Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การบำบัดรักษา

Posted By Plookpedia | 01 มี.ค. 60
4,368 Views

  Favorite

การบำบัดรักษา

ในการบำบัดรักษาโรคพาร์กินสันนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ระยะใหญ่ๆ  คือ

๑. การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กิน-สันในระยะเริ่มต้น
๒. การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กิน-สันในระยะที่มีอาการมากและเป็นมานาน

 

ยาที่ใช้บำบัดรักษาโรคพาร์กินสันจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

 

 

การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้น

วัตถุประสงค์หลักของการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้น คือ การบำบัดรักษาที่สามารถทำให้พยาธิสภาพของโรค กลับคืนสู่สภาพปกติแบบเดิมได้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนได้ดีเหมือนปกติ ก็หวังว่าผลของการบำบัดรักษาโดยวิธีนั้นๆ จะสามารถหยุด หรือชะลอกระบวนการของโรค ไม่ให้ดำเนินต่อไปในทางทรุดหนักลงได้ เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาตลอดชีวิต เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้น การพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสม จำเป็นต้องนำเรื่องฐานะทางการเงินของผู้ป่วยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม ยาที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันสามารถจำแนกได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

๑. ยาที่มีฤทธิ์ต้านอาการของโรคพาร์กินสันชนิดอ่อน ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาจำพวกที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านโคลีน (choline) และยาอแมนทาดีน (amantadine)

๒. ยาที่มีฤทธิ์ต้านอาการของโรคพาร์กินสันชนิดหลัก ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาเลโวโดปา (levodopa) และยากลุ่มโดปามีนอโกนิสต์ (dopamine agonists) ชนิดต่างๆ 

๓. ยาที่มีฤทธิ์ชะลอการดำเนินของโรคในทางที่เลวลง หรือบางคนเรียกว่า มีฤทธิ์ในการปกป้องเซลล์สมอง ไม่ให้เสื่อมสลายลง ได้แก่ ยากลุ่มยับยั้งโมโนอะมีน ออกซิเดส (monoamine oxidase inhibitor : MAO-B) และวิตามินอี 

การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในระยะที่มีอาการมากและเป็นมานาน

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีอาการมากและเป็นมานานจะพบว่า เซลล์สมองที่ทำหน้าที่สร้างสารโดปามีนมีจำนวนลดลงมาก จนเกือบไม่มี หรือหมดไป และทำนองเดียวกันตัวรับสารโดปามีน (dopamine receptor) ในตำแหน่งที่สารโดปามีนออกฤทธิ์ ก็จะมีจำนวนลดน้อยลงมากเช่นกัน ดังนั้น จึงมักเกิดปัญหาตามมาในการให้ยาเลโวโดปา เพื่อเพิ่มสารโดปามีนในสมอง โดยมากผู้ป่วยในระยะนี้ มักเป็นโรคมานานกว่า ๕ - ๑๐ ปี และผู้ป่วยเกือบทุกรายเคยได้รับยาเลโวโดปามาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ ๕๐) มักมีผลแทรกซ้อนของการใช้ยาในระยะยาว ปรากฏออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวผิดปกติต่างๆ คือ

ก. การเคลื่อนไหวผิดปกติแบบบิดเกร็ง 
ข. การเคลื่อนไหวผิดปกติแบบเต้นกระตุก 
ค. การกระตุกของร่างกายเป็นพักๆ 
ง. การเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายบางส่วน   แต่บางส่วนกลับเคลื่อนไหวช้าและเกร็งเกิดขึ้นพร้อมกัน 
จ. การออกฤทธิ์และหมดฤทธิ์ของยาที่ไม่สามารถคาดเดาเวลาได้ 
ฉ. การเคลื่อนไหวผิดปกติสลับกับการเคลื่อนไหวไม่ได้เลย 
ช. ภาวะหยุดนิ่งหรือแข็งและก้าวเดินต่อไปไม่ได้ 

นอกจากนี้ผู้ป่วยพาร์กินสันในระยะนี้บางครั้งยังเกิดอาการทางด้านจิตประสาทร่วมด้วยได้หลายรูปแบบ เช่น มีภาพหลอน หูแว่ว สับสนวุ่นวาย ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมนอน บางรายซึมเศร้าท้อแท้หรือเกิดมีภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วยได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาที่ถูกต้องตามสาเหตุเป็นรายๆ อย่างเหมาะสม สำหรับการพูดไม่ชัด กลืนลำบากหรือสำลัก อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปอดอักเสบตามมา หรือผู้ป่วยบางรายอาจเบ่งปัสสาวะไม่ออก ทำให้มีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อตามมาในที่สุด อนึ่ง ผู้ป่วยบางรายอาจมีการหกล้มบ่อยๆ จนทำให้เกิดแขนหัก หรือกระดูกต้นขาหัก ทำให้เดินไม่ได้ ปวดขา หรือเสียเลือดจนช็อกได้ สำหรับรายที่มีอาการมากและต้องนอนอยู่กับเตียง อาจมีผลแทรกซ้อน เกิดมีแผลกดทับ และการติดเชื้อตามมา ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งอาจมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้

ดังนั้น การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในระยะที่มีอาการมากและเป็นมานาน จึงจำเป็นต้องอาศัยการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยปรับขนาดยาให้พอเหมาะ หรือจะเปลี่ยนยาเลโวโดปา เป็นชนิดที่ออกฤทธิ์นาน หรือใช้ยารักษาพาร์กินสันหลายชนิดร่วมกัน โดยต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยไม่ควรปรับยากินเอง เพราะอาจทำให้อาการของโรคเลวลงได้

ปัจจุบันมีวิธีรักษาล่าสุดโดยการผ่าตัดผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าปลอดภัย แต่มีราคาสูงมาก (ราว ๑ ล้านบาทต่อคน) คือ การผ่าตัดสมองฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อให้กระตุ้นสมองส่วนลึกในตำแหน่งซับทาลามิกนิวเคลียส (subthalamic nucleus) จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๒) มีผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วหลายหมื่นราย และพบว่า ได้ผลดี โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันระยะรุนแรง หรือระยะท้ายๆ ที่ตอบสนองต่อยาไม่ดี หรือไม่ตอบสนองต่อยา พบว่า การผ่าตัดชนิดนี้ ทำให้อาการสั่นดีขึ้นร้อยละ ๗๕ อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อดีขึ้นร้อยละ ๗๑ อาการเคลื่อนไหวช้าดีขึ้นร้อยละ ๔๕ ในช่วงระยะติดตามผล ๕ ปี

สำหรับวิธีการผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยการฉีดยาชาและเจาะรูเล็กๆ ที่กะโหลกศีรษะของผู้ป่วยทั้งสองข้าง แล้วสอดสายขั้วไฟฟ้าเข้าไปในสมองส่วนลึก จากนั้นจะให้ผู้ป่วยดมยาสลบ เพื่อฝังก้อนแบตเตอรี่ที่ใต้ผิวหนังบริเวณทรวงอก และนำไปเชื่อมต่อเป็นวงจรเข้ากับขั้วไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในสมอง กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ จะช่วยแก้ไขการทำงานของสมอง ที่ผิดปกติไป เนื่องมาจากโรคพาร์กินสัน ให้กลับมาทำงานเป็นปกติมากขึ้น จึงมีผลให้อาการสั่น ตัวเกร็ง เคลื่อนไหวเชื่องช้า และการทรงตัวที่ไม่ดีลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณยาที่ใช้ในการรักษาให้น้อยลง หลังจากผ่าตัด และอาการแขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากยาก็ลดน้อยลงไปด้วย

การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมอง เป็นการเพิ่มโอกาสทางการรักษาผู้ป่วยในอนาคต

 

 

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันหายขาดจากโรค แต่จะช่วยให้ผู้ป่วย ที่อยู่ระยะท้ายๆ ของโรคมีอาการดีขึ้น ฉะนั้น ความสำเร็จของการรักษาจำเป็นต้องอาศัยการประสานงานที่ดีของทีมแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นประสาทศัลยแพทย์ ประสาทอายุรแพทย์ ประสาทสรีรแพทย์ ประสาทรังสีแพทย์ และนักประสาทจิตวิทยา 

สำหรับประเทศไทย คณะแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสามารถผ่าตัดผู้ป่วยโรคพาร์กินสันระยะท้ายๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อยาได้เป็นผลสำเร็จครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งพบว่า ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ มีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดโดยวิธีนี้ไปแล้วทั้งสิ้น ๑๐๕ ราย และประสบผลสำเร็จ โดยไม่มีผลแทรกซ้อนสำคัญใดๆ ถือเป็นความสำเร็จของวงการแพทย์ไทย ที่มีคณะทำงานพร้อมในการผ่าตัด และนับเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งทางด้านเทคโนโลยี ของการรักษาแบบใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันระยะท้าย ลดความทุกข์ทรมาน และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด คาดว่า ในอนาคตการรักษาโรคพาร์กินสันโดยวิธีผ่าตัด จะสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางการรักษาแก่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยการผ่าตัดสมองในอดีตที่ผ่านมา เช่น ผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์สร้างสารโดปามีนในสมอง พบว่า ได้ผลดีเพียงชั่วคราว และปัจจุบัน ลดความนิยมลงไปมาก ส่วนการผ่าตัดสมองผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในรายที่มีอาการสั่น หรือเคลื่อนไหวผิดปกติที่ควบคุมไม่ได้ด้วยยา ก็ยังคงมีการทำอยู่บ้างประปราย แต่การรักษาได้ผลไม่ดีเท่ากับการผ่าตัดสมอง ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า แต่อุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดมีราคาค่อนข้างสูง และต้องผ่าตัดใหม่ทุกๆ ๕ ปี เพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ ที่หมดอายุลง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow