุ้มประตูจึงมักเป็นส่วนที่มีการประดับตกแต่งอย่างงดงาม เช่นเดียวกับโดม และหออะซาน