กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ประกาศใช้นั้น ประชาชนสามารถทราบได้ดังนี้
หากเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นหนังสือทางราชการในการประกาศกฎหมายให้ประชาชนทราบ
หากเป็น ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งต่างๆ เป็นกฎหมายที่สามารถประกาศใช้โดยวิธีอื่น เช่น ประกาศที่อำเภอ หรือเทศบาล เป็นต้น
กฎหมายต่างๆ ที่ได้มีการประกาศใช้โดยถูกต้องแล้ว ประชาชนจะอ้างว่า ไม่รู้ หรือไม่ทราบ ว่ามีกฎหมายนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะกฎหมายของบ้านเมืองที่ได้ประกาศใช้แล้ว ถือว่าประชาชนทุกคนต้องรับรู้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในทางแพ่ง เช่น การเรียกร้องค่าเสียหาย การไม่รู้กฎหมายย่อมทำให้ผู้นั้นตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ ในทางกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน ถือเป็นเรื่องระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน เมื่อประชาชนทำผิด ก็จะต้องมีการจับกุม และลงโทษ ประชาชนจะแก้ตัวว่า ไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่า มีกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทำไม่รู้ว่า กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลอาจจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้