หนอนกอ (stem borer)
มี ๒ ชนิด คือ หนอนกอแถบลายสีม่วง (Chilo polychrysus) และหนอนกอสีชมพู (Sesamia inferens) หนอนกอทำลายข้าวสาลีได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ในระยะการเจริญเติบโตของต้นแม่ จนถึงระยะยืดลำต้น หนอนกอจะกัดกินเจาะเข้าไปภายในลำต้นทำให้เกิดอาการ "ยอดเหี่ยว" และถ้าหนอนเข้าทำลายก้านคอรวง ที่รวงได้พัฒนาแล้ว รวงที่โผล่ออกมาจะมีสีขาว เมล็ดลีบหมด เรียกว่า "ข้าวหัวหงอก" ถ้าดึงยอดที่เหี่ยวหรือรวง ข้าวหัวหงอกจะหลุดติดมือออกมาได้โดยง่าย และเมื่อดูที่ลำต้น
จะพบรูที่หนอนเจาะเข้าไป และหนอนภายในต้น
หนอนกระทู้ (cutworm)
มี ๒ ชนิด คือ หนอนกระทู้คอรวง (Mythimna separata) และหนอนกระทู้กล้า (Spodoptera mauritia) หนอนจำพวกนี้กัดกินใบต้นกล้า และลำต้น จนต้นหัก ใบฉีกขาดเป็นรอยแหว่งๆ โดยปรกติหนอนชนิดนี้ชอบกัดกินใบข้าวสาลีในเวลากลางคืน ในตอนกลางวันมีน้อย ส่วนใหญ่มักจะหลบซ่อนอยู่ตามโคนลำต้นข้าวสาลี และตามรอยแตกของดิน
หนอนเจาะสมอฝ้ายหรือหนอนกระทู้ข้าวโพด (Helithis armigera)
ทำลายข้าวสาลีโดยการกัดกินใบ ต้นอ่อน คอรวง เมล็ดในรวง ทำให้มีลักษณะเสียหายต่าง ๆ เช่น ใบขาดแหว่ง ต้นอ่อนถูกกัดขาด ต้นเหลือแต่ก้านรวง หางที่รวงถูกกัดขาด เมล็ดในรวงถูกกัดกิน เป็นต้น ลักษณะของข้าวสาลีที่ถูกทำลายเหล่านี้คล้ายกับการทำลายโดยตั๊กแตน แต่มีข้อสังเกตความแตกต่างได้จากขี้หนอนที่ถ่ายออกมาตามบริเวณซอกกาบใบหรือโคนต้น ตัวหนอนชอบออกทำลายในเวลากลางคืน
มวนเขียวข้าว (Nezara viridula)
ตัวอ่อน และตัวแก่เจาะดูดกินแป้งในระยะเป็นน้ำนม โดยการขับน้ำย่อยออกมา เพื่อช่วยย่อยแป้งให้ดูดกินได้ง่ายขึ้น นอกจากจะทำให้เมล็ดในรวงลีบ หรือไม่สมบูรณ์แล้ว ยังทำให้เมล็ดมีรอยเปื้อนหรือรอยตำหนิ ซึ่งเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ขึ้นปะปนแป้งในเมล็ด คุณภาพเมล็ดจะเสื่อม
เพลี้ยอ่อนดำหญ้า (Hysterneura setariae)
พบอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบก้านรวง และที่รวง ถ้าระบาดมากๆ จะทำให้ส่วนที่ถูกดูดกินแสดงอาการช้ำ ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปจะเหี่ยว หากระบาดก่อนออกรวง ข้าวสาลีจะมีใบเหลือง ฟุบตาย ถ้าดูดกินที่ก้านรวงจะทำให้ก้านรวงอ่อนหรือหักพับห้อยลงมา เมล็ดในรวงไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ สารที่เพลี้ยอ่อนขับถ่ายออกมายังทำให้เกิดเชื้อราดำติดที่ส่วนต่างๆ บริเวณที่เพลี้ยอ่อนทำลายการสังเคราะห์แสงของใบลดลง