ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
การมีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติที่เรียกว่า เบาหวานนั้น บ่งชี้ถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติเป็นระยะเวลานาน และต่อเนื่อง จนทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาภายหลัง แต่ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติที่น้อยกว่าระดับเบาหวานนั้น อาจสูงมากขึ้น จนกลายเป็นโรคเบาหวาน และอาจมีหรือไม่มีผลทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาก็ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดแบ่งเป็น ๔ แบบ คือ
แบบที่ ๑
ระดับน้ำตาลในเลือดปกติทุกขณะ คือ ภาวะปกติ
แบบที่ ๒
ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่าปกติ เรียกว่า ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารผิดปกติ (impaired fasting glucose : IFG) ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารที่สูงกว่าปกติเป็นสัญญาณเตือนว่า อาจมีความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อทดสอบผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่าปกติ โดยให้ดื่มสารละลายกลูโคส ๗๕ กรัม ผลการทดสอบพบว่า ประมาณ ๑ ใน ๓ เป็นโรคเบาหวาน อีกประมาณ ๑ ใน ๓ มีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูงกว่าปกติ ที่เหลืออีก ๑ ใน ๓ อยู่ในภาวะปกติ
แบบที่ ๓
ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูงกว่าปกติ เรียกว่า ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารผิดปกติ หรือความทนต่อน้ำตาลลดลง (impaired glucose tolerance : IGT) ต้องทดสอบโดยการดื่มสารละลายกลูโคส ๗๕ กรัม และวัดระดับน้ำตาลในเลือด ๒ ชั่วโมง หลังจากที่ดื่มสารละลายกลูโคสแล้ว
แบบที่ ๔
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทุกขณะ หรือเกือบทุกขณะอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า เป็นโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูงกว่าปกติ (แบบที่ ๒) และระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูงกว่าปกติหรือความทนต่อน้ำตาลลดลง (แบบที่ ๓) อาจเรียกว่าเป็น "ภาวะก่อนเบาหวาน" ผู้ที่มีภาวะนี้มีโอกาสกลายเป็นโรคเบาหวานได้สูง และที่สำคัญคือ ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน