Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน

Posted By Plookpedia | 08 มี.ค. 60
9,839 Views

  Favorite

ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน

ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมี ๓ กลุ่ม คือ ยาทา ยารับประทาน และยาฉีด โดยมีหลักในการพิจารณาคือ ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของพื้นผิวของร่างกาย ให้เลือกใช้ยาทาก่อน ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบเกินร้อยละ ๑๐ ของพื้นผิวของร่างกาย ให้ใช้ยารับประทานหรือยาฉีด ยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้

กลุ่มยาทา

ที่สำคัญได้แก่ยาต่อไปนี้

๑) ยาทาสเตียรอยด์

เป็นยาที่ใช้รักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบ่อยที่สุด ยาทาสเตียรอยด์อาจอยู่ในรูปขี้ผึ้ง ครีม หรือสารละลาย การเลือกใช้ยาทาสเตียรอยด์ชนิดใด และในรูปใด มีหลักพิจารณาดังนี้

  • ผื่นหนา เป็นตามแขนขา มือ หรือเท้า ใช้ยาทาสเตียรอยด์ฤทธิ์แรงในรูปขี้ผึ้ง
  • ผื่นบางหรือเป็นบริเวณหน้า ข้อพับต่างๆ ใช้ยาทาสเตียรอยด์ฤทธิ์อ่อนหรือแรงปานกลาง ในรูปครีม 
  • ผื่นหนาที่ศีรษะ ใช้ยาทาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์แรงในรูปครีมเหลว หรือครีมน้ำนม ถ้าผื่นมีลักษณะบางใช้ยาทาสเตียรอยด์ในรูปสารละลาย ซึ่งจะซึมเข้าถึงหนังศีรษะได้ดี

ข้อดี ของยาทาสเตียรอยด์ คือ ทำให้ผื่นยุบได้เร็ว ใช้ง่าย หาซื้อได้ทั่วไป
ข้อด้อย ของยาทาสเตียรอยด์ คือ หากใช้นานๆ จะเกิดภาวะดื้อยา ผิวหนังขาวและบางลง เมื่อหยุดยา ผื่นมักกลับเป็นใหม่ได้เร็ว และรุนแรงมากขึ้น อาจติดเชื้อราหรือแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่าย การใช้ยาทาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์แรงเป็นเวลานานๆ ยาจะถูกดูดซึมได้มาก และไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต อีกทั้งยังมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ของร่างกายเช่นเดียวกับการรับประทานยาสเตียรอยด์ทั่วไป ดังนั้น การใช้ยาสเตียรอยด์จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาทาเองโดยไม่มีความรู้ เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

๒) ยาทากลุ่มน้ำมันดิน (crude coal tar or wood tars) 

เป็นสารเคมีพวกไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) ที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ถ่านหินหรือต้นไม้ที่ตายทับถมกันเป็นเวลานาน สารเคมีเหล่านี้ มีฤทธิ์ ทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินหายได้ ปัจจุบันน้ำมันดินที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีหลายรูปแบบ เช่น แชมพูผสมน้ำมันดิน (tar shampoo) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินของหนังศีรษะและรังแคทั่วๆ ไปได้ด้วย

ข้อดี ของยาทากลุ่มน้ำมันดิน คือ เมื่อยาออกฤทธิ์ทำให้ผื่นหรือปื้นผิวหนังอักเสบสงบลง และมักสงบไปได้ยาวนาน อาจกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้ แต่ช้ากว่าการใช้ยาทาสเตียรอยด์
ข้อด้อย ของยาทากลุ่มน้ำมันดิน 

  • ยานี้ไม่มีผู้ผลิตแบบสำเร็จรูปจำหน่ายในท้องตลาดประเทศไทย จะหาซื้อได้เฉพาะจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั่วไปเท่านั้น ยกเว้นแชมพูผสมน้ำมันดินที่มีผู้ผลิตหลายบริษัทผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาด
  • ครีมที่ผสมน้ำมันดินมีสีและกลิ่นไม่น่าใช้ ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถทนกลิ่นยาได้ 
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาทากลุ่มนี้ต้องรอนานเป็นสัปดาห์กว่าจะเห็นผลของยา 
  • ยาทากลุ่มน้ำมันดินไม่ควรใช้ทาที่หน้าและข้อพับต่างๆ  เพราะผิวหนังในบริเวณนี้บาง ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย

 

ยาทากลุ่มน้ำมันดิน

 

 

๓) ยาทากลุ่มแอนทราลินหรือดิทรานอล (anthralin or dithranol)

แอนทราลินเป็นสารเคมีสกัดจากผลไม้ประเภทถั่ว (legume) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีในทวีปอเมริกาใต้และภูมิภาคเอเชียใต้ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา ต่อมาพบว่า มีฤทธิ์รักษาโรคผื่นสะเก็ดเงินได้ด้วย ยาทากลุ่มแอนทราลินมีใช้กันในรูปขี้ผึ้งและครีม ยานี้ระคายผิวหนังมาก จึงไม่ควรใช้บริเวณหน้าและข้อพับต่างๆ การทายาต้องระวังไม่ให้ถูกผิวหนังปกติ ยานี้ใช้ได้ผลดีกับผื่นผิวหนังอักเสบของโรคสะเก็ดเงิน ที่หนาๆ ปัจจุบันยาทาแอนทราลินยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย 

๔) ยาทากลุ่มกรดซาลิซิลิก (salicylic acid)

ในรูปครีม หรือขี้ผึ้ง มีฤทธิ์ทำให้สะเก็ดหรือขุยบนผื่นสะเก็ดเงินลอกออก ช่วยให้ยาทาชนิดอื่นซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ดี เหมาะสำหรับใช้บริเวณศีรษะ ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้าที่มีผื่นหนามาก ไม่ควรใช้บริเวณข้อพับ และในเด็ก เพราะกรดซาลิซิลิกอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนเกิดเป็นพิษได้

