Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หอยที่เป็นอาหาร

Posted By Plookpedia | 05 เม.ย. 60
12,503 Views

  Favorite

หอยที่เป็นอาหาร

หอยเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางอาหารไม่น้อยกว่าสัตว์น้ำจำพวกปลา ปู และกุ้ง มนุษย์กินหอยเป็นอาหารมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเล จากอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า หอยทะเลทุกชนิดกินเป็นอาหารได้ อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของรสชาติ อันเนื่องมาจากลักษณะของเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม แข็งกระด้าง เหนียว หรือมีความพอดี โดยทั่วไปหอยที่เติบโตช้า หรือมีอายุมาก เนื้อมักจะมีความเหนียวมากกว่าหอยที่โตเร็ว พฤติกรรมและอาหารที่หอยกิน ก็มีส่วนที่ทำให้รสชาติของหอยแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน การสำรวจชนิดของหอยที่มีวางขายในตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ตของศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และตลาดของท้องถิ่นในจังหวัดชายฝั่งทะเล พบประมาณ ๕๕ ชนิด แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นหอยที่มีความสำคัญในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ หอยที่มีผลผลิตเป็นจำนวนมาก โดยได้จากการทำฟาร์มเพาะเลี้ยง และจากการทำประมงขนาดกลางและขนาดใหญ่ กลุ่มที่ ๒ เป็นหอยที่ชาวบ้านในท้องถิ่นรวบรวมได้ จากที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และมีปริมาณไม่มากนัก มีการบริโภคกันในระดับท้องถิ่น หอยที่มีรสชาติดีเหมาะสำหรับนำมาเป็นอาหารมักเป็นหอยกาบคู่ เนื่องจากเป็นพวกที่โตเร็ว เนื้อไม่เหนียว และนำเนื้อออกจากเปลือกได้ง่ายกว่าหอยกาบเดี่ยว หอยที่นิยมบริโภคกันโดยทั่วไป ได้แก่

 

เก็บหอยแครงโดยใช้กระดานถีบ

 

หอยแครง  

ผลผลิตของหอยแครงได้ทั้งจากการเก็บจากแหล่งธรรมชาติ และการทำฟาร์มตามชายทะเล ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม หอยแครงเป็นอาหารทะเล ที่มีผู้นิยมบริโภคทั้งในรูปของหอยสดและแปรรูป โดยหอยสดสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท ส่วนการแปรรูป มักจะนำมาดองน้ำปลา ซึ่งเก็บไว้ได้หลายวัน
หอยแมลงภู่  

ผลผลิตของหอยแมลงภู่ส่วนใหญ่ได้จากการทำฟาร์ม โดยผู้เลี้ยงจะปักหลักไม้ เช่น ไม้รวก หรืออาจใช้เชือกแขวนทำราว เพื่อให้ลูกหอยเกาะ แหล่งที่เลี้ยงมักเป็นปากแม่น้ำ และบริเวณที่เป็นน้ำกร่อย เช่น ปากแม่น้ำบางปะกง ชายฝั่งจังหวัดชลบุรี โดยการปล่อยหลักไม้ทิ้งไว้ประมาณ ๘ - ๑๒ เดือน หอยก็จะโตได้ขนาดที่ส่งขายได้ ผู้บริโภคนิยมบริโภค ทั้งในรูปของหอยสด ที่นำไปประกอบอาหารได้หลายประเภท หรือนำมาแปรรูป เพื่อเก็บไว้รับประทานได้นานๆ เช่น นำไปตากเป็นหอยแมลงภู่แห้ง หรือทำเป็นหอยดอง ในสมัยก่อนเชื่อกันว่า เมื่อมีอาการปวดหลังปวดข้อ ให้เอาเนื้อหอยแมลงภู่แห้ง ๒๕ - ๕๐ กรัม ต้มกินเป็นประจำ จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยในปัจจุบันที่ได้ผลว่า ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบมีอาการดีขึ้น เมื่อรับประทานอาหารเสริมสุขภาพ ที่เป็นสารสกัดจากหอยแมลงภู่ในขนาดที่เหมาะสม
การทำฟาร์มหอยแมลงภู่แบบปักหลัก

 

 

การทำฟาร์มหอยนางรมแบบใช้หลักปูน

 

หอยนางรม  

ผลผลิตของหอยนางรมมีทั้งที่เก็บจากธรรมชาติและการทำฟาร์ม เป็นหอยที่มีการเลี้ยงตามชายฝั่งทะเล และอ่าวที่มีคลื่นลมไม่แรงนัก การทำฟาร์มอาจใช้วิธีปักหลักปูนให้ลูกหอยมาเกาะติด หรือเลี้ยงแบบแขวน โดยนำลูกหอยมาติดกับเส้นเชือก แล้วนำไปแขวนในทะเล แหล่งเลี้ยงหอยนางรม ได้แก่ จังหวัดที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย และภาคใต้ ส่วนหอยนางรมขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า หอยตะโกรม มีเลี้ยงกันมากที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดเป็นอาหารทะเลที่มีชื่อเสียงของจังหวัด หอยนางรมมีเนื้อนิ่มแต่ไม่เปื่อยยุ่ย ส่วนมากนิยมบริโภคสด ซึ่งจำหน่ายในลักษณะหอยมีชีวิตทั้งเปลือก หรือเนื้อหอย (แกะเปลือก) แช่เย็น เนื้อหอยยังนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันหอย และซอสปรุงรสที่เป็นสินค้าส่งออกของประเทศ นอกจากนี้ยังนำมาแปรรูป เช่น หอยนางรมดอง หอยนางรมรมควันแช่น้ำมันบรรจุกระป๋อง

 

หอยลาย

 

 

หอยลาย  

มีชาวประมงจำนวนไม่น้อยที่ยึดอาชีพทำการประมงหอยลาย ผลผลิตของหอยลายทั้งหมด ได้จากแหล่งธรรมชาติ พบชุกชุมตามชายฝั่งใกล้ปากแม่น้ำ ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย เมื่อพบแหล่งหอยลาย ชาวประมงก็จะทำการประมงกันอย่างหนาแน่น โดยใช้เครื่องมืออวนลาก จนกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เมื่อได้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มทุน ชาวประมงก็จะเสาะหา และย้ายแหล่งไปเรื่อยๆ จนปัจจุบัน มีแหล่งหอยลายเหลืออยู่น้อยมาก การใช้ทรัพยากรหอยลายมีทั้งบริโภคสด และต้มให้สุก ใช้เฉพาะเนื้อหอยบรรจุกระป๋องเป็นสินค้าส่งออก
หอยเชลล์  

แม้ว่าในทะเลไทยจะมีหอยเชลล์อยู่หลายชนิด แต่มีเพียงชนิดเดียว ที่มีความสำคัญเชิงพาณิชย์ คือ หอยเชลล์รูปพระจันทร์ (Asian moon scallop) ที่อาศัยในบริเวณที่เป็นพื้นทราย หรือทรายปนโคลนทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและด้านอ่าวไทย มีการทำการประมง โดยใช้เครื่องมืออวนลาก นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าหอยเชลล์ชนิดอื่น จากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ที่มีการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ในประเทศไทยมีการทดลองเพาะ และเลี้ยงหอยเชลล์ชนิด ซีเนเทอร์ (Senatorial scallop) แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ผลผลิตที่ได้มีจำนวนไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป

 

 

หอยเชลล์

 

 

หอยเป๋าฮื้อ หรือ หอยโข่งทะเล  

เป็นหอยอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมบริโภค แม้จะมีราคาแพง หอยเป๋าฮื้อเป็นหอยกาบเดี่ยว แต่นำเนื้อออกมาจากเปลือกได้ง่าย เพราะเปลือกมีลักษณะแบน และครอบอยู่ด้านบน ของตัวหอย ด้านล่างเป็นเท้าขนาดใหญ่ที่มีกล้ามเนื้อหนาและแข็งแรง มีความยืดหยุ่นพอเหมาะ เป็นส่วนที่นำมารับประทาน เนื้อหอยเป๋าฮื้อส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ซึ่งทำฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อในระดับอุตสาหกรรม โดยนำเข้าในรูปของหอยสดแช่แข็ง หรือรมควันและบรรจุกระป๋อง ในประเทศไทย การเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ยังมีไม่มากนัก ทั้งยังมีต้นทุนสูง จึงยังต้องมีการศึกษาทดลองต่อไป เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณ นอกจากจะมีรสชาติดีแล้วชาวญี่ปุ่นยังมีความเชื่อว่า หอยเป๋าฮื้อเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง และอายุยืนยาว เมื่อจะส่งของขวัญไปให้ผู้ใด ก็มักนำเอาเนื้อหอยเป๋าฮื้อชิ้นบางๆ ห่อด้วยกระดาษสีแนบไปด้วย

 

หอยเปาฮื้อ

 

 

หอยเทพรส

 

 

หอยเทพรส หรือหอยหวาน หรือหอยตุ๊กแก  

ผลผลิตของหอยเทพรสที่วางจำหน่าย ส่วนใหญ่ได้จากการจับจากธรรมชาติ ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ทางภาคตะวันออกของอ่าวไทย และทางภาคใต้ ประเทศไทยได้มีการทดลองเพาะเลี้ยง เพื่อส่งเสริมให้มีการทำฟาร์มเลี้ยง โดยคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่นิยมบริโภคสด
หอยกะพง  

ผลผลิตส่วนใหญ่ได้จากการจับจากธรรมชาติ เช่น ที่อ่าวบ้านดอนจังหวัดสุราษฎร์ธานี อ่าวปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม และตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี การเลี้ยงหอยกะพงมีอยู่บ้าง เช่น ที่ตำบลบางทราย อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี ใช้บริโภคสด นอกจากเป็นอาหารของคนแล้ว หอยขนาดเล็กยังใช้เป็นอาหารของเป็ดด้วย

 

 

หอยหลอด

 

 

หอยหลอด  

ผลผลิตได้จากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว การจับหอยหลอดเป็นอาชีพ ที่ทำรายได้ให้แก่ชาวประมงในท้องถิ่น การจับหอยหลอดมีหลายวิธี วิธีที่ถูกต้องที่สุด ที่จะไม่ทำลายหอยหลอด สัตว์น้ำอื่นๆ และสภาพแวดล้อม คือ วิธีการขุด แต่เนื่องจาก หอยหลอดเคลื่อนตัวมุดลงไปใต้พื้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องใช้แรงมาก จับได้ช้า และได้ในปริมาณน้อย ทำให้ไม่คุ้มค่าแรง จึงมักใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นก้านขนาดเล็กแตะปูนขาว หรือปูนแดง แล้วแหย่ลงไปในรูที่หอยอยู่ เมื่อสัมผัสถึงสิ่งแปลกปลอม หอยหลอดจะขึ้นมาเหนือพื้นผิวทันที นอกจากการบริโภคสดแล้ว ยังนำไปแปรรูปเป็นหอยตากแห้ง ที่เก็บไว้รับประทานได้เป็นเวลานาน

 

หอยเสียบดองน้ำปลา

 

 

หอยเสียบ 

เป็นหอยที่เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันมานาน ในจังหวัดชายฝั่งทะเลของไทย จะมีหอยเสียบดองวางขาย ตามร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น หอยแมลงภู่ดอง กั้งดอง ปูเค็ม หอยเสียบทั้งหมดได้จากการจับจากธรรมชาติ โดยใช้พลั่วหรือเสียม ขุดคุ้ยตามหาดทรายในช่วงที่น้ำลง
หอยตลับ หรือหอยหวาน  

เป็นหอยที่ได้จากการจับจากธรรมชาติ พบมากทางภาคใต้ของไทย หอยตลับนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท นอกจากบริโภคสดแล้ว ยังนำมาต้ม แกะเอาเฉพาะเนื้อ บรรจุกระป๋องเป็นสินค้าส่งออก

 

 

หอยตลับอบเนย

 

 

นอกจากหอยชนิดต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีหอยอีกหลายชนิดที่พบวางขายในรูปของหอยสดตามตลาดท้องถิ่น รวมทั้งร้านอาหารที่ขายอาหารทะเล บางชนิดเป็นอาหารแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น หอยชักตีน ที่พบมากในจังหวัดกระบี่ หอยจอบ หอยทะนานหรือหอยตาล ที่พบในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด 

การวิเคราะห์องค์ประกอบหลักของสารอาหารที่มีในเนื้อหอยที่ใช้เป็นอาหาร ๗ ชนิด ได้แก่ หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยเทพรส หอยเป๋าฮื้อ หอยหลอด และหอยกะพง พบว่า ปริมาณสารอาหารในหอยแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน จากน้ำหนักเนื้อหอยสด ๑๐๐ กรัม พบว่า มีโปรตีน ๖.๙ - ๒๒.๓ กรัม คาร์โบไฮเดรต ๐.๘ - ๖.๑ กรัม ไขมันรวม ๐.๔ - ๑.๔ กรัม แคลเซียม ๑๔ - ๙๘ มิลลิกรัม หอยชนิดที่มีโปรตีนมากที่สุด คือ หอยเชลล์ ส่วนหอยนางรมมีคาร์โบไฮเดรตและแคลเซียมมากที่สุด และหอยกะพงมีไขมันรวมมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อหมู (ส่วนที่ไม่ติดมัน) พบว่า มีโปรตีน ๒๐.๑๔ กรัม ไขมันรวม ๑๒ กรัม และแคลเซียม ๙ มิลลิกรัม ซึ่งจะเห็นได้ว่า เนื้อหอยมีโปรตีนใกล้เคียงกับเนื้อหมู แต่มีไขมันรวมน้อยกว่า และมีแคลเซียมมากกว่า

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow