กลไกการควบคุมโรคพืชโดยเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์
สิ่งมีชีวิตหรือเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่นำมาใช้ในการควบคุมโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ มีกลไกการควบคุมหรือยับยั้งเชื้อสาเหตุโรคพืชใน ๔ ลักษณะดังนี้
๑. การแข่งขัน (Competition)
เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์จะมีความสามารถในการเจริญเติบโตแข่งขันกับเชื้อโรคพืช เพื่อความอยู่รอดได้ดี ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเจริญเติบโตจนก่อให้เกิดโรคพืช หรือทำให้เกิดโรคน้อยลง เช่น มีความสามารถในการหาอาหารได้ดี เจริญเติบโตครอบครองพื้นที่บนผิวพืชได้เร็ว ทำให้เชื้อโรคพืชไม่สามารถเจริญแข่งขันเข้าทำลายพืชได้ ดังนั้น พืชจึงแข็งแรงเจริญเติบโต โดยไม่มีโรคและให้ผลผลิตสูง เช่น เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ซูโดโมนาส ฟลูออเรสเซนซ์ (Pseudomonas fluorescens) ซึ่งมีคุณสมบัติเรืองแสง เมื่อถูกรังสีอัลตราไวโอเลต จะผลิตสารชนิดหนึ่งเรียก ซิเดอโรฟอร์ (siderophore) มาช่วยยึดธาตุเหล็กที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ได้ดีกว่าเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถนำธาตุเหล็กไปใช้ ในการเจริญเติบโตเข้าทำลายพืช
๒. การทำลายชีวิตหรือปฏิชีวนะ (Antibiosis)
เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่ใช้ในการทำลายชีวิตเชื้อโรคมีจำนวนมากที่สุด และนับเป็นกลไกชนิดแรกที่ทดลองนำมาใช้ โดยเชื้อปฏิปักษ์จะมีความสามารถในการผลิตสารปฏิชีวนะ เพื่อทำลายเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ชนิดอื่นได้ ทำให้โรคลดลง ยาปฏิชีวนะมากมายหลายชนิดที่ผลิตขึ้นมาสำหรับใช้รักษาโรคของมนุษย์ สัตว์ และพืช ก็ได้มาจากเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์เหล่านี้
๓. การเป็นปรสิต (Parasitism)
เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีคุณสมบัติเป็นปรสิต คือ เชื้อพวกที่สามารถเข้าไปเจริญอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น และคอยดูดกินอาหาร ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ถูกดูดกินอาหารอ่อนแอและตายไป เชื้อโรคพืชหลายชนิดทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไส้เดือนฝอย ที่เป็นศัตรูพืชจะมีเชื้อปรสิตเข้าไปทำลาย ทำให้ลดการเกิดโรคพืชได้ เช่น การใช้เชื้อราไทรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) ทำลายเชื้อโรครากเน่าไฟทอฟทอรา (Phytophthora spp.) และการใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส เพเนทรานส์ (Bacillus penetrans) ทำลายไส้เดือนฝอยรากปมเมลอยโดกาย (Meloidogyne spp.)
๔. การชักนำให้เกิดความต้านทานโรค (Induced host resistance)
เป็นกลไกที่ปัจจุบันได้รับความสนใจศึกษากันมาก เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์สามารถชักนำ หรือกระตุ้นให้พืชสร้างความต้านทานต่อการทำลายของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะการนำเอาเชื้อโรคมาทำให้เกิดสายพันธุ์ ที่หมดความสามารถ ในการทำให้เกิดโรค หรือเป็นเชื้อสายพันธุ์ไม่รุนแรง แล้วนำไปใส่ในพืช จะกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันหรือต้านทาน การเข้าทำลายของเชื้อโรคเหมือนกับการผลิตวัคซีนสำหรับใช้รักษาโรคของคนและสัตว์ ในประเทศไทยมีการผลิตวัคซีนจากไวรัสพืชสายพันธุ์ไม่รุนแรง เพื่อนำไปสร้างภูมิคุ้มกันโรคไวรัสจุดวงแหวนในมะละกอ