 

ยาทาในรูปครีมและขี้ผึ้ง

 

๕) ยาทากลุ่มแคลซิโพทริออล (calcipotriol)

ซึ่งเป็นสารในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินดี ๓ (D3 derivative) มีทั้งในรูปครีม ขี้ผึ้ง และสารละลายไม่มีสีหรือไม่มีกลิ่นเหม็น จึงแก้ปัญหาของยาทาน้ำมันดินและยาทาแอนทราลินไปได้ สารในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินดี ๓ ออกฤทธิ์กดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง และทำให้เซลล์ผิวหนังเจริญสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย

 

๖) ยาทากลุ่มเรทินอล (retinol)

เป็นสารในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (vitamin A derivative) นำมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น สิว ฝ่ามือฝ่าเท้าหนา รวมทั้งโรคสะเก็ดเงินด้วย ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาและนำยาทากลุ่มเรทินอลมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินบ้างแล้ว แต่ผลการรักษายังอยู่ในระยะศึกษาทดลอง ยานี้ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

๗) ยาทาให้ผิวชุ่มชื้น

ผื่นผิวหนังอักเสบของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะไวต่อปัจจัยกระตุ้นภายนอกมาก ดังนั้นนอกจากการใช้ยาทารักษาอาการอักเสบของผิวหนังแล้ว ควรทายาเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังบ่อยๆ ด้วย เพื่อเป็นการช่วยลดอาการระคายเคืองและลดการอักเสบของผื่นผิวหนังได้อีกทางหนึ่ง

กลุ่มยารับประทาน

ยารับประทานและยาฉีดที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน มีอยู่ ๔ กลุ่ม คือ

๑) ยารับประทานเมโทเทร็กเซต (methotrexate) 

ยานี้ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวช้าลง จึงทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินยุบลง นอกจากนี้ยายังกดการทำงานของเซลล์อื่นๆ ในร่างกายที่แบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์ไขกระดูก เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย จะกระจายไปที่เซลล์ตับและไต จึงมีผลต่อเซลล์ตับและไต ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยารับประทานเมโทเทร็กเซต คือ ผู้ป่วยที่เป็นผื่นผิวหนังรุนแรง เกิดตุ่มหนองทั่วทั้งตัว หรือผื่นผิวหนังอักเสบ ที่มีพื้นที่มากกว่าร้อยละ ๑๐ ของพื้นผิวตัวไม่ตอบสนองต่อยาทา หรือผื่นของโรคเป็นในตำแหน่งที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าสังคมได้ หรือทำให้ผู้ป่วยมีความพิการไม่สามารถทำงานได้ เช่น เป็นมากที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ยาเมโทเทร็กเซตไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคติดเชื้อรุนแรงหรือวัณโรคปอด และโรคแผลในกระเพาะอาหาร รวมทั้งสตรีมีครรภ์หรือสตรีที่กำลังให้นมบุตร   

๒) ยารับประทานเรทินอยด์ (retinoids)

เรทินอยด์เป็นสารอนุพันธ์ของวิตามินเอ เช่นเดียวกับยาทากลุ่มเรทินอล มีฤทธิ์ในการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบของโรคสะเก็ดเงินได้ดี ยารับประทานกลุ่มเรทินอยด์ที่มีใช้ในประเทศไทย คือ แอซิเทรทิน (acitretin) ยานี้สามารถควบคุมผื่นโรคสะเก็ดเงินที่เป็นตุ่มหนองทั่วตัว และผื่นหนาตามฝ่ามือฝ่าเท้าได้ดี แต่ผื่นของโรคสะเก็ดเงินที่เป็นปื้นหนาจะตอบสนองต่อยาได้ไม่ดีนัก ผลข้างเคียงของยาที่พบเสมอๆ คือ ริมฝีปากแห้ง แตก ผิวแห้งคัน ผมร่วงทั่วศีรษะ สตรีที่รับประทานยานี้ต้องคุมกำเนิดตลอดระยะเวลาที่รับประทานยา และต้องคุมกำเนิดต่อเนื่องไปอีกนาน ๒ ปีหลังหยุดยา เพราะยานี้จะสะสมอยู่ที่ไขมันในร่างกาย สามารถทำให้เด็กในครรภ์พิการได้

 

ยารับประทานเมโทเทร็กเซตและเรทินอยด์

 

๓) ยารับประทานไซโคลสปอริน (cyclosporin)

ยานี้ออกฤทธิ์กดการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่จะไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้แบ่งตัวเพิ่มจำนวน ทำให้ลดการอักเสบที่ผิวหนัง จึงทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบและหนามีอาการดีขึ้น ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินในรายที่ผื่นโรคสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ยานี้ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีไตพิการ มีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งมาก่อน หญิงมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยที่กำลังติดเชื้อ ผู้มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน และผู้มีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน

๔) ยาฉีดกลุ่มชีวสาร (biologic agents)

ยากลุ่มนี้เป็นยารุ่นใหม่ที่ออกฤทธิ์ทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบและอาการปวดข้อของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาของการใช้ยากลุ่มนี้คือ มีราคาแพงมาก เมื่อใช้ยาแล้วโรคสะเก็ดเงินไม่ได้หายขาด และเมื่อหยุดใช้ยา ผู้ป่วยจะกลับมีอาการผื่นผิวหนังอักเสบขึ้นมาใหม่ได้อีก

อนึ่ง ยากลุ่มนี้ใช้ได้เฉพาะวิธีการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้าเส้นเลือดเท่านั้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow