เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกาได้รับรายงานจากนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ว่ามีชายหนุ่มรักร่วมเพศ ๕ คน ป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติสคารินิไอ (Pneumocystis carinii) ภายในอีก ๑ เดือนต่อมามีรายงานจากนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนียว่า มีหนุ่มรักร่วมเพศอีก ๒๖ ราย ป่วยเป็นโรคมะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา (Kaposi's sarcoma) ซึ่งโดยปกติจะเป็นโรคของคนอายุมากและนอกจาก ๒๖ ราย ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งดังกล่าวนั้นแล้วยังมีผู้ป่วยอีกหลายรายเป็นโรคปอดบวมและติดเชื้อฉวยโอกาส (แปลมาจากคำว่า Opportunistic infections ) ชายหนุ่มที่ป่วยทุกรายไม่มีรายใดที่มีโรคร้ายแรงประจำตัวมาก่อนและไม่มีรายใดที่เคยได้รับยาประเภทกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและทุกรายเมื่อได้รับการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ พบว่าการทำงานของเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานโรคไม่ได้ทำหน้าที่ตามปกติและแม้ว่าจะได้รับการรักษาเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่มีใครรอดชีวิตทั้งนี้เพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องไปหรือเสื่อมลงไปจากที่เคยมีอยู่ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีผู้เสนอให้เรียกชื่อโรคนี้ว่า Acquired Immuno- deficiency Syndrome หรือ AIDS
อันที่จริงแล้ว เมื่อทำการศึกษาย้อนหลังพบว่าโรคนี้เกิดในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ และ พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่เพิ่งจะมาครึกโครมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เพราะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ จนผิดสังเกต และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมาก็ได้มีความเชื่อกันแล้วว่าโรคนี้จะต้องมีความเกี่ยวพันกับพฤติกรรมผิดปกติทางเพศ คือ เกี่ยวกับพวกรักร่วมเพศหรือพวกโฮโมเซ็กชวล และพฤติกรรมทางด้านยาเสพติดอย่างแน่นอน ต่อมายิ่งมีการพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายเลือดก็เป็นโรคนี้ทำให้เห็นแนวทางที่แจ่มชัดขึ้นในการที่จะทำการศึกษาโรคนี้อย่างละเอียด
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิจัย ต่างก็พยายามที่จะทำงานแข่งกับเวลาเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าต้นเหตุของโรคร้ายนี้คืออะไรกันแน่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นเวลา ๒ ปี หลังจากที่มีรายงานผู้ป่วยโรคเอดส์จากนครลอสแอนเจลิส คณะนักวิจัยจากสถาบันปาสเตอร์แห่งกรุงปารีส ก็รายงานว่าได้แยกเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งได้จากต่อมน้ำเหลืองของชายหนุ่มที่มีต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งทั่วตัวรายหนึ่ง (ซึ่งเป็นระยะหนึ่งของการดำเนินโรคต่อไปมักจะกลายเป็น เอดส์) ไว้รัสที่แยกได้นี้ นายแพทย์ลุค มองตานิเยร์และคณะ ได้เรียกชื่อว่า Lymphadenopathy - Associated Virus หรือ LAV
อีกปีหนึ่งให้หลังคือ พ.ศ. ๒๕๒๗ ดร. โรเบิร์ต แกลโล และคณะแห่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ก็แยกเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งได้จากผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์และจากผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ เนื่องจาก ดร.แกลโล และคณะเคยแยกเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Tlymphocyte ที่พบชุกชุมในประเทศญี่ปุ่นและเป็นมะเร็งที่พิสูจน์ได้แน่ชัดว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human T Lymphotropic Virus type ๑ หรือ HTLV-I และต่อมาแยกได้เชื้อไวรัสตัวที่สองจากผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งของ T lymphocyte เช่นกันและให้ชื่อไวรัสตัวที่สองนี้ว่า HTLV-II เมื่อแยกไวรัสได้ใหม่ซึ่งก็มีความโน้มเอียงที่จะไปทำให้ T lymphocyte ติดเชื้อได้เช่นกัน ดร. แกลโล จึงขนานนามไวรัสที่พบใหม่ว่าเป็น HTLV-III ผลของการติดเชื้อและมีการทำลาย T lymphocyte ลงไปพร้อมกันอย่างมากนี้เองเป็นเหตุให้เกิดภูมิคุ้มกันเสื่อมลงไป การศึกษาวิจัยในปัจจุบันนี้คณะนักวิจัยจะทำการติดต่อประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอยู่เสมอ ๆ ในไม่ช้าก็พบว่าทั้ง LAV และ HTLV-III ก็ คือ ไวรัสชนิดเดียวกัน ในขั้นต้นเรียกชื่อว่า HTLV-III/LAV หรือ LAV/HTLV- III ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ตกลงกันเรียกว่า ไวรัส human immunodeficiency virus (HIV) หรือ เอชไอวี