Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

องค์กรพิจารณาและพิพากษาคดี

Posted By Plookpedia | 30 มิ.ย. 60
1,702 Views

  Favorite
การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล (ในภาพสมัยรัชกาลที่ ๕)

 

ศาลแพ่ง

 

ศาลอาญา

 

ตามหลักพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อำนาจการปกครองบ้านเมืองได้จำแนกออกเป็น ๓ ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ และได้กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจทั้งสามแยกจากกันต่างหาก คือ

  • รัฐสภา เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ 
  • คณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร 
  • ศาล เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

ดังนั้น ศาลจึงเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณา และพิพากษาคดี ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ

  • ศาลชั้นต้น (ศาลแขวง ศาลแพ่ง ศาลแรงงาน ศาลอาญา ศาลจังหวัด) 
  • ศาลอุทธรณ์ 
  • ศาลฎีกา

ศาลชั้นต้น 

เป็นศาลที่รับพิจารณาคดีในชั้นแรก มีอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สำหรับในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีคดีความมาก จึงได้แยกศาลตามประเภทของคดี เป็นศาลแพ่งศาลอาญา และหากเป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้พิจารณาคดีโดยศาลแขวง ส่วนกรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ก็ให้พิจารณาโดยศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง หากเป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวกับภาษีอากร หรือแรงงาน ก็ให้พิจารณาโดยศาลภาษีอาก รและศาลแรงงาน แล้วแต่กรณี 

สำหรับจังหวัดอื่น ๆ นอกจากกรุงเทพฯ ศาลชั้นต้นที่ทำหน้าที่พิจารณา ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญาก็คือ ศาลจังหวัด และมีศาลแขวงทำหน้าที่พิจารณาคดีเล็กๆ น้อยๆ นอกจากนี้ในบางจังหวัด ยังได้จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน ศาลภาษีอากรขึ้น เพื่อพิจารณาคดีในเรื่องนั้นๆ ด้วย 

ศาลอุทธรณ์ 

เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญา แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดว่า คดีใดอุทธรณ์ได้ หรือต้องห้ามอุทธรณ์ 

ศาลฎีกา 

เป็นศาลสูงสุดที่จะทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดเป็นขั้นสุดท้าย กล่าวคือ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา หรือคำสั่งใดแล้ว หากคู่ความไม่พอใจในคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้น ก็สามารถยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาได้ แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดว่า คดีใดฎีกาไม่ได้

การดำเนินคดี 

ในคีแพ่ง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การเรียกค่าเสียหาย การฟ้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญา การฟ้องหย่า ฯลฯ ผู้ที่ได้รับความเสียหาย จะต้องนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลชั้นต้นภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป 

สำหรับในคดีอาญา ผู้เสียหายอาจดำเนินคดีได้ ๒ ทาง คือ ฟ้องคดีต่อศาลโดยตรงแบบเดียวกับคดีแพ่ง แต่วิธีนี้ประชาชนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบรรยายฟ้องย่อมกระทำไม่ได้ วิธีที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปก็คือ การไปร้องทุกข์ผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เมื่อได้ร้องทุกข์แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดมาสอบสวน และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณา หากพนักงานอัยการเห็นว่า คดีนั้นพยานหลักฐาน และเหตุผล เพียงพอที่จะส่งฟ้องศาลได้ พนักงานอัยการก็จะดำเนินการส่งฟ้องศาล เพื่อศาลจะได้พิจารณา และมีคำพิพากษาต่อไป

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow