อาการของโรคพาร์กินสัน
ลักษณะอาการของโรคพาร์กินสันที่สำคัญประกอบด้วยลักษณะจำเพาะ ๔ อย่างเป็นหลัก อันได้แก่ อาการสั่น อาการเกร็ง อาการเคลื่อนไหวช้า และการเสียการทรงตัว นอกจากนี้ก็ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย คือ ความผิดปกติของลูกตา ความผิดปกติ ของระบบประสาทอัตโนมัติ และอาการทางด้านจิต
อาการสั่น เป็นลักษณะที่เด่นและพบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยโรคนี้ อาการสั่นนี้จะพบราว ๒ ใน ๓ ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยในระยะแรกของโรค อาจเกิดขึ้นกับร่างกายซีกใดซีกหนึ่งก่อน เช่น มือหรือเท้า ต่อมา จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการเคลื่อนไหวช้าหรือเกร็ง โดยอาจมีอาการสั่นนำมาก่อนเป็นเวลา ๑ - ๒ ปีก็ได้ แต่ในผู้ป่วยพาร์กินสันบางราย อาจไม่มีอาการสั่นเลย แต่มีอาการเคลื่อนไหวช้า หรือเดินตัวเกร็ง เช่น เดินแขนไม่แกว่ง เป็นอาการนำมาก่อน ๒ - ๓ ปี ต่อมา จึงมีอาการสั่นตามมาในระยะท้ายๆ ของโรคก็ได้ |
|
อย่างไรก็ตาม อาการสั่นนั้นอาจพบได้ในโรคอื่นๆ อีกมากมายหลายกรณี เช่น ก. โรคไทรอยด์เป็นพิษ ข. โรคพิษสุราเรื้อรัง ค. ผลจากภาวะไข้สูง ตั้งครรภ์ ตื่นเต้น หรือตกใจมากๆ ง. ผลจากยาต่างๆ เช่น ยาแก้หอบหืด ยาต้านซึมเศร้า ยาป้องกันชัก จ. ผลจากสารเสพติดต่างๆ เช่น ติดทินเนอร์ ติดกาว ติดยานอนหลับ ติดสารกระตุ้นสมอง ฉ. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ช. โรคสมองน้อยฝ่อ ซ. โรคพันธุกรรมต่างๆ ฌ. ความชรา สำหรับอาการสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้น มีลักษณะการสั่นเป็นพิเศษจำเพาะ ที่สามารถแยกจากโรคอื่นๆ หรือภาวะอื่นๆ ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เพราะการสั่นในโรคพาร์กินสันจะเกิดขณะอยู่เฉยๆ หรืออยู่นิ่งๆ แต่ถ้าผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหว เช่น ยื่นมือออกมาทำกิจกรรมใด อาการสั่นนี้จะลดลงหรือหายไป เมื่อเวลาตรวจกล้ามเนื้อจะพบว่า มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และมีการเคลื่อนไหวช้าร่วมด้วย ส่วนการสั่นจากภาวะหรือโรคอื่นๆ ดังกล่าวมักจะเกิดการสั่นขึ้นในขณะที่มีการเคลื่อนไหว แต่ในขณะอยู่นิ่งๆ หรืออยู่เฉยๆ จะไม่มีอาการสั่นเลย และความตึงตัวของกล้ามเนื้อจะเป็นปกติดี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันระยะท้ายๆ ที่มีการสั่นมากๆ อาจเกิดอาการสั่นตลอดเวลา แม้ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวก็ได้ นอกจากนี้ลักษณะเด่นของอาการสั่นในโรคพาร์กินสัน มักเป็นที่มือและนิ้วมือ โดยมีอัตราความถี่ ๔ - ๗ ครั้งต่อวินาที อนึ่ง การสั่นอาจเกิดขึ้นที่บริเวณขา ปาก ลิ้น หรือคาง ก็ได้ แต่ศีรษะจะไม่สั่น และเมื่อใดก็ตาม ถ้าหากพบอาการสั่นของศีรษะไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบส่ายหน้าไปมาซ้ายขวา หรือผงกและเงยศีรษะขึ้นลง มักไม่ใช่เกิดจากโรคพาร์กินสัน แต่เกิดจากโรคอื่นๆ เช่น โรคสมองน้อยฝ่อ ภาวะชราภาพ หรือพบร่วมกับโรคทางสมองอื่นๆ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันโดยทั่วๆ ไปมักมีอาการสั่นที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยความแรงของการสั่นจะเพิ่มมากขึ้น ตามระยะเวลาของการเป็นโรค และอาการสั่นนี้ จะมีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่มีความกังวล ตกใจ หรือเครียด หรือในขณะที่ต้องปรากฏตัวในที่ชุมชน เช่น การกล่าวปราศรัยหรือพูดในที่ชุมชน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ทุกคนจะทราบดีว่า หากได้หยิบหรือจับสิ่งของบางอย่างร่วมด้วย อาการสั่นก็จะลดความรุนแรงลงได้ ดังนั้น บางคนจึงอาจใช้วิธีกำหนังสือพิมพ์ ถือไม้เท้า ถือร่ม กำหมัดและคลายหมัดสลับกัน อนึ่ง อาการสั่นที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้น จะหายไปโดยสิ้นเชิง เมื่อผู้ป่วยนอนหลับ หรือขณะได้รับยาสลบ แต่เมื่อผู้ป่วยตื่นหรือฟื้นขึ้นมา อาการสั่นก็จะกลับมาปรากฏอีก อาการในระยะแรกๆ ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักพบว่า อาจเกิดอาการสั่นเป็นพักๆ เท่านั้น และมักเป็นแต่เฉพาะบางส่วนของร่างกาย เช่น สั่นที่นิ้วใดนิ้วหนึ่งนำมาก่อน บางรายอาการสั่นจะยังคงเกิดขึ้นที่นิ้วมือนั้นๆ หรือเป็นทั้งมือตามมาในที่สุด โดยปกติอาการสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้น มักเกิดที่มือก่อนเสมอ และมักเป็นที่ส่วนปลายๆ ของมือข้างใดข้างหนึ่งนำมาก่อน จากนั้นจึงมีอาการสั่นของมืออีกข้างตามมา โดยอาการสั่นจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ และอาการสั่นก็จะลุกลามจากบริเวณมือมายังข้อมือ ข้อศอก และทั้งแขน ในขณะที่บริเวณขาอาจไม่พบอาการสั่นแต่อย่างใด ผู้ป่วยน้อยรายมาก ที่จะพบอาการสั่นเกิดอยู่แต่เฉพาะที่เท้าและขา ในขณะที่ไม่มีอาการสั่นบริเวณมือหรือแขนเลย สำหรับอาการสั่นที่อื่นๆ ของร่างกาย เช่น ริมฝีปาก คาง ลิ้น มักมีความแตกต่างกันอย่างมากในผู้ป่วยแต่ละราย ในรายงานจากต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ พบว่า ร้อยละ ๖๐ ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จะมีอาการสั่นที่มือข้างใดข้างหนึ่งนำมาก่อน หลังจากนั้นจึงจะเกิดอาการสั่นที่มืออีกข้างหนึ่งตามมา ภายในระยะเวลา ๗ ปี โดยพบถึง ๒ ใน ๓ ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ |
อาการเกร็ง
อาการเกร็งเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โดยแพทย์ได้ให้คำจำกัดความของอาการเกร็งว่า หมายถึง ความตึงตัว หรือแรงต้านทานของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยไม่ได้ออกแรงต้าน โดยปกติ ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจตรวจพบอาการแสดงของอาการเกร็ง ได้บ่อยกว่าอาการสั่น ซึ่งพบทั้งผู้ป่วยในระยะแรก และระยะท้ายๆ ของโรค
นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ให้ความสนใจในเรื่องอาการเกร็งนี้น้อยกว่าอาการสั่นมาก จนกระทั่งต่อมา ศาสตราจารย์นายแพทย์ชอง-มาร์แตง ชาร์โก จึงได้เน้นย้ำว่า อาการเกร็งนี้ เป็นลักษณะอาการทางคลินิกที่สำคัญยิ่งของโรคนี้ โดยอาการเกร็งจะเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่งนำมาก่อน ต่อมาก็จะเกิดทั้งสองข้างของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการเกร็งของโรคพาร์กินสันมีลักษณะจำเพาะที่แตกต่างกันออกไปของโรคนี้โดยเฉพาะ และจะทำให้เกิดลักษณะอาการ และอาการแสดงทางคลินิกของโรคพาร์กินสันขึ้นได้หลายรูปแบบดังนี้
๑. อาการเกร็งแบบท่อโลหะ
หมายถึง อาการเกร็งที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อชนิดที่มีความตึงตัวกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเท่ากันตลอดเวลา มักพบที่บริเวณกล้ามเนื้อคอด้านหลัง และกล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่มากกว่าบริเวณข้อศอกและข้อมือ ส่วนใหญ่มีอาการเกร็ง ในบริเวณแขนมากกว่าบริเวณขา แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ลำตัวมากกว่า
๒. อาการเกร็งแบบฟันเฟือง
อาการเกร็งชนิดนี้มีอาการสั่นเกิดขึ้นร่วมกับอาการเกร็งด้วย จึงทำให้การตรวจความตึงตัวของกล้ามเนื้อในขณะไม่ออกแรงต้าน เป็นแบบชนิดสะดุด และเกร็งเป็นช่วงๆ
๓. อาการเกร็งตามความแปรปรวนในความรุนแรงของอาการ
กล่าวคือ อาการเกร็งจะเป็นมากขึ้นในขณะยืน หรือพยายามตั้งใจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และอาการนี้จะลดลงเมื่อล้มตัวลงนอน หรือในภาวะที่มีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเกร็งที่รุนแรงมาก โดยเฉพาะในบริเวณกล้ามเนื้อของลำตัว ทำให้ผู้ป่วยในขณะนอนราบมีลักษณะอาการเกร็งที่บริเวณคออยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยจะนอนศีรษะไม่ติดพื้น เหมือนกับว่า นอนอยู่ในท่านอนหนุนหมอนลอยขึ้นมา โดยไม่มีหมอนหนุนรองรับที่บริเวณคอเลย
๔. อาการแสดงทางใบหน้าแบบไม่ยินดียินร้าย ไม่ตอบสนองต่ออารมณ์ใดๆ ไม่ว่าจะดีใจ หรือเสียใจ ผู้ป่วยบางรายมีอาการซึมเศร้า ไม่ค่อยยิ้ม หรือร่าเริงเหมือนเช่นปกติ โดยมีใบหน้าเป็นเหมือนหุ่นยนต์ หรือเหมือนใส่หน้ากาก ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจาก มีอาการเกร็ง ของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ร่วมกับอาการเคลื่อนไหวช้า ของกล้ามเนื้อร่วมกัน |
|
๕. อาการเกร็งที่ก่อให้เกิดลักษณะวิกลรูปที่บริเวณมือและเท้า ไม่ว่าจะเป็นการงอของข้อเท้าหรือนิ้วเท้า หรือการเหยียดเกินของข้อนิ้วมือ หรืออาการงอชิดของนิ้วเท้า หรือกระดกขึ้นมากเกินปกติ ของนิ้วแม่โป้งเท้า ปัจจุบันเรายังไม่ทราบกลไกในการเกิดลักษณะวิกลรูปเหล่านี้ที่แน่ชัด อย่างไรก็ดี ลักษณะวิกลรูปอาจดีขึ้น หรือหายไปได้ ถ้าได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่มักมีลักษณะการเดินชนิดไม่แกว่งแขน ท่าเดินมีการงอข้อศอกและข้อเข่า จึงทำให้ผู้ป่วยเดินชนิดตัวซุนๆ ไปข้างหน้า ตัวงอ คอก้ม และบางรายอาจเดินเซข้างไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ ๖. อาการปวดคอ หรือปวดหลัง อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่า ตัวเองเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม อาการปวดมักเกิดบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านหลัง และบริเวณเอว แต่อาการปวดเหล่านี้ ไม่มีอาการปวดเสียวร้าวไปตามเส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่ง อาการเคลื่อนไหวช้า การเคลื่อนไหวช้าเป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่อาจพบได้ในระดับต่างๆ กันของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของร่างกายมีได้ตั้งแต่กล้ามเนื้อแขนและขาที่ใช้ในการทำงานอย่างละเอียด เช่น การเขียนหนังสือ ตลอดจนกล้ามเนื้อบริเวณ ใบหน้า ปาก และลิ้น อาการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกตินี้ มีสูงถึงร้อยละ ๙๘ ของผู้ป่วยทั้งหมด และพบว่าราวร้อยละ ๕๐ มีอาการเพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายเท่านั้น แต่เมื่อติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปอีก ๑๐ ปี พบว่าร้อยละ ๗๐ ของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการเป็นมากขึ้น โดยมีอาการเกิดขึ้นทั้งสองข้างของร่างกาย อาการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกตินี้ พบบ่อยกว่า ทั้งอาการสั่นและอาการเกร็ง และสามารถก่อให้เกิดลักษณะของอาการแสดงทางคลินิกในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ได้หลายรูปแบบ ดังนี้ ๑. การเคลื่อนไหวที่เกิดน้อยกว่าปกติ ภาวะนี้จะไม่ทำให้มีอาการอัมพาตของแขนขาที่แท้จริงแต่อย่างใด การเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติของร่างกายชนิดนี้ อาจเกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อใดกล้ามเนื้อหนึ่ง นับจากบริเวณเท้าถึงใบหน้า ในกรณีที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหน้าไม่แสดงอารมณ์แบบสวมหน้ากาก ซึ่งหากเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อที่บริเวณกล่องเสียง ก็จะทำให้เกิดการพูดเสียงเบาๆ แบบเสียงราบเรียบเป็นระดับเดียวกันตลอดเวลา และในเวลาต่อมา อาจมีอาการพูดรัว หรือพูดไม่ชัด ตามมาได้ |
๒. ภาวะน้ำลายออกมาก ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจมีน้ำลายไหลยืดออกมากอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลเนื่องมาจาก ร่างกายผู้ป่วยมีการสร้างน้ำลาย ในปริมาณที่มากกว่าปกติ ร่วมกับมีการเคลื่อนไหวลดลงของกล้ามเนื้อ บริเวณริมฝีปาก ลิ้น เพดานปาก และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน |
|
๓. ภาวะเดินเกร็งและแขนไม่แกว่ง ในคนปกติขณะเดินมักมีการแกว่งแขนสลับข้างกับขาร่วมไปด้วยพร้อมๆ กันโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักมีการสูญเสียการเคลื่อนไหวของแขนร่วมกับการเดิน ทำให้การเดินเป็นลักษณะเหมือนหุ่นยนต์ ๔. การเขียนลำบาก เกิดขึ้นที่บริเวณมือ โดยที่การเขียนหนังสือนั้นจำเป็นต้องอาศัยการประสานงานและร่วมมือกันอย่างดีของกล้ามเนื้อต่างๆ ที่บริเวณแขนและมือ ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจใดๆ ที่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเกือบทุกรายมีปัญหาในด้านการเขียนหนังสือ โดยอาจเริ่มเขียนหนังสือได้ช้า หรือเขียนหนังสือตัวเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งในระยะท้ายๆ ของโรค ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีความยากลำบากในการเขียนหนังสือมากขึ้น จนเขียนหนังสือไม่ได้เลย แม้กระทั่งการเซ็นชื่อตนเองก็ตาม |
๕. การเคลื่อนไหวลำบาก
ในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ อันได้แก่ การติดกระดุมเสื้อ การผูกเชือกรองเท้า การโกนหนวด การแปรงฟัน การล้างถ้วยชาม จะทำได้ด้วยความยากลำบาก และในเวลาต่อมาอาจทำไม่ได้เลยในที่สุด นอกจากนี้ การพลิกตัวของผู้ป่วยในเตียง การลุกจากเก้าอี้นั่ง และการเดินก้าวสั้นๆ โดยที่ไม่สามารถยกเท้าสูงขึ้นจากพื้น ต่างก็เป็นผลเนื่องมาจาก ภาวะเคลื่อนไหวลำบาก จนในที่สุดผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในระยะท้ายๆ มักไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เลย และต้องการคนดูแลช่วยเหลือตลอดเวลา
๖. ความผิดปกติในการพูด
การพูดของคนเราตามปกติต้องอาศัยการประสานงานของกล้ามเนื้อหลายๆ ตำแหน่ง เช่น กล้ามเนื้อของริมฝีปาก ลิ้น เพดาน คอ และกล่องเสียง แต่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีความผิดปกติของการพูดในอัตราที่สูง โดยจะพูดเบาลงหรือเสียงค่อยกว่าเดิม หรือพูดชนิดที่ไม่มีน้ำหนักของคำพูดที่เปล่งเสียงออกมา และในระยะต่อมาพบว่า เสียงพูดของผู้ป่วยจะเป็นแบบเสียงราบเรียบ ระดับเดียวกัน กล่าวคือ เสียงพูดจะราบเรียบเสมอเท่ากันทั้งหมด ไม่มีระดับเสียงสูงหรือเสียงต่ำแต่อย่างใด และการพูดจะไม่มีการแสดงออกทางด้านอารมณ์ของคำพูดเลย
การเสียการทรงตัว
ความผิดปกติในการเดินของผู้ป่วย โรคพาร์กินสันนั้น พบได้บ่อยและสามารถใช้เป็นเครื่องช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายกลไกด้วยกัน กล่าวคือ ในช่วงแรกๆ เป็นผลเนื่องมาจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเดินมีการเคลื่อนไหวช้า หรือมีการเคลื่อนไหวน้อยผิดปกติ อันเนื่องมาจากการเสียการทรงตัวของร่างกาย ความผิดปกติในการเดินของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ในช่วงระยะเวลา ๕ ปีแรก ที่เป็นโรคนั้น จะพบว่ามีความผิดปกติของการเดินในอัตราสูงถึงร้อยละ ๕๕ - ๖๐ ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยอาจพบว่า มีการเดินแบบแขนไม่แกว่งข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคมานานเกิน ๘ - ๑๐ ปี มักมีความผิดปกติในท่าการเดินได้หลายรูปแบบ จนในที่สุดก็จะเดินไม่ได้ และต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา
ความผิดปกติของลูกตา
ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจมีอาการที่เกี่ยวข้องกับลูกตาได้หลายรูปแบบดังนี้
๑. สูญเสียความสามารถในการมองใกล้
ผู้ป่วยโรคนี้มักพบว่า เวลามองสิ่งของใกล้ๆ จะเห็นภาพซ้อน ในขณะที่การมองไกลจะเห็นเป็นปกติ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการควบคุมการมองใกล้ของผู้ป่วยได้สูญเสียไป
๒. สูญเสียความสามารถในการมองสิ่งของที่อยู่สูง
ผู้ป่วยมีการสูญเสียด้านการมองขึ้นด้านบน แต่จะมองสิ่งของที่อยู่ต่ำได้ดี มีรายงานว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางราย อาจมีการสูญเสียความสามารถ ในการกลอกตาขึ้นบนหรือลงล่าง ในแนวดิ่งทั้งสองทิศทางได้
๓. มีความผิดปกติของการกลอกลูกตาในแนวราบ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลอกตาในแนวราบ ในจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ และช้า ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลูกตา เป็นแบบมีจังหวะ แบบสะดุดๆ หลายหน และไม่ราบเรียบ สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจพบการเคลื่อนไหวแบบตากระตุกด้วย นอกจากนี้ หากสั่งให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันกลอกลูกตาอย่างรวดเร็ว จากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง โดยไม่หมุนศีรษะ หรือหันคอแต่อย่างใด จะพบว่า ผู้ป่วยมีการกะพริบตาร่วมด้วยทุกครั้ง ที่กลอกลูกตา ซึ่งแตกต่างจากคนปกติที่จะไม่มีการกะพริบตาเลย
๔. การกะพริบตามีน้อย
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักมีการเบิ่งตาและตาเปิดกว้างกว่าของคนปกติ จึงทำให้มองดูเหมือนว่า ผู้ป่วยกำลังอยู่ในท่าจ้องมองอยู่ตลอดเวลา
ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติได้หลายแบบ โดยแบ่งความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละระบบ ของร่างกาย ดังนี้
๑. ระบบทางเดินอาหาร
อาการที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันคือ อาการท้องผูก ซึ่งมักเป็นอาการหลักของโรคนี้ ทำให้ผู้ป่วยเกือบทุกรายมีความทุกข์ทรมานมาก อาการนี้อาจเกิดจากยาที่ใช้รักษาโรค หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยดื่มน้ำน้อย และไม่ยอมเดิน หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง และพบว่า ลำไส้ใหญ่มักมีการเคลื่อนไหวตัวน้อยกว่าปกติ ซึ่งบางรายอาจมีอาการมาก จนเกิดภาวะลำไส้ใหญ่ขยายโตมาก นอกจากนี้ยังพบว่า หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน มักมีการเคลื่อนไหวช้าและลดน้อยลงอีกด้วย
๒. ระบบทางเดินปัสสาวะ
ส่วนใหญ่กล้ามเนื้อหูรูดของการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระของผู้ป่วยโรคพาร์กิน-สันมักยังทำงานได้ดีอยู่ จนกว่าจะถึงระยะท้ายๆ ของโรค ซึ่งเกิดภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย จึงมีภาวะผิดปกติขึ้น สำหรับอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ และถ่ายราด จะพบได้บ่อยกว่า และมักเป็นในผู้ป่วยชาย ที่เกิดจากต่อมลูกหมากโต
๓. ระบบหัวใจและหลอดเลือด
อาการที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ ความดันโลหิตต่ำเวลาลุก นั่ง หรือยืน ซึ่งอาจเป็นผลที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคนี้ก็ได้ และยิ่งกว่านั้น อาจพบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางรายมีความผิดปกติโดยตรงเกิดขึ้นกับระบบประสาทส่วนปลาย
๔. ระบบผิวหนังและต่อมเหงื่อ
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางคนอาจมีอาการร้อนวูบวาบๆ ตามผิวหนัง ซึ่งถือว่าเป็นอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นเดียวกับอาการเหงื่อออกมากเฉพาะที่ของร่างกาย
อาการทางด้านจิต
ความผิดปกติด้านจิตใจและอารมณ์ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้นสามารถจำแนกเป็น ๒ ประการหลัก ดังนี้คือ
๑. ภาวะสมองเสื่อม
ใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้มีรายงานว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันราวร้อยละ ๔๐ มีปัญหาในด้านความฉลาด ความจำ อารมณ์ และบุคลิกภาพ เรียกว่า ภาวะสมองเสื่อม ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนนั้น มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มานานมากกว่า ๑๐ - ๑๕ ปีขึ้นไป ในรายงานต่างๆ ทั่วโลกพบว่า อุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อมนั้น พบได้ราวร้อยละ ๒๐ - ๘๐ ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ในประเทศไทย นิพนธ์ พวงวรินทร์ และคณะ ได้ศึกษาอุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันชาวไทยจำนวน ๑๓๒ ราย พบว่ามีอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมสูงถึงร้อยละ ๒๕.๗๖
๒. ภาวะผิดปกติทางอารมณ์
อาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันคือ ภาวะซึมเศร้า ในอดีตเคยเชื่อกันว่า ภาวะนี้เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นผลตอบสนองของจิตใจต่อโรคทางกายที่รักษาไม่หาย และเป็นเรื้อรัง ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่มีความพิการทางร่างกายนำมาก่อน แต่ในปัจจุบันหลายคนเชื่อว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นผลโดยตรงจากโรคพาร์กินสัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง อุบัติการณ์ของภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้นมักไม่รุนแรง และไม่ค่อยมีปัญหา ในการที่ผู้ป่วยจะพยายามฆ่าตัวตายแต่อย่างใด และพบว่า ภาวะซึมเศร้านี้ มีความสัมพันธ์กับความจำ และความฉลาดที่ลดลง แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค อายุ และเพศของผู้ป่วย