การตรวจและเกณฑ์บ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
เมื่อต้องการตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวาน เริ่มแรกจะมีการซักประวัติ เช่น ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ภาวะแทรกซ้อน ประวัติครอบครัว มีการตรวจร่างกาย เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจชีพจร ความดันโลหิต และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด การเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ นำส่วนพลาสมาไปตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (พลาสมากลูโคส) เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้สำหรับการค้นหาเพื่อยืนยัน หรือวินิจฉัยโรคเบาหวาน ซึ่งมีวิธีการและเกณฑ์บ่งชี้ว่า เป็นโรคเบาหวานดังนี้
๑. ในกรณีที่ไม่มีอาการใดๆ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารอย่างน้อย ๘ ชั่วโมง (fasting plasma glucose : FPG) พบระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ ๑๒๖ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อย่างน้อย ๒ ครั้ง โดยตรวจซ้ำในวันถัดไป บ่งชี้ว่า เป็นโรคเบาหวาน
๒. เมื่อมีอาการที่เข้าได้กับโรคเบาหวาน ได้แก่ ปัสสาวะมาก ดื่มน้ำมาก น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ ตรวจระดับพลาสมากลูโคสเวลาใดก็ได้ คือ เจาะโดยไม่เลือกเวลา (random plasma glucose : RPG) พบระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ ๒๐๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร บ่งชี้ว่า เป็นโรคเบาหวาน | |
๓. ทำการทดสอบจำเพาะด้วยการดื่มสารละลายกลูโคส ๗๕ กรัม (oral glucose tolerance test : OGTT) และเจาะเลือด เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาล ๒ ชั่วโมงหลังการดื่มสารละลายกลูโคส ตรวจระดับพลาสมากลูโคสในเวลา ๒ ชั่วโมง หลังดื่มสารละลายกลูโคสมากกว่า หรือเท่ากับ ๒๐๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร บ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรทดสอบซ้ำในวันถัดไป เพื่อยืนยันผล การตรวจนี้ใช้เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน แต่ผลตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารเป็นปกติ หรือเป็นภาวะก่อนเบาหวาน |