เปลือกหอยในวิถีชีวิตของคนไทย
การขุดพบซากเปลือกหอยร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานได้ว่า มนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับหอยมาเป็นเวลาช้านาน นอกจากนำเนื้อหอยมาเป็นอาหาร เปลือกหอยยังนำมาใช้ในวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง คือ
เพื่อความเป็นสิริมงคล
หอยสังข์ที่ได้ชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล เป็นหอยสังข์ชนิดที่พบในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณเกาะลังกา และอินเดียตอนใต้ แต่ไม่พบในทะเลไทย เป็นความเชื่อที่ถ่ายทอดมาจากตำนาน ของประเทศอินเดีย ที่ถือว่า หอยสังข์เป็นเครื่องหมายของพระลักษมีเทพีแห่งโภคทรัพย์ หอยสังข์นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ของไทยที่ยึดถือพิธีของศาสนาพราหมณ์เป็นต้นแบบ โดยนำมาใช้ ๒ กรณีคือ เป็นสังข์เป่า และสังข์รดน้ำ สังข์เป่าใช้ในพระราชประเพณีของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชพิธีมงคลต่างๆ อาทิเช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีสถาปนาพระราชวงศ์ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในพระราชพิธีเหล่านี้ ชาวพนักงานจะประโคมสังข์ แตร และกลองชนะ ประกอบในพิธี ส่วนสังข์รดน้ำใช้ในพระราชพิธีและพิธีมงคล เช่น ในพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินี ให้ดำรงราชฐานันดรศักดิ์ เป็นสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งได้มีบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ และทรงเจิมพระนลาฏสมเด็จพระบรมราชินี ส่วนพิธีมงคลที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน คือ ในพิธีมงคลสมรสที่เชื่อว่า ต้องใช้หอยสังข์หลั่งน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และความเจริญมั่งคั่ง
เพื่อใช้เป็นเครื่องรางของขลัง
มีหลักฐานจากกรุวัดราชบูรณะพบหอยเบี้ยหุ้มทองคำสำหรับห้อยคอ เชื่อกันว่า หอยเบี้ยเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า ทำให้โรคภัยไข้เจ็บและเสนียดจัญไรหมดไป ถือเป็นของมงคลประจำบ้าน
เพื่อเป็นยารักษาโรค
ในตำราแพทย์แผนไทยมีการนำเปลือกหอยมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงยา โดยกล่าวถึง "พิกัดเนาวหอย" คือ การจำกัดจำนวนหอย ๙ อย่าง ได้แก่ หอยขม หอยนางรม หอยจุ๊บแจง หอยสังข์ หอยแครง หอยกาบ หอยมุก หอยตาวัว หอยพิมพการัง ซึ่งมีสรรพคุณขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว บำรุงกระดูก แก้โรคกระษัย ไตพิการ กัดเมือกมันในลำไส้ ส่วนการนำมาใช้ปรุงยา มีทั้งขนานยาที่ใช้เปลือกหอยทั้ง ๙ อย่าง หรือใช้เพียงบางอย่าง เช่น ตำรับยาชื่อว่า "เนาวหอย" จะใช้เปลือกหอยทั้ง ๙ อย่างเป็นส่วนผสม บางอย่างใช้เปลือกหอยสังข์หนามเพียงอย่างเดียวเป็นส่วนผสม เช่น ยาสังขสมุทัย นอกจากนี้ในตำรับยาหลายขนานยังใช้เปลือกหอยเบี้ย ได้แก่ เบี้ยผู้ เบี้ยจั่น เบี้ยแก้ มาใช้ในการปรุงยาด้วย
เพื่อใช้เป็นเงินตรา
มนุษย์ใช้เงินตราเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้ามาแต่สมัยโบราณ ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เงินตราที่ใช้เป็นเงินพดด้วงที่ทำมาจากเงินหรือทอง และเปลือกหอยเบี้ย หอยเบี้ยที่นำมาใช้มี ๒ ชนิด คือ เบี้ยจั่น และเบี้ยนาง ซึ่งพ่อค้าต่างชาตินำเข้ามาขาย เบี้ยเป็นเงินปลีกที่มีมูลค่าต่ำสุดในระบบเงินตรา มีอัตราประมาณ ๑๐๐ เบี้ยต่อ ๑ อัฐ (เท่ากับหนึ่งสตางค์ครึ่ง) ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ ได้เริ่มมีการใช้เหรียญกษาปณ์ ที่ผลิตจากดีบุก และมีตราประทับจากแบบพิมพ์โดยใช้เครื่องจักร เบี้ยจึงหายไปจากระบบเงินตราของไทย ปัจจุบันคำว่า "เบี้ย" ยังสื่อความหมายถึงเงินด้วย เช่น เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม เบี้ยหวัด เบี้ยกันดาร รวมถึงสำนวนไทยที่ว่า เบี้ยน้อยหอยน้อย หมายถึง การมีเงินน้อย
เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ เครื่องมุก และของใช้อื่นๆ
ภายในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง ซึ่งเป็นที่จัดเก็บรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี จะเห็นเครื่องประดับ เช่น ต่างหู กำไล ที่ทำจากเปลือกหอยทะเลขนาดใหญ่ หรือนำเปลือกหอยขนาดเล็กมาเจาะรู แล้วร้อยเป็นสร้อย ปัจจุบันก็ยังคงนำเปลือกหอยมาทำเครื่องประดับหลายอย่าง เช่น เข็มกลัด ต่างหู สร้อย เข็มขัด ส่วนการทำเครื่องมุกเป็นการนำเปลือกหอยมุกมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และจัดวางให้เป็นลวดลายสวยงามบนภาชนะ บานประตู หน้าต่าง เครื่องเรือน ตู้พระธรรม ตั่ง โต๊ะ พาน ตะลุ่ม นอกจากนี้เปลือกหอยยังสามารถนำมาตกแต่งดัดแปลงเป็นของใช้ เช่น โคมไฟ กรอบรูป และของที่ระลึกต่างๆ