สถาปัตยกรรมวัดจีน
แม้ว่าพระพุทธศาสนานิกายมหายานจะมีหลายนิกาย อีกทั้งลักษณะทางสถาปัตยกรรมและพื้นที่ในการก่อสร้างตัวอาคารอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่สรุปได้ว่า ผังของศาสนสถานมีอยู่ ๒ แบบ ดังนี้
๑. แบบที่สร้างบนภูเขา
อาคารต่างๆ จะกระจัดกระจายไปตามลักษณะของภูมิประเทศโดยเน้นการสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก เช่น บางแห่งนิยมขุดเจาะภูเขาเป็นวัด เรียกว่า สือคู ถ้ำที่ขุดเจาะเข้าไปนั้นภายในยังแบ่งออกเป็นวิหารต่างๆ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์
๒. แบบที่สร้างบนที่ราบ
แต่เดิมวัดแบบนี้นิยมสร้างเจดีย์หรือสถูปเป็นหลักของวัด ดังนั้นผังของวัดจึงถือเอาเจดีย์หรือสถูปเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้เพราะเจดีย์หรือสถูปเป็นสัญลักษณ์ ของพระพุทธศาสนานั่นเอง ในช่วงนี้เมื่อมีการสร้างวัดทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมเรียกว่า “ถะเมี่ยว” ซึ่งแปลว่า วัดเจดีย์ หรือวัดสถูป อาคารของวัดแบบนี้ นอกจากจะต้องมีระเบียงล้อมรอบแล้ว อาคารภายในระเบียงยังต้องจัดแบ่งเป็นอาคารส่วนหน้า อาคารส่วนหลัง และที่พำนักของสงฆ์ ต่อมาในสมัยซ่ง แห่งราชวงศ์ใต้ ความนิยมสร้างเจดีย์หรือสถูปในวัดก็เสื่อมลง จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์เหนือ พระพุทธศาสนาจึงกลับมาเป็นที่นับถือของชาวจีนอีก การถวายบ้านให้แก่วัดได้กลายเป็นกระแสสังคมที่ผู้มียศศักดิ์นิยมปฏิบัติกัน พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย รวมทั้งบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต่างถวายบ้านเรือนให้แก่วัด จึงทำให้วัดในยุคนี้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเหมือนกับที่อยู่อาศัยอย่างมาก อาคารหลักของบ้านจึงกลายเป็นวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป แทนการสร้างเจดีย์หรือสถูป กล่าวได้ว่าสถาปัตยกรรมของวัดได้มีการกำหนดรูปแบบอย่างลงตัวในช่วงราชวงศ์เหนือ และราชวงศ์ใต้นี้เอง ต่อมาในสมัยราชวงศ์สุย และราชวงศ์ถัง สถาปัตยกรรมของวัดได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มีเจดีย์หรือสถูปเป็นส่วนสำคัญของวัด ก็กลับกลายเป็นกลุ่มอาคารที่มีผังเป็นระบบ โดยมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นศูนย์กลางของวัด เจดีย์หรือสถูปจึงลดความสำคัญลง ทำให้วัดที่สร้างขึ้นในสมัยนี้หลายแห่งไม่มีเจดีย์หรือสถูป ดังนั้นการเรียกขานวัดในสมัยนี้จึงไม่อาจเรียกว่า วัดเจดีย์ หรือวัดสถูป ได้อีกต่อไป หากวัดใดจะมีการสร้างเจดีย์หรือสถูป ก็ต้องสร้างให้แยกออกจากตัววัด โดยอาจสร้างไว้ด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างของอาคารก็ได้ เจดีย์หรือสถูปจึงถือว่า เป็นส่วนประกอบของวัดไปในที่สุด
อาคารประกอบในวัดจีน
๑) กลุ่มอาคาร
ผังของวัดจีนประกอบไปด้วยอาคารต่างๆ อย่างเป็นระบบตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา โดยมีรูปแบบ คือ มีเส้นแกนกลางของวัดเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ จะยาวจากทิศเหนือถึงทิศใต้ โดยเริ่มต้นที่อาคารซานเหมิน หรือประตูทางเข้าที่หันหน้าออกสู่ทิศใต้ ด้านซ้ายและด้านขวาของอาคารซานเหมินคือ หอระฆัง และหอกลอง ต่อจากอาคารซานเหมินคือ อาคารหน้า หรืออาคารเทียนหวางเตี้ยน กับอาคารต้าสยงเป่าเตี้ยน หรือพระอุโบสถ ซึ่งเป็นอาคารหลักของวัด และอาคารหลัง ซึ่งเป็นหอพระธรรม หรืออาคารเก็บพระไตรปิฎกหรือห้องสมุดของวัด อาคารดังกล่าวมีระเบียงทั้ง ๒ ด้าน ส่วนอาคารประกอบทางด้านตะวันออก และตะวันตก มีวิหารบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งนิกาย วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม วิหารพระกษิติครรภโพธิสัตว์ และวิหารพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าที่ดูแลเรื่องยา แต่บางวัด ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง ก็จะเพิ่มวิหารพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ โดยจัดผังของวิหารเป็นแบบตัวเถียน คือ มีที่โล่งว่าง ๔ แห่ง ซึ่งโดยทั่วไป ทางด้านซ้ายคือ ส่วนตะวันออกของอาคารหลัก จะจัดเป็นเขตสังฆาวาส มีกุฏิสงฆ์ และห้องธุรการสำหรับติดต่อกับฆราวาส ห้องครัว หอฉัน และห้องรับแขก ส่วนทางด้านขวาคือ ฝั่งตะวันตก จะจัดเป็นห้องสมาธิ ห้องปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ จึงทำให้อารามหนึ่งๆ เต็มไปด้วยอาคารมากมาย
๒) อาคารซานเหมิน หรืออาคาร ๓ ประตู
เป็นประตูหน้าสุดของวัดที่เปิดสู่ด้านใน จะแบ่งเป็น ๓ ช่อง หรือ ๓ ประตูทางเข้า โดยประตูกลางจะเป็นประตูใหญ่ อีก ๒ ประตูซ้ายและขวา จะเล็กลงกว่าประตูกลางเล็กน้อย (แต่วัดจีนในไทยจะแตกต่างออกไป โดยอาคารหน้าของวัดจะเป็นอาคารเทียนหวางเตี้ยน ไม่มีอาคารซานเหมิน) การที่ทำเป็น ๓ ประตู เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการหลุดพ้น และเมื่อเข้าสู่ประตูกลางจะมีมนุษย์ทองคำยืนถือกระบองอยู่ ๒ ข้าง ทั้งข้างซ้ายและขวา มนุษย์ทองคำสื่อความหมายว่า เป็นมนุษย์ที่แข็งแรง มีไหวพริบดี มีความสามารถในการขจัดสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมดได้ มนุษย์ทองคำนี้ เป็นองครักษ์คุ้มครองพระพุทธเจ้าและพระธรรม แต่เดิมมีอยู่เพียงรูปเดียว ต่อมาได้เพิ่มเป็น ๒ รูปยืนประจำอยู่ที่ทางเข้า ๒ ข้าง
๓) อาคารหน้าหรือเทียนหวางเตี้ยน หรือวิหารเทพแห่งสวรรค์
ด้านในตรงประตูทางเข้าของอาคารนี้ประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรย หรือเรียกว่า พระเมตไตรยพุงพลุ้ย ซึ่งประทับนั่ง หันหน้ามองออกด้านนอก กล่าวกันว่า ท่านคือ พระถุงย่าม เดิมชื่อ ชีฉือ เป็นพระอ้วน มีหน้าตายิ้มแย้ม เมื่อใกล้มรณภาพ ท่านได้กล่าวว่า ท่านเป็นร่างแปลงของพระศรีอาริยเมตไตรย จึงอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นพระเมตไตรยแบบจีน แต่ในบทสวดบางบท ก็มีที่กล่าวว่า พระศรีอาริยเมตไตรยเป็นชาวอินเดียใต้ และเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า หลังจากคำสอนของพระพุทธเจ้าแพร่หลาย เป็นระยะเวลาหนึ่งหมื่นปีแล้ว ความเข้าใจในเรื่องคุณธรรมของชาวโลกก็จะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น จนกระทั่ง ชาวโลกไม่ต้องการคำสอน ของพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะค่อยๆ หายไป หลังจากนั้นต่อมาอีกแปดล้านปี พระศรีอาริยเมตไตรย ก็จะเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาเป็นพระศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา ต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น จึงเรียกพระศรีอาริยเมตไตรยอีกพระนามหนึ่งว่า พระอนาคตพุทธเจ้า
ด้านซ้ายและขวาของพระเมตไตรยพุงพลุ้ย คือ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ซึ่งประจำอยู่ที่เขาเจี้ยนหลัวถัว ที่ตั้งอยู่ตรงช่วงกึ่งกลาง ของเขาพระสุเมรุ มียอดเขา ๔ ยอด ท้าวจตุโลกบาลประจำอยู่องค์ละยอด แต่ละองค์คอยดูแลอาณาเขตของตนเอง ที่มีทั้งผืนแผ่นดิน สายน้ำ และภูเขา โดยแต่ละองค์มีบุตร ๙๑ องค์ ที่แยกย้ายกันไปช่วยเทพแห่งสวรรค์เฝ้าดูแลทั้ง ๑๐ ทิศ นอกจากนั้น ท้าวจตุโลกบาลยังมีจอมทัพอีกองค์ละ ๘ จอมทัพ ช่วยดูแลพื้นที่ ท้าวจตุโลกบาลเป็นเทพที่จีนรับอิทธิพลจากอินเดีย แล้วนำมาเปลี่ยนให้เป็นเทพของจีน ในสมัยราชวงศ์หยวน ท้าวจตุโลกบาลได้เปลี่ยนจากการถืออาวุธ สำหรับการสู้รบมาเป็นถือสิ่งของ ที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ เช่น ท้าวจตุโลกบาลทิศตะวันออกได้เปลี่ยนมาถือพิณ เป็นผู้ให้ความสุขด้านดนตรี ท้าวจตุโลกบาลทิศใต้ถือโคมวิเศษ ท้าวจตุโลกบาลทิศเหนือถือร่ม ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับโชคลาภและคุณธรรม ส่วนท้าวจตุโลกบาลทิศตะวันตกมือจับสัตว์ที่คล้ายงู ถือเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ให้ฝนตกตามฤดูกาล สำหรับด้านหลัง ของพระเมตไตรยพุงพลุ้ยมีพระเวท ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา และเป็นหนึ่งในจอมทัพของท้าวจตุโลกบาล มีหน้าที่ปกป้องพระธรรมและนักบวช ดังนั้นในวัดจีนทุกวัดจึงต้องมีเทพองค์นี้ โดยรูปเคารพพระเวทจะหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ ตรงกับตำแหน่งที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า ลักษณะของพระเวทมี ๒ แบบ คือ แบบหนึ่งอยู่ในท่ายืนพนมมือ เอากระบองวิเศษวางพาดแขน และใช้ข้อศอกหนีบไว้ อีกแบบหนึ่งคือ มือซ้ายถือกระบองวิเศษที่ยาวจรดพื้น มือขวาเท้าเอว ขาซ้ายก้าวไปข้างหน้าเล็กน้อย หันหน้าเข้าสู่อาคารต้าสยงเป่าเตี้ยน ดูราวกับว่าคอยจ้องมองผู้คนที่เดินผ่านไปมา
๔) อาคารต้าสยงเป่าเตี้ยนหรือพระอุโบสถ
อาคารนี้จัดเป็นอาคารหลักของวัด คำว่า “ต้าสยง” เป็นคำเรียกขานพระศรีศากยมุนี ที่มีความหมายว่า ผู้มีบารมี ผู้ยิ่งใหญ่ บารมีของพระพุทธเจ้าสามารถชนะมารได้ทุกอย่าง การตั้งรูปเคารพในอาคารแห่งนี้จะมีทั้งแบบ ๑ องค์ ๓ องค์ ๕ องค์ และ ๗ องค์ แตกต่างกันไปตามนิกายย่อยของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน
การประดิษฐานพระประธานองค์เดียวมีทั้งท่าประทับนั่ง ประทับยืน และปางไสยาสน์ แต่โดยทั่วไปจะพบว่า นิยมประดิษฐานพระพุทธรูปท่าประทับนั่งมากกว่า โดยมีทั้งขัดสมาธิราบ และขัดสมาธิเพชร และมีพระสาวกยืนอยู่ ๒ ข้าง ของพระพุทธเจ้า คือ พระกัสสปะมหาเถระ และพระอานันทะมหาเถระ แต่มีอาคารบางแห่งที่ประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระสมันทภัทรโพธิสัตว์ เป็นสาวกยืนแทนที่พระกัสสปะมหาเถระ และพระอานันทะมหาเถระ การประดิษฐานพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว และมีพระโพธิสัตว์ขนาบอยู่ ๒ ข้างดังกล่าวเรียกว่า หวาเอี๋ยนซานเซิ่ง หมายถึง ผู้มีบารมีทั้ง ๓ แห่งนิกายอวตังสกะ แต่มีบางวัดที่ประดิษฐานพระไวโรจนะที่อาคารต้าสยงเป่าเตี้ยนซึ่งเป็นอาคารหลักของวัด โดยพระไวโรจนะประทับนั่งอยู่บนดอกบัว ๑,๐๐๐ กลีบ แต่ละกลีบจะมีพระพุทธรูปองค์เล็ก ซึ่งเป็นร่างแปลงของพระศรีศากยมุนี ประดับอยู่ ความหมายของกลีบดอกบัวแต่ละกลีบหมายถึงโลกที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งการประดิษฐานรูปเคารพดังกล่าว เป็นการตั้งรูปเคารพของนิกายหวาเอี๋ยนจงหรืออวตังสกะเช่นกัน
สำหรับนิกายสุขาวดีประดิษฐานรูปเคารพไว้เพียงองค์เดียว คือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า ท่าประทับยืน ความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้คอยต้อนรับ พระหัตถ์ขวาทำปางประทานพร พระหัตถ์ซ้ายอยู่ระหว่างอก และกลางฝ่าพระหัตถ์มีแท่นดอกบัวทองคำ หมายถึง ที่สถิตของดวงวิญญาณเพื่อไปเกิดในแดนสุขาวดี ส่วนพระโพธิสัตว์ที่ประทับอยู่ทางด้านซ้าย คือ พระโพธิสัตว์กวนอิม และด้านขวา คือ พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ นิกายสุขาวดีประกาศไว้ว่า พระอมิตาภะพุทธเจ้า เป็นพระศาสดาแห่งแดนสุขาวดีทางตะวันตก ผู้ใดที่นับถือพระองค์และสวดมนต์ของพระองค์ เมื่อเสียชีวิตแล้ว พระอมิตาภะพุทธเจ้าจะมารับดวงวิญญาณสู่แดนสุขาวดี ดังนั้นพระโพธิสัตว์ ๒ องค์และพระอมิตาภะพุทธเจ้าจึงเรียกรวมกันว่า ซีฟางซานเซิ่ง หมายถึง ผู้มีบารมีทั้ง ๓ แห่งทิศตะวันตก
การประดิษฐานพระประธาน ๓ องค์ เริ่มนิยมกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งแล้ว โดยมีทั้งแบบถือช่วงเวลาเป็นเกณฑ์ และถือทิศเป็นเกณฑ์ เช่น แบบถือช่วงเวลาหรือที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ๓ ยุคนั้น ได้แก่ พระพุทธเจ้าในอดีต คือ พระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คือ พระศรีศากยมุนี ซึ่งประดิษฐานอยู่เป็นองค์กลาง และอีกองค์หนึ่ง คือ พระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต อีกแบบหนึ่งที่เน้นไปในเรื่องทิศ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับเป็นองค์กลาง อีก ๒ องค์ คือ พระพุทธเจ้าแห่งทิศตะวันออก ได้แก่ พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ผู้เป็นใหญ่แห่งพุทธภูมิที่เป็นรัตนะ หรือศุทธิไวฑูรย์เกษตรแห่งทิศตะวันออก ประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายถือบาตร ภายในบาตรมีน้ำอมฤต พระหัตถ์ขวาถือเม็ดยาอคต ซึ่งเป็นยาวิเศษที่สามารถรักษาโรคได้ทุกโรค ส่วนทางทิศตะวันตก คือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า ผู้มีพุทธภูมิเป็นแดนสุขาวดีศรีเกษตร ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางประสานกันอยู่บนพระเพลา โดยกลางพระหัตถ์มีแท่นดอกบัวทองคำรอรับดวงวิญญาณสู่แดนสุขาวดีนั่นเอง
โดยทั่วไปสองข้างของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นี้ยังมีพระโพธิสัตว์ประทับยืนหรือประทับนั่งอยู่ที่ด้านซ้ายและด้านขวาอีก กล่าวคือ พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า มีพระโพธิสัตว์แห่งแสงพระอาทิตย์ และพระโพธิสัตว์แห่งแสงพระจันทร์ พระศรีศากยมุนี มีพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ส่วนพระศรีอาริยเมตไตรย มีพระโพธิสัตว์กวนอิม และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์
ส่วนการประดิษฐานพระประธาน ๕ องค์ คือ พระพุทธเจ้าแห่งทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตรงกลาง เรียกกันว่า ปัญจปัญญายูไล วัดที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์เหลียว รวมทั้งวัดในลัทธิตันตระหรือมนตรยาน หรือวัชรญาณ นิยมประดิษฐานพระประธาน ๕ องค์ดังกล่าวเช่นกัน บางวัดประดิษฐานพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระธรรมกายของพระไวโรจนะ เป็นองค์กลาง ทางซ้ายองค์ที่ ๑ คือ พระยูไลเป่าเซิง แห่งทิศใต้ มีความหมายถึงโชคบารมี ทางซ้ายองค์ที่ ๒ คือ พระยูไลออหมี แห่งทิศตะวันออก มีความหมายถึง การรู้แจ้ง ทางขวาองค์ที่ ๑ คือ พระยูไลอมิตาภะ มีความหมายถึง ปฏิภาณไหวพริบ ทางขวาองค์ที่ ๒ คือ พระยูไลคงเฉิง มีความหมายถึง ความสำเร็จทางกิจการงาน ลัทธิตันตระเห็นว่าพระยูไล ๕ พระองค์ สื่อความหมายถึง ปัญญา และปฏิภาณ ๕ ประการ รวมแล้วก็คือความหมายของคำว่า “พุทธ” นั่นเอง สำหรับ ๑๘ อรหันต์ ก็จะอยู่สองข้าง ของพระประธานดังกล่าว ในอาคารนี้
วิหารพระโพธิสัตว์ ประกอบด้วย วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม วิหารพระกษิติครรภโพธิสัตว์ อาคารรอบนอกสุดทางด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันออก คือ วิหารแคนั้ม ซึ่งเป็นวิหารของผู้ปกป้องดูแลศาสนสถาน และวิหารบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งนิกาย ผู้สืบทอด และส่งเสริมนิกายให้เจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ยังมีวิหารพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ และห้องแสดงธรรม
ผังของวัดจีนยังมีอีกแบบหนึ่งที่ไม่แตกต่างจากผังของบ้านเรียกว่า ผังแบบซื่อเหอเอี้ยน ซึ่งหมายถึง บ้านที่มีอาคาร ๔ หลัง ประกอบกัน แต่วัดจะมีอาคารตรงกลาง คือ อาคารต้าสยงเป่าเตี้ยนหรือพระอุโบสถที่สร้างขึ้นเป็นอาคารหลักของวัด ประตูทางเข้าเปิดตรงกลางอาคาร แล้วยาวตลอดเป็นแนวตรงไปจนสุดกลุ่มอาคาร ทางที่เปิดเป็นอาคารกลางนี้ เสมือนเป็นแกนกลาง ของวัดหรือศาลเจ้า หรือบ้านที่ยาวจากประตูใหญ่ของอาคารหน้าไปจนถึงอาคารหลังสุดท้าย หากวัด ศาลเจ้า หรือบ้าน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือหันหน้าไปทางทิศใต้ ถนนสายนี้ก็จะยาวจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ ในทำนองเดียวกัน หากวัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกหันหน้าออกสู่ทิศตะวันออก ถนนแกนกลางของวัด ก็จะยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก จนสุดอาคารของวัด ด้วยผังของสถาปัตยกรรมจีนเช่นนี้ แกนกลางดังกล่าว จึงทำหน้าที่แบ่งอาคารทั้งซ้ายและขวาได้อย่างสมดุล แม้บ้านสำหรับอยู่อาศัยจะมีแกนกลางเช่นเดียวกับวัด ที่ทำหน้าที่แบ่งแยกอาคารประกอบซ้ายและขวาเท่าๆ กัน แต่ประตูใหญ่ของบ้าน ก็ไม่สามารถเปิดทางเข้าที่ส่วนกลางของบ้านเหมือนวัดหรือศาลเจ้าได้ ทั้งนี้ เพราะเชื่อกันว่า ผีและสิ่งอัปมงคลจะสามารถเข้าสู่ประตูใหญ่ของบ้าน แล้วทะลุเข้าออกตามอาคารต่างๆ ได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ดังนั้น ผังของบ้านจึงต้องมีประตูเล็กๆ ตรงมุมทางด้านทิศใต้ของกำแพงบ้าน เมื่อเข้ามาแล้ว จึงจะสามารถเข้าสู่ประตูใหญ่ ที่เปิดอยู่กลางบ้านได้ บ้านบางหลังที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิริมงคลมาก มักมีแผงกั้นสิ่งอัปมงคลที่เรียกว่า เจ้าปี้ หรืออิ่งปี้ วางกั้นไว้ต่อจากประตูทางเข้า โดยตั้งอยู่ด้านหน้าประตูที่เปิดกลางบ้าน ส่วนวัดหรือศาลเจ้าถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ย่อมเป็นที่เกรงกลัวของภูตผีปีศาจ และสิ่งอัปมงคล ดังนั้นการเปิดประตูใหญ่ที่ส่วนกลางของอาคารในวัดหรือศาลเจ้า โดยไม่มีเจ้าปี้เป็นฉากกั้น จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป
แม้ว่าวัดจีนจะมีผังอาคารเป็นแบบบ้านที่มีอาคาร ๔ หลัง หรืออาคาร ๓ หลังประกอบกันก็ตาม อาคารพุทธาวาสที่จำเป็นต้องมีในวัดก็คือ วิหารท้าวจตุโลกบาล และอาคารต้าสยงเป่าเตี้ยนที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๓ องค์อยู่ นอกจากนี้ ยังมีหอกลอง และหอระฆัง หรืออาจมีวิหารพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆ หรือวิหารบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งนิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนา ส่วนเขตสังฆาวาสก็จัดตามความต้องการของฝ่ายสงฆ์