Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วัดจีนในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 07 มี.ค. 60
13,436 Views

  Favorite

วัดจีนในประเทศไทย

แม้ว่าประเทศไทยกับประเทศจีนจะมีสัมพันธไมตรีกันมาอย่างยาวนานก็ตาม แต่วัดจีนวัดแรกในไทย คือ วัดบำเพ็ญจีนพรต ก็เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และผังของวัดอาจไม่สามารถกำหนดตามแบบที่กล่าวมาได้ เนื่องจากวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ในอาคารสูงหลายชั้น ดังนั้นผังของสถาปัตยกรรมจึงถูกดัดแปลงไปตามสถานที่ วัดจีนที่ถือว่า มีผังสถาปัตยกรรมแบบจีนอย่างแท้จริงคือ วัดเล่งเน่ยยี่ หรือวัดมังกรกมลาวาส ที่เน้นอาคารหลัก ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นแกนกลาง โดยมีอาคารประกอบ ๒ ข้างสมดุลกัน นับจากประตูทางเข้าอาณาเขตวัด ตัวอาคารแบ่งเป็น ๓ ตอน เช่นเดียวกับศาลเจ้าประจำตระกูลเฉิน แต่ไม่ได้สร้างสถูปหรือเจดีย์ไว้กลางวัดแต่อย่างใด

 

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ จ.นนทบุรี

 

 

สำหรับความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนนั้นดูได้จากการตั้งรูปเคารพภายในวัดจีน ทำให้สามารถแบ่งได้ ๒ แบบ คือ 

๑) แบบที่มีความเป็นพุทธมหายานโดยแท้  
๒) แบบที่มีการผสมผสานทางความเชื่อของทั้ง ๓ ศาสนา ที่เรียกว่า ซานเจี้ยว เช่นที่ปรากฏในจีน

 

อาคารหน้า ที่วัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ

 

 

๑. แบบที่มีความเป็นพุทธมหายานโดยแท้  

และมีการประดับอาคารเป็นแบบภาคกลางของจีน เช่น วัดโพธิ์แมนคุณาราม ที่ถนนสาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ เป็นวัดที่มีการผสมผสานระหว่างนิกายสุขาวดี และนิกายเซน ทั้งนี้ โดยกำหนดจากการตั้งรูปเคารพและการปฏิบัติของพระสงฆ์ ที่อาคารต้าสยงเป่าเตี้ยนประดิษฐานพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ด้านหลังของพระองค์มีดอกบัวขนาดใหญ่ และซ้ายขวาไม่มีพระพุทธเจ้าองค์อื่น หรือพระโพธิสัตว์ประดิษฐานประกอบแต่อย่างใด

ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง อยู่ติดกับโรงเรียนเผยอิง ทั้งศาลเจ้าและโรงเรียนอยู่ในความดูแลของสมาคมแต้จิ๋ว

 

๒. แบบที่มีการผสมผสานทางความเชื่อของ ๓ ศาสนา  

โดยมีพระพุทธศาสนานิกายสุขาวดีเป็นหลัก เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งประดิษฐานรูปเคารพ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ในพระพุทธศาสนานิกายมหายานทั้งหมด ในวิหารต้าสยงเป่าเตี้ยน และวิหารประกอบอื่นๆ โดยมีเทพทางศาสนาเต๋า และเทพของความเชื่อแบบขงจื๊อ ประดิษฐานอยู่ในอาคารประกอบ วิหารต้าสยงเป่าเตี้ยนคือ อาคารหลักที่ตั้งอยู่ส่วนกลางของวัด เมื่อนับจากแท่นบูชาหลักซึ่งอยู่ด้านในสุด องค์กลางคือ พระศรีศากยมุนี ด้านซ้ายของพระองค์ คือ พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า และด้านขวาคือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า ด้านข้างของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ คือ พระมหากัสสปะมหาเถระ อยู่ทางด้านซ้าย พระอานันทะมหาเถระ อยู่ทางขวา และต่อออกมาอีก คือ ๑๘ อรหันต์ ที่อาคารด้านข้างของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ยังมีวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน และพระโพธิสัตว์กวนอิม ด้านซ้ายมีแท่นบูชารูปเคารพเทพกวนอู และเทพเหวินชาง ถือกันว่า เป็นเทพของศาสนาขงจื๊อ และเสวียนเทียนซั่งตี้ (หรือที่ชาวไทยเรียกว่า เจ้าพ่อเสือ) ซึ่งถือเป็นเทพของศาสนาเต๋า ด้านขวาตั้งแท่นบูชารูปเคารพพระโพธิธรรมมหาเถระ ที่อาคารหน้า คือ ประตูทางเข้าวัดจะมีรูปเคารพท้าวจตุโลกบาลประดิษฐานอยู่ ๔ มุม โดยมีพระศรีอาริยเมตไตรยประดิษฐานอยู่ตรงกลาง และที่ด้านหน้าพระศรีอาริยเมตไตรย มีพระสังกัจจายน์ ส่วนด้านหลัง ก็มีท้าววิหารบาล หรือพระโพธิสัตว์เว่ยถัว หรือพระเวท มีหน้าที่คอยเฝ้าดูแลพระธรรม สำหรับศาลาสุทธิธรรม หรือชิงฝูถัง เป็นอาคาร ที่แยกออกมาอยู่นอกผังของวัด เป็นศาลเจ้าที่ตั้งรูปเคารพเทพเจ้าของศาสนาเต๋าทั้งหมด ดังนั้นจึงนับได้ว่า วัดเล่งเน่ยยี่เป็นวัด ที่รวมรูปเคารพของ ๓ ศาสนา คือ ทั้งพระพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ เข้าไว้ด้วยกัน หรืออาจจะเรียกได้ว่า เป็นวัดแห่ง ๓ ศาสนา 

 

เทพเจ้าเสวียนเทียนซั่งตี้ เทพประธานในศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง

 

สำหรับวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ ที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดเล่งเน่ยยี่ ๒ นอกจากสร้างอาคารต้าสยงเป่าเตี้ยน หรือพระอุโบสถสำหรับเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีแท่นบูชาเทพทางศาสนาเต๋า และคงมีแท่นบูชาเทพเจ้าของศาสนาขงจื๊อเช่นกัน (การตั้งรูปเคารพของวัดยังไม่เสร็จสมบูรณ์)

 

แท่นบูชา และรูปเคารพเทพเล่าปูนเถ้ากง ที่ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง ถนนทรงวาด กรุงเทพฯ

 

 

วัดจีนในกรุงเทพฯ ที่มีการตั้งรูปเคารพของขงจื๊อไว้ เพื่อสักการะ มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ และศาลเจ้ากงจิ้งถัง ในสมาคมกวางสิว ของชาวจีนกวางตุ้ง อยู่ที่ถนนเจริญกรุง ส่วนมากตั้งไว้เป็นเทพประกอบ ในศาสนสถานเท่านั้น ไม่ได้รับการยกขึ้นเป็นเทพประธาน เหมือนเทพกวนอูแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะผู้คนนิยมเซ่นไหว้เทพกวนอูมากกว่า เนื่องจาก เป็นเทพทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ 

ในช่วงแรก ชาวไทยเชื้อสายจีนตั้งโรงเรียนจีนขึ้น เพื่อการศึกษาของบุตรหลานก็มักมีศาลเจ้าอยู่ติดกับโรงเรียนเสมอ แต่เทพประธานของศาลเจ้าไม่ใช่ขงจื๊อปรมาจารย์แห่งการศึกษาเหมือนประเทศจีน แต่กลับกลายเป็นเทพกวนอู เพราะเทพกวนอู ก็ได้รับการนับถือว่า เป็นเทพแห่งความรู้เช่นกัน เช่น สมาคมจีนแคะแห่งประเทศไทย ที่ถนนพาดสาย เยาวราช สร้างศาลเจ้ากวนอู ติดกับโรงเรียนจิ้นเต๋อ ทั้งนี้ เพราะกวนอูนอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้แล้ว ยังมีความกตัญญู มีเมตตา และมีสัจจะ ความดีเหล่านี้ จะได้เป็นแบบอย่างในการประพฤติตัวของนักเรียนด้วย แต่ศาลเจ้าที่สร้างติดกับโรงเรียนจีนบางแห่ง ก็ตั้งเทพพื้นถิ่น เป็นเทพเจ้าประจำศาล เช่น ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงของสมาคมแต้จิ๋ว ซึ่งสร้างติดกับโรงเรียนเผยอิง อยู่ที่ถนนทรงวาด มีเทพประธาน ของศาลเจ้า คือ เทพเล่าปูนเถ้ากง ซึ่งเป็นเทพพื้นถิ่น ต่อมาเทพประธานได้เปลี่ยนเป็นเทพเจ้าเสวียนเทียนซั่งตี้ ดังนั้น หากจะกล่าวว่า ชาวไทยเชื้อสายจีนมีความเชื่อใน ๓ ศาสนาที่ผสมผสานกันจนแยกไม่ออก จึงน่าจะเป็นคำกล่าว ที่ไม่ผิดจากความจริงนัก

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow
Thailand Web Stat
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราต้องการให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ เราจึงนำคุกกี้ที่บันทึกการเข้าชม และการใช้งานบนหน้าเว็บไซต์จากเครื่องของคุณมาวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ รวมทั้งนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจคุณยิ่งขึ้น
ยอมรับรายละเอียด
x