Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความหมายของการจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ

Posted By Plookpedia | 19 เม.ย. 60
7,683 Views

  Favorite

ความหมายของการจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ

การจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพเป็นการควบคุมโรคโดยวิธีธรรมชาติ หรือเลียนแบบธรรมชาติ โดยปกติในธรรมชาติสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะมีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน หรือมีการแข่งขันต่อสู้กัน เพื่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีพ ดังนั้นการควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ จึงเป็นการนำเอาสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อจุลินทรีย์ที่เรียกว่า สิ่งมีชีวิตปฏิปักษ์ หรือเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ (เรียกรวมๆ ว่า "เชื้อปฏิปักษ์")  มายับยั้งการเจริญเติบโตหรือทำลายเชื้อโรคพืชไม่ให้ทำอันตรายต่อพืชนั่นเอง

 

 

กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแสดงเส้นใยเชื้อราปฏิปักษ์ (สีเทาอ่อนด้านบน) เจริญทำลายเส้นใยเชื้อราโรคพืช (สีเข้มด้านล่าง) และ (ภาพขวา) การทดสอบควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีชีวภาพ โดยใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่ทำลายเชื้อราโรคพืช (บนและกลาง) และไส้เดือนฝอยที่ทำลายแมลงศัตรูพืช (ล่าง)


เชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดเป็นเชื้อปฏิปักษ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ที่สามารถควบคุม และยับยั้งเชื้อโรคพืชได้ดี หากมีการนำมาใช้โดยใส่ลงในดิน พ่นบนใบ หรือฉีดเข้าไปในต้นพืช ปัจจุบันประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก มีการผลิตเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้ ออกจำหน่ายหรือแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณ เพื่อนำไปใช้ทดแทนการใช้สารเคมีกันอย่างกว้างขวาง และเริ่มเป็นที่ยอมรับว่า เป็นวิธีที่จะนำมาใช้ป้องกันกำจัดโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ การควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะการผลิตสินค้าทางการเกษตร เพื่อจำหน่าย ทั้งในระดับประเทศ หรือต่างประเทศ จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของสนธิสัญญาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)  ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานของสินค้า ด้านคุณภาพและความปลอดภัยไว้สูง ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตร เพื่อจำหน่าย ต้องให้ความสนใจพัฒนากรรมวิธีการผลิตด้วยวิธีที่ปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดการใช้สารเคมี หรือไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ใดๆ เลยในพืชผักและผลไม้หลายชนิด ได้แก่ การทำเกษตรอินทรีย์ (organic farming) ดังนั้นการจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ จึงเป็นวิธีการหนึ่ง ที่ทำให้เกษตรกรผู้ผลิต นอกจากจะสามารถนำไปใช้ทดแทนการใช้สารเคมีแล้ว ยังทำให้ผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สามารถส่งออกไปจำหน่ายแข่งขันในตลาดโลกได้ และยังได้ราคาสูงกว่าสินค้าที่ผลิตโดยวิธีการปกติ

 

เชื้อราปฏิปักษ์ไทรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนัม เจริญสร้างสปอร์สีเขียว

 

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ประเทศไทยประสบความสำเร็จ โดยรองศาสตราจารย์ ดร. จิระเดช แจ่มสว่าง ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นำเชื้อราไทรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนัม (Trichoderma harzianum) ไปใช้ควบคุมโรคพืชเป็นครั้งแรก โรคที่ใช้ได้ผลดีคือ โรคที่เกิดจากเชื้อราในดิน ได้แก่ โรครากเน่า โคนเน่าของทุเรียน ส้ม มะเขือเทศ กล้วยไม้ และโรคต่างๆ ของพืชผักหลายชนิด
 

แปลงปลูกผักเกษตรอินทรีย์ที่ควบคุมโรคพืชโดยวิธีชีวภาพ ยังมีวัชพืชขึ้นร่วมกับพืชปลูก

 

ปัจจุบันมีนักวิจัยและนักวิชาการของไทยได้ศึกษาค้นคว้าหาเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่สามารถควบคุมโรคพืชกับพืชหลายชนิดได้ ทั้งที่เกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส และยังพบว่า มีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพดีในการควบคุมโรคเหล่านี้ โดยสามารถนำไปพัฒนาผลิตเผยแพร่ หรือผลิตเป็นชีวภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้

สิ่งมีชีวิตปฏิปักษ์ที่นำมาใช้ควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

๑. เชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย 

เป็นเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในด้านการควบคุมโรคได้ดี ปัจจุบันมีการผลิตใช้หรือจำหน่ายมากที่สุด เชื้อราที่นิยมนำมาใช้คือ ไทรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนัม (Trichoderma harzianum) ส่วนเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) และซูโดโมนาส ฟลูออเรสเซนซ์ (Pseudomonas fluorescens)

๒. เชื้อไวรัสและไส้เดือนฝอย

เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ได้ดีกับการกำจัดแมลงศัตรูพืชมากกว่าเชื้อโรคพืช โดยเชื้อไวรัสหรือไส้เดือนฝอยจะทำลายหนอนหรือตัวอ่อน ของแมลงศัตรูพืช ในทางโรคพืชมีการใช้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ไม่รุนแรง สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่พืชหลายชนิด เพื่อป้องกันโรคไวรัสต่างๆ เช่น เชื้อไวรัสคิวคัมเบอร์โมเสก (Cucumber mosaic virus) ที่ทำให้เกิดโรคใบด่างของแตงกวา เชื้อไวรัสปาปายาริงสปอต (Papaya ringspot virus) ที่ทำให้เกิดโรคจุดวงแหวนของมะละกอ

 

 

ไส้เดือนฝอยเข้าทำลายแมลงศัตรูพืช

 

 

๓. พืช

มีการนำพืชหลายชนิดมาใช้ในการควบคุมโรคพืช โดยปลูก เพื่อขับไล่หรือทำลายศัตรูพืชทั้งโรคและแมลง เช่น การปลูกต้นดาวเรือง เพื่อใช้ขับไล่ไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดรากปมของพืชผัก การปลูกต้นหอมเพื่อขับไล่เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียโรคพืชที่อยู่ในดิน ปัจจุบันได้มีการทดลองนำพืชหลายชนิดมาใช้กับเชื้อโรคพืชมากขึ้น โดยเฉพาะพืชในวงศ์กะหล่ำ เช่น ผักกาดป่า (wild mustard) เพื่อทำลายเชื้อโรคพืชที่อยู่ในดิน

 

ผักกาดป่าใช้คลุกดินเพื่ออบทำลายเชื้อโรคพืชที่อยู่ในดิน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow