Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

Posted By Plookpedia | 18 ก.ค. 60
3,965 Views

  Favorite

การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

 

มนุษย์เราได้คิดค้นวิธีการรักษาผู้ติดยาเสพติดมาเป็นเวลานานแล้วกลวิธีที่ใช้ขึ้นอยู่กับแนวความคิดและทัศนคติต่อการติดยาเสพติดในสภาพสังคมและเวลานั้น ๆ

หากเห็นว่าการติดยาเสพติดเป็นอาชญากรรมเป็นความชั่วร้ายที่ผู้ติดยาก่อขึ้นวิธีแก้ที่ใช้ก็เป็นการลงโทษในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ต้นกรุงศรีอยุธยา ให้นำผู้ติดฝิ่นไปประจานด้วยการตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนเรือ ๓ วัน แล้วจองจำไว้ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เฆี่ยนแล้วส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้างในปัจจุบันนี้การใช้ยาเสพติดก็เป็นการผิดกฎหมายอาญาอาจต้องโทษจำคุกได้ ในประเทศสิงคโปร์ตำรวจอาจจับผู้ใดไปตรวจปัสสาวะหายาเสพติดได้และถ้าพบว่ามีผลบวก แสดงว่าเคยได้รับเฮโรอีนแล้วก็จะถูกคุมขับเป็นเวลา ๖ เดือนหรือกว่านั้นวิธีการดังกล่าวนี้หวังจะให้ผู้คนกลัวไม่ไปใช้ยาเสพติดหรือหากติดแล้วก็ต้องเลิกเสียมิฉะนั้นจะถูกลงโทษหากการรักษากฎหมายกระทำได้เข้มงวดจริงก็เอาได้ผลดังเช่นในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งอ้างว่าไม่มีผู้ติดยาเสพติดเพราะผู้ที่ติดยาและไม่ยอมเลิกจะได้รับโทษสถานหนักถึงถูกยิงเป้า

หากเห็นว่าการติดยาเสพติดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่มีสภาพจิตผิดปกติการแก้ปัญหาก็เป็นการให้การรักษาและหากเห็นว่าผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้โชคร้ายที่เป็นเหยื่อของปัญหาสังคมเขาก็ควรได้รับการช่วยเหลือ 

วิธีการในการรักษาผู้ติดยาเสพติดในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่เป็นที่ยอมรับและมีหลักฐานว่าเป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอนอาจแบ่งเทคโนโลยีในการรักษาออกเพื่อให้เห็นแนวกลวิธีได้ดังนี้

๑. การถอนพิษยา

เป็นการรักษาอาการของการที่ร่างกายขึ้นกับยาเพื่อจะได้หยุดยาได้ 

สำหรับผู้ที่ติดยานอนหลับพวกบาร์บิทูเรตการถอนยาอาจมีอาการมากถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น อาการไข้สูง ชักและช็อกการรักษาจึงต้องอาศัยแพทย์ที่มีความรู้และอุปกรณ์เพียงพอแต่ผู้ที่ติดยาประเภทฝิ่น มอร์ฟีนและเฮโรอีนอาการถอนยาไม่รุนแรงนักมีผู้ได้พยายามรวบรวมรายงานเรื่องนี้ปรากฏว่าไม่มีหลักฐานว่าเคยมีผู้ใดเสียชีวิตจากอาการถอนยาจากยาประเภทฝิ่นมอร์ฟีนหรือเฮโรอีนยกเว้นผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีและมีโรคร้ายแรงอยู่ในร่างกาย

การรักษาผู้ติดยาเสพติด ที่สำนักสงฆ์ วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี

 

 

การถอนพิษยาสำหรับผู้ติดเฮโรอีนจึงอาจใช้วิธีหยุดยาไปเฉย ๆ และให้ทนทรมานไปจนกว่าจะพ้นระยะอาการถอนยาในเวลา ๕-๗ วัน บางคนก็อ้างว่าวิธีการถอนยาแบบนี้เป็นการลงโทษและใช้เป็นการสั่งสอนผู้ติดยาให้ไม่กล้าที่จะไปติดยาอีก 

การรักษาที่ทำกันมากก็เป็นการใช้ยาพวกฝิ่นหรือยาสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์แบบเดียวกัน เช่น เมทาโดน (methadone) เป็นยาแทนแล้วค่อย ๆ ลดขนาดยาลงไปเรื่อย ๆ เพื่อให้อาการถอนยาเกิดขึ้นน้อยและไม่รุนแรงจนในที่สุดก็หยุดยาได้พร้อมกันนี้อาจใช้ยาอย่างอื่นรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยากล่อม ประสาทช่วงในระยะที่อาการมาก 

การใช้ยารักษาตามอาการอย่างเดียวก็อาจใช้ได้สามารถบรรเทาอาการถอนยาลงไปได้และได้ผลเช่นเดียวกันการใช้ยาสมุนไพรหรือวิธีการอื่น ๆ เช่น การ ฝังเข็มก็อาจเปลี่ยนหรือระงับอาการถอนยาไปได้ 

ในทางปฏิบัติผู้ที่ติดยาเสพติดมักจะมีสุขภาพไม่ดีขาดอาหารและมีโรคต่าง ๆ ยิ่งผู้ที่ใช้ยาฉีดเข้าเส้นโดยไม่ได้รักษาความสะอาดก็มีโรคจากการอักเสบติดเชื้อในอวัยวะต่าง ๆ ได้การรักษาในระยะถอนยาจึงจำเป็นต้องให้การดูแลรักษาโรคที่อาจซ่อนอยู่ด้วยชาวไทยภูเขาที่ติดฝิ่นมีถึงร้อยละ ๓๐ ที่มีภาวะผิดปกติที่เห็นได้ในภาพเอกซเรย์ของปอดและไต เช่น เป็นวัณโรคของปอดปอดอักเสบและนิ่วในทางเดินปัสสาวะการรักษาการถอนพิษยาจะไม่ได้ผลถ้าโรคต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาด้วย 

โดยสรุปการถอนพิษยาสำหรับฝิ่นและเฮโรอีนมีเทคนิคในการปฏิบัติที่ทำได้ไม่ยากจะใช้วิธีใดก็ได้

ผู้ที่เข้ารับการรักษาจำนวนไม่น้อยเป็นผู้เคยได้รับการรักษาแล้วและหยุดใช้ชั่วคราวแล้วกลับไปใช้อีกการรักษาจึงเป็นเพียงการช่วยในระยะการติดยาขาดเป็นช่วง ๆ และขนาดของยาที่ใช้ลดลงเท่านั้น 

ในระยะถอนพิษยาหรือก่อนกลับไปใช้อีกผู้ติดยาไม่ต้องใช้เงินในการซื้อยาก็ย่อมเกิดประโยชน์ในการลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและลดอาชญากรรมลงได้แม้ว่าเขาจะกลับไปติดใหม่ก็ตามเมื่อติดใหม่ก็ใช้ยาในขนาดน้อยกว่าเดิมด้วย 


๒. การปรับปรุงแก้ไขจิตใจและบุคลิกภาพ 

ในโครงการรักษาผู้ติดยาบางโครงการเป้าหมายหลักในการรักษาเป็นการปรับปรุงแก้ไขด้านจิตใจเพื่อให้สามารถหยุดยาได้ตลอดไปหรือลดปัญหาลงเทคนิคในการแก้ไขด้านจิตใจมีอยู่มากมายหลายแบบตัวอย่าง เช่น 

๒.๑ การรักษาทางจิตด้วยวิธีการต่างๆทางจิตเวชศาสตร์ เช่น จิตวิเคราะห์ จิตบำบัด เป็นต้น

๒.๒ การอบรมและให้คำปรึกษาด้วยจิตแพทย์พระภิกษุ นักบวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์หรือบุคคลอื่น 

๒.๓ การฝึกวินัย เช่น การให้มีชีวิตในที่คุมขังหรือโรงเรียนหรือโรงพยาบาลที่จำกัดขอบเขตและมีระเบียบวินัยที่เข้มงวดตลอดจนการมีระบบลงโทษและให้รางวัลเพื่อปรับปรุงอุปนิสัย 

