Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะทางเวชกรรม

Posted By Plookpedia | 03 ก.ค. 60
3,316 Views

  Favorite

ลักษณะทางเวชกรรม

๑. วิธีการติดเชื้อ 

เป็นที่ชัดเจนว่าการติดเชื้อเอชไอวีนั้น 

  • ติดโดยการมีเพศสัมพันธ์ (ซึ่งจะดูรายละเอียดได้ในหัวข้อปัจจัยและกลุ่มผู้เสี่ยงต่อการติดโรคสูง)
  • ติดต่อโดยการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อ
  • ติดต่อโดยการถ่ายเลือด องค์ประกอบของเลือด และปัจจัยช่วยในการแข็งตัวของเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก ผสมเทียม 
  • ติดเชื้อแต่กำเนิดในครรภ์มารดา ติดระหว่างคลอด หรือติดหลังคลอดก็ได้ ส่วนใหญ่จะติดระหว่างอยู่ในครรภ์และระหว่างคลอด

๒. ระยะฟักตัว

      ตั้งแต่ได้รับเชื้อจะทำให้เกิดภาวะติดเชื้อแต่กว่าจะดำเนินจากภาวะติดเชื้อที่ไม่มีอาการจนกลายเป็นโรคเอดส์เต็มขั้นนั้นจะกินเวลาหลายปี  ดังนั้นระยะฟักตัวจึงจะแบ่งออกไปเป็น ๒ ตอน คือ ระยะฟักตัวของการติดเชื้อเฉียบพลันและระยะฟักตัวของภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือโรคเอดส์เต็มขั้น คือ การติดเชื้อจุลชีพฉวยโอกาสและเป็นมะเร็งแคโปสิซาร์โคมาหรือภาวะอื่น ๆ นั่นเอง 
๒.๑ ระยะฟักตัวของการติดเชื้อเฉียบพลัน 
      คือ ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีภาวะติดเชื้อเฉียบพลันซึ่งจะมีองค์ประกอบของไวรัสหรือแอนติเจนปรากฎและต่อมาก็จะมีแอนติบอดีในกระแสเลือด  หลังจากได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีจะเกิดการติดเชื้อซึ่งจะมีระยะฟักตัวประมาณสองสัปดาห์อาจยาวนานเป็นเดือนก็ได้จึงจะแสดงอาการของภาวะติดเชื้อเฉียบพลัน 

อาการของการติดเชื้อเฉียบพลัน 

      ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปในระยะเวลาผ่านไป ๒-๓ สัปดาห์ก็จะติดเชื้อ  โดยอาจจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลยก็ได้ บางรายประมาณร้อยละ ๔๐ จะมีอาการคล้าย ๆ จะเป็นไข้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อินเฟคเชียส โมโนนิวคลิโอซิส (Infectious mononucleosis-like) คือ จะมีไข้ต่ำ ๆ เรื้อรังติดต่อกันหลายวันและมีต่อมน้ำเหลืองโตตามบริเวณคอ ซอกคอ และที่ซอกรักแร้ บางคนมีอาการน้อยจนแทบไม่ได้สังเกตเห็นและอาการแสดงต่าง ๆ ดังกล่าวนี้จะหายไปได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษาผู้ที่ติดเชื้อในประเทศไทยมักไม่มีอาการดังกล่าวนี้ 
      การตรวจทางห้องปฏิบัติการในระยะติดเชื้อเฉียบพลันนี้ในระยะสัปดาห์แรกจะพบระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ (lymphopenia) และเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ ๒ ระดับเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มขึ้นเพราะระดับ CD8+ cells เพิ่มขึ้น โดย CD4+ cells จะยังมีจำนวนลดลง  ดังนั้นจึงทำให้อัตราส่วนของเซลล์ CD4+ ต่อ CD8+ จะมีค่าต่ำกว่า ๑ เมื่อเวลาผ่านมาหลายเดือนหลังติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ระดับ CD8+ cells จะคืนกลับสู่ปกติ  แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีจำนวนมากกว่า CD4+ cells  นอกจากนี้ยังตรวจพบไวรัสเอชไอวีในระดับสูงในเลือดซึ่งจะอยู่เป็นสัปดาห์  หลังจากนั้นจะลดระดับลงเนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นซึ่งระดับแอนติบอดีจะสามารถตรวจพบได้  หลังจากติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้ว ๑-๔ สัปดาห์  ผ่านจากระยะการติดเชื้อเฉียบพลันก็จะเข้าสู่ระยะแฝงหรือ "เชื้อหลบใน"(Latency) ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรเลยปกติสมบูรณ์ดีแต่ยังสามารถแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาโดยวิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวไว้แล้ว 

๒.๒ ระยะฟักตัวของภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม 
      คือ ระยะฟักตัวตั้งแต่ได้รับเชื้อจนเป็นโรคเอดส์เต็มขั้นดังได้กล่าวไว้แล้วว่าการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีอาจจะตรวจพบแอนติ-เอชไอวี  โดยที่บุคคลนั้นจะยังไม่ได้เป็นเอดส์เต็มขั้นแต่เป็นเพียงพาหะ (Healthy carrier) โดยไม่มีอาการใด ๆ (Asymptomatic infection) ร้อยละ ๓๐ ของผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเอดส์ภายในเวลา ๕ ปี และอาจถึงร้อยละ ๖๐ ถ้าติดตามไปเป็นระยะเวลา ๖ ปี มี รายงานจากต่างประเทศว่าประมาณร้อยละ ๑๐ จะยังมีสุขภาพดียังไม่เป็นเอดส์เต็มขั้น ภาวะที่พบในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันเสื่อมจะแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้ 
      ๒.๒.๑ การติดเชื้อฉวยโอกาส เชื้อฉวยโอกาสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันเสื่อมนั้นได้แก่ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิตต่าง ๆ อุบัติการพบการติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดต่าง ๆ นี้แตกต่างกันตามเชื้อชาติของผู้ป่วยและตามภูมิภาคของโลก เช่น ปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติส คารินิไอ (Pneumocystis carinii) จะพบบ่อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา (กว่าร้อยละ ๕๐ ของผู้ป่วย ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ ๆ) แต่จะพบได้เป็นอันดับที่สามของผู้ป่วยในแอฟริกาแม้ว่าจะเป็นชาวแอฟริกันที่พำนักอยู่ในยุโรปก็จะพบน้อยเช่นกัน  ผู้ป่วยชาวไฮตีก็พบน้อยกว่าผู้ป่วยชาวอเมริกัน วัณโรคเป็นกลุ่มเชื้อฉวยโอกาสที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยโรคเอดส์ในไทย โรคติดเชื้อราเพนนิซิเลียม มาเนฟฟีไอจะพบบ่อยในผู้ป่วยที่พำนักอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยพบน้อยในภูมิภาคอื่น เป็นต้น

 

การติดเชื้อฉวยโอกาส
การติดเชื้อฉวยโอกาส ชนิดเชื้อราที่หนังศีรษะ

 
      ๒.๒.๒ มะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา มะเร็งแคโปสิจะพบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นพวกรักร่วมเพศ  ในรายงานตอนแรก ๆ ผู้ป่วยกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมในสหรัฐอเมริการ้อยละ ๓๖-๕๐ จะเป็นมะเร็งแคโปสิ อาจจะเป็นเดี่ยว ๆ หรือเป็นร่วมกับการติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดใดชนิดหนึ่ง  ผู้ป่วยกลุ่มรักต่างเพศจะพบมะเร็งแคโปสิน้อยกว่า อาทิเช่น  ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดยาเสพติดเข้าหลอดเลือดดำจะเป็นมะเร็งแคโปสิเพียงร้อยละ ๓-๔  ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียหรือได้รับการถ่ายเลือดจากผู้ที่เป็นโรคเอดส์จะพบมะเร็งแคโปสิ ต่ำกว่าร้อยละ ๒ ในประเทศไทยพบมะเร็งชนิดนี้น้อยมาก 
      ๒.๒.๓ มะเร็งอื่น ๆ Non-Hodgkin's Lymphoma เป็นมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองลิมโฟมาชนิดร้ายแรง  กระจัดกระจายและแยกชนิดเซลล์ไม่ได้ (Undifferentiated) มักเกิดที่สมองเกิดจากเซลล์ B lymphocyte มักไม่สนองตอบต่อสารเคมีบำบัด การติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนสูงอัตราตายสูงอาจพบในปากทวารหนัก ผิวหนัง และในโพรงไซนัสและไขกระดูกก็ได้  นอกจากนั้นอาจพบมะเร็งของอัณฑะ มะเร็งความัสเซลล์ มะเร็งเมลาโนมาชนิดร้าย
      ๒.๒.๔ โรคทางระบบประสาท อาจเกิดได้จากทั้งตัวเอชไอวีเองและจากการติดเชื้อฉวยโอกาส  โดยที่ถ้าเป็นจากเอชไอวีมักจะเป็นช่วงระยะท้ายจากภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม ถ้ามีอาการชักมักจะเกิดจากสมองอักเสบจากเชื้อ Toxoplasma gondii หรือมะเร็งลิมโฟมาในสมอง 
      ๒.๒.๕ เอดส์ ดีเมนเซีย คอมเพล็กซ์ (AIDS dementia complex) หรือ HIV-associated dementia (HAD) มีอาการเสื่อมของการรับรู้โดยทั่วไปขาดความสนใจ ขี้ลืม เชื่องช้า เสียการทรงตัว งุ่มง่าม ขาไม่มีแรงและซึม ไม่ตอบโต้ แยกตัวจากสังคม พูดช้าหรือพูดไม่ค่อยได้ ฯลฯ การตรวจทางห้องปฏิบัติการพบน้ำไขสันหลังมีโปรตีนสูงเพราะเชื้อไวรัสได้ผลบวกพบแอนติบอดีต่อไวรัสเอชไอวีเป็นชนิด ไอจีจี (IgG) 
      ๒.๒.๖ กลุ่มอาการอื่น ๆ เกิดจากเอชไอวีไปติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ไต ระบบทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ ผิวหนัง

๓. โรคเอดส์ในเด็ก

๓.๑ อาการทางคลินิก 
      จากการศึกษาผู้ป่วยเอดส์เด็กในสหรัฐอเมริกาพบว่าในรายที่เกิดจากการติดเชื้อในครรภ์มารดาอาจจะตายตอนคลอด  มีอาการสมองติดเชื้อ Mycobacterium Cytomegalovirus Klebsiella เป็นต้น และเป็นปอดบวมชนิด Lymphoid interstitial pneumonia  ส่วนใหญ่ทารกแรกคลอดจะไม่ปรากฏอาการ ยกเว้นในรายที่ติดเชื้อขณะอยู่ในครรภ์มารดาที่ฉีดยาเสพติดด้วยนั้นในระยะแรกคลอดจะมีอาการแสดงของการ "ขาดยา"(Drug withdrawal) 
อาการของโรคเอดส์จะปรากฏขึ้น เมื่อทารกอายุได้ประมาณ ๖-๘ เดือน อาการที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้ คือ 

  • เลี้ยงไม่โต
  • น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
  • ติดเชื้อแบคทีเรียง่าย เช่น เป็นปอดบวม หูน้ำหนวก 
  • อุจจาระร่วงเรื้อรัง 
  • ตับและม้ามโต
  • ติดเชื้อจุลชีพฉวยโอกาส 
  • ผู้ป่วยเด็กจะไม่ค่อยเป็นมะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา 

     เด็กจะมีอาการแปลกจากผู้ใหญ่ก็ คือ ต่อมน้ำลายพาโรติดบวมเรื้อรัง ข้อสำคัญ คือ การเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่เห็นได้ คือ ศีรษะจะไม่โตขึ้นทำให้มีสมองเล็ก สำหรับอาการทางสมองนั้นทารกจะไม่เจริญเติบโตทั้งร่างกายและพัฒนาการต่าง ๆ มีอาการแสดงของคอร์ติโคสไปนัล แทรคส์  มีแขนขาทั้งสองข้างแข็งเกร็งและอ่อนแรง พูดช้า บางรายจะมีผิวหนังเปื่อย (lyeli's syndrome) 
๓.๒ การวินิจฉัยโรคเอดส์ในเด็ก 
      การวินิจฉัยโรคในเด็กมักจะมีปัญหาแม้ว่าจะมีการตรวจเลือดก็อาจจะยากในการแปลผล ทั้งนี้เนื่องจากแอนติบอดีของมารดาที่ผ่านรกไปยังทารกนั้นจะรบกวนการแปลผลเพราะแอนติบอดีชนิด ไอจีจี (IgG) ที่ผ่านจากมารดามายังทารกกับไอจีจี (IgG) ที่เกิดจากการติดเชื้อเองนั้นยังไม่สามารถจะวินิจฉัยแยกจากกันได้ นอกจากอาศัยเวลาผ่านไปแอนติบอดีจากมารดาจะค่อย ๆ ลดลง จึงจะแปลผลได้ เช่น ตรวจเลือดพบว่าทารกให้เลือดเอดส์บวกอยู่ตลอดเวลาเป็นเวลา ๑๕-๑๘ เดือนหรือนานกว่านั้น  นอกจากการแยกและเพาะเชื้อการตรวจพบแอนติเจน ชนิด p24 แอนติเจน และการตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgA จะให้การวินิจฉัยการติดเชื้อได้  ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจแบบใหม่มาช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีในเด็ก ได้แก่ วิธีปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (Polymerase Chain Reaction หรือ PCR) ซึ่งมีความไวและจำเพาะเท่ากับวิธีการแยกและเพาะเลี้ยงเชื้อและไวกว่าวิธีการตรวจหา p24 antigen และ IgA จำเพาะ

๔. การจำแนกระยะการติดเชื้อไวรัส เอชไอวีในผู้ใหญ่ 

      ๔.๑ เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ทางศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อและป้องกัน (Centre for Disease Controls and Prevention : CDC) ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จำแนกระยะการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในคนอายุตั้งแต่ ๑๓ ปีขึ้นไปออกมาใหม่  โดยใช้ระดับ CD4+ cells ในเลือดมาร่วมในการจัดระยะการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีร่วมกับอาการทางคลินิก  โดยจัดแบ่งระดับของ CD4+ cells และอาการทางคลินิกเป็น ๓ ระดับ ดังนี้ 
      ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่อยู่ในกลุ่ม C (C1, C2, C3) A3 และ B3 เท่านั้นที่จัดว่าเป็นโรคเอดส์ซึ่ง หมายถึง อาการภูมิคุ้มกันเสื่อมอย่างแท้จริงหรือเต็มขั้น  อาการทางคลินิกในกลุ่ม A ได้แก่ ผู้ที่ ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีและไม่มีอาการ  ในกลุ่ม B หรือ C จะแบ่งเป็นพวกไม่มีอาการ (Asympto- matic infection) กลุ่มอาการต่อมน้ำเหลืองโต (Persistent Generalized Lymphadenopathy, PGL) และกลุ่มอาการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีเฉียบพลัน (Acute or primary HIV infection) 
ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัวอย่างถาวร (Persistent Generalized Lymphadenopathy, PGL) หมายถึง ผู้ป่วยที่มีภาวะดังต่อไปนี้ 
      ๑. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากบริเวณขาหนีบ (Inguinal lymph node) โต ๒ บริเวณหรือมากกว่า และโตอย่างน้อย ๓ เดือนมาแล้ว 
      ๒. ต่อมน้ำเหลืองที่โตมิได้มีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ที่ทราบกันอยู่แล้วหรือมิได้โตจากการใช้ยา 
      ๓. การตรวจต่อมน้ำเหลืองทางจุลพยาธิวิทยาพบว่ามีลักษณะเป็นแบบรีแอคทีฟ ไฮเปอร์เพลเซีย (Reactive hyperplasia) 
อาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี กลุ่ม B ได้แก่ กลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีและมีอาการแต่เป็นอาการที่ไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่ม C และเป็นอาการที่อยู่ในข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ 
   ๑) กลุ่มอาการที่แสดงภาวะภูมิคุ้มกันทางด้านเซลล์บกพร่องหรือ 
   ๒) กลุ่มอาการที่แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นอาการแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ตัวอย่างเช่น 

  • Bacillary angiomatosis 
  • Candidiasis, oropharyngeal (thrush) 
  • Candidiasis, vulvovaginal ที่เป็นอยู่นาน บ่อยครั้ง และดื้อยา
  • Cervical dysplasia (moderate, severe) / cervical carcinoma in situ 
  • Constitutional symptoms เช่น ไข้ (๓๘.๕°ซ.) หรือท้องร่วงเรื้อรังนานกว่า ๑ เดือน 
  • Hairy leukoplakia, oral
  • Herpes zoster (งูสวัด) ที่เป็นติดต่อกันอย่างน้อย ๒ ครั้ง หรือเป็นมากกว่า ๑ ตำแหน่งบนร่างกาย 
  • Idiopathic thrombocytopenic purpura 
  • Listeriosis 
  • Pelvic inflammatory disease, โดยเฉพาะที่มีอาการแทรกซ้อนเป็นฝี ที่ tuboovarian 
  • Peripheral neuropathy 

กลุ่ม C ได้แก่ กลุ่มอาการทางคลินิกที่พบในผู้ป่วยโรคเอดส์ ได้แก่ 

  • Candidiasis of bronchi, trachea, or lungs 
  • Candidiasis, esophageal
  • Cervical cancer, invasive
  • Coccidioidomycosis, disseminated or extrapulmonary 
  • Cryptococcosis, extrapulmonary 
  • Cryptosporidiosis, chronic intestinal (>1 month's duration) 
  • Cytomegalovirus disease (other than liver, spleen, or nodes)
  • Cytomegalovirus retinitis (with loss of vision) 
  • Encephalopathy, HIV-related 
  • Herpes simplex: chronic ulcer(s) (>1 month's duration) ; or bronchitis, pneumonitis, or esophagitis 
  • Histoplasmosis, disseminated or extra-pulmonary
  • Isosporiasis, chronic intestinal (>1 month's     duration)
  • Kaposi's sarcoma
  • Lymphoma, Burkitt's (or equivalent term) 
  • Lymphoma, immunoblastic (or equivalent term) 
  • Lymphoma, primary, or brain 
  • Mycobacterium avium complex or M. kansasii, disseminated or extrapulmonary 
  • Mycobacterium tuberculosis, any site     (pulmonary* or extrapulmonary) 
  • Mycobacterium, other species or unidentified species, disseminated or extrapulmonary 
  • Pneumocystis carinii pneumonia 
  • Pneumonia, recurrent
  • Progressive multifocal leukoencephalopathy 
  • Salmonella septicemia, recurrent 
  • Toxoplasmosis of brain 
  • Wasting syndrome due to HIV 

โรคหรือกลุ่มอาการ ๒๕ โรคนี้จะคล้ายกับนิยามเดิมที่ใช้ แต่ได้เพิ่มโรคใหม่ขึ้นอีก ๓ โรค ได้แก่ 
      ๑) มะเร็งที่คอชนิดแพร่กระจาย (Inva- sive cervical cancer) 
      ๒) วัณโรค (Tuberculosis) ไม่ว่าจะเป็นที่ปอดหรือบริเวณอื่น ๆ นอกปอด 
      ๓) โรคปอดอักเสบที่เป็นซ้ำ [Recurrent (bacterial) pneumonia] มากกว่า ๑ ครั้งใน ๑ ปี

 

ต่อมน้ำลายพาโรติดบวมเรื้อรัง
ต่อมน้ำลายพาโรติดบวมเรื้อรัง 

 

๕. นิยามของโรคเอดส์ในกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย 

      กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้ปรับปรุงนิยามผู้ป่วยโรคเอดส์ใหม่และประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยแบ่งการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคเอดส์ออกเป็น ๓ ประเภท ซึ่งสอดคล้องกับการปรับปรุงของทางศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทุกประเภทต้องยืนยันได้ว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเอชไอวีแน่นอน ได้แก่ 
      ๑) อาศัยการตรวจพบโรคหรือกลุ่มอาการที่บ่งชี้ถึงความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งมีด้วยกัน ๒๕ โรคหรือกลุ่มอาการทางคลินิกในกลุ่ม C ที่จัดโดยศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อ 
     ๒) อาศัยการตรวจนับเม็ดเลือดขาว CD4+ cells น้อยกว่า ๒๐๐ เซลล์/ไมโครลิตรอย่างน้อยสองครั้ง  โดยผู้ป่วยอาจจะยังไม่มีโรคหรือมีโรคใดโรคหนึ่งในกลุ่มของ ๒๕ โรคดังกล่าวในประเภท C1 หรือมีแต่ยังไม่แน่นอนว่าใช่หรือไม่ซึ่งตรงกับกลุ่ม A3 และ B3
     ๓) นิยามใช้เฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ เดือน ที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาซึ่งดัดแปลงมาจากนิยามขององค์การอนามัยโลก  โดยอาศัยการพบอาการแสดงหลัก (Major signs) อย่างน้อย ๒ อย่าง และอาการแสดงรอง (Minor signs) อีก ๒ อย่าง แต่ถ้าผู้ป่วยเสียชีวิตการพบเพียงอาการแสดงหลักหนึ่งอย่างและอาการแสดงรองหนึ่งอย่างก็จัดว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ 

อาการแสดงหลัก (Major signs) 
ได้แก่ 
      ๑) น้ำหนักลด (มากกว่าร้อยละ ๑๐) หรือเลี้ยงไม่โตหรือมีภาวะขาดอาหารมากกว่าหรือเท่ากับระดับสองอาจมีหรือไม่มีภาวะผิดปกติทางพัฒนาการ 
      ๒) ท้องร่วงเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ นานกว่า ๑ เดือน 
      ๓) ไข้เรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ นานกว่า ๑ เดือน 
      ๔) มีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่รุนแรงมากหรือมีอาการต่อเนื่องกันตั้งแต่ ๒ เดือนขึ้นไป  โดยไม่พบเชื้ออื่นใดและไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยยาปฏิชีวนะหรือเป็นโรคที่ตำแหน่งเดิม ๒ ครั้งขึ้นไปใน ๑ ปี 
อาการแสดงรอง (Minor signs) ได้แก่ 
      ๑) ต่อมน้ำเหลืองโตทั้งตัวหรือตับและม้ามโต 
      ๒) มีฝ้าขาวในปาก (Oral thrush) ที่เกิดจากเชื้อรา Candida albicans 
      ๓) มีการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงซ้ำ ๆ หลายครั้ง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ คออักเสบ 
      ๔) ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า ๑ เดือน ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ 
      ๕) ผื่นที่ผิวหนังทั่วตัวคล้ายผื่นแพ้เรื้อรัง 
      ๖) มีผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อเอชไอวีในมารดาขณะตั้งครรภ์หรือก่อนคลอดหรือยืนยันการติดเชื้อในเด็ก 

 

กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข 


      ได้มีการยกเลิกการวินิจฉัยการติดเชื้อเอดส์สัมพันธ์ (ARC-AIDS Related Complex) เปลี่ยนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ (HIV Symptomatic Patient) ซึ่งหมายถึง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและมีอาการ หรืออาการแสดงบางอย่างเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันเสื่อม อาการเหล่านี้ ได้แก่ อาการที่เคยใช้ในกลุ่มอาการเอดส์สัมพันธ์เดิมและอาการอื่น ๆ ที่แพทย์สงสัย  คล้ายกับอาการในกลุ่ม B ของศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อ ได้แก่ 
๑) Oral candidiasis หรือ hairy leukoplakia 
๒) งูสวัดบนผิวหนังมากกว่า ๑ ตำแหน่ง (๑ dermatome) 
๓) อาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางซึ่งวินิจฉัยโดยมีอาการ ดังนี้ 

  • มีอาการเสื่อมของการรับรู้โดยทั่วไป ความสนใจลดลง 
  • ขี้ลืม เฉื่อยชา ซึม ชักกระตุก
  • สมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตรวจพบความผิดปกติของสมองส่วนเซเลเบลลั่ม (cerebellum)

๔) ท้องร่วงเรื้อรังนานไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน 
๕) ไข้เรื้อรังนานไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน 
๖) น้ำหนักลดเกินร้อยละ ๑๐ ของน้ำหนักตัวเดิม โดยไม่ทราบสาเหตุ 
๗) อ่อนเพลียหมดแรงนานไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน 
๘) ผื่นที่ผิวหนังเรื้อรังนานกว่า ๑ เดือน 
๙) ตัวซีด เม็ดเลือดขาวต่ำกว่า ๑,๐๐๐ เซลล์/ไมโครลิตร เกล็ดเลือดต่ำกว่า ๑๐๐,๐๐๐ เซลล์/ไมโครลิตร (Hematocrit น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ในชายหรือร้อยละ ๒๕ ในหญิง) 
๑๐) ไอเรื้อรังติดต่อกันนานกว่า ๒ เดือน หรือปอดบวมหรือปอดอักเสบ 
๑๑) ตรวจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณทมิใช่ขาหนีบโตมากกว่า ๑ ซม. อย่างน้อย ๒ แห่ง นานไม่ต่ำกว่า ๑ เดือน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow