Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หอยงวงช้างมุกและหอยงวงช้างกระดาษ

Posted By Plookpedia | 16 มี.ค. 60
10,197 Views

  Favorite

หอยงวงช้างมุกและหอยงวงช้างกระดาษ (Class Cephalopoda)

หอยงวงช้างมุก (Chambered nautilus) 

จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกหมึก แต่เป็นหมึกที่มีเปลือกแข็งหุ้มรอบตัว จึงเป็นเหตุให้เรียกเป็นหอย ขณะที่หมึกชนิดอื่นๆ ไม่มีเปลือก เปลือกหอยงวงช้างมีขนาดค่อนข้างใหญ่ หนา และแข็ง เปลือกเป็นชิ้นเดียวโดยม้วนเป็นวงในแนวราบแทนการยกขึ้นสูงในแนวตั้ง  วงเกลียวสุดท้ายของเปลือกคลุมวงเกลียวที่เกิดมาก่อนไว้ทั้งหมด ผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ มีลายเป็นแถบสีน้ำตาลอมแดง พาดอยู่บนพื้นสีครีม ด้านในของเปลือกมีชั้นมุก เมื่อโตเต็มวัยภายในเปลือกจะมีแผ่นกั้นตามขวางทำให้แบ่งเป็นห้องๆ ตัวหอยอาศัยในห้องเปลือกด้านนอกสุด ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดและติดต่อกับภายนอก ส่วนห้องเปลือกด้านในอาจใช้บรรจุน้ำหรืออากาศ เพื่อควบคุมการลอยตัว และการจมตัวของหอย ตัวหอยงวงช้างมุกประกอบด้วยส่วนหัวและลำตัว หัวมีขนาดใหญ่ ที่หัวมีตา ๑ คู่ บริเวณปากมีหนวดประมาณ ๕๐ คู่ เรียงเป็นวงรอบปาก ๒ วง ส่วนด้านล่างของหัวมีท่อน้ำใหญ่ เหนือหัวมีแผ่นเนื้อเป็นกะบัง สำหรับใช้ปิดช่องเปลือกขณะหอยหดตัวและหัวเข้าไปในเปลือก หอยงวงช้างอาศัยในทะเลที่ลึกมากกว่า ๖๐ เมตร ถึงระดับลึกมาก ปกติจะคืบคลานอยู่ตามพื้นทะเล หรือซ่อนตัวอยู่ตามซอกหิน มักออกหาอาหารในเวลากลางคืน โดยเคลื่อนตัวขึ้นมาที่ผิวน้ำ และกลับลงสู่ที่ลึกในเวลากลางคืน อาหารเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงเศษซากตามพื้นทะเล โดยใช้หนวดจับ เคลื่อนตัวและว่ายน้ำได้ดีในลักษณะถอยหลัง เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย หอยงวงช้างมุกเพศเมียวางไข่ติดไว้ตามก้อนหิน หรือวัตถุอื่นๆ ใต้น้ำ เมื่อฟักออกจากไข่ ลูกหอยมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย และว่ายน้ำได้ หอยงวงช้างมุกมีอายุขัยประมาณ ๒๐ ปี

 

หอยงวงช้างมุก

 

 

หอยงวงช้างมุกแพร่กระจายอยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น แถบมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก มีอยู่ ๒ สกุล ๖ ชนิด ในทะเลไทยพบเพียงชนิดเดียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเปลือก ๑๓ - ๑๕ เซนติเมตร เปลือกมักนำมาวางขาย รวมกับเปลือกหอยชนิดอื่นๆ

 

หอยงวงช้างกระดาษ

 

 

หอยงวงช้างกระดาษ (Paper nautilus, Argonauts) 

จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกหมึก เฉพาะเพศเมียเท่านั้น ที่มีเปลือกหุ้มตัว เพื่อใช้เป็นที่สำหรับวางไข่และฟักไข่ เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียมาก และไม่มีเปลือกหุ้มตัว เปลือกหอยงวงช้างกระดาษมีลักษณะบาง เบา เปราะ แตกหักง่าย ม้วนเป็นวงในแนวราบ วงเกลียวแรกๆ เป็นสีน้ำตาลเข้มและค่อยๆ จางลงเป็นสีขาวหม่น หรือสีครีมในวงเกลียวสุดท้าย วงเกลียวสุดท้ายจะคลุมวงเกลียวแรกๆ ไว้ทั้งหมด ผิวเปลือกมีร่องตามขวางและสันหยัก ทำให้เห็นเป็นลอนตื้นจากจุดยอด ออกไปในแนวรัศมี ตามสันเปลือกมีปมเรียงเป็นแถว ตัวหอยงวงช้างกระดาษประกอบด้วยส่วนหัวและลำตัว ที่หัวมีตาขนาดใหญ่ ๑ คู่ รอบปากมีหนวดหรือแขน ๘ อัน ลำตัวไม่มีครีบ เพศเมียมีลำตัวคล้ายถุงรูปรี หัวเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว ปลายหนวดคู่แรกมีลักษณะแบน และมีต่อมที่ผลิตสารสำหรับสร้างเปลือก เพศผู้มีลำตัวกลมคล้ายถุง หัวใหญ่ การผสมพันธุ์มีการจับคู่กัน เพศเมียวางไข่ไว้ในเปลือก ไข่มีลักษณะเป็นไข่เดี่ยว ไข่แต่ละฟองมีตัวอ่อนเพียงตัวเดียว ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ มีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยแต่มีหนวดสั้น
หอยงวงช้างกระดาษอาศัยในทะเลที่ห่างฝั่ง ตั้งแต่ระดับผิวน้ำไปจนถึงระดับน้ำลึกประมาณ ๑๐๐ เมตร ว่ายน้ำได้ดี แต่มักจะเคลื่อนตัวไปตามกระแสน้ำมากกว่าว่ายไปเอง บางชนิดเพศเมียอาจยึดเกาะกับวัตถุในน้ำ หรือเกาะกันเองเป็นสายจำนวน ๒๐ - ๓๐ ตัว มักออกหาอาหารในเวลากลางวัน อาหารคือ สัตว์น้ำขนาดเล็ก ทั่วโลกพบหอยงวงช้างกระดาษ ๗ ชนิด ในทะเลไทยมีการสำรวจพบ ๓ ชนิด เปลือกมีความสวยงามแปลกตา จึงมักนำมาเป็นของตกแต่งบ้าน บางประเทศนำตัวหอยมาเป็นอาหาร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow