Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยแสงอัลตราไวโอเลต

Posted By Plookpedia | 07 ก.พ. 60
4,132 Views

  Favorite

การรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยแสงอัลตราไวโอเลต

การรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลต หรือที่เรียกว่า การบำบัดด้วยแสง (phototherapy) และเคมีบำบัดร่วมแสง (photochemotherapy) มีผู้สังเกตพบว่า แสงแดดตามธรรมชาติมีประโยชน์ต่อผื่นผิวหนังของโรคสะเก็ดเงินนานนับ ๑๐๐ ปีแล้ว โดยผู้ป่วยที่อยู่ในเขตทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) ของประเทศอิสราเอล มีอาการผื่นของโรคดีขึ้นหรือผื่นหายไป หลังจากการลงไปแช่น้ำทะเล แล้วขึ้นมาอาบแสงแดด ความรู้เรื่องแสงแดดและผลของแสงที่มีต่อผิวหนังได้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น จนทำให้ความรู้เรื่องกลไกการออกฤทธิ์ของแสงแดดชัดเจนขึ้น  โดยพบว่า แสงที่มีฤทธิ์ในการรักษาผื่นของโรคสะเก็ดเงินได้ดี เป็นแสงช่วงความยาวคลื่นของแสงอัลตราไวโอเลตบี ความยาวคลื่น ๓๑๑ - ๓๑๒ นาโนเมตร และยังพบว่า แสงอัลตราไวโอเลตเอ ความยาวคลื่น ๓๒๐ - ๔๐๐ นาโนเมตร เมื่อใช้ร่วมกับสารเคมีกลุ่มโซราเลน ทั้งชนิดรับประทานหรือทา สามารถใช้รักษาผื่นผิวหนังอักเสบของโรคสะเก็ดเงินได้ ปัจจุบันตามโรงพยาบาลและศูนย์พยาบาลหลายแห่งในประเทศไทย มีตู้ให้กำเนิดแสงอัลตราไวโอเลต ทั้งชนิดแสงอัลตราไวโอเลตบี ความยาวคลื่น ๓๑๑ - ๓๑๒ นาโนเมตร และแสงอัลตราไวโอเลตเอ ความยาวคลื่น ๓๒๐ - ๔๐๐ นาโนเมตร เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ดังนั้นการบำบัดด้วยแสง ซึ่งเปรียบเสมือนแสงแดดเทียม จึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบัน

 

ตู้ให้กำเนิดแสงอัลตราไวโอเลตที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

 

ขนาดพลังงานแสงที่ใช้

แพทย์ผู้ดูแลจะคำนวณขนาดของพลังงานแสงและระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องอาบแสง อีกทั้งต้องปรับระยะเวลาและพลังงานแสง ที่ผู้ป่วยควรจะได้รับ ตามการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย โดยผู้ป่วยต้องรับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง

ข้อควรระวังระหว่างการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี

ผลข้างเคียงในระยะสั้น คือ เกิดผื่นไหม้แดดเป็นผื่นแดงบนผิวหนัง หากเป็นการฉายแสงในระยะยาว ผู้ป่วยที่อาบแสงอัลตราไวโอเลตบี มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ แต่พบในอัตราที่ต่ำ

การรักษาผื่นผิวหนังของโรคสะเก็ดเงินด้วยแสงอัลตราไวโอเลตเอร่วมกับสารเคมี 

แสงอัลตราไวโอเลตเอมีฤทธิ์ในการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบได้เมื่อใช้ร่วมกับสารเคมีกลุ่ม โซราเลน สารเคมีที่ใช้ร่วมกับแสงอัลตราไวโอเลตเอ มี ๒ รูปแบบ คือ ในรูปของยารับประทาน และในรูปของยาทา 

๑) ในรูปของยารับประทาน

ผู้ป่วยต้องรับประทานยา ๒ ชั่วโมงก่อนอาบแสง เพื่อให้ ลำไส้ดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย และส่งมาที่ผิวหนัง ในระหว่างที่อาบแสง ผู้ป่วยต้องสวมแว่นตาดำ เพื่อป้องกันอันตรายจากแสงอัลตราไวโอเลตเอที่จะเกิดกับตา ภายหลังจากการอาบแสงแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องสวมแว่นตาดำ เพื่อป้องกันตาจากแสงแดดอย่างน้อย ๑ วัน

๒) ในรูปของยาทา

ผู้ป่วยต้องทายาที่ผื่นผิวหนังก่อนอาบแสง ยาทาที่ใช้อยู่ในรูปสารละลายหรือรูปครีม การรักษาด้วยวิธีใช้ยาทามีข้อดี ที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสี่ยงต่อพิษของยาโซราเลนที่มีผลต่อตา

ข้อควรระวังระหว่างการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ ร่วมกับการใช้สารเคมี

หลังรับประทานยาโซราเลน ผิวหนังผู้ป่วยจะไวต่อแสง ต้องระมัดระวังไม่ใช้ยาเกินขนาด เพราะจะทำให้เกิดผิวหนังไหม้แดดได้ ผิวหนังของผู้ป่วยจะเสื่อมจากการฉายแสง โดยเกิดกระขึ้น ทำให้ผิวหนังเป็นรอยกระดำกระด่าง

ส่วนผลของแสงอัลตราไวโอเลตเอที่มีต่อผิวหนังในระยะยาว คือ เพิ่มอัตราการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจทางผิวหนังเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น ผลต่อตาที่สำคัญ คือ การเกิดต้อกระจก ผู้ป่วยจึงต้องสวมแว่นตาดำระหว่างที่อาบแสง และภายหลังอาบแสงแล้ว ก็ยังต้องสวมแว่นตาดำอีก ๑ วัน เพื่อป้องกันแสงแดดที่อาจกระทบต่อตา ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการคลื่นไส้จากยาที่รับประทาน ก่อนการฉายแสงด้วยก็ได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow