Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันโดยวิธีเวชศาสตร์ฟื้นฟู

Posted By Plookpedia | 14 มี.ค. 60
4,596 Views

  Favorite

การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันโดยวิธีเวชศาสตร์ฟื้นฟู

เนื่องจาก โรคพาร์กินสันเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วย สูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายได้มาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ของบุคลิกภาพ กิริยาท่าทาง ตลอดจนมีความผันผวนของอารมณ์ จิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานภาพชีวิตของผู้ป่วยเอง อีกทั้งครอบครัว และสังคม เป็นอย่างยิ่ง หลังจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ด้านวิทยาการต่างๆ ก้าวหน้ามากขึ้น เช่น มีการนำยามาใช้ในการรักษาโรค เทคนิคของการรักษาโดยวิธีการผ่าตัด จึงทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยลดลง อย่างไรก็ดี การบำบัดรักษาด้วยวิธีดังกล่าว อาจสามารถรักษาอาการของโรคบางอย่างให้ทุเลาลง หรือหายไปได้ แต่อาการบางอย่าง หรือในผู้ป่วยบางราย การรักษาทางยาเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร การบำบัดรักษาด้วยวิถีทางของเวชศาสตร์ฟื้นฟู จึงเป็นวิธีการรักษาเพิ่มเติมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ช่วยป้องกัน ปรับปรุง และแก้ไขอาการความผิดปกติที่เนื่องมาจากโรค เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย และช่วยเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้

การฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย

เป้าหมายของการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน คือ พยายามปรับสภาพให้ผู้ป่วยมีความสามารถ ที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด และมีลักษณะท่าทางใกล้เคียงสภาวะปกติมากที่สุด ให้สามารถเข้าสู่สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเยี่ยงคนปกติ เนื่องจากอาการเคลื่อนไหวช้า และอาการเกร็ง เป็นอาการสำคัญ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่ไม่คล่องตัว มีการฝืดและติดขัด ของข้อ เมื่อเกิดขึ้นเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อจะเกิดการอ่อนกำลังลง และอาจมีการฝ่อลีบ ของกล้ามเนื้อตามมา การออกกำลัง เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ในการเคลื่อนไหว จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากจะเป็นการป้องกันแก้ไขข้อต่างๆ ไม่ให้เกิดการยึดติดแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออีกด้วย กล้ามเนื้อที่จะต้องมีการบริหารออกกำลัง คือ กล้ามเนื้อของใบหน้า ลำคอ ทรวงอก ลำตัว และกล้ามเนื้อของแขนและขา

ก. ท่ากายบริหารที่ควรปฏิบัติให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน

ท่าที่ ๑    ยกแขนและแอ่นหลัง
    -    นั่งบนเก้าอี้มีพนักพิง
    -    นำแขน  ๒ ข้างมาประสานกัน ดังภาพ ๑.๑
    -    ยกแขนขึ้นพร้อมกับกางแขนออก และ แอ่นหลังดังภาพ ๑.๒
หมายเหตุ   ขณะยกแขนขึ้นให้หายใจเข้า เมื่อนำแขนลงให้หายใจออก

 

ท่าที่ ๒    หมุนลำตัวช่วงบน
    -    นั่งบนเก้าอี้มีพนักพิง
    -    นำมือซ้ายมาแตะไหล่ขวา ดังภาพ ๒.๑ จากนั้นหมุนลำตัวไปทางขวา
    -    นำมือขวามาแตะไหล่ซ้าย ดังภาพ ๒.๒ จากนั้นหมุนลำตัวไปทางซ้าย

 

 

ท่าที่ ๓    นั่งเหยียดเข่า
    -    นั่งบนเก้าอี้มีพนักพิง
    -    เตะขาซ้ายขึ้น ดังภาพ ๓.๑ แล้วนำลง
    -    เตะขาขวาขึ้น ดังภาพ ๓.๒ แล้วนำลง

 

ท่าที่ ๔    เอียงศีรษะ
    -    นั่งบนเก้าอี้มีพนักพิง ศีรษะตั้งตรง
    -    เอียงศีรษะไปทางซ้าย ดังภาพ ๔.๑ แล้วนำกลับตั้งตรง
    -    เอียงศีรษะไปทางขวา ดังภาพ ๔.๒ แล้วนำกลับตั้งตรง

 

 

ท่าที่ ๕    ยกแขน
    -    นอนหงาย แขนวางข้างลำตัว
    -    ยกแขนขวาขึ้น ดังภาพ ๕.๑ แล้วนำลงข้างลำตัว
    -    ยกแขนซ้ายขึ้น ดังภาพ ๕.๒ แล้วนำลงข้างลำตัว

 

 

ท่าที่ ๖    กางแขน
-  นอนหงาย แขนวางข้างลำตัว
-  ยกแขนทั้งสองขึ้น ดังภาพ ๖.๑ 
-  กางแขนออก ดังภาพ ๖.๒
-  จากนั้น หุบแขนกลับดังภาพ ๖.๑ แล้วนำลงข้างลำตัว

 

 

ท่าที่ ๗    หมุนลำตัวช่วงบน
-  นอนหงาย แขนวางข้างลำตัว
-  นำแขนซ้ายข้ามลำตัวมาทางขวา จนไหล่ซ้ายยกจากพื้นเตียง ดังภาพ ๗.๑ แล้วนำแขนกลับวางข้างตัว
-  ยกแขนขวาข้ามลำตัวมาทางซ้าย จนไหล่ขวายกจากพื้นเตียง ดังภาพ ๗.๒ แล้วนำแขนกลับวางข้างตัว

ท่าที่ ๘    หมุนลำตัวช่วงล่าง
-  นอนหงาย แขนวางข้างลำตัว ชันเข่าทั้งสอง
-  บิดตัวไปทางซ้าย โดยนำเข่าทั้งสองลงแตะพื้นเตียงทางซ้าย ดังภาพ ๘.๑ จากนั้นนำเข่าทั้งสองกลับมาตั้งตรงในท่าชันเข่า
-  บิดตัวไปทางขวา โดยนำเข่าทั้งสองลงแตะพื้นเตียงทางขวา ดังภาพ ๘.๒ จากนั้นนำเข่าทั้งสองกลับมาตั้งตรงในท่าชันเข่า

 

 

ท่าที่ ๙    ยกก้น
-  นอนหงาย แขนวางข้างลำตัว ชันเข่าทั้งสอง ดังภาพ ๙.๑
-  เหยียบเท้าทั้งสองลงน้ำหนักบนพื้นเตียง พร้อมกับยกก้นขึ้น ดังภาพ ๙.๒
-  นำก้นลงวาง กลับสู่ท่าเริ่มต้น ดังภาพ ๙.๑

 

 

ท่าที่ ๑๐    ลากขาขึ้นและเหยียดขา
-  นอนหงาย แขนวางข้างลำตัว
-  ลากขาซ้ายขึ้น ดังภาพ ๑๐.๑ จากนั้นเหยียดขาออก
-  ลากขาขวาขึ้น ดังภาพ ๑๐.๒ จากนั้นเหยียดขาออก
หมายเหตุ  ขณะลากขาขึ้นตั้ง ให้กระดกข้อเท้า และให้ส้นเท้าติดพื้นเตียงเสมอ

 

 

 

ท่ากายบริหารดังกล่าวควรเริ่มทำทีละน้อยภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด และค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ จนกระทั่ง ผู้ป่วยสามารถบริหารได้ด้วยตนเองในที่สุด โดยเน้นให้ปฏิบัติสม่ำเสมอ จนเป็นปกตินิสัย เนื่องจาก ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีลักษณะเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือ เวลาอยู่ในท่าทรงตัว ศีรษะ และลำตัวจะงุ้มไปข้างหน้า และเวลายืน สะโพกและเข่าจะงอ การแก้ไขลักษณะท่าทางของผู้ป่วยให้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็น มิฉะนั้นแล้ว จะมีผลสืบเนื่อง ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยของร่างกาย และสูญเสียสมรรถภาพของการทรงตัวได้ง่าย ตลอดจนเกิดอาการกล้ามเนื้อยึดติด

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักมีปัญหาในเรื่องการเดิน การฝึกการเดินด้วยท่าทางที่ถูกต้องนั้น ควรเริ่มตั้งแต่ก่อนออกเดิน โดยสอนให้ผู้ป่วยยืนยืดตัวตรงเสียก่อน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่อาการเป็นมาก บางรายมีปัญหาตั้งแต่เมื่อแรกเริ่มจะออกเดิน กล่าวคือ มีอาการก้าวขาไม่ออกทั้งๆ ที่บางรายไม่มีปัญหาในเรื่องของการทรงตัวเลย ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องอาศัยวิธีการกระตุ้นการเริ่มออกเดิน ด้วยสิ่งเร้าทางสายตา เช่น เมื่อตื่นนอนขึ้นมาลุกจากเตียงจะออกเดิน หรือนั่งเก้าอี้ ลุกขึ้นยืนจะออกเดินให้กระตุ้นการเดิน โดยให้ผู้ป่วยก้าวข้ามสิ่งของบางอย่างที่วางอยู่ข้างหน้า อาจเป็นรองเท้า หรือขอบประตู หรือใช้ชอล์กขีดเส้นเอาไว้ หรือป้ายสีที่พื้นไว้ เพื่อให้สะดุดตา เมื่อผู้ป่วยเริ่มต้นการเดินด้วยการก้าวข้ามสิ่งต่างๆ ดังกล่าวแล้ว จึงสามารถเดินต่อไปได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเหล่านี้ มักประสบปัญหาเวลาออกจากบ้านไปไหนมาไหน เพราะต้องคอยมองหาวัสดุที่พื้น เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินต่อไป ทั้งนี้ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยถือไม้เท้า เมื่อเริ่มจะออกเดิน ให้ใช้การสลับไม้เท้าเอาส่วนที่เป็นด้ามมือจับจิ้มลงบนพื้น ใช้มือจับส่วนปลาย ของไม้เท้า โดยให้ส่วนด้ามมือจับอยู่ตรงหน้าผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยมองเห็น แล้วก้าวข้ามไปได้

ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่จะมีลักษณะการก้าวเท้าเดินที่เฉพาะตัว คือ เดินก้าวเท้าสั้นๆ แบบซอยเท้า โดยเฉพาะในระยะแรกเริ่ม การฝึกหัดเดินโดยมีลักษณะที่เป็นปกตินั้น ให้เดินหลังตรง เน้นการเดินเอาส้นเท้าลงก่อน อย่าใช้ปลายเท้า ก้าวเท้าเดินให้ยาวพอ อย่าก้าวสั้น ให้เท้าอยู่ห่างกันระยะประมาณ ๑๒ - ๑๕ นิ้ว ให้พอเหมาะ นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีปัญหาในเรื่องของการหมุนตัว และทำได้ลำบาก เท้ามักจะพันกัน เวลาเดินไปๆ จะก้าวเท้าเร็วขึ้นๆ เรื่อยๆ และมักจะหยุดเดินทันทีทันใดไม่ได้ การหกล้มหน้าคะมำจึงเกิดขึ้นได้ง่าย การฝึกหัดต้องให้ผู้ป่วยเข้าใจ และรู้จักระมัดระวังตนเอง การหมุนตัวกลับจะต้องค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ อย่าให้ขาพันกัน การขีดเขียนเครื่องหมายบนพื้น จะเป็นการกระตุ้นทางสายตา รวมทั้ง การใช้จังหวะของดนตรีจะกระตุ้นการเดินให้เป็นจังหวะและดีขึ้นได้

 

 

ข. การใช้มือทำงาน

การเคลื่อนไหวที่ช้าลง รวมทั้งการเกร็งของแขนและมือ ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ทำให้เกิดปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน ตลอดจนกิจกรรมที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนของมือ หรือนิ้วมือในการทำงาน และการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ เช่น การทำความสะอาดร่างกาย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร ตลอดจนภารกิจการทำงานประจำวัน การปรับปรุง เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการทำงาน ที่ต้องอาศัยความละเอียดพิถีพิถัน ต้องเน้นการปรับปรุงคุณภาพความสามารถ ของการใช้มือ และนิ้วมือ ทั้งด้านความแม่นยำและความรวดเร็วในการทำงาน วิธีการรักษาส่วนใหญ่ ต้องอาศัยงานด้านกิจกรรมบำบัดเข้ามาช่วย เช่น อาจใช้การเล่นเกม การฝึกเขียนหนังสือ การวาดรูป งานฝีมือ ตลอดจน การฝึกใช้อุปกรณ์บางอย่าง เช่น ถุงทราย ผู้ฝึกการสอนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมบำบัด จะต้องแนะนำ ชี้แจง แสดงให้ดู และให้มีการซักถาม ควรฝึกหัดทั้งกิจกรรมที่กระทำในบ้านและนอกบ้าน การฝึกผู้ป่วยเป็นกลุ่ม จะช่วยกระตุ้น ให้ทำตามซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยแต่ละคนควรมีโปรแกรมการฝึกที่ให้ไปฝึกหัดทำต่อที่บ้าน นอกเหนือจากที่มาขอรับการฝึกหัดที่โรงพยาบาล หรือคลินิกกิจกรรมบำบัดสัปดาห์ละ ๓ - ๕ วัน  

ค. การฝึกพูด

ใช้การฝึกหัดทางด้านอรรถบำบัด เพื่อปรับปรุงแก้ไขเรื่องการพูด ตลอดจนการออกกำลังของกล้ามเนื้อใบหน้า ปาก ลิ้น รวมทั้ง กระตุ้นการออกกำลัง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ นอกจากนี้ การใช้จังหวะดนตรี การออกเสียงอ่านหนังสือ ตลอดจนการร้องเพลง ล้วนมีประโยชน์ในการฝึกทั้งสิ้น

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow