แนวทางในการดูแลรักษาโรคสะเก็ดเงิน
โดยทั่วไปผู้ป่วยและญาติต้องการแก้ปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยหรือโรคที่เป็นอยู่ให้หายขาดในครั้งเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเสียความสมดุลระหว่างตัวผู้ป่วยกับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย ซึ่งทั้งตัวผู้ป่วย และสภาพแวดล้อมนั้น เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา หากสภาพแวดล้อมทั้ง ๒ อย่างยังคงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน อาการของโรคก็ต้องเป็นอยู่ ดังนั้นผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบุตรธิดา สามีภรรยา และบิดามารดา หรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ต้องหาความรู้เรื่องปัจจัยที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ และมีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้โรคสงบหรือหายไป โดยผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้อง ต้องเร่งกำจัดเหตุปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบ และสร้างเสริมเหตุปัจจัยที่ทำให้โรคสงบอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้วิธีใช้ยาอย่างถูกต้อง รู้ว่าใช้ยาอย่างไรจึงจะให้ได้ผลดีที่สุดและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด จากเอกสารทางการแพทย์และจากแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา
เพื่อสนองเจตนารมณ์นี้ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้จัดทำ โครงการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแบบองค์รวม ด้วยแนวคิดว่าการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคสะเก็ดเงินแก่ผู้ป่วย ญาติ และประชาชน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ และจัดทำเครือข่ายของแพทย์ผิวหนังทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยในชนบทที่ห่างไกลเกิดความมั่นใจว่า ไม่ว่าจะพำนักอาศัยอยู่ ณ ที่ใดในประเทศไทย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย มีการจัดทำแผ่นพับ หนังสือ เทปคาสเซ็ตต์ วีดิทัศน์ วีซีดี ดีวีดี ออกเผยแพร่ ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชจะได้รับการลงทะเบียนชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ และแจกแผ่นพับให้ หรือให้ดูวีซีดีเรื่องโรคสะเก็ดเงิน แพทย์และพยาบาลที่ดูแลคนไข้จะให้ความรู้เรื่องโรคและสาเหตุปัจจัย ที่ทำให้โรคกำเริบ การใช้ยาทาและยารับประทานที่ถูกต้อง เรียนรู้วิธีส่งเสริมประสิทธิภาพของยา ผลข้างเคียง และวิธีหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ญาติและประชาชนผู้สนใจเป็นประจำทุกเดือน เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ มาให้ความรู้ในแง่มุมต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การรำกระบอง การเล่นโยคะ การดูแลข้ออักเสบ รวมทั้งการฝึกกำลังใจ อาทิ การนั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน การจัดทำเว็บไซต์โรคสะเก็ดเงินเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ทราบรายละเอียด นอกจากนี้ยังจัดการศึกษากลุ่มช่วยเหลือกันเอง เป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โดยผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการให้ความรู้ซึ่งกันและกัน มีแพทย์ผิวหนัง จิตแพทย์ และพยาบาล เป็นผู้ร่วมให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคที่เป็นอยู่ ตลอดจนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จนสามารถช่วยเหลือกันเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นการสร้างเสริมพลัง ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจด้วย