๒.๔ อาชีวะบำบัดใช้การทำงานเป็นเครื่องรักษาให้มีเครื่องยึดเหนี่ยวแล้วใช้การฝึกอบรมสั่งสอนและวิธีการต่าง ๆ เป็นเครื่องช่วยปรับปรุงจิตใจ 

๒.๕ ชุมชนบำบัดเป็นวิธีการที่สร้างชุมชนจำลองขึ้นให้ผู้ที่เคยติดยาเสพติดได้ปรับจิตใจของตนเองให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ส่วนใหญ่จะมีผู้เคยติดยาที่ได้เลิกเด็ดขาดแล้วเป็นผู้ดำเนินการและช่วยเหลือเทคนิคที่ใช้ในชุมชนบำบัดนี้มีอยู่หลายแบบทั้งด้านการสร้างความเห็นอกเห็นใจการให้ความช่วยเหลือการให้คำปรึกษาหรือการสร้างระเบียบวินัยการสร้างนิสัยการทำงานการสร้างความรับผิดชอบบางแห่งมีการใช้เทคนิคการเผชิญหน้าโดยให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนได้โต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันเพื่อให้เกิดการระลึกตนเองได้


การฝึกสมาธิการบวชเรียนก็อาจใช้เป็นวิธีปรับปรุงจิตใจได้ 

การแก้ไขปรับปรุงจิตใจสำหรับผู้ติดยาเสพติดนี้เห็นได้ชัดว่ากระทำได้ลำบากและหวังผลได้ยากจะต้องใช้เวลานานและค่อย ๆ เปลี่ยนและปรับไปทีละน้อยต่างคนก็อาจมีปฏิกิริยาและผลแตกต่างกันออกไป

นักเรียนฝึกนั่งสมาธิ

 

 

ในสหรัฐอเมริกาได้มีสถานบำบัดรักษาแบบชุมชนบำบัดนี้หลายแห่ง เช่น ไซนานูนและเดย์ทอป (Synanoon, Daytop) ที่อังกฤษมีฟีนิกซ์เฮาส์ (Phoenix House) ในยุโรปก็มีอยู่หลายแห่ง เช่น เดย์ทอป เยอรมนี (Daytop Germany) เป็นต้น วิธีการที่ใช้มีหลักการคล้ายคลึงกันและแตกต่างกันบ้างในข้อปลีกย่อยมีเป้าหมายมุ่งที่จะแก้บุคลิกภาพและสภาพจิตเป็นสำคัญต้องใช้เวลาบำบัดรักษา ๑ - ๒ ปี

ในการประเมินผลการบำบัดรักษามีผู้อ้างว่าวิธีการนี้ได้ผลดีที่สุดอัตราการเลิกใช้ยาเสพติดเกิน ๒ ปี มีสูงถึงร้อยละ ๘๐ ของผู้ที่รับการรักษาครบกำหนดส่วนผู้ที่รักษาไม่ครบก็ยังมีอัตราการเลิกใช้ยาสูงพอและอัตราการเกิดปัญหาทางอาชญากรรมลดลงเป็นที่พอใจและดีกว่าการรักษาวิธีอื่น ๆ อย่างไรก็ตามบางแห่งอัตราการเลิกรักษากลางคันยังสูงอยู่มาก 


๓. การสร้างเครื่องยึดเหนี่ยว 

ผู้ที่ติดยาเสพติดมีบุคลิกภาพที่ไม่ดีอยู่เดิมและเปลี่ยนไปจากการติดยาเพิ่มเติมขึ้นอีกตลอดจนสภาพการที่จิตใจขึ้นกับยายังคงอยู่เป็นเวลานานการปรับปรุงการแก้ไขสภาพจิตใจอาจจะกระทำได้ไม่เต็มที่การสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวอาจช่วยให้ผลการบำบัดรักษาดีขึ้นตัวอย่างของสิ่งยึดเหนี่ยว ได้แก่ 

๓.๑ การให้คำมั่นสัญญากับตนเองหรือผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือรวมทั้งการให้สัตว์ปฏิญาณ 

๓.๒ การบนบานและความกลัวถึงโทษที่จะเกิดขึ้นจากการกลับสาบาน 

๓.๓ การคุมประพฤติที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ทำการตรวจเป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่ากลับไปใช้ยาเสพติดอีกหรือไม่รวมทั้งการตรวจปัสสาวะหายาเสพติดตลอดไปถึงการถูกลงโทษถ้าตรวจพบ 

การที่นักสังคมสังเคราะห์ไปพบดูแลที่บ้านเป็นระยะ ๆ อาจเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสำหรับบางคนไม่ให้ไปใช้ยาเสพติดอีก 

๓.๔ การใช้ยาต้านฤทธิ์ยาเสพติด (narcotic antagonist) วิคเลอร์ (Wikler) ได้ศึกษาสรีรวิทยาของการติดยาเสพติดแล้วตั้งทฤษฎีว่าน่าจะใช้ยาต้านฤทธิ์ยาเสพติดไปห้ามฤทธิ์ของยาทำให้ผู้ติดยาที่ไปใช้ยาจะไม่ได้ผลตามต้องการเมื่อได้รับยาต้านฤทธิ์ยาเสพติดเข้าไปในร่างกายยาจะไปจับกับจุดรับยาในสมองซึ่งเป็นจุดที่ยาเสพติดไปออกฤทธิ์ดังนั้นภายหลังที่ได้รับยาต้านฤทธิ์ไปเต็มที่แล้วต่อไปเมื่อได้รับยาเสพติดก็ไม่เกิดผลอย่างใดเลยหากเป็นอยู่นานความพอใจที่ควรจะได้จากการใช้ยาจะขาดหายไปแรงผลักดันให้ไปใช้ยาเสพติดก็จะค่อย ๆ หายไปด้วย เรียกว่า การดับ (extinction) ของเงื่อนไข (conditioning) ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ. ๑๙๖๖) มาร์ติน (Martin) ก็นำไปใช้ในการรักษาจริง ๆ การใช้ยาต้านฤทธิ์ในการรักษานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองยังต้องรอผลการศึกษาวิจัยต่อไป

ในระยะแรกมีการใช้นาลอร์ฟีนแต่ฤทธิ์ต้านยาเสพติดยังอ่อนเกินไปยานี้คงใช้ได้แต่ในการรักษาผู้ใช้ยาเกินขนาดเท่านั้นต่อมาได้มีนาลอกโซนซึ่งมีฤทธิ์ต้านยาเสพติดดีแต่ปรากฏว่าราคาแพงต้องใช้ฉีดการกินทางปากได้ผลไม่ดีและฤทธิ์ของยาอยู่เพียง ๑๐ ชั่วโมง ในทางปฏิบัติจริงจึงใช้ลำบากในระยะหลังนี้การศึกษาวิจัยยานัลแทรกโซน (naltrexone) ซึ่งกินทางปากได้และออกฤทธิ์อยู่ได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง การใช้ยานี้อยู่เป็นประจำจะช่วยคนบางคนที่มีความตั้งใจพอที่จะกินยาต้านฤทธิ์เพื่อช่วยให้ตนเองไม่ไปใช้เฮโรอีนหรือถึงไปใช้ก็ไม่ได้ผลจะเห็นได้ว่ากระบวนการของยาต้านยาเสพติดนี้ต่างจากแอนตาบุสหรือไดซัลฟาแรม (antabuse or disulfaram) ซึ่งมีผลเกิดอาการรุนแรงถ้าผู้ใช้ไปดื่มเหล้า 

ปัญหาที่มีในการใช้วิธีการนี้ก็คือผู้ติดยาอาจหยุดยานี้ไปชั่วคราวเพื่อกลับไปใช้เฮโรอีนเป็นระยะ ๆ ได้ 


๔. การแก้ไขสภาพแวดล้อม

การให้การฝึกอาชีพการจัดหางานการสังคมสงเคราะห์อาจช่วยผู้ติดยาบางคนที่ไม่มีงานทำได้มีความรู้ความสามารถในการทำมาหากินมีรายได้เมื่อกลับเข้าไปสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง 

การให้คำปรึกษาหารือแก่พ่อแม่ผู้ปกครองของผู้ที่ติดยาเสพติดให้เข้าใจปัญหาและได้ช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นโอกาสที่จะกลับไปใช้อีกจะได้น้อยลง 

การจัดให้มีบริการสาธารณสุขเบื้องต้นในหมู่บ้านชาวไทยภูเขาซึ่งใช้ฝิ่นเป็นยารักษาโรคก็เป็นการแก้ไขสภาพแวดล้อมเพื่อให้โอกาสที่จะต้องกลับไปใช้และติดฝิ่นอีกนั้น น้อยลง 

การแก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวม เช่น ปัญหาแหล่งมั่วสุม แหล่งอบายมุข ชุมชนแออัด ความยากจน การว่างงานตลอดจนปัญหาเด็กวัยรุ่นและทัศนคติของสังคมต่อยาเสพติดและผู้ติดยาเสพติดจะมีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้ผู้ที่หยุดยาเสพติดแล้วกลับไปใช้ใหม่อีก

จะเห็นได้ว่าการแก้ไขสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่งขึ้นไปอีกแต่การรักษาที่ดีจะต้องมีเป้าหมายให้ผู้ติดยาเสพติดได้กลับเข้าไปอยู่ในสังคมและสภาพแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง 


๕. การรักษาเพื่อลดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจของการติดยาเสพติด

เทคนิคการรักษาแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วมีเป้าหมายที่จะให้ผู้ติดยาเสพติดได้เลิกเสพและกลับเข้าไปสู่สังคมเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไปแต่สำหรับผู้ติดยาเสพติดจำนวนไม่น้อยความหวังที่จะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้เป็นไปได้ยากยิ่งหรือเป็นไปไม่ได้เลยการรักษาจึงจำเป็นต้องลดเป้าหมายลงมาไม่ต้องให้ถึงกับหยุดยาเสพติดโดยเด็ดขาดแต่ให้สามารถควบคุมได้และสภาพการติดยาไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจหรือปัญหาอาชญากรรมอันเป็นอันตรายต่อสังคมต่อไปการรักษาด้วยเป้าหมายเพียงลดปัญหาจึงเป็นเทคนิคที่จำเป็นต้องนำมาใช้ด้วย

 

๕.๑ การใช้เฮโรอีนจ่ายให้แทนตลาดมืดเป็นวิธีการที่ใช้ในประเทศอังกฤษผู้ที่ติดเฮโรอีนต้องขึ้นทะเบียนแล้วแพทย์มีสิทธิจ่ายเฮโรอีนให้ได้ผู้ติดยาเลยไม่ต้องเสียเงินซื้อเฮโรอีนจากตลาดมืดซึ่งมีราคาแพงมาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. ๑๙๕๘) มีผู้ขึ้นทะเบียนอยู่ ๖๒ ราย แต่ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ (ค.ศ. ๑๙๖๘) มีเพิ่มขึ้นเป็น ๒,๒๔๐ รายได้มีการแก้กฎหมายและระเบียบให้แพทย์และเภสัชกรเพียงบางแห่งที่จัดขึ้นเฉพาะเท่านั้นที่มีสิทธิจ่ายเฮโรอีนเพราะมีปัญหาในการควบคุมดูแล 

๕.๒ การใช้เมทาโดนแทนเฮโรอีนระยะยาววิธีการนี้ดอลและนิสวันเดอร์ (Dole and Nyswander) ได้เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ. ๑๙๖๕) โดยมีหลักการว่าใช้เมทาโดนให้ทางปากแทนเฮโรอีนและพยายามเพิ่มขนาดขึ้นจนถึงระดับที่ไม่มีอาการถอนยาแม้ผู้ติดยาจะไม่ได้รับเฮโรอีนการได้รับยาขนาดนี้เป็นประจำทุกวันโดยใช้ยาวันละครั้งเพราะยามีฤทธิ์อยู่นานพอจะมีผลให้ความอยากยาบรรเทาลงไปและแม้ว่าผู้นั้นจะไปฉีดเฮโรอีนเข้าหลอดเลือดก็จะไม่ได้รับผลตามฤทธิ์ของเฮโรอีน เพราะเมทาโดนไปทำให้เกิดการต้านยาอย่างเต็มที่แล้ว 

โดยปกติผู้ติดยาจะมีอาการเมาเมื่อได้รับยาสลับกับอาการไม่สบายจากการขาดยาโดยอาจมีช่วงเวลาที่มีสภาพจิตและร่างกายเป็นปกติอยู่บ้างมากน้อยแล้วแต่บุคคลเมื่อได้รับการรักษาด้วยเมทาโดนระยะยาวดังกล่าวนี้ก็จะมีสภาพจิตและร่างกายเป็นปกติอยู่ตลอดเวลาทำให้สามารถประกอบการงานหรือเล่าเรียนได้หรือสามารถรับการฟื้นฟูสภาพจิตได้เป้าหมายของการรักษาจึงเป็นการลดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจลงและให้มีชีวิตอยู่ในสังคมทั่วไปได้โดยยังใช้ยานี้อยู่ 

วิธีการดังกล่าวนี้ปรากฏว่าผลดีในบางรายมีบางรายที่ยังไปใช้เฮโรอีนอยู่เป็นระยะ ๆ มีสถานพยาบาลที่ใช้วิธีการนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกาจนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ (ค.ศ. ๑๙๗๐) มีผู้ได้รับการรักษาแบบนี้อยู่ถึง ๙,๐๐๐ คน และต่อมาก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนใน พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) มีถึง ๘๕,๐๐๐ คน เพราะปรากฏว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลตามเป้าหมายมากกว่าวิธีการอื่นที่มีอยู่ 

ข้อเสียของวิธีการนี้มีมากขึ้นเมื่อมีการใช้มากขึ้นบางคนต้องใช้ยาขนาดมากจึงได้ผลตามต้องการและทำให้ง่วงในระยะหลังได้รับยาใหม่ ๆ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับการรักษาจะต้องเดินทางไปรับยาด้วยตนเองทุกวันอันเป็นความลำบากและรบกวนต่อภารกิจประจำวันซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญของวิธีการนี้ 

ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. ๑๙๗๒) ได้มีระเบียบอนุญาตให้จ่ายยาให้กลับไปใช้เองที่บ้านได้โดยไปรับยาสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตนดีตั้งแต่นั้นมาก็มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นอันมากเพราะมีการใช้ยาเมทาโดนเกินขนาดและบางคนก็เสียชีวิตเมทาโดนทีจ่ายออกไปก็เข้าสู่ตลาดมืดและมีการระบาดของการติดเมทาโดนเป็นโรคใหม่ขึ้นมาในการสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗-๑๘ (ค.ศ. ๑๙๗๔-๗๕) พบว่าร้อยละ ๔๖ ของผู้ติดยาที่ได้สัมภาษณ์ใช้เมทาโดนจากตลาดมืดในระยะสัปดาห์ก่อน สัมภาษณ์และร้อยละ ๗๐ เคยใช้ในระยะ ๓ เดือนก่อน ปัญหาเมทาโดนซึ่งรั่วไหลออกไปจากสถานบำบัดรักษาต่าง ๆ จึงเป็นข้อเสียประการสำคัญ 

ได้มีการคิดค้นตัวยาที่ออกฤทธิ์อยู่นานกว่าเมธาโดนเพื่อให้สามารถยืดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องไปรับยาให้ห่างออกตัวอย่างเช่นแลม (LAAM) ซี่งมีฤทธิ์อยู่นานและใช้วันเว้นวันหรือสัปดาห์ละ ๓ วัน ในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยกันอยู่ 

เทคโนโลยีการบำบัดรักษาแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้อาจใช้ประกอบกันหลาย ๆ อย่างและจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับผู้ติดยาแต่ละคนด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow