ประโยชน์ของมวยไทย
มีผู้ให้ทัศนะเกี่ยวกับประโยชน์ของมวยไทยในแง่มุมต่างๆ ไว้ดังนี้
ฟอง เกิดแก้ว กล่าวว่า กีฬามวยไทยมีประโยชน์ ดังนี้
๑) มีความมั่นใจในตนเอง
๒) ทำให้เกิดความกล้าหาญ
๓) มีอำนาจบังคับจิตใจดีขึ้น
๔) มีความสุขุม รอบคอบ และเยือกเย็น
๕) มีความพินิจ พิเคราะห์ รู้จักเหตุผล
๖) มีสมรรถภาพทางกายดี
๗) มีความมานะอดทน
๘) มีเชาวน์ไว ไหวพริบดี ตัดสินใจได้ฉับพลัน
๙) มีความเข้มแข็ง อดทน
๑๐) มีความสุจริต ยุติธรรม
๑๑) มีความสนุกสนาน ร่าเริง เบิกบาน
๑๒) มีความสามัคคี
๑๓) มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
๑๔) มีวินัย ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน
๑๕) มีความโอบอ้อมอาร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
๑๖) เป็นพลเมืองดีของชาติ
๑๗) มีรูปร่างทรวดทรงสง่างาม
๑๘) สร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกาย
๑๙) สามารถป้องกันตนเองและคุ้มครองผู้อื่นในยามมีอุบัติภัยต่างๆ
ชาญณรงค์ สุหงษา กล่าวถึงประโยชน์ของมวยไทยว่า "การฝึกมวยไทยก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม สร้างความมีระเบียบวินัยและส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงาม เป็นศิลปะการต่อสู้ ที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในยามคับขันอีกด้วย นอกจากนี้หากผู้ฝึกมวยไทยได้ฝึกอย่างจริงจัง ก็สามารถเป็นนักกีฬา ที่ทำรายได้ให้แก่ตนเองได้"
ผู้ที่ฝึกมวยไทยจะได้รับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมด้านต่างๆ นับตั้งแต่การครอบครู การสาบานตน และหลักการของการฝึกมวย โดยหลักการฝึกมวยนั้น มิได้มุ่งเพียงฝึกฝนให้มีสมรรถภาพในด้านกำลังกาย ความว่องไว ความมีปฏิภาณเท่านั้น แต่มุ่งฝึกจิตใจให้สุภาพ และมีศีลธรรมอันดีด้วย ดังที่ ผล พระประแดง กล่าวไว้ว่า "นักกีฬามวยไทยเป็นผู้รั้งความเสื่อมโทรมของศีลธรรมให้ยับยั้งอยู่ เพราะนักกีฬามวยไทยเป็นผู้มีความตั้งใจ สมัครใจ สามัคคี พร้อมเพรียงหมู่คณะ แพ้ไม่เสียใจ ชนะไม่หลงตัว ไม่อาฆาตแค้น ไม่เยาะเย้ยคู่ต่อสู้ มีวินัยยอมรับคำตัดสินโดยดี ไม่เอาเปรียบคู่ต่อสู้โดยการซ้ำเติมเมื่อคู่ต่อสู้พลั้งเผลอ ไม่เห็นแก่ตัว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น"