ปัจจัยที่พิจารณากำหนดความดังเชิงจิตวิสัยของเสียงมีความซับซ้อนอยู่พอสมควรซึ่งการวิจัยยังคงกระทำกันอยู่ต่อไปในขณะนี้ อย่างหนึ่ง ได้แก่ หูคนเรามีความไวที่ทุกความถี่ไม่เท่ากันจะไวที่สุดในพิสัย ๒ กิโลเฮิรตซ์ ถึง ๕ กิโลเฮิรตซ์ ไวน้อยที่สุดที่ความถี่สูงมาก ๆ และต่ำมาก ๆ ปรากฏการณ์เช่นว่านี้จะเด่นชัดที่ระดับความดันเสียงต่ำมากกว่าที่ระดับความดันสูง ดูจากรูปกราฟแสดงความดันเสียงในระดับความถี่ต่าง ๆ จะเห็นมีเส้นโค้งเป็นชุด ชี้บอกระดับความดันเสียงที่ความถี่ต่าง ๆ ที่ให้ความดังปรากฏเท่ากับน้ำเสียงที่ ๑๐๐๐ เฮิรตซ์ ตัวอย่างเช่น น้ำเสียง ๕๐ เฮิรตซ์ จะต้องมีระดับสูงกว่าน้ำเสียง ๑๐๐๐ เฮิรตซ์ ถึง ๑๕ เดซิเบล เพื่อจะให้ความรู้สึกเป็นความดังที่ ๗๐ เดซิเบล
เราสามารถสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความไวแปรผันตามความถี่เหมือนเช่นหูมนุษย์ได้ วงจรดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า วงจรถ่วงน้ำหนัก เอ บี และซี เป็นมาตรฐานสากล วงจรเอใช้สำหรับเส้นโค้ง (ความดังเท่ากัน) ที่ระดับความดันเสียงต่ำ วงจรบีสำหรับระดับเสียงปานกลาง และวงจรซีสำหรับระดับสูง ในปัจจุบันใช้วงจรเอกันอย่างกว้างขวางเพราะแบบบีและซีไม่มีสหสัมพันธ์ที่ดีต่อการทดสอบทางการรับรู้เสียง นอกจากนี้ยังมีการปรับมาตรฐานเพิ่มเติมขึ้นสำหรับการวัดเสียงเครื่องบินเป็นวงจรถ่วงน้ำหนักแบบดี (D) อีกด้วย เหตุผลหนึ่งที่วงจรถ่วงน้ำหนักบีและซีไม่ได้ให้ผลตามคาดเพราะว่า เส้นที่มีระดับเสมอกัน (หรือคอนทัวร์) นั้นได้มาจากพื้นฐานการทดลอง โดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (เสียงความถี่เดียว) เสียงทั่ว ๆ ไปส่วนมากมิใช่เสียงบริสุทธิ์แต่เป็นสัญญาณเสียงเชิงซ้อน