Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พิธีกรรมประจำปีของวัดจีนในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 07 มี.ค. 60
10,852 Views

  Favorite

พิธีกรรมประจำปีของวัดจีนในประเทศไทย

พิธีกรรมประจำปีที่สำคัญของวัดจีนที่จัดขึ้นทุกปี ได้แก่ วันคล้ายวันจุติของพระอมิตาภะพุทธเจ้า คือ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ หรือวันชิวอิ๊ด ของวันตรุษจีน วันเทศกาลหยวนเซียว คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ วันพิธีอุทิศมหากุศลเหลียงหวงเป่าเชียน คือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ - ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ และขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ รวมทั้งวันวิสาขบูชา ๑๙ ค่ำ เดือน ๕ วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับของพระโพธิสัตว์กวนอิมคือ ๑๙ ค่ำ เดือน ๓ ๑๙ ค่ำ เดือน ๖ และ ๑๙ ค่ำ เดือน ๙ วันทำบุญกลางปีจงหยวนเจี๋ย หรืองานสารททิ้งกระจาดคือ ในกลางเดือน ๗ และขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ เทศกาลกินเจ เทศกาล และวันสำคัญดังกล่าว ไม่ได้จัดกันเฉพาะในวัดจีนทุกแห่งเท่านั้น แม้แต่ในศาลเจ้าก็จัดกันด้วย แต่พิธีสำคัญที่จัดกันอย่างยิ่งใหญ่ และทำเฉพาะในวัดเท่านั้น คือ พิธีอุทิศมหากุศลเหลียงหวงเป่าเชียน ซึ่งชาวแต้จิ๋วในไทยเรียกว่า พิธีอุทิศมหากุศลเหลี่ยงอ้วงปอฉ่ำ บางวัดได้จัดพิธีดังกล่าวทุกปีจนเป็นงานประเพณีของวัด เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ ที่ถนนเจริญกรุง

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗


พิธีนี้จะเริ่มขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ คือ ตั้งแต่วันเทศกาลหยวนเซียวถึงขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ โดยทางวัดเล่งเน่ยยี่ จะจัดโต๊ะให้พระอาจารย์นั่ง เพื่อรอรับคำนวณจำนวนเงินของผู้ที่ประสงค์จะชำระหนี้บนสวรรค์ เมื่อมีผู้แจ้งความจำนง พระอาจารย์จะตรวจดูว่า บุคคลผู้นั้นเกิดปีใด เวลาใด และนำเงินจากสวรรค์มาจำนวนเท่าใด เมื่อรวมกับช่วงอายุ จะต้องใช้เงินคืนสวรรค์เป็นจำนวนเท่าใด (หนังสือเล่มที่พระอาจารย์ตรวจดูนี้ ไม่อนุญาตให้คนอื่นดู) ชาวจีนเชื่อกันว่า มนุษย์ เมื่อจะลงมาเกิดบนโลกมนุษย์นั้น ทุกคนต้องขอยืมเงินจากสวรรค์ เพื่อมาเป็นทุนบนโลกมนุษย์ เรียกว่า โซ่วเซิงเฉียน และมนุษย์จำเป็นต้องชำระหนี้สวรรค์ให้หมดภายในช่วงเวลาที่ตนยังมีชีวิตอยู่ หากชำระคืนไม่หมด แล้วลงมาเกิดใหม่ หนี้สวรรค์จะทบเพิ่มไปเรื่อยๆ เมื่อนานเข้าก็จะกลายเป็นบาปติดตัวที่ชดใช้ไม่หมด ดังนั้นทุกคนจึงต้องรีบชำระหนี้สวรรค์ให้หมด ก่อนสิ้นอายุขัย บางคนเมื่อตรวจสอบว่า ได้ชำระหนี้สวรรค์หมดแล้ว แต่ยังเข้าร่วมพิธีทุกปี ก็เพราะมีจุดประสงค์จะชำระหนี้สวรรค์ไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อเป็นกองทุนในชาติหน้าก็ได้ ซึ่งเชื่อกันว่า การเพิ่มกองทุนดังกล่าว ทำให้ในชาติหน้าจะเกิดมาร่ำรวยเงินทองมีทรัพย์สินมากมาย เมื่อรู้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนสวรรค์แล้ว ผู้มีจิตศรัทธา ก็จ่ายเงินสำหรับทำบุญ โดยพระอาจารย์จะเขียนชื่อและนามสกุลพร้อมที่อยู่ลงบนแผ่นนำส่ง แล้วนำไปฝากไว้ที่พระโพธิสัตว์กวนอิม ที่ศาลาสุทธิธรรม เพื่อรอการเข้าพิธีสวดมนต์และส่งหนี้คืนสู่สวรรค์ บางคนที่มีความประสงค์ชำระหนี้สวรรค์แทนบิดามารดา ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ต้องไปซื้อหีบเงินหีบทองสำหรับชำระหนี้ ซึ่งก็คือเงินตราของคนตายที่เรียกว่า จินเถียว และคู่เฉียน รอวันทำพิธี แล้วเผาส่งไปบนสวรรค์ในคืนวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๒ นั่นเอง

 

ผู้ปฏิบัติธรรมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกับพระสงฆ์จีนในเทศกาลสำคัญ ณ วัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพฯ

 

 

ในวันงาน สมาชิกของวัดคือกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ตามโรงเจต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มที่ใส่ชุดขาวที่เรียกว่า ใจกู ใจอี๋ [แจโกว แจอี้ (แต้จิ๋ว)] ต่างพร้อมใจกันเดินทางมาร่วมพิธีที่ยิ่งใหญ่นี้ โดยการเข้าร่วมสวดมนต์ และทำพิธีร่วมกับพระอาจารย์ของวัด เนื่องจากงานมหากุศลในวันนี้เกี่ยวข้องกับวิญญาณ ดังนั้นทางด้านขวาของวิหารกลางจึงมีต้าซือเอี๋ย ผู้ดูแลดวงวิญญาณ ที่ทำด้วยกระดาษปะตั้งอยู่ให้ผู้คนเซ่นไหว้ และที่โต๊ะบูชาในอาคารต้าสยงเป่าเตี้ยนจะมีของเซ่นไหว้ของวัด ประเภทผลไม้ อาหารเจ และดอกไม้วางอยู่ ของเซ่นไหว้ที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาเซ่นไหว้ เช่น ขนมผลท้อ เส้นหมี่ยาว ขนมหวาน ผลไม้ กระดาษเงินกระดาษทองที่เรียกว่า จินอิ๋นโถว ค้อซี อิ๋นติ้ง กระดาษเงินกระดาษทอง จินเถียว เทียนเต้าเฉียน ธูปขนาดต่างๆ รวมทั้ง กระดาษสวดมนต์ที่จะนำพาดวงวิญญาณไปสู่แดนสุขาวดีเรียกว่า หวั่งเซิงเฉียน เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ของเซ่นไหว้เหล่านี้ เจ้าของก็นำกลับไปรับประทานที่บ้าน เชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองทั้งหมด จะเผาส่งไปให้แก่ดวงวิญญาณ พระอาจารย์ที่ทำพิธีนี้ไม่จำเพาะว่าจะต้องเป็นพระอาจารย์ของวัดเล่งเน่ยยี่เท่านั้น ทั้งนี้ เพราะพิธีกรรมนี้เป็นพิธีใหญ่ ในวันงานจึงเป็นการรวมพระอาจารย์จากวัดจีนต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้พิธีนี้กลายเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ที่บุตรหลานชาวจีนส่วนใหญ่ต้องไปร่วมทำบุญ เพราะเชื่อกันว่า หากได้ทำบุญแล้วปีใหม่จะเป็นปีที่ประสบแต่โชคลาภ เพราะพระอาจารย์จะนำชื่อผู้บริจาคไปสวดมนต์ในช่วงวันงานด้วย ผู้แจ้งความจำนงที่จะทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็จะไปซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียม รถยนต์ ที่ทำด้วยกระดาษปะ แล้วเผาไปพร้อมกันในวันงาน เพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ในสัมปรายภพ

 

การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา วัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพฯ

 

 

โดยทั่วไปงานของวัดจะจัด ๔ วัน คือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ - ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ซึ่งในวันสุดท้ายเมื่อเสร็จพิธีจะมีการทำบุญ ปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า และลอยกระทง เพื่อเป็นการนำทางให้ดวงวิญญาณสู่ทางสว่าง สู่ภพภูมิที่ดี และขึ้นสู่แดนสุขาวดีในที่สุด

พิธีอื่นที่จัดนอกเหนือจากนี้ เช่น วันสารท ทิ้งกระจาดในวันจงหยวนเจี๋ยในเดือน ๗ และงานเทศกาลกินเจในเดือน ๙ ก็เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ จัดกันอย่างเอิกเกริกทั้งที่วัดและศาลเจ้า

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow