Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การร่ายรำไหว้ครูมวยไทย

Posted By Plookpedia | 11 เม.ย. 60
8,081 Views

  Favorite

การร่ายรำไหว้ครูมวยไทย

การไหว้ครูถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของมวยไทย และถือเป็นพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักมวยจะต้องมีการขึ้นครู ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเปรียบเสมือนพิธีการมอบตนเอง ในลักษณะขออยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของครู เพื่อศึกษาวิทยาการในฐานะคนที่ว่านอนสอนง่าย และกล้าหาญ สำหรับเตรียมตัว และปรับปรุงตน ให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นทหารพระราชา นักมวยจะต้องมีครู ต้องเคารพและเทิดทูนครู เพราะว่าการที่ครูจะยอมรับผู้ใดเป็นศิษย์นั้น ในสมัยก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย ครูมวยที่เชี่ยวชาญก็มีอยู่ไม่มากนัก และในการสอนไม่ได้คิดค่าสอนแต่อย่างใด ผู้ที่มีความประสงค์จะศึกษาเล่าเรียนจึงจำเป็นต้องฝากเนื้อฝากตัวกับครู คอยปรนนิบัติอยู่เป็นเวลานาน จนกว่าจะได้รับการถ่ายทอดวิชาจนครบถ้วน ด้วยเหตุนี้ ครูมวยกับศิษย์ในสมัยก่อนจึงมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นดุจบิดากับบุตร

ท่ารำลึกพระแม่ธรณี

 

 

การที่ครูจะรับผู้หนึ่งผู้ใดเป็นศิษย์นั้น ผู้เป็นศิษย์จะต้องให้สัตย์ปฏิญาณต่อครู ดังเช่น อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ ให้ศิษย์รับสัตย์ปฏิญาณ ๔ ข้อ คือ

๑) จะบำรุงร่างกายให้สะอาด แข็งแรง และดำรงชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต บริสุทธิ์
๒) จะไม่รังแกผู้อ่อนแอ ร่วมรักสามัคคี และช่วยเหลือกันเมื่อช่วยได้
๓) จะบำเพ็ญกรณีเพื่อประโยชน์ผู้อื่น และรักชาติ
๔) จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์อันไม่สงบ

การไหว้ครูก่อนการแข่งขันมวยไทยเป็นข้อแตกต่างจากกีฬาอื่นๆ โดยเฉพาะ "คิกบ็อกซิง" (kick boxing) ที่ได้พยายามเลียนแบบการชกมวยไทย จนเหมือนแทบทุกอย่าง แต่แตกต่างกันเพียงไม่ใช้ศอกในการชก และไม่มีการไหว้ครู ดังนั้น การไหว้ครูจึงถือเป็นจุดเด่น และเอกลักษณ์ของกีฬามวยไทยอย่างแท้จริง
ยศ เรืองสา ได้กล่าวถึงข้อควรปฏิบัติของผู้ฝึกมวย ในหนังสือ ตำรามวยไทยตำรับพระเจ้าเสือว่า นักมวยมีข้อพึงปฏิบัติดังนี้
  
๑) จงทำตนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
๒) จงสุภาพต่อคนทั่วไป
๓) จงเป็นผู้มีสันติธรรมไม่พาลเกเร
๔) จงเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น
๕) ต้องเป็นผู้มีมานะบากบั่น ไม่ย่อท้อต่อทุกสิ่ง
๖) จงเป็นผู้เสียสละต่อหมู่ชน เมื่อประเทศชาติต้องการ
๗) จงสร้างแก่นแท้ของจิตใจให้แกร่งกร้าวเยี่ยงเหล็กเพชร
๘) จงเป็นผู้เห็นธรรมในหลักพระพุทธศาสนา และมีศีลธรรมประจำใจ
๙) ต้องเป็นคนตรงต่อเวลา รักชื่อเสียงและค่ายคณะของตน
๑๐) ต้องออกกำลังกายอยู่เสมอเป็นประจำ
๑๑) ต้องไม่เอาเปรียบคู่ต่อสู้ในทางผิดกติกา และศีลธรรม
๑๒) ต้องเคารพกฎหมายของบ้านเมือง

นอกจากนี้ยังมี การครอบครู ซึ่งหมายถึง การที่ศิษย์ได้ศึกษาศิลปะมวยไทยจนหมดสิ้นแล้ว และสามารถถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้อื่นได้ ก็จะทำพิธีครอบครูให้  

นอกจากการขึ้นครูและการครอบครูแล้ว ยังมีการไหว้ครูประจำปี ซึ่งในศิลปะมวยไทยของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวไว้ว่า "การไหว้ครู ซึ่งจัดกันเป็นประจำ หรือเป็นประเพณีนี้ ดูเหมือนในโลกนี้จะมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ปฏิบัติกัน ส่วนประเทศอื่นไม่เห็นมี แม้ประเทศจีนเองจะมีกล่าวถึงการไหว้ครูไว้บ้างในหนังสือนิยายบางเรื่อง ก็ทำกันเป็นการเฉพาะในบางสำนักเท่านั้น ไม่ได้ทำกันทั้งประเทศอย่างไทย ประเทศไทยเรามีประเพณีการไหว้ครูมาแต่โบราณ เราไหว้ครูเพราะความเคารพในความเป็นผู้รู้ และความเป็นผู้มีคุณธรรม คุณสมบัติทั้ง ๒ ประการของครูต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรมของศิษย์ การเรียนการสอนจึงจะดำเนินไปด้วยดี และจากคำปฏิญาณ ที่ศิษย์กล่าวต่อหน้าครูในพิธีไหว้ครูนี้ จะทำให้ศิษย์ระลึกถึงอยู่เสมอแม้จะจบการศึกษาอบรมไปแล้วเป็นเวลานานก็ตาม ก็ยังมีใจระลึกถึงครูอยู่ด้วยความเคารพยกย่อง" 

 

 

การร่ายรำไหว้ครูมวยไทย

 

การไหว้ครูจึงถือเป็นประเพณีที่สำคัญของการเป็นนักมวยไทย ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ทุกฝ่าย ลักษณะของกิจกรรม เช่น การขึ้นครู การครอบครู การไหว้ครูประจำปีมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป
"การร่ายรำไหว้ครูมวยไทย" เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษไทยแต่โบราณได้เริ่มคิด และก่อตั้งขึ้นจากความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หรือเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ทุกแห่งในสากลจักรวาล ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถดลบันดาลให้มนุษย์ผู้ที่กระทำความดีประสบความสำเร็จ  และช่วยปกป้องคุ้มครองมนุษย์ ตลอดจนสรรพสัตว์ให้รอดพ้นจากภัยอันตราย  และมีชัยชนะทั้งปวง

 

 

พิธีครอบครูมวยไทย

 

 

คุณประโยชน์ที่ได้รับจาก "การร่ายรำไหว้ครูมวยไทย"

การไหว้ครูสื่อความหมายให้เห็นคุณค่าด้านวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย มีคุณประโยชน์มากมายทางด้านจิตใจของนักมวยและผู้ชมมวย  ดังนี้

๑) ปลูกฝังนิสัยให้เป็นมวย คือ รู้จักรัก เคารพครูอาจารย์ บิดามารดา ผู้ให้กำเนิดมวยไทย
๒) ปลูกฝังจิตสำนึกให้ตระหนักในคุณค่าของศิลปะมวยไทย เกิดความรักและหวงแหนที่จะอนุรักษ์ให้คงไว้สืบไป
๓) เป็นกิจกรรมเผยแพร่เอกลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมประจำชาติได้อย่างสง่างาม สมศักดิ์ศรี

ขั้นตอนการร่ายรำไหว้ครูมวยไทย และการร่ายรำมวยไทย

การร่ายรำไหว้ครูมวยไทยแบ่งออกเป็น  ๒  ตอน  ได้แก่  ท่าพรหมนั่ง  ท่าพรหมยืน

ตอนที่ ๑ ท่าพรหมนั่ง

ศิษย์ฝากตัวครู    
ขั้นตอน : ศิษย์ถือสายมงคล คุกเข่ามอบสายมงคลให้ครู และกราบ (ไม่แบมือ) จากนั้นครูสวมมงคลให้แก่ศิษย์

 

ท่าพนม

 

ท่าพนม    
ขั้นตอน : คุกเข่าตัวตรง พนมมือเสมอหน้าอก ทำจิตใจให้สงบ ภาวนาคาถา เพื่อระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กราบลงที่พื้น ๓ ครั้ง

 

ท่าเทพพนม

 

 

ท่าเทพนม
ขั้นตอน : โน้มตัวไปด้านหน้าพร้อมกับเหยียดแขนทั้งสองข้างไปด้านหลัง โดยการลอดผ่านรักแร้ แล้วเลยไปด้านหน้าเป็นท่ากอบพระแม่ธรณี ตามองไปด้านหน้า จากนั้นทำท่าถวายบังคม ปฏิบัติทั้งหมด ๓ รอบ

 

ท่าปฐม

 

ท่าปฐม
ขั้นตอน : ยกตัวก้าวเท้าขวาออกไปข้างหน้าประมาณ ๑ ก้าว เข่าขวางอตั้งฉากกับพื้น โน้มตัวไปด้านหน้า ตามองตรง ขาซ้ายเหยียดตรงไปด้านหลัง งอหลังเท้าเชิดขึ้น แขนขวาอยู่บนต้นขาขวา แขนซ้ายงอคุมเสมออก กำหมัดทั้งสองข้าง          

ท่าพรหม

 

ท่าพรหม
ขั้นตอน : จากท่าปฐมให้ยกเท้าขวาออกไปวางด้านหน้า หมัดทั้งสองประสานกันระดับอกหน้ามองตรง โน้มตัวมาข้างหน้าควงหมัด ๓ รอบ

 

ท่าสอดสร้อยมาลา

 

 

ท่าสอดสร้อยมาลา
ขั้นตอน : โน้มตัวมาข้างหน้า มือซ้ายสอดขึ้นเหนือแขนขวา มือซ้ายชักไปด้านหลังระดับเอว นั่งด้วยส้นเท้าซ้าย

ตอนที่ ๒ ท่าพรหมยืน

ขั้นตอน : เตะเท้าซ้ายย่างสามขุม เตะเท้าขวาพร้อมหมุนไปทิศเบื้องขวา ไหว้ทิศเบื้องขวา ร่ายรำท่านกยูงรำแพน

 

เตะเท้าซ้ายย่างสามขุม เตะเท้าขวาย่างสามขุม เตะเท้าซ้าย หมุนทิศเบื้องซ้าย ไหว้ทิศเบื้องซ้าย ร่ายรำท่าหงส์เหิน

เตะเท้าขวาย่างสามขุม เตะเท้าซ้ายย่างสามขุม เตะเท้าขวา พร้อมหมุนไปทิศเบื้องหลังผ่านขวามือ ไหว้ทิศเบื้องหลัง ทำท่าดูดัสกร ทำท่าพระรามแผลงศรครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ โดยไหว้ครั้งที่ ๓ โดยก้าวเท้าซ้ายไปย่างสามขุม ยกเท้าซ้ายไปข้างหน้า กระแทกลงสู่พื้นด้านซ้าย ด้านขวาและตรงกลาง (ตัดไม้ข่มนาม) ยกเท้าซ้ายย่างสูงถอยหลังสลับเท้าขวาจนถึงมุม เท้าชิด ไหว้ เสร็จการไหว้ครู

หัวใจของการร่ายรำไหว้ครู คือ การระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ที่ช่วยประสิทธิ์ประสาทวิชา และระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาให้รอดพ้นจากภัยอันตราย ส่วนการร่ายรำถือเป็นการแสดงถึงความฮึกเหิม ไม่เกรงกลัวคู่ต่อสู้ และเป็นการอบอุ่นร่างกาย ยืดเส้นยืดสายไปด้วยในตัว รวมทั้งได้ดูชั้นเชิงคู่ต่อสู้ ดูสถานที่ในการหลบหลีก ขณะเข้าโรมรันพันตูกับคู่ต่อสู้

การร่ายรำไหว้ครู  

แบบท่ายืน ไหว้ทิศเบื้องขวา
ขั้นตอน : ยืนขึ้นย่างสามขุม หมุนไปทิศเบื้องขวา ไหว้ทิศเบื้องขวา ร่ายรำท่านกยูงรำแพน ปฏิบัติตามนี้ ๓ ครั้ง

แบบท่ายืน ไหว้ทิศเบื้องซ้าย
ขั้นตอน : ยืนขึ้นย่างสามขุม หมุนไปทิศเบื้องซ้าย ไหว้ทิศเบื้องซ้าย ร่ายรำท่าหงส์เหิน ปฏิบัติตามนี้ ๓ ครั้ง

แบบท่ายืน ไหว้ทิศเบื้องหลังและทิศเบื้องหน้า
ขั้นตอน : ยืนขึ้นย่างสามขุม หมุนไปทางขวาจนไปถึงด้านหลัง ไหว้ทิศเบื้องหลัง พยักหน้า ๓ ครั้ง ทำท่าดูดัสกร ร่ายรำท่าพยัคฆ์ด้อมกวาง หมุนไปทางขวา ก้าวเท้าชิด ไหว้ทิศเบื้องหน้า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow