Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สาเหตุของการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์

Posted By Plookpedia | 12 เม.ย. 60
3,936 Views

  Favorite

สาเหตุของการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่า โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เกิดจากสาเหตุหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม และเชื้อโรค

พันธุกรรม 

มีความสำคัญต่อการเกิดโรค จากการศึกษาพบว่า ฝาแฝดไข่ใบเดียวกันเมื่อคนหนึ่งเป็นโรค อีกคนก็มีโอกาสเป็นถึงร้อยละ ๑๕ - ๓๐ ส่วนฝาแฝดไข่คนละใบเมื่อคนหนึ่งเป็นโรค อีกคนก็มีโอกาสเป็นร้อยละ ๓ - ๑๐ ดังนั้น ฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ มากกว่าฝาแฝดไข่คนละใบราว ๔ เท่า นอกจากนี้ บุตรที่เกิดจากผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าประชากรทั่วไปราว ๑๖ เท่า แสดงว่า พันธุกรรมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดโรคนี้ 

ฮอร์โมน 

มีหลักฐานหลายอย่างที่สนับสนุนว่าฮอร์โมนมีบทบาทต่อการเกิดโรค เช่น เพศหญิงเป็นบ่อยกว่าเพศชาย โดยมีอัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย ๓ - ๕ : ๑ การรับประทานยาคุมกำเนิดช่วยให้การเกิดโรคลดลง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์จะมีอาการดีขึ้นขณะตั้งครรภ์ และโรคกำเริบขึ้นภายหลังคลอดบุตรแล้ว นอกจากนี้ การเริ่มเป็นโรคขณะเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย อย่างไรก็ตาม กลไกการทำงานของฮอร์โมนที่มีต่อโรค ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดนัก

สิ่งแวดล้อม 

จากการศึกษาผู้ที่มีภาวะเสี่ยงทางพันธุกรรม พบว่าไม่ได้แสดงออกถึงการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์เสมอไปทุกคน  แสดงว่า สิ่งแวดล้อมน่าจะมีบทบาทร่วมด้วยในการเกิดโรค ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาบางประเทศในทวีปแอฟริกา  นำมาเป็นสมมติฐานได้ว่า อากาศและความเป็นอยู่ในเมือง (urbanization) อาจมีผลต่อการเกิดและความรุนแรงของโรคด้วย ในซีกโลกด้านเหนือ โรคข้ออักเสบรูมาทอยด์มักพบในช่วงฤดูหนาวมากกว่าฤดูร้อน ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาว่าโรคนี้พบบ่อยในฤดูใด

สิ่งที่พบว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ด้วยอีกอย่างหนึ่ง คือ บุหรี่ ถึงแม้ว่ากลไกการเกิดโรคนี้จากบุหรี่ ยังไม่กระจ่างนักก็ตาม แต่ผลการศึกษาจากกล้องส่องปอดในผู้ที่สูบบุหรี่ พบซิทรูลลิเนเท็ดเพปไทด์ (citrullinated peptides) ได้ในตัวอย่างการตรวจน้ำ และสารดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต่อต้านซิทรูลลิเนเท็ดเพปไทด์  ซึ่งการกระตุ้นระบบซ้ำๆ สามารถทำให้เกิดภูมิต่อต้านตัวเอง และนำไปสู่การเกิดโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ได้

เชื้อโรค

อาการนำก่อนการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ได้แก่ อาการปวดข้อหลายข้อ อ่อนเพลีย และมีไข้ต่ำๆ  ซึ่งอาการเหล่านี้ คล้ายกับอาการติดเชื้อ แต่ไม่สามารถเพาะเชื้อโรคจากข้อได้ เชื้อโรคที่มีผลต่อการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ คือ เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย สำหรับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค ได้แก่ ไวรัสเอ็ปสไตน์-บารร์ (Epstein-Barr virus: EBV) ไวรัสเริม (herpes virus) ไวรัสหัดเยอรมัน (rubella virus) และพาร์โวไวรัส (parvovirus) ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค ได้แก่ ไมโคพลาสมา (mycoplasma) เชื้อไมโคแบคทีเรีย (mycobacteria) เชื้อแบคทีเรียลำไส้ (enteric organism)  โดยส่วนของเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้วนั้น ได้แก่ ผนังเซลล์ สารพิษ (toxin) และส่วนต่างๆ ของแบคทีเรีย สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของข้อได้ ทั้งนี้ จากการศึกษาโดยการฉีดผนังเซลล์ของแบคทีเรียเข้าไปในสัตว์ทดลอง  พบว่า ทำให้เกิดข้ออักเสบเรื้อรังแบบโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ในสัตว์ทดลองนั้น

สำหรับกรณีของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ พบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสเอ็ปสไตน์-บารร์กับโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ โดยในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์พบว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น  

 

ไวรัสเอ็ปสไตน์-บารร์

 

 

ส่วนพาร์โวไวรัสบี ๑๙ (Parvovirus B 19) ก็เป็นไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ โดยพบดีเอ็นเอของไวรัสชนิดนี้ ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ได้มากกว่าประชากรทั่วไป 

 

พาร์โวไวรัสบี ๑๙

